คนเขาชอบพูดกันว่า “จงคว้าช่วงเวลานั้นไว้”
ไม่รู้สิ ฉันว่ามันตรงกันข้าม
ช่วงเวลาต่างหากที่คว้าเราเอาไว้
ย้อนกลับไปปี 2001 , ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ กำลังนั่งหาไอเดียเกี่ยวกับหนังใหม่ของเขาที่ว่าด้วยเรื่อง “ช่วงเวลาวัยเด็ก” ซึ่งเกิดมาจากการที่เขาเป็นพ่อคนและเริ่มเห็นลูกเติบโตจนอดสงสัยไม่ได้ว่าช่วงเวลาวัยเด็กของตัวเองเป็นยังไง? หรือกระทั่งช่วงเวลาวัยเด็กคืออะไร? ปัญหาของ ริชาร์ด สำหรับโปรเจ็กต์นี้คือเขาตัดสินใจไม่ได้ว่าตัวเองจะเลือกโมเมนต์ไหนมาเล่าดี ช่วงเวลาเด็กตรงไหนที่ควรแค่แก่การหยิบมาพูดถึง ผ่านเลยไปปัญหาดังกล่าวก็เรื้อรังจนทำเขาเกือบถอดใจจนกระทั่งวันหนึ่ง ไอเดียที่เขาต้องการมานับปีก็ผุดขึ้นมา โมเมนต์สำคัญที่กลายเป็นคอนเซ็ปต์ให้กับงานของเขา - “ก็ถ่ายหนังเรื่องนี้ทีละนิดไปทุก ๆ ปีสิ”
Boyhoodเป็นภาพยนตร์ดราม่าความยาว 165 นาที จาก ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ บอกเล่าเรื่องราวของ เมสัน กับการเติบโตตลอดระยะเวลา 12 ปีเต็ม (จากประถมจนขึ้นมหาลัย) โดยความพิเศษของหนังที่เรียกร้องให้ผู้คนสนใจตั้งแต่แรกได้ยินคือคอนเซ็ปต์ “ถ่ายทำ 12 ปีจริง” ตามระยะเวลาการเติบโตของนักแสดง มันฟังดูเป็นไอเดียที่บ้า (และหาเรื่องเสี่ยง) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้เห็นตัวละครของ เอลลาร์ โคลเทรน, ลอเรไล ลิงค์เลเตอร์, แพทริเซีย อาร์เคตต์ และ อีธาน ฮอว์ค ค่อย ๆ เติบโตและเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาจริง (หาใช่การเมคอัพหรือหานักแสดงหน้าเหมือนที่โตหรือเด็กกว่ามาเล่น) นั้นเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำเสียเหลือเกิน และทำให้เรารู้สึกว่า ณ ขณะที่เรื่องราวของมันว่าด้วยการก้าวข้ามช่วงเวลาของหนุ่มน้อย วัย 6 ขวบถึง 18 ปี สถานะของหนังเองไม่ก็ต่างกันเสียเท่าไหร่ มันค่อย ๆ เติบโตทีละนิด กลายเป็นบันทึกความทรงจำขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องช่วงวัยเด็กเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงวัฒนธรรม สังคม การเมือง และความเป็นไปของโลกด้วย
นี่ไม่ใช่ผลงานแรกของ ลิงค์เลเตอร์ ที่เล่นกับ “เวลา” เราเคยได้เห็นเขาทดลองกับภาพยนตร์อย่าง The Before Trilogy (1995-2013) มาแล้วที่ใช้ระยะห่างเวลาจริงสร้างพื้นที่และเรื่องราวให้กับความสัมพันธ์ของตัวละครชายหญิงสองคน จนกลายเป็นหนังรักที่ไม่เพียงแต่ตัวละครเท่านั้นที่เติบโตขึ้น คนดูเองก็เช่นกัน - ใน Boyhood เอง เวลาก็เป็นองค์ประกอบสำคัญเช่นกัน แม้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกมันจะเหมือนกับหนัง Coming of Age ธรรมดา แต่ด้วยคอนเซ็ปต์ของการถ่ายตามระยะเวลาจริง 12 ปี มันจึงไม่ใช่หนังที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวิธีปกติทั่วไปอย่างแน่นอน หากแต่มีวิธีคิด วิธีดีไซน์ในแบบเฉพาะของตัวเอง
