พระประธานภายในพระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า“พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย มีขนาดของหน้าตักกว้าง 4.40 เมตร สูง 6 เมตร พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3
ลักษณะทางพุทธศิลป์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างหรือบูรณะขึ้นในช่วงสมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยเทียบเคียงกับพระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดิษฐานในแนวระเบียงคด วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งวัดนี้สร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ. 2173
โดยมีลักษณะทางพุทธศิลป์ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการผสมผสานคติความเชื่อแบบ “เทวราชา” ของขอม กับแบบ “ธรรมราชา” ของกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ โดยช่างผู้รังสรรค์ได้ถ่ายทอดแนวความคิดในการจำลองเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ให้เข้ากับปรัชญาและสิ่งแวดล้อมตลอดจนอิทธิพลของศิลปะในยุคนั้นๆ (ซึ่งเป็นยุคที่ย้อนกลับไปนิยมศิลปะแบบขอมในช่วงสมัยพระเจ้าปราสาททอง)
ลักษณะเด่นของอิทธิพลศิลปะขอมที่ชัดเจนคือ พวงอุบะที่สังวาล หรือจะเป็นรูปแบบของศิราภรณ์จากชฎาทรงเทริดแบบศิลปะขอม แต่ที่เห็นได้ชัดเจนคือช่างอยุธยาได้ประยุกต์ให้เทริดเป็นรูปกรวยแหลมสูง หรือแม้แต่ลวดลายการจำหลักต่าง ๆ ล้วนเป็นการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับรสนิยมของช่างอยุธยา
นอกจากนี้พระพักตร์ยังมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยมีพระพักตร์ค่อนข้างดุ พระเนตรดุจตาหงส์ พระนาสิกโด่งงุ้ม และพระโอษฐ์กว้าง รูปแบบของพุทธศิลป์ลักษณะดังกล่าวนี้ยังปรากฏอยู่หลายแห่ง เช่น วัดใหญ่ประชุมพล วัดตูม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือที่วัดพระนอน จังหวัดเพชรบุรี
แต่ที่วัดหน้าพระเมรุ ถือได้ว่ามีความงดงามสมบูรณ์แบบมากที่สุดทั้งในเรื่องของขนาดและความงดงามทางพุทธศิลป์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานของอิทธิพลทางศิลปะจากภายนอกและศิลปะท้องถิ่นที่ปรับประยุกต์เข้าหากัน โดยมีปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เป็นกรอบกำหนดก่อเกิดเป็นผลงานที่มีคุณค่าและเอกลักษณ์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2560
ความเห็น 0