“ลามะลิลา ขึ้นต้นอะไรก็ได้ แต่ให้ลงท้ายด้วยสระอา…” [บ้างใช้ “คำ” แทน “ให้” ก็มี] นี่คือท่อนฮุกของเพลงลามะลิลา ที่หลายๆ ท่านรู้จักกันดี เพลงลามะลิลา เป็น เพลงพื้นบ้าน ภาคกลาง มีลักษณะเป็นกลอนหัวเดียว คือกลอนที่ลงท้ายด้วยเสียงกันจนจบ ไม่ว่าจะเป็นสระไอ, สระอี, สระอา ฯลฯ
แต่ที่ได้ยินส่วนใหญ่มักเป็นสระอา ดังเนื้อเพลงท่อนฮุกข้างต้น
ด้วยเป็นกลอนที่ลงท้ายด้วยสระเดียวกันจนจบ จึงง่ายแก่การจดจำ เพลงลามะลิลาจึงนิยมนำมาใช้เป็นแบบเรียนในการพัฒนาการอ่าน การร้อง การท่องจำ ตัวอย่างเช่นแบบเรียนสำหรับเด็กที่นพดล สังข์ทอง แต่งว่า
“ลามะลิลา ขึ้นต้นอะไรก็ได้ แต่คำลงท้าย ต้องสระอา ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ็อน พอแตกใบอ่อน เป็นมะลิลา
ยามเช้าอากาศแจ่มใส มะนาวสุขใจ สดใสเริงร่า วันนี้เป็นวันจันทร์ มะนาวตื่นพลัน แปรงฟันล้างหน้า…”
รูปแบบของเพลงลามะลิลา ที่เป็นกลอนหัวเดียวนี้ ครูเพลงอย่าง ครูสุรินทร์ ภาคศิริ นำรูปแบบไปแต่งคำร้องและทำนองเป็นเพลงบ้องกัญชา ให้กาเหว่า สีทอง (2490-2554) ร้องจนโด่งดัง ภายหลังนักร้องคนอื่น เช่น ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ที่มีเนื้อเสียงคล้ายกับกาเหล่า สีทองก็เคยนำร้อง เนื้อร้องของเพลงนี้ว่า
“ลาเอ๋ยลา ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา หน้างานสุขสันต์รื่นเริงเถิดเทิงสนุกเฮฮา ทั้งเหล้าทั้งยาล่ะขนมามากมาย เหล้าโรงของบ้านตาโถ สาโทของพ่อผู้ใหญ่ กับแกล้มตาแย้มแหมปรุงถึงใจ ลาบวัวคั่วไก่ล่ะถึงไหนถึงกัน ลาเอ๋ยลา ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปล่ะกลายเป็นบ้องกัญชา…”
เด็กๆ เมื่อ 30-40 ปี ก่อน เอาเพลงลามะลิลา ผสมกับเพลงบ้องกัญชา มาร้องเล่นว่า “ลามะลิ ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา ลามะลิลาขึ้นต้นอะไรก็ได้ แต่ให้ลงท้ายด้วยสระอา ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา [เนื้อต่อจากนี้แล้วแต่ผู้ร้องแต่ละคนจะแต่งต่อกันไป]…”
ด้วยความที่ง่ายแก่การจดจำ เพลงลามะลิลา จึงมีการนำมาใช้เป็นเพลงเชียร์ลีดเดอร์ ในงานกีฬาสีของโรงเรียนจำนวนมาก ที่ร้องว่า
“ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา สี… อย่ามาอวดเก่ง สี… อย่ามาอวดเก่ง เดี๋ยวจับใส่เข่งโยนขึ้นหลังคา…”
ถึงวันนี้เพลงลามะลิยังคงได้รับความนิยม เพราะมีความสนุก, ง่ายแก่การจดจำ และผู้ร้องสามารถสร้างสรรค์เนื้อร้องเพิ่มได้เอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “หลี” ในคำว่า “หลีสาว” มีที่มาจากไหน ?
- เจาะ “เพลงปฏิพากย์” หนุ่มสาวโต้ตอบกรอบสังคมเคร่งครัดเรื่องเพศ ผ่าน เพลงพื้นบ้าน
ข้อมูลจาก :
นพดล สังข์ทอง. ชุดลามะลิลา พัฒนาการอ่าน การร้อง และท่องจำ : มะนาวไปโรงเรียน, สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์
เลิศชาย คชยุทธ. สุรินทร์ ภาคศิริ มนุษย์ 3 มิติ ใน, ลูกทุ่งเศรษฐี นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2563
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ลามะลิลา เพลงพื้นบ้านคู่กับคนไทย เป็นทั้งแบบเรียน เพลงลูกทุ่ง เพลงเชียร์กีฬา
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 0