แม้ระยะเวลาจะกินยาวไปถึง 12 ปี (หรือ 4,000 วันโดยประมาณ) Boyhood กลับมีจำนวนวันถ่ายทำเพียง 45 วันเท่านั้น (เริ่มโปรดักชั่น พฤษภาคม 2002 สิ้นสุด สิงหาคม 2013) โดยในแต่ละปี ทีมงานและนักแสดงจะกลับมารวมตัวกัน 1-2 ครั้งเพื่อถ่ายทำกัน 3-4 วัน โดยมีระยะเวลา Pre-Production 2 เดือนและ Post-Production 1 เดือนโดยประมาณ ริชาร์ด เริ่มถ่ายโดยที่บทยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่นั่นก็เป็นความต้องการของเขาที่เหลือพื้นที่ไว้ใส่รายละเอียดต่างๆที่เข้ามาในแต่ละปี โดยวางไว้แค่พล็อตสำคัญของแต่ละตัวละครในแต่ละช่วงเวลาและฉากจบของเรื่องเท่านั้น ที่เหลือจะเป็นการเติมแต่งโดย ริชาร์ด และนักแสดงคนอื่น ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาบทด้วยกัน จากประสบการณ์ชีวิตในแต่ละปีที่แตกต่างกันออกไป (ทำให้หนังมี 12 สคริปต์ ตามระยะเวลา 12 ปี) ลองจินตนาการชีวิตของตัวเองดูว่า 12 ปีที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง? สำหรับเรามันค่อนข้างเป็นสเกลที่ใหญ่มากๆ แต่อาจจะไม่เกินเลยไปหากคุณค่อยๆเก็บบันทึกทีละนิดในแต่ละปีเรื่อย ๆ
เราจึงได้เห็นว่าความพิเศษของ Boyhood ไม่ใช่แค่การที่มันเป็นหนังที่ถ่ายทำยาวนานหรือว่าใช้นักแสดงคนเดิมเล่นตั้งแต่เด็กยันโตเป็นวัยรุ่น (ซึ่งเป็นไอเดียที่อันตรายเสียเหลือเกิน หากมองว่าชีวิตคนเรานั้นไม่แน่ไม่นอน ซึ่งจริง ๆ ริชาร์ด ก็ไม่ได้มองข้ามจุดนี้ เขาทาบทามให้ อีธาน ฮอว์ค มากำกับต่อหากวันหนึ่งเขาตายไปแล้วเรียบร้อย) แต่มันยังทำหน้าที่เป็นจดหมายเหตุ บันทึกประวัติศาสตร์ ณ ช่วงเวลานั้นเอาไว้อย่างสมจริงอีกด้วย (หรืออย่างน้อย ๆ ก็รู้สึกว่าไร้การปรุงแต่งมาก ๆ)
การทำหน้าที่เป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ทำให้ Boyhood ไปไกลกว่าแค่เรื่องของเด็กที่เติบโต แต่มันยังทำให้เรา (ผู้ชม) รู้สึกเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย การที่หนังอุดมไปด้วยกิจกรรมชีวิตที่แตกต่างกันไปทำให้เราได้สังเกตการณ์ความเป็นไปในแต่ละปีที่ออกมาธรรมชาติมาก ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ให้สัมภาษณ์ว่าสาเหตุที่เขาเลือกจะไม่บอกปีหรือลำดับเวลาในหนังก็เพราะเขาไม่ต้องการทำให้มัน ‘ชัดเจน’ จนเกินไป การไหลไปของเวลาจากปีที่หนึ่งไปยังปีที่สอง สาม สี่ เราจะสังเกตได้จากการสำรวจสภาพแวดล้อม (นอกเหนือจากตัวละครที่มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ) คุณอาจจะรู้สึกได้จากดีเทลยิบ ๆ ย่อย ๆ ที่โผล่เข้ามา ทั้งเหตุการณ์ 9/11, งานเปิดตัวหนังสือ แฮร์รี่ พ็อตเตอร์, การหาเสียงเลือกตั้ง, เกมที่เล่น หรือกระทั่งเพลงที่ประกอบอยู่ในแต่ละช่วงปี (หนังไม่มีสกอร์ ใช้ผลงานเพลงจากหลากหลายศิลปิน) เพื่อทำให้คุณหยุดชะงักและตระหนักว่าช่วงเวลากำลังเดินทางไปข้างหน้า พบสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างออกไปจากชีวิตเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งบางทีการเติบโตในชีวิตจริงเราก็อาจเป็นแบบนั้น เราอาจจะไม่รู้สึกได้ถึงการเติบโตของตัวเองจนกระทั่งได้มองย้อนกลับไปดูร่องรอยชีวิตที่ผ่านมา ซึ่ง Boyhood คือหนังที่พูดถึงเรื่องนั้น เพียงแต่เราอยู่ในสถานะผู้สังเกตการณ์ ราวกับเพื่อนบ้านที่ค่อย ๆ เห็นครอบครัวบ้านตรงข้ามเติบโตขึ้นทีละนิด ๆ จนต้องสังเกต
ด้วยการจับจ้องชีวิตและบริบทสังคมต่าง ๆ ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติสมจริง Boyhood จึงถูกมองว่าเป็นหนังที่มีความเป็นสารคดีสูง ด้วยการเล่าเรื่อง สถานการณ์ บทสนทนา การแสดง เพราะบางทีถ้าคุณไม่เคยรู้จัก อีธาน ฮอว์ค และ แพทริเซีย อาร์เคตต์ มาก่อน อาจมีสิทธิสับสนไม่แน่ใจได้เหมือนกัน ริชาร์ด เองเล่าว่าตนเคยเจอกับคนดูที่นิวยอร์กที่คิดว่า Boyhood คือสารคดี คิดว่าตัวละครทุกคนคือ Subject ที่เขาเลือกมาเล่าอย่างละเอียดอ่อน ซึ่ง ริชาร์ด เองไม่ได้มองว่ามันคือสารคดีเพียงแต่เป็นหนังที่ทำให้รู้สึกว่ามันจริงมาก ๆ เท่านั้น ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับเรื่องแต่งคือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของภาพยนตร์ที่ถูก ริชาร์ด เบลอไว้เสมอ ตั้งแต่ตัวภาพยนตร์ยันเบื้องหลังการถ่ายทำ หากคุณรู้สึกว่าหนังมันจริงเสียยิ่งกว่าเรื่องจริงอาจจะเพราะเป็นการพัฒนาโปรเจ็กต์ที่มีเรื่องของความจริงเข้ามาข้องเกี่ยวเป็นสำคัญ อาทิ ตัวละครหลักหลายคนในหนังถูกหยิบยืมจากคนที่ตนรู้จักจริง ๆ (อีธาน ฮอว์ค ยืมพ่อตัวเองกับ ริชาร์ด มาสวมบทบาท ส่วน แพทริเซีย อาร์เคตต์ ก็มีแม่ของเธอซึ่งเส้นทางชีวิต ๆ เหมือนกับตัวละครของตน – กลับมาเรียนต่อจนสุดท้ายได้กลายเป็นนักบำบัดจิต) แต่ในขณะเดียวกัน Boyhood ก็ไม่ใช่หนังที่เจริญรอยตามชีวิตจริงของนักแสดง เพราะ ริชาร์ด เองก็มีเส้นเรื่องที่วางทุกอย่างไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เฉกเช่น เมสัน ของ เอลลาร์ โคลเทรน ที่แม้การแสดงของเขาจะทำให้รู้สึกเหมือนว่าไม่ได้เล่น (หากแต่ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ) แต่ชีวิตจริงของเขากับ เมสัน กลับเป็นไปคนละทิศทางอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของการมีพี่น้อง ประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะการเรียน แม้ในหนังเราจะเห็น เมสัน ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนประถมถึงไฮสคูลอย่างเป็นธรรมชาติ แต่จริง ๆ แล้ว เอลลาร์ เรียนหนังสือที่บ้าน (Home School)
ริชาร์ด ให้สัมภาษณ์ว่าเดิมทีเขาไม่ได้ต้องการให้ เมสัน กับ เอลลาร์ มีชีวิตที่คล้ายกัน (นั่นทำให้เขามองว่านี่ไม่ใช่สารคดี) เมสัน วัย 6 ขวบใน Boyhood มีความแตกต่างจากนักแสดงจริงมาก (เขาบอกว่า เอลลาร์ ตัวจริงเท่กว่าเยอะ ไม่มีทางเหมือนกับในหนังเลยสักนิด) กระนั้น นั่นเป็นเพียงช่วงเริ่มแรกของการถ่ายภาพ เมื่อเวลาผ่านไปความธรรมดาของชีวิต เมสัน กับ เอลลาร์ ก็ค่อยๆกลมกลืนมากขึ้น เป็นปกติมากขึ้น จนหลอมรวมเป็นคนเดียวกันในท้ายที่สุด ริชาร์ด เล่าถึงซีนสุดท้ายบนภูเขาที่ เมสัน กับสาวมหาลัย (ที่เขาปิ๊ง) นั่งคุยกัน แม้ในตอนเริ่ม เอลลาร์ จะไม่ใช่ เมสัน เลยสักนิด แต่ ณ โมเมนต์นั้น “เมสันคือเอลลาร์ เขาอยู่บนภูเขานั่นในตอนจบ” ริชาร์ดกล่าว
สำหรับเรามันจึงไม่ใช่แค่หนัง Coming of Age ทั่ว ๆ ไป เพราะด้วยคอนเซ็ปต์และวิธีการสร้าง หนังจึงมีสถานะ “เติบโต” ไม่ต่างจากตัวละครในเรื่องเสียด้วยซ้ำ ระยะเวลา 12 ปีของ เมสันและครอบครัว ก็คือระยะเวลา 12 ปีของ ริชาร์ด นักแสดง และทีมงานทุกๆคนซึ่งมีเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านไม่ต่างกับชีวิตของเด็กและผู้ใหญ่ในเรื่อง (ระยะเวลา 12 ปีดังกล่าว ชีวิตจริงของ อีธาน ฮอว์ค และ แพทริเซีย อาร์เคตต์ เองก็เจอปัญหาชีวิตคู่แทบไม่ต่างกัน) มันจึงเป็นเรื่องราวยิ่งใหญ่ที่มาจากทั้งภายในและภายนอกผลงาน เป็นวิธีการสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ เป็นการทดลองกับคำว่าเติบโตในภาพยนตร์ที่ท้าทายและได้ผลลัพธ์ที่ไม่มีวันลืม (ซึ่งไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าคอนเซ็ปต์บ้า ๆ (ที่สำเร็จ) ของหนังช่างใหญ่โตเหลือเกิน)
Boyhood ออกสู่สายตาคนดูมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี ใช้เวลาถ่ายทำ 12 ปี ด้วยจำนวนทีมงานกว่า 450 ชีวิต (กระนั้น ส่วนมากเป็นทีมงานที่ผ่านมาและผ่านไปในแต่ละปี ทีมงานจริงๆที่อยู่ทำงานตั้งแต่ต้นจนจบมีเพียง 12 ชีวิตเท่านั้น) ด้วยทุนสร้าง 2.4 ล้านเหรียญ (โดย IFC เจ้าของหนังจะให้บัดเจ็ท 200,000 เหรียญทุก ๆ ปี ด้วยเงื่อนไขที่ไม่เข้าไปควบคุมงานสร้างใด ๆ ของ ริชาร์ด ไม่ดูแม้กระทั่งกระบวนการการทำภาพยนตร์เสียด้วยซ้ำ) แม้หนังจะคว้าออสการ์ไปได้เพียงสาขาเดียว (สมทบหญิงยอดเยี่ยม แพทริเซีย อาร์เคตต์) แต่ก็นับว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่น่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่งในทศวรรษนี้
