โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

ตลาดหุ้นไทย ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า

การเงินธนาคาร

อัพเดต 02 เม.ย. เวลา 15.17 น. • เผยแพร่ 02 เม.ย. เวลา 07.52 น.

นักลงทุนรอผลสรุปการขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐ ช่วงเวลาตี 2 ของคืนวันที่ 2 เม.ย.2568 ตามเวลาไทย ตลาดหุ้นไทย จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด หากโดนขึ้นภาษีนำเข้า ขณะที่รายได้บจ. ไทย พึ่งพิงส่งออกไปสหรัฐฯ 3.5% คิดเป็นมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท

นับถอยหลังเวลาตี 2 คืนวันที่ 2 เม.ย.2568 ตามเวลาไทย สหรัฐฯ จะประกาศการขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ว่าจะมีสินค้าอะไรและประเทศใดบ้างที่ติดรายชื่อ

ตั้งแต่มีกระแสความกังวลการขึ้นภาษีศุลกากร (TAX TARIFF) ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้มีความไม่แน่นอนในการลงทุนสูง กดดันให้มูลค่าการซื้อขายของหุ้นไทย (SET) เบาบางลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย (24 มี.ค. - 1 เม.ย.68) อยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน ลดลงจากระดับปกติราว 35% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ขณะที่ค่าเฉลี่ยมูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท

บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุล่าสุดมีกระแสข่าวจาก THE WASHINGTON POST รายงานว่า ฝ่ายบริหารของทรัมป์ กำลังพิจารณาเก็บภาษีนำเข้าราว 20% ของสินค้าส่วนใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 เม.ย.2568 โดยฝ่ายวิจัยฯจึงประเมินคร่าวๆว่าจะกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในตลาดหุ้นไทย (SET) อย่างไรบ้าง

โดยเมื่ออ้างอิงข้อมูลบจ.ใน SET มีรายได้รวม ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 18.7 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นหุ้นที่เพิ่งพิงการส่งออกราว 3.6 ล้านล้านบาท(คิดเป็นสัดส่วนราว 19%) ซึ่งประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกไปสหรัฐฯราว 18.3%

ดังนั้นสามารถประเมินได้ว่ารายได้บจ. ไทย พึ่งพิงการส่งออกไปสหรัฐฯ ราว 3.5% (6.5 แสนล้านบาท) และหากมีการขึ้นภาษีนำเข้า 20% ดังกระแสข่าวดังกล่าว จะทำให้มีสัดส่วนที่โดนผลกระทบราว 1.3 แสนล้านบาท หรือ 0.7% เท่านั้น

บล.เอเซีย พลัส มีมุมมองว่า ตลาดหุ้นไทยตอบรับประเด็นนี้มากในระดับหนึ่งแล้ว สะท้อนได้จากตลอด 5 เดือนที่ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 (5 พ.ย. 67 –1 เม.ย. 68) หุ้นไทยปรับตัวลง -20% บล.เอเซีย พลัส มองว่าภายใต้ตลาดที่ผันผวน แต่พลังงานแฝงอาจหนุนให้ดัชนีปรับตัวลงหุ้นไทย ( ดาวน์ไซด์) มีจำกัด

"ตลอด 5 เดือน ตลาดหุ้นไทย -20% ตอบรับประเด็นการขึ้นภาษีจากทรัมป์มาระดับหนึ่งแล้ว แต่หากการขึ้นภาษีไม่ได้รุนแรง มีโอกาสเห็นการรีบาวด์กลับขึ้นมา จากพลังสะสมแฝงที่ต่างชาติทยอยซื้อสะสมสุทธิสัญญา SET50 FUTURES กับ CALL OPTION มาระดับหนึ่ง" บล.เอเซีย พลัส ระบุ

นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวว่า แผ่นดินไหวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับสงครามการค้า โดยเฉพาะวันที่ 2 เม.ย.2568 รัฐบาลทรัมป์ประกาศรายชื่อ 15 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ (Dirty 15) มองว่านโยบาย Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ เป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มากกว่าภัยธรรมชาติ

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 เติบโต 2.5% หากรัฐบาลสหรัฐฯไม่เก็บภาษีเพิ่มเติม และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง สู่ระดับ 1.75%

  • หากสหรัฐฯ เก็บภาษีกับไทยในอัตรา 6% และ กนง. ลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 1.50% เศรษฐกิจไทยอาจเติบโต 2.2%
  • หากสหรัฐฯ เก็บภาษีกับไทย 10% และ กนง. ลดดอกเบี้ยลงอีก 3 ครั้ง สู่ระดับ 1.25% เศรษฐกิจไทยอาจเติบโต 1.7%
  • หากสหรัฐฯ เก็บภาษีกับไทย 16% และ กนง. ลดดอกเบี้ยลงอีก 4 ครั้ง สู่ระดับ 1.00% เศรษฐกิจไทยอาจเติบโต 1.3%

นายรัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงาน Wealth Products & Strategy บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวว่า การลงทุนในไตรมาส 2 ยังเผชิญความผันผวนสูงจากมาตรการภาษี Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลก แม้ภาคเทคโนโลยียังมีแนวโน้มแข็งแกร่ง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจถูกกดดันจากความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากมีความน่าสนใจลดลง และมีความเห็นเป็นกลางกับหุ้นไทยแต่เริ่มมองดาวน์ไซด์จำกัดและมีโอกาสฟื้นตัวได้ระยะสั้น

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกเก็บภาษีดังกล่าว เพราะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และมีส่วนต่างของภาษีกับสหรัฐฯ ในระดับค่อนข้างสูง

โดยหากสหรัฐฯ บังคับใช้ Reciprocal Tariffs กับประเทศไทยด้วยการขึ้นภาษีโดยเฉลี่ยราว 5% (อิงมาจากส่วนต่างของอัตราภาษีที่ไทยเรียกเก็บสูงกว่าสหรัฐฯ โดยเฉลี่ย) คาดจะส่งผลกระทบเชิงลบ (Downside Risk) ต่อจีดีพี ไทยในปีนี้ราว 0.3-0.5% จาก ที่บล.ทิสโก้ คาดว่าจะโต 2.8%

อย่างไรก็ดีสัญญาณล่าสุดจากทรัมป์ระบุว่า Reciprocal Tariffs จะมีความยืดหยุ่น และในมุมมองของบล.ทิสโก้เชื่อว่าจะถูกใช้แบบเฉพาะในกลุ่มสินค้าหรือกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Targeted Tariffs) มากกว่าที่จะใช้เป็นวงกว้างในทุกกลุ่มสินค้า (Broad-based Tariffs) และอาจเปิดช่องในการเจรจาด้วยการทิ้งระยะเวลาการมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 30 วันอย่างที่เคยทำมาในช่วงต้นปีนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ ตลาดหุ้นทั้งไทยและเทศ ได้ที่นี่