โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

#สมรสเท่าเทียม ติดอันดับ หลังสภาฯ เปิดรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เปิดทางสมรสเท่าเทียมทุกเพศ

THE STANDARD

อัพเดต 06 ก.ค. 2563 เวลา 14.05 น. • เผยแพร่ 06 ก.ค. 2563 เวลา 14.05 น. • thestandard.co
#สมรสเท่าเทียม ติดอันดับ หลังสภาฯ เปิดรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เปิดทางสมรสเท่าเทียมทุกเพศ
#สมรสเท่าเทียม ติดอันดับ หลังสภาฯ เปิดรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เปิดทางสมรสเท่าเทียมทุกเพศ

วันนี้ (6 กรกฎาคม) แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ในเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยม หลังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับความคิดเห็นในส่วนของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่ง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และคณะ เป็นผู้เสนอ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 หลักทั่วไป บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก 

 

โดยสาระสำคัญในหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ การเสนอขอแก้ไขเพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อบุคคลธรรมดาได้หมั้นหรือสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องต่างๆ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส

 

ส่วนทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส รวมถึงการแบ่งมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า สามีและภรรยาเป็นคู่สมรส และการหมั้น ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ทำการหมั้นกันได้ และเสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น แทนคำว่า ชายและหญิง และแบบของการหมั้นให้ผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น ในส่วนของเรื่องสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิมเพียงแต่ปรับถ้อยคำเป็น ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น

 

สำหรับการสมรส ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า ชายหรือหญิง เป็นบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล สำหรับประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นนั้น ประกอบด้วย

  • ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นกันได้หรือไม่
  • ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ สามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายหรือไม่
  • ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปหรือไม่
  • ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศ มีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหมือนสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาหรือไม่ 

โดยผู้ที่สนใจสามารถตอบแบบสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=94ซึ่งล่าสุด เวลา 20.00 น. ของวันที่ 6 กรกฎาคม มีผู้แสดงความคิดเห็นแล้ว 23,141 คน

.

ทั้งนี้ในโลกออนไลน์ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่างทวีตข้อความเชิญชวนให้ชาวโซเชียลร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายสมรส เพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งเสนอให้มีการปรับถ้อยคำชายและหญิง เป็น ผู้หมั้น ผู้รับหมั้น หรือการใช้คำว่าสามีภริยา เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส เพื่อผลักดันความเท่าเทียมในการสมรสของคนทุกเพศ กระทั่งวันนี้แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยอยู่หลายชั่วโมง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 2

  • DOS
    ผลงานชิ้นเอกของรัฐบาล
    06 ก.ค. 2563 เวลา 16.41 น.
  • Surasit
    จงรอดูผลร้ายที่จะเกิดขึ้น ในสถาบันครอบครัว ที่จะส่งผล กระทบต่อสังคม หากให้สิทธิพิเศษกับพวกวิปริต เรื่องเพศพวกนี้ ผิดเพศก็คือผิด อย่าเอากฏหมายมา ทำให้มัถูก
    07 ก.ค. 2563 เวลา 06.49 น.
ดูทั้งหมด