โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

เป็นเด็กก็เครียดได้ รู้จัก PTSD โรคทางใจหลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต

TeeNee.com

อัพเดต 07 ต.ค. 2565 เวลา 05.36 น. • เผยแพร่ 07 ต.ค. 2565 เวลา 05.33 น. • tawan
เป็นเด็กก็เครียดได้  รู้จัก PTSD โรคทางใจหลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต

นับเป็นคดีสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศไม่น้อย กับเหตุการณ์วานนี้ (6 ต.ค.65) สิบตำรวจโท ปัญญา คำลาบ บุกก่อเหตุกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.เขตอำเภอ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง37ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

และแน่นอนว่านอกจากการสูญเสียแล้ว เรื่องของสภาพจิตใจก็สำคัญไม่แพ้ใคร ทั้งตัวเด็ก ผู้ใหญ่ที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมามักจะมาพร้อมกับโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ โรคเครียดภายหลังภยันตราย เช่น ภัยพิบัติ การก่อการจราจล การฆาตกรรม สงคราม เป็นต้น ซึ่งคนที่ต้องเผชิญอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ รอดชีวิตมาได้ หรือว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก จนทุกข์ทรมาน ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ตามมา

อาการของผู้ป่วย PTSD

อาการโดยทั่วไปของ PTSD ที่พบ คือ มีอาการหวาดกลัว สิ้นหวัง หวาดผวา ซึมเศร้า รู้สึกท้อแท้เหมือนไม่มีใครหรืออะไรช่วยตนเองได้ และที่สำคัญ คือ มักจะเห็นภาพเหตุการณ์รุนแรงหรือสะเทือนใจอยู่บ่อย ๆ แม้จะพยายามไม่นึกถึง หรือพยายามลืมก็ตาม
บางคนอาจมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากเดิม อาทิ พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสถานที่ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างกรณีเคยประสบเหตุเรือล่ม อาจไม่กล้าขึ้นเรือโดยสาร หรือไม่กล้าอยู่ใกล้น้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงหรือสะเทือนใจ ไม่ได้เป็นโรค PTSD ทุกคน เนื่องจากบางคนสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจกลับมาได้เร็ว ขณะที่บางคนมีอาการผิดปกติทางจิตใจระยะสั้นเท่านั้น แต่ถ้าใครมีอาการตามที่กล่าวมาในข้างต้นเกิน 1 เดือน แสดงว่า คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรค PTSD

บุคคลประเภทใด ที่อาจเป็นโรค PTSD

- ผู้ที่ประสบเหตุร้าย หรือเคยได้รับประสบการณ์เลวร้ายมาจากอดีต
- ผู้ที่มีเรื่องเครียด กังวลใจ หรือประสบเหตุร้าย ๆ อยู่บ่อยครั้ง
- ผู้ที่ไม่ค่อยมีเพื่อนหรือครอบครัวมาคอยช่วยเหลือ
- ผู้ที่มีเรื่องให้เครียดกังวลใจอยู่ก่อน แล้วมาเจอเหตุร้ายซ้ำ ฯลฯ

** หากผู้ป่วยโรค PTSD เป็นเด็กเล็ก สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือ การทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย และกล้าเผชิญกับความกลัวนั้น โดยผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดด้วย เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งจะช่วยให้การบำบัดเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแพทย์ และครอบครัวเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เด็กหายจากโรคนี้ได้ ***

โรค PTSD มีวิธีรักษาได้ 2 วิธี คือ การรักษาด้วยยา และการรักษาทางจิตวิทยา แต่ในบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาทั้ง 2 แบบควบคู่กันก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย รวมถึงการวินิจฉัยของแพทย์

ทั้งนี้เพจเฟซบุ๊ก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ให้คำแนะนำสำหรับการดูใจสภาพจิตใจของกลุ่มเด็กและเยาวชน เมื่อผ่านเหตุการณ์ความรุนแรง

เด็ก คือ กลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพจิต เพราะ…
(1) เด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงน้อย
(2) เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
(3) เด็กไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก

ผลกระทบที่มีต่อเด็ก
* ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล
* ปัญหาพัฒนาการ เช่น พัฒนาการหยุดชะงัก
* ปัญหาการเรียน เช่น หนีเรียน การเรียนตก
* ปัญหาพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว เก็บตัว

พ่อแม่จะช่วยให้เด็กรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงได้อย่างไร
- ให้เด็กได้เล่าและพูดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กระตุ้นให้เด็กได้แบ่งปันความคิดและถามคำถามต่างๆ "ถ้าเด็กต้องการเล่า โดยอย่าบังคับ"
- ให้เด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย สงบ เชื่อมต่อ และรู้สึกมีความหวัง
- ลดการดูสื่อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
- เมื่อเด็กพร้อมควรกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดการผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้บ้าง เช่น เป็นอาสาสมัครในการสร้างชุมชนปลอดภัย แต่ควรงดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุ
- หากพบความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมในเด็ก ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0