โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปิดจ๊อบ (ชุด) ลูกเสืออลเวง ? ‘ผ้าพันคอผืนเดียวก็ได้’ มิติใหม่การศึกษาไทยในวันสังคมเปลี่ยน

MATICHON ONLINE

อัพเดต 23 พ.ค. 2566 เวลา 06.10 น. • เผยแพร่ 23 พ.ค. 2566 เวลา 05.43 น.
ภาพปก
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ

ปิดจ๊อบ (ชุด) ลูกเสืออลเวง ?
‘ผ้าพันคอผืนเดียวก็ได้’
มิติใหม่การศึกษาไทยในวันสังคมเปลี่ยน

แม้เป็นหนึ่งในประเด็นมหากาพย์ด้านเครื่องแบบไม่แพ้ชุดนักเรียนที่ถกเถียงกันมานาน

ทว่า จู่ๆ ก็กลับถูกพูดถึงอื้ออึงอีกครั้งแบบ งงๆ หลังไอซ์ รักชนก ศรีนอก ว่าที่ ส.ส.กทม. จอมทอง บางบอน หนองแขม พรรคก้าวไกล ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อำนวยการโรงเรียนในเขต 28 กรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือให้พิจารณายกเว้นการแต่งชุดลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง ได้ใจโลกออนไลน์ที่เข้ามาชื่นชมคับคั่ง

อย่างไรก็ตาม ยิ่งกลายเป็นกระแสพุ่งปรี๊ดหนัก หลังชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อที่ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เขตจตุจักร ในประเด็นดังกล่าว ว่า กทม.มีการดำเนินการอยู่แล้ว จะมอบหมายให้ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง

“กทม.พูดมานานแล้ว ส่วนตัวเนื้อหาประกาศ ศานนท์เป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อสักครู่ไลน์คุยกัน ว่ามีประกาศไปแล้ว ต้องขอขอบคุณท่าน ส.ส.ที่กรุณานึกถึงเรื่องนี้” ชัชชาติกล่าว

ร้อนถึง ไอซ์ รักชนก ที่ออกมาโพสต์ขออภัยอย่างรวดเร็ว ยอมรับว่าไม่ได้ศึกษาก่อน ความว่า

‘ขอขอบคุณผู้ว่าฯชัชชาติมากๆ เลย ไอซ์ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้จริงๆ ขอโทษที่ไม่ศึกษาให้ดีก่อน ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะได้รับคำแนะนำและความร่วมมือจากผู้ว่าฯรวมถึงองคาพยพกรุงเทพมหานคร ยินดีรับคำแนะนำและคำตำหนิติติงไปปรับแก้ไขทุกอย่างเลยค่ะ

ปล.หวังใจว่าโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ จะพิจารณาเรื่องนี้เหมือนเช่นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร’

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า ความคิดเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์กจำนวนมาก ยืนยันว่าในทางปฏิบัติ บุตรหลานของตนยังคงต้องแต่งเครื่องแบบครบชุดไปเรียนอยู่ดี

งานนี้ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาย้ำว่า มีการยกเลิก ‘บังคับ’ สวมใส่เครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดไปนานแล้ว ตั้งแต่ปี 2565

กทม.ทำแล้วเมื่อเดือนมกรา
ย้ำแค่ประดับเครื่องหมาย
แถม ‘แจกชุดฟรี’ ปีเว้นปี

จากปากคำของผู้ว่าฯ กทม. มาย้อนดูเอกสาร ซึ่งสำนักการศึกษา ได้จัดส่งบันทึกข้อความ เรื่องแนวทางการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ไปยังโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตทุกเขต เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ลงนามโดย ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม.

ระบุดังนี้

‘ตามกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2510 กฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2529 ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรวิชาพิเศษ และเครื่องแบบของเนตรนารี ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2520 และระเบียบคณะกรรมการบริหารยุวกาชาดว่าด้วยเครื่องแบบยุวกาชาด ลงวันที่ 26 กันยายน 2561 ที่ได้กำหนดลักษณะเครื่องแบบการแต่งกายของแต่ละประเภทไว้แล้วนั้น

เพื่อให้การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงข้อบังคับ และระเบียบดังกล่าว รวมถึงหนังสือกรุงเทพมหานคร ที่ กท 0807/ว272 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เรื่อง แนวทางการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ และยุวกาชาดของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยในกรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถจัดหาเครื่องแบบได้ ให้ใช้เครื่องแบบนักเรียน ประดับเครื่องหมายของแต่ละประเภท สวมผ้าผูกคอและหมวกได้’

ย้อนไปเมื่อ 1 กรกฎาคม 2565 ในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามลูกเสือ กทม. เนื่องในวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ประจำปี 2565 ที่สนามกีฬา ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ชัชชาติ ประธานสวนสนามลูกเสือ กทม. แต่งชุดลูกเสือเต็มยศ ร่วมปฏิญาณตน และให้โอวาทแก่คณะลูกเสือ

ที่สำคัญ คือถ้อยคำให้สัมภาษณ์ในตอนหนึ่งถึงแนวคิดการเล็งปรับรูปแบบการฝึกอบรม พร้อมย้ำว่าหัวใจของการเรียนลูกเสือคือช่วยเหลือผู้อื่น โดยกำลังปรับหลักสูตรลูกเสือให้เข้ากับโลกปัจจุบัน และเรื่องเครื่องแบบ ‘ต้องไม่เป็นภาระผู้ปกครอง’

“ต้องไม่เป็นภาระผู้ปกครอง ต้องไม่เสียเงินเพิ่ม หัวใจของลูกเสือคือการช่วยเหลือผู้อื่น นั่นคือสิ่งสำคัญของการเป็นลูกเสือ ส่วนเรื่องรูปแบบก็ต้องดูตามสถานการณ์ของอนาคตที่เปลี่ยนไป อาจมีการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน เรารับตามกำหนดของกระทรวงศึกษามา” ชัชชาติกล่าวในวันนั้น

ด้าน ศานนท์ รองผู้ว่าฯ ย้ำว่า ชุดลูกเสือ กทม.ให้ฟรีอยู่แล้ว แบบปีเว้นปี

“ถ้าเป็นวันทางการก็ใส่เต็มยศ แต่ถ้าเป็นวันเรียน ก็สามารถลำลองได้อยู่แล้ว”

ในวันเดียวกัน ผู้ว่าฯกทม.กล่าวให้โอวาทว่า กิจการลูกเสือของ กทม. ได้พัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากได้มีการจัดฝึกอบรมลูกเสือ เนตรนารี มีส่วนสำคัญและเป็นประโยชน์ ในการส่งเสริมให้ลูกเสือ เนตรนารีทุกคน ได้ตระหนักถึงบทบาทในการอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพ มีระเบียบวินัย รู้จักการสังเกตจดจำ และพึ่งตนเอง เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ อดทน เสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น บำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์ และยังส่งเสริมให้บุคคลสามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นลูกเสือ เนตรนารีทุกคนจึงควรตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และฝึกปฏิบัติตนตามระเบียบแบบแผนอย่างเคร่งครัด

“ผมเห็นว่าการที่เรามาสวนสนาม ทบทวนคำปฏิญาณของลูกเสือในครั้งนี้ เราควรมีความภาคภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมกิจกรรมอันทรงคุณค่านี้ อีกทั้งให้ระลึกถึงเสมอว่าการสร้างคุณธรรมบำเพ็ญประโยชน์นั้น ตนเองต้องได้รับประโยชน์เป็นทวีคูณ ในโอกาสนี้ขอให้กิจการลูกเสือ เนตรนารีของ กทม. มีความเจริญก้าวหน้า และขอให้ท่านที่มาชุมนุมอยู่ ณ ที่นี้ ประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกัน”

ศึกษาธิการ เลิกบังคับตั้งแต่ปี’65
‘ผ้าพันคอผืนเดียวจบ’

มาถึงถ้อยคำจากปาก ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล่าวถึงการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด หลังค่ำคืนที่ประเด็นชุดลูกเสือถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางจากกรณี ไอซ์ รักชนก และชัชชาติ สิทธิพันธุ์

รัฐมนตรีศึกษาธิการระบุว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือสั่งการไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ให้สื่อสารซักซ้อมความเข้าใจการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ยุวกาชาด โดยให้โรงเรียนดำเนินการอย่างยืดหยุ่น ไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง

“การเรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ที่มีเครื่องแบบ ไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบครบชุด แต่ขอให้มีสัญลักษณ์เฉพาะบ่งบอกให้รู้ว่าเด็กได้เรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด เช่น มีผ้าผูกคอผืนเดียวได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของการเรียนวิชานี้อยู่ที่กิจกรรม จิตอาสา การบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม การเสียสละ มากกว่าการให้ความสำคัญกับชุดยูนิฟอร์ม และขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว” ตรีนุชเผย

ประเด็นนี้ เมื่อย้อนไปยังบทสัมภาษณ์ที่ ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากเพจดังทางการศึกษา อย่าง ‘ครูขอสอน’ ที่เคยเล่าถึงความเป็นมาของกิจการลูกเสือว่ามีที่มาอันยาวนานกว่า 100 ปี โดยในไทยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ละประเทศทั่วโลกมีกิจการลูกเสือ สโมสร และองค์การลูกเสือแห่งชาติอยู่เกือบทุกประเทศ โดยสิ่งหนึ่งที่เราเห็นคู่กับลูกเสือมาคือเครื่องแบบ ด้วยความเป็นหมู่ เป็นกอง เป็นหน่วย พอมันมีลักษณะอย่างนี้ ใครอยู่สมาคมไหน หมู่ไหน กองไหน ตัวเครื่องแบบก็เป็นตัวบอกสังกัดของตัวเอง บ่งบอกถึงความเป็น unity
(ความสามัคคี) ของขบวนการลูกเสือ

“ที่ผ่านมา เครื่องแบบลูกเสือในไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งเข้าสู่การถูกบังคับเรียนในโรงเรียน ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด สำหรับชุดที่เราเห็นกันในปัจจุบัน มีมาตั้งแต่กฎกระทรวง พ.ศ.2510 นั่นคือ 50 ปีมาแล้ว

“การใส่เครื่องแบบจะเป็นจุดแรกที่เวลาเรียนลูกเสือ จะบอกว่ามันเป็นเรื่องของการดูแลตัวเอง การมีวินัย แล้วบางครั้ง พวกเครื่องหมายต่างๆ เป็นเหมือนรีวอร์ดให้นักเรียนที่แสดงความสามารถของเขา สามารถประสบความสำเร็จกับอะไรบางอย่าง” ครูทิวกล่าวเมื่อคราวเกิดการตั้งคำถามอย่างหนักต่อการใส่ชุดลูกเสือเมื่อกลางปี 2565

ส่วนสาเหตุที่เป็นประเด็นใหญ่ ครูทิวเผยว่า เพราะยุคโควิด เรียนออนไลน์ พอเปิดมา ประสบกับภาวะเศรษฐกิจ เลยมีคำถามที่เสียงดังขึ้น กลายเป็นจุดที่ต้องเริ่มพูดคุย แต่แนวทางของกระทรวงเอง ตั้งแต่ปี 2564 ก็เคยมีคุย สุดท้ายกระทรวงศึกษาธิการออกแนวปฏิบัติมาว่าสามารถใส่ชุดลำลองได้

“ชุดลำลองในระเบียบ ปี 2529 บอกว่าให้ลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ สามารถใส่ชุดลำลอง เป็นชุดนักเรียน ใส่แค่ผ้าผูกคอกับหมวก อาจจะมีเข็มเครื่องหมายซึ่งไม่ได้ซีเรียส แทนการใส่ชุดลูกเสือ เพราะว่าปีที่แล้วมีประเด็นเรียนออนไลน์บ้าง ไม่ออนไลน์บ้าง เขาจึงออกแนวปฏิบัติ เพื่อให้ปฏิบัติได้ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รับรู้กันน้อย พอมาเปิดเรียนเต็มรูปแบบหลายโรงเรียนเลยเริ่มมีปัญหา เด็ก ม.3 รุ่นนี้ บางคนเคยซื้อชุดลูกเสือตั้งแต่ ม.1 ใส่ไม่ได้แล้ว เรียนฟรีก็ไม่มีอยู่จริง โรงเรียนทุกโรงเรียนยืนอยู่ไม่ได้จากงบอุดหนุนที่กระทรวงให้มา”

นับเป็นอีกครั้งที่ ‘เครื่องแบบ’ ถูกส่องสปอตไลต์ ในวันที่สังคม-การเมืองไทยไม่เหมือนเดิมตลอดกาล

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น