หากประโยคตอนจบอันว่าด้วยเรื่อง “เวลาคว้าเราไว้” สรุปภาพรวมทั้งหมดของหนัง สำหรับเรา เบื้องหลังชีวิตและการถ่ายทำของทีมงานและนักแสดง ก็แทบจะมีความหมายไม่ต่างกัน Boyhood กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่มากกว่าภาพยนตร์ เพราะในขณะที่เรากำลังเห็น เมสัน เติบโตขึ้นทุกๆ 14 นาที (โดยประมาณ) เราก็พบว่าชีวิตจำนวนมากมายหลังกล้องเหล่านั้นเองก็เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน – ซึ่งสำหรับเรามันงดงามเท่า ๆ กัน
อนึ่ง ล่าสุดปลายสิงหาคมที่ผ่านมา ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ กำลังมีแผนจะทำหนังมิวสิคัลที่ดัดแปลงมาจากงานของ จอร์จ เอส. คอฟแมน เรื่อง Merrily We Roll Along บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในวงการบรอดเวย์และฮอลลีวู้ดของชายหนุ่มผู้โด่งดังร่ำรวยที่ต้องมาแลกด้วยการเสียเพื่อน คนรัก และตัวตนของตัวเอง โดยความน่าสนใจนอกจากการลำดับเรื่องแบบย้อนหลัง คือเรื่องราวอันยาวนานนับ 20 ปีของตัวละครตั้งแต่เริ่มต้นสู่จุดจบ ซึ่งแน่นอนว่า ใช่แล้วครับ ริชาร์ด จะถ่ายทำเรื่องนี้ 20 ปีจริง ๆ
.
.
ติดตามบทความของเพจ Kanin The Movie ได้บน LINE TODAY ทุกวันพุธ
ความเห็น 7
Tickety-Boo!!!🐈
โอ้..อีก 20 ปี จะรอชมนะ!?!?
ตรงโซฟาคู่ Opera seat จะเห็นลุงกับป้าคู่นึง..นั่นแหละ!?!?😁
18 ก.ย 2562 เวลา 03.04 น.
🐝🌵🌷🐞🎏
ดูทาง TRUE VISION มาหลายรอบแล้ว ชอบเป็นหนังที่น่ารักมาก
18 ก.ย 2562 เวลา 23.58 น.
ธนุกิたぬき
นับถือและรอดูครับ
18 ก.ย 2562 เวลา 23.49 น.
บางครั้งในสิ่งที่ได้ตั่งใจเอาไว้ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาต่อในสิ่งที่อยากจะให้เป็นไปดั่งที่ใจต้องการเอาไว้ได้เหมือนกัน.
18 ก.ย 2562 เวลา 22.34 น.
🏆Inca coffee🏆
🧡กาแฟอินคา🧡
🎱ลดเบาหวาน
🎱ลดความดัน
🎱ลดอาการไมเกรน
🎱ลดอาการภูมิแพ้
🎱ลดอาการเก๊าท์
🎱ลดอาการท้องผูก
🎱ควบคุมไขมันLDL
🎱ลดความอ้วน
🎱ลดไขมันที่ตับ
แบบDetox Liver
🎱บำรุงผิวพรรณ
🎱ใช้ได้ทั้ง ♀️♂️
🇹🇭สินค้ามาตรฐาน อย. THAILAND 🇹🇭
🅱️ 1 กล่อง มี 12 ซอง
💋ทานก่อนอาหารเช้า 1 ซอง
💰ราคา 260 บาท
สน🧡
Line : @286nklga
(ใส่@ด้วยค่ะ)
✈จัดส่งทันที✈
🌟🌟🌟🌟🌟
19 ก.ย 2562 เวลา 05.26 น.
ดูทั้งหมด