ทำไม "ป่าอาโอกิงาฮาระ" เชิงภูเขาฟูจิด้านตะวันตกเฉียงเหนือ จึงเป็นสถานที่ยอดฮิตที่คนญี่ปุ่นต้องการจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากป่าแห่งนี้ มีความรกทึบ ยากแก่การค้นหา แต่ก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
หลายคนชอบเรียกตัวเองว่า เป็นนักท่องเที่ยวสายดาร์ค คือชอบท่องเที่ยวดั้นด้นไปยังสถานที่ๆ เคยมีประวัติศาสตร์อันโศกสลดหรือน่าสะพรึงกลัว เช่น สุสานหรือเวทีประหารชีวิต
แต่ถ้าพวกเขามาเจอ ป่าอาโอกิงาฮาระ ของญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ อาจถอยกรูดแทบไม่ทัน เพราะที่นี่เป็นสถานที่ยอดนิยมของคนญี่ปุ่นที่ต้องการจบชีวิตตัวเอง
ป่าแห่งความตาย
อาโอกิงาฮาระ เป็นป่าบริเวณเชิงภูเขาฟูจิด้านตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 13.5 ตารางไมล์ ที่นี่เป็นสถานที่ยอดฮิตของการฆ่าตัวตายติดอันดับเป็นที่ 2 ของโลกรองจากสะพานโกลเด้นเกตในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เรื่องราวของที่นี่ถูกนำไปดัดแปลงและใช้เป็นฉากหลังของนวนิยายเรื่อง “ทะเลป่าดำ” ในปี 1960 โดยเป็นเรื่องราวของคู่รักซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องพากันมาฆ่าตัวตายในป่าพร้อมกัน ว่ากันว่า ได้มีการฆ่าตัวตายในที่นี้มาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
สื่อญี่ปุ่นเคยรายงานว่า นับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 พบว่า มีผู้เสียชีวิตในป่านี้มากกว่า 500 คน ซึ่งส่วนใหญ่ฆ่าตัวตาย ในปี 2002 พบร่างผู้เสียชีวิต 78 ศพอยู่ในป่า
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ที่มาทำอัตวินิบาตกรรมมีจำนวนที่ไม่แน่นอน ส่วนหนึ่งเพราะป่านี้เป็นป่ารกทึบทำให้ยากแก่การค้นหา
ป่าอาโอกิงาฮาระ
เชื่อกันว่า น่าจะมีศพที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าอีกมากที่ไม่มีใครพบ การฆ่าตัวตายที่นิยมกันมากที่สุด คือ การแขวนคอ ตามมาด้วยการดื่มยาพิษและเสพยาเกินขนาด
หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นได้หยุดการเผยแพร่จำนวนผู้เสียชีวิต เนื่องจากไม่ต้องการให้เรื่องนี้เป็นข่าวออกไป ทางการญี่ปุ่นเคยออกแผน 7 ปีเพื่อลดจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายที่ป่าแห่งนี้ให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์หลังจากจำนวนคนตายมากขึ้นทุกปี
ส่วนหนึ่งที่ทำคือ ติดตั้งกล้องวงจรปิดตรงทางเข้า และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่และตำรวจติดตั้งป้ายในหลายจุดในป่า เพื่อเตือนสติให้ผู้ที่ต้องการจบชีวิตตนเองเปลี่ยนใจเช่น “คิดดูดีๆ ก่อน คิดถึงลูกๆ และครอบครัวด้วย” และ “ชีวิตของคุณเป็นของขวัญที่มีค่าจากพ่อแม่ของคุณ”
ภาพจาก The Japan Times
การฆ่าตัวตายในแบบคนญี่ปุ่น
