โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘เชียงราย’เคาะเปิดด่าน‘พม่า-ลาว’หลัง17พ.ค. กางเงื่อนไขรับคนเข้า-ออก

แนวหน้า

เผยแพร่ 11 พ.ค. 2565 เวลา 17.00 น.

‘ผู้ว่าฯเชียงราย’เคาะแล้วเปิดด่านกับ‘เมียนมา-ลาว’หลัง 17 พ.ค.นี้ หากเพื่อนบ้านพร้อม ทั้งด่านถาวร-ผ่อนปรน ไม่จำกัดคน

12 พฤษภาคม 2565 ที่ห้องธรรมลังการ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (ผวจ.เชียงราย) เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมเปิดให้บุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ผ่านช่องทางทางบก โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมครบครัน

นายภาสกร แจ้งว่า กรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศบค. มีมติเห็นชอบให้จังหวัดชายแดนผ่อนคลายมาตรการให้คนเข้าออกได้นั้น มีกลุ่มจังหวัดที่ได้รับอนุมัติเปิดพรมแดนไปแล้ว 17 จังหวัด สำหรับ จ.เชียงราย เป็นกลุ่มจังหวัดที่ 2 ร่วมกับ จ.น่าน พะเยา และอุบลราชธานี เนื่องจากต้องต้องมีความละเอียดรอบคอบในการป้องกันการระบาดของโรคโดยเฉพาะ จ.เชียงราย เคยมีผู้ตรวจ ATK พบว่าติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมากถึง 4,054 ราย กระนั้นในปัจจุบันตัวเลขลดลงจึงถือว่าเป็นขาลง ดังนั้นจึงมีการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดชายแดนตามลำดับ

นายภาสกร กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.เชียงราย มีจุดผ่านแดนถาวร 6 จุด ติดกับ สปป.ลาว 4 จุด และประเทศเมียนมา 2 จุด รวมทั้งมีจุดผ่อนปรนอีก 10 จุดติดต่อกับประเทศละ 5 จุด หลังจากเตรียมความพร้อมด้านต่างๆแล้ว มีกำหนดจะเปิดพรมแดนในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป โดยกรณีของ สปป.ลาว ได้มีการประกาศเปิดประเทศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนจึงจะมีหนังสือไปถึงแขวงบ่อแก้ว เพื่อร่วมประชุมในเวลา 13.00 น.วันที่ 17 พ.ค.นี้ ณ ด่านพรมแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตรงสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 หากทาง สปป.ลาว มีความพร้อมก็จะเปิดด่านพรมแดนให้คนเข้าออกได้ทั้ง 2 จุดผ่านแดนถาวร คือ ตรงสะพานฯ ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 และที่ท่าเรือบั๊ก ต.เวียง อ.เชียงของ ในวันที่ 18 พ.ค.2565 ได้เลย

“เงื่อนไขผู้เดินทางเข้ามาคือเป็นคนสัญชาติไทย และหากไม่ใช่คนสัญชาติไทย ต้องมีเอกสารเข้าเมืองถูกต้อง เช่น หนังสือผ่านแดนหรือบอเดอร์พาสและอยู่ตามกำหนดเวลา มีผลการตรวจ ATK ได้รับวัคซีนครบถ้วน ถ้าไม่มีก็กักตัว 5 วัน เป็นต้น” นายภาสกร กล่าว

ทางด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย แจ้งต่อที่ประชุมว่า หากด่านชายแดนมีกำหนดเปิดที่แน่ชัดแล้ว จะยังมีการดำเนินการตามมาตรการโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ในกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 3 เข็ม ไม่ต้องตรวจผล RT – PCR สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบ ให้ยืนยันผล RT – PCR เป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมง หากพบว่าผลเป็นบวกให้เข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 5-7 วัน รวมทั้งผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย ต้องลงทะเบียน ผ่านแอพพลิเคชั่น Thailand Pass

ส่วนทางด้านสำนักงานแรงงานจังกวัดเชียงราย แจ้งว่า ทางสำนักงานมีความพร้อมในการออกใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าว สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ หากผลเป็นลบสามารถเข้าทำงานได้เลย หากยังไม่ได้รับวัคซีน ต้องมีการตรวจผล RT – PCR และกักตัวเป็นเวลา 5 – 7 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา ว่า ปัจจุบันมีการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 เพื่อขนถ่ายสินค้าเท่านั้น แต่ จ.เชียงราย พร้อมจะเปิดให้คนเดินทางข้ามไปมาโดยไม่จำกัดจำนวนเช่นกัน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประเทศเมียนมา ไม่เคยมีการประกาศเปิดประเทศเหมือน สปป.ลาว ดังนั้นทางจังหวัดจึงเกรงว่าสถานการณ์จะเหมือนกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ประเทศไทยเปิดพรมแดน เมื่อวันที่ 5 พ.ค.เป็นต้นมา แต่ทางฝั่ง จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ไม่ได้เปิดร่วมด้วย ทำให้ชายแดนยังคงมีความซบเซา ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ต้องการให้มีการตกลงกับทางประเทศเมียนมาให้เปิดชายแดนพร้อมกันก่อนเพื่อไม่ให้กระทบกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเยือนด้วย หลังจากที่ในปี 2562 เคยมีคนเดินทางข้ามจุดผ่านแดนถาวรดังกล่าวรวม 1.34 ล้านคน แต่ในปี 2564 ที่ผ่านมาเหลือเพียง 17,000 คน

ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้แจ้งให้ฝ่ายปกครอง หน่วยประสานงานชายแดนไทย-พม่า ประจำพื้นที่1 (TBC) ได้นัดประชุมกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ที่อยู่ติดกันในวันที่ 24 พ.ค.นี้ ที่ด่านพรมแดน อ.แม่สาย โดยมีการปรับมาตรการบางอย่าง เช่น ให้เอกสารของชาวเมียนมาเป็นภาษาอังกฤษ และได้รับการรับรองจากสาธารณสุขเมียนมา เป็นต้น จากนั้นรอให้ทางรัฐบาลเมียนมาและ จ.ท่าขี้เหล็ก อนุมัติให้มีการเปิดด่านซึ่งจะเปิดทั้งจุดผ่านแดนถาวรที่ติดกับประเทศเมียนมาทั้ง 2 จุดและจุดผ่อนปรนอีก 5 จุดต่อไป

-005

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0