นครราชสีมา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 เตือน กินก้อยปลา ลาบปลาดิบ เสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับ พบป่วยหลายโรค ลุกลาม อาจทรุดหนัก ถึงเสียชีวิต
3 ก.ย. 65 - นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคพยาธิใบไม้ตับว่า เกิดจากประชาชนบางส่วนนิยมกินอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
โดยเฉพาะอาหารประเภทปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียน ปลาเกล็ดขาว ปลาสร้อย ปลาขาวนา ปลาจ่อมหรือปลาส้ม และปลาร้าดิบที่หมักไม่ถูกกรรมวิธี เนื่องจากไข่พยาธิจะไชเข้าไปอยู่ใต้เกล็ดของปลาน้ำจืด แล้วเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวอ่อน
เมื่อคนกินเนื้อปลาที่ปรุงไม่สุกหรือปลาดิบ ก็จะได้รับตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อเข้าไป ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ตับโต ถ่ายเหลวเป็นบางครั้ง ในระยะท้ายผู้ป่วยอาจมีท่อน้ำดีอุดตัน เกิดภาวะตัวเหลือง หรือดีซ่าน บวมน้ำ ทำให้อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เมื่อมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ อาจทรุดหนักและเสียชีวิตได้
การดำเนินงานในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 พบว่าสถานการณ์การติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) ในปี พ.ศ.2559,2560, 2561,2562, 2563, 2564 และ 2565 ข้อมูล วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 พบอัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับในภาพรวมของเขตเฉลี่ยร้อยละ 16.3, 7.71, 4.41, 3.0, 3.6,2.74 และ 2.03 ตามลำดับ
ซึ่งปัจจัยและสาเหตุหลักของการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับซ้ำ เนื่องจากประชาชนยังมีพฤติกรรมในการบริโภคปลาร้าดิบ ปลาส้มสับดิบ ลาบหรือก้อยปลาดิบ หรือปรุงแบบสุกๆดิบๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทำให้เกิดโรคและถือเป็นปัญหาอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเกื้อหนุนทำให้ประชาชนติดโรคพยาธิใบไม้ตับ
สำหรับการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ ให้หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารดิบหรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ก่อนบริโภคทุกครั้งควรนำไปต้มใหม่ หรือปรุงด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที เพื่อลดความเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับ ปลาร้าควรปรุงให้ถูกต้อง โดยหมักในไหนานเกิน 6 เดือน ส่วนปลาส้มควรหมักไว้ 3 เดือน และนำไปแช่เย็น
เมื่อจะนำมารับประทานต้องปรุงให้สุก หากสงสัยว่าป่วยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงดังที่กล่าวมา ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยาถ่ายพยาธิมากินเอง หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ความเห็น 0