การกำเนิดของป่าแห่งนี้เป็นการยืนยันคำพูดที่ว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องแปลกและน่าอับอายสำหรับคนญี่ปุ่นเหมือนในประเทศอื่นๆ
การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นมานานแล้ว ในอดีต ซามูไรจะมีประเพณีฆ่าตัวตายที่ได้รับการยกย่องหรือเรียกว่า ‘เซ็บปูกุ’ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ
โยชิโนริ โช ผู้เขียนหนังสือ “ทำไมคนถึงฆ่าตัวตาย” และผู้อำนวยการคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเทอิคิวแห่งเมืองคานากาว่า เคยกล่าวว่า ประเพณีเซ็บปูกุสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันทำให้คนที่ฆ่าตัวตายเชื่อว่า ตนกำลังแสดงความรับผิดชอบ
เมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 2008 ทำให้ในปี 2009 มีคนญี่ปุ่นฆ่าตัวตาย 2,645 โดยเพิ่มจากปีก่อนถึง 15 เปอร์เซ็นต์
หนังสือบางเล่มเช่น “คู่มือการฆ่าตัวตายที่สมบูรณ์” กล่าวว่า ป่าอาโอกิงาฮาระ เป็นสถานที่ๆ สมบูรณ์แบบสำหรับการฆ่าตัวตาย” มีการพบหนังสือเล่มนี้ในข้าวของที่ถูกทิ้งไว้ของคนที่มาฆ่าตัวตาย
เที่ยวป่าแห่งความตาย
ในแต่ละปี จะมีช่วงระยะเวลาที่อาสาสมัครจะลาดตระเวนในพื้นที่ งานของพวกเขาไม่ใช่เพื่อยับยั้งการฆ่าตัวตาย แต่เพื่อหาศพ ตำรวจและอาสาสมัครจะเดินในทุกพื้นที่ของป่าเพื่อค้นหาและนำศพออกมาจากป่าเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ทางการญี่ปุ่นไม่ยอมเปิดเผยจำนวนศพที่พบ
ผู้คนได้รับอนุญาตให้ตั้งแค้มป์ในป่า แต่เชื่อกันว่า ผู้ที่มาตั้งแค้มป์คือ ผู้ที่ตัดสินใจไม่ได้ว่า จะฆ่าตัวตายดีหรือไม่ บางคนมาตั้งแค้มป์หลายวัน อาสาสมัครที่ทำการลาดตระเวนก็จะพยายามโน้มน้าวให้พวกเขาเปลี่ยนใจและออกจากป่าไป
ยาซูฮิโกะ คาวามูระ วัย 41 ปี อาสาสมัครคนหนึ่ง กล่าวไว้ว่า การป้องกันไม่ให้คนฆ่าตัวตายเป็นงานที่ยาก
“ถ้าคุณเข้าไปเกี่ยวข้องมากเกินไป คุณเองนั่นแหละที่จะรู้สึกกดดัน”
ทางการญี่ปุ่นถึงกับเปิดการอบรมให้อาสาสมัครรู้จักวิธีการให้กำลังใจคนและโน้มน้าวให้พวกนั้นเปลี่ยนใจมีชีวิตต่อ
ถ้าใครที่ได้ไปป่าแห่งนี้ อาจแปลกใจที่เห็นโบว์พลาสติคผูกติดกับต้นไม้จำนวนมาก นั่นเป็นสัญลักษณ์ที่อาสาสมัครทำไว้ระหว่างการลาดตระเวนเพื่อกันการหลงทาง
เพราะป่าแห่งนี้เป็นป่ารกชัฏ มีต้นไม้ขนาดใหญ่มากมายและทำให้ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และทำให้เครื่องจีพีเอสไม่ทำงาน หากไม่ทำสัญลักษณ์ไว้ พวกเขาอาจหลงและติดอยู่ข้างในได้
นักท่องเที่ยวที่ไปที่นี่จะได้รับคำแนะนำว่า ให้ทำตามที่ป้ายแนะนำและเดินบนทางที่ทำไว้ให้เท่านั้น คนในพื้นที่ใกล้เคียงพากันโอดครวญว่า เมืองของพวกเขายังมีที่เที่ยวที่น่าสนใจอีกมาก เช่น ถ้ำน้ำแข็งนารุซาว่า
"""""""""""""
ที่มา : หนังสือพิมพ์เจแปนไทมส์
ความเห็น 1
Kampol
ป่าผีสิง
19 ธ.ค. 2564 เวลา 11.25 น.
ดูทั้งหมด