โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พ่อแม่'หมอกระต่าย'เปิดโครงการ'Rabbit Crossing' รณรงค์กระตุ้นจิตสำนึกคนไทย

แนวหน้า

เผยแพร่ 01 ก.ย 2565 เวลา 17.00 น.

พ่อแม่"หมอกระต่าย"เปิดโครงการ"Rabbit Crossing" ผ่านบิลบอร์ดทั่วกรุง เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักความสูญเสียจากอุบัติเหตุจยย.และการเฉี่ยวชนบนทางม้าลาย ด้านหัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยฯเผยข้อมูล สธ.พบจยย.สาเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิต 84.16%

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล และ นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล มารดาและบิดาของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่จากไปด้วยอุบัติเหตุรถชนขณะข้ามทางม้าลาย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 และคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล ได้เปิดตัวโครงการ Rabbit Crossing รณรงค์กระตุ้นจิตสำนึกคนไทยให้ชะลอ หยุดรถ และไม่แซงบนทางม้าลาย โดยได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท Plan B ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการและรับจ้างผลิตสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย สื่อโฆษณาดิจิทัลกลางแจ้ง ให้ความอนุเคราะห์ในการขึ้นป้าย โครงการ Rabbit Crossing ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มเปิดตัวภาพสื่อดิจิทัลกลางแจ้งทั่วกทม.ไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา

นางรัชนี กล่าวว่า ครอบครัวหมอกระต่ายขอขอบคุณลูกๆ จาก Rabbit Crossing ขอบคุณบริษัท Plan B media ซึ่งร่วมกันสานฝันสร้างวัฒนธรรมใหม่ของสังคมไทย เเละขอบคุณคนไทยทุกๆ คน ที่เล็งเห็นถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนคนบนทางม้า ลายที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ก็ได้ริเริ่มทำโครงการ "ทางม้าลายกระต่ายน้อย" ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก "ระลึก ระวัง ระงับ" เพื่อเป็นการร่วมระลึกถึง พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย โดยจัดทำสัญลักษณ์ผ่านโลโก้กระต่ายสีชมพู เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกที่ดีด้านวินัยจราจร ทั้งผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนน ให้มีการสัญจรอย่างมีสติ หยุดคิด และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยหลังจากทำโครงการก็มีสถานที่หลายแห่งนำไปเป็นต้นแบบ เช่น โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ฯลฯ ส่วนครั้งนี้ เป็นข้อความเตือนสติผู้ขับขี่ให้ "ชะลอ หยุด ไม่แซง" ที่ทางม้าลาย เพื่อเราทุกคนจะได้ข้ามไปอย่างปลอดภัย "อย่าให้ความปลอดภัยของทุกคนเป็นเรื่องที่ถูกลืม"

คุณแม่หมอกระต่าย บอกว่า บางประเทศที่สามารถแก้ปัญหาจนลดอัตราความสูญเสียบนท้องถนนได้ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี แม้แต่จีน ซึ่งเคยเป็นสังคมจักรยานและจักรยาน ยนต์เป็นส่วนใหญ่ ก็กำหนดมาตรการที่ทำให้อุบัติเหตุบนถนนลดลงได้ แต่ประเทศไทยไม่กวดขันเรื่องการเคารพกฎหมาย ขาดมาตรการเกี่ยวกับทางม้าลาย มีแต่การตีเส้น ไม่มีอย่างอื่นรองรับ ป้ายบอกทางม้าลายไม่ถูกต้อง ไม่เป็นการเตือนล่วงหน้า แต่ติดไว้ในระยะกระชั้นชิดที่คนขับรถไม่สามารถชะลอความเร็วได้ทัน คนขับรถไม่เคยมีคู่มือเรื่องการระวังคนเดินข้ามทางม้าลาย การสอบใบขับขี่ก็ไม่เน้นเรื่องนี้ คนเดินถนนก็ไม่มีเครื่องหมายที่เอื้อทางสายตาให้สังเกตเวลาที่ยานยนต์ที่กำลังแล่นมา ซึ่งครอบครัวเราไม่ต้องการให้ความตายของหมอกระต่าย เป็นความตายที่สูญเปล่า

นพ.อนิรุทธ์ คุณพ่อของหมอกระต่าย บอกว่า ไม่อยากให้เป็นแค่กระแสที่สักพักคนก็ลืม ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ชนคนบนทางม้าลายเกิดขึ้นตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการรณรงค์ในวงกว้างจากภาครัฐ ไม่เห็นผู้นำประเทศหรือนักการเมือง ทำเรื่องนี้อย่าง ที่น่ากังวลคือ กรุงเทพฯ เป็นสังคมจักรยานยนต์เต็มรูปแบบ ยิ่งต้องกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุสูญเสียซ้ำซาก

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ระบุว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ารถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือร้อยละ 84.16 เช่นเดียวกับข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขนส่งทั้งหมดชี้ว่าการสูญเสียร้อยละ 80 เกิดจากการใช้จักรยาน ยนต์ สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่ารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะยอดนิยมสูงสุดของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง

และจากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 1.25 ล้านคน บาดเจ็บ 20 - 50 ล้านคนในแต่ละปี และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรก็เป็นสาเหตุการตายในลำดับต้นๆ ของคนไทย โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ที่ทำให้คนไทยตายเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน มาตลอด และยังไม่มีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะลดลง แม้มีงานวิจัยพบว่าการลดความเร็วของผู้ขับขี่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สถานศึกษา จะช่วยลดการบาดเจ็บของผู้ใช้ถนนทั้งหมด รวมทั้งผู้ขับขี่จักรยาน จักรยานยนต์ และคนเดินเท้า

ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพี่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์หนึ่งว่า แต่ละปี มีคนเดินถนนที่ถูกรถชนโดยเฉลี่ยประมาณ 20,000 คน เฉพาะที่ถูกชนตรงทางม้าลายคิดเป็นร้อยละ 6 หรือประมาณ 1,200 คน

- 006

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0