โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

โรค "เบาหวาน - หัวใจ" อันตรายแค่ไหนหากติดเชื้อโควิด-19

PPTV HD 36

อัพเดต 26 พ.ค. 2565 เวลา 04.09 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2565 เวลา 02.31 น.
โรค
เช็กระดับความเสี่ยงของผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคหัวใจว่าจะอันตรายมากน้อยเพียงใดเมื่อติดโควิด-19

ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคหัวใจ หากติดโควิด-19 มักจะพบความเสี่ยงที่จะทำให้อาการรุนแรง แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ประกอบกับมีโรคร่วม รวมถึงผู้ป่วยโรคหัวใจ หากติดเชื้อโควิด-19 ก็มีโอกาสที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวจึงควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อป้องกันโควิด-19

รอบรู้เรื่องโรคเบาหวาน หนึ่งในกลุ่ม NCDs ลดคุณภาพชีวิต

เหนื่อยหอบแน่นหน้าอก รู้ให้ชัด "โรคหัวใจ" หรือ "โควิด-19"

โรคเบาหวานกับโควิด-19

พญ.รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า คนที่เป็นโรคเบาหวานอยู่เดิม ไม่ได้มีข้อมูลว่าสามารถติดโควิด-19 ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่สิ่งที่คนไข้เบาหวานควรให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากหากติดเชื้อโควิด-19 คือ

  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี จะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากระดับน้ำตาลที่สูงกว่าค่าปกติ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานลดลง ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ไม่ดี เชื้อไวรัสสามารถเติบโตและกระจายตัวได้ง่ายขึ้น
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคร่วม หากติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นได้
  • ปฏิกิริยาการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้การควบคุมโรคเบาหวานทำได้แย่ลง ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อต้านไวรัสและเกิดการอักเสบ ซึ่งจะส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดยิ่งสูงขึ้น กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้มีข้อมูลว่า คนไข้โรคเบาหวานหากติดเชื้อโควิด-19 จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงและมีโอกาสเสียชีวิต 2 – 3 เท่าในคนทั่วไป จึงเป็นสาเหตุให้ต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น การรักษาผู้ป่วยเบาหวานหากติดโควิด-19 จะมีขั้นตอนการรักษาเหมือนกับผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วไป เพียงแต่ความซับซ้อนของคนไข้เบาหวาน คือ

  • ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่ไปด้วย
  • ยาเม็ดบางตัวอาจมีข้อจำกัด หรือต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
  • อาจใช้วิธีการปรับยาหรือให้อินซูลินแทนเพื่อช่วยในการรักษา ในคนไข้ที่มีภาวะน้ำตาลสูงมากร่วมด้วย

คุมเบาหวานให้ดี

เนื่องจากคนไข้โรคเบาหวานถือเป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง การควบคุมเบาหวานให้ดีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง วิธีการคุมเบาหวาน คือ การรับประทานยาควบคุมเบาหวาน ไม่ควรขาดยา กรณีที่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดได้ การตรวจระดับน้ำตาลด้วยตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญคือ ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ในคนไข้เบาหวาน หลอดเลือดมักไม่ค่อยแข็งแรง หากมีโรคเบาหวานร่วมกับโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรเพิ่มความระมัดระวัง

10 ความเชื่อเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ที่หลายคนอาจยังเข้าใจผิด

10 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ "โรคหัวใจ" ที่ควรทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้อง

โรคหัวใจกับโควิด-19

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสทำอันตรายกับระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจที่มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้หากติดเชื้อโควิด-19

คนที่เป็นโรคหัวใจไม่ได้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายกว่าในคนทั่วไป แต่ประเด็นคือ หากติดเชื้อจะอันตรายและอาการของโรคจะรุนแรงได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดใดก็ตาม หากติดเชื้อ ร่างกายจะมีการตอบสนอง เช่น ไข้ขึ้นสูง มีการสร้างสารจากเซลล์ต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันออกมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส จนอวัยวะในร่างกายเกิดการอักเสบมากขึ้น คนที่เป็นโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจจะมีการบีบตัวที่ผิดปกติอยู่แล้ว ถ้าหากติดเชื้ออย่างรุนแรง อาจทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจแย่ลงอย่างรวดเร็ว กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ เกิดหัวใจล้มเหลวได้

ทั้งนี้ เชื้อโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ปอดจะส่งผลทำให้ระบบการหายใจของคนไข้เกิดปัญหาการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในร่างกายไม่เป็นปกติ เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ นั่นหมายถึง “หัวใจ” ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อพยายามให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เท่าเดิม

ดังนั้นในกลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ หากติดเชื้อไวรัสจะมีอาการรุนแรง ระบบการทำงานของร่างกายเกิดความผิดปกติ เกิดปัญหาในระบบอื่น ๆ ตามมา หรืออาจต้องใช้อุปกรณ์พยุงชีพเพิ่มมากขึ้น เช่น มีการเข้า ICU การใช้เครื่องช่วยหายใจ และระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าผู้ป่วยทั่วไป การใช้ยากระตุ้นความดัน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้อาจส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายแย่ลง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง

ปลัด สธ.จ่อปรับคำแนะนำสวมหน้ากาก ใส่ต่อเมื่อ "ป่วย/เสี่ยง - อยู่ในสถานที่ปิด"

หลอดเลือดหัวใจตีบตัน รู้ทันโรครีบรักษาก่อนสายเกินแก้

อาการผู้ป่วยโรคหัวใจกับโควิด-19

อาการของผู้ป่วยโรคหัวใจหากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มต้นไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไปที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น มีไข้ ไอ หอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

แต่หากคนไข้โรคหัวใจมีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น หายใจลำบากมากขึ้น ควรเข้ารับการตรวจแยกอาการอีกครั้งว่าเป็นอาการที่เกิดจากโรคหัวใจหรือสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ดูแลตัวเองให้ห่างไกลโควิด-19

  • เพื่อให้ห่างไกลจากโควิด-19 ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ ได้แก่
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
  • สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องเพื่อควบคุมการแพร่กระจายโรค
  • หลีกเลี่ยงการเอามือไปสัมผัสบริเวณใบหน้า ไม่ขยี้ตา แคะจมูก และสัมผัสปาก เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ผ่านทางละอองฝอยของผู้ป่วยหรือจากพื้นที่ที่เป็นแหล่งระบาด ทุกคนควรระมัดระวังการติดต่อ การสัมผัส ด้วยการดูแลสุขอนามัยของตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัว
  • หากมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ต้องสงสัยภายใน 14 วันแล้วมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ควรพบแพทย์เพื่อคัดกรองและหาสาเหตุแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
  • หากมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเดิมหรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี และวัคซีนป้องกันปอดบวม Pneumococcal Vaccine หากมีข้อบ่งชี้ในผู้สูงวัยที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0