รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลยึดถือนับตั้งแต่ได้มีการประกาศนโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศกว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จนทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่สามารถบรรลุเป้าหมาย “Single-use Plastic” หรือลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้ 100% ในฐานะมหาวิทยาลัยต้นแบบระดับประเทศ คือ “การไม่หยุดที่จะตั้งคำถาม”
โดยไม่เพียงการรณรงค์ No Bag หรืองดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ขอความร่วมมือให้ทางร้านค้าถามผู้ซื้อถึงความจำเป็นในการใช้หลอด ช้อน ส้อมพลาสติกก่อนส่งให้พร้อมอาหารทุกครั้ง เพื่อลดปริมาณขยะภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่มีจำนวนมากถึงปริมาณ 5,000 กิโลกรัมต่อวันได้อย่างเห็นผล
นอกจากนี้ ยังได้รณรงค์ให้มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ และคุ้มค่า ถึงแม้จะเป็นเพียงเศษอาหาร ก็ไม่ได้ทิ้งเปล่าให้เน่าเสีย ยังสามารถนำมาผ่านกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ใน “ถังหมักรักษ์โลก” (Green Cone) เพื่อทำเป็นปุ๋ยใช้บำรุงพืชพันธุ์ต่างๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดลให้เขียวสดงดงามต่อไปได้อีกด้วย
แนวคิดเรื่องการใช้ “ถังหมักรักษ์โลก” ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลรับนโยบายมาต่อยอดขับเคลื่อนให้นักศึกษาได้รู้จักการจัดการกับเศษอาหารได้อย่างเหมาะสม นอกเหนือจากการแยกทิ้งขยะให้ถูกถัง โดยใช้หอพักนักศึกษาเป็นโมเดลหลัก
“ถังหมักรักษ์โลก” มีลักษณะเป็นรูปโคนที่มีผนัง 2 ชั้น โดยได้รับการออกแบบให้สามารถกักเก็บความร้อน ช่วยให้อากาศเกิดการหมุนเวียน และช่วยในการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
วิธีใช้โดยการฝังก้นถังลงดิน เพื่อให้ดินดักจับกลิ่นและไม่ให้เกิดแมลงวัน โดยเป็นการหมักในภาวะที่มีออกซิเจน ซึ่งใช้ “สารเร่ง พด.6” เติมลงถังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหมักที่แทบไม่ส่งกลิ่นเหม็นออกมา
นับเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย 9 to Zero ที่ว่าด้วยการทำให้ “ขยะสู่แหล่งฝังกลบเป็นศูนย์” (Zero waste to landfill) ของทั่วโลก จากหลักการทั้งหมด 9 ประการที่มุ่งหมายให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือในอีกประมาณ 8 ปีข้างหน้า
ซึ่งอุปสรรคปัญหาในการกำจัดขยะที่ไม่สามารถฝังกลบได้ ส่วนใหญ่เกิดจากขยะประเภทถุงร้อนปนเปื้อน ที่ยากต่อการนำมาทำความสะอาดเพื่อนำกลับไปใช้ซ้ำ อีกทั้งยังสิ้นเปลืองน้ำที่จะต้องใช้ในการทำความสะอาด ซึ่งจะต้องนำไปผ่านการบำบัดต่อไปอีกด้วย
โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 และตามเป้าหมายเพื่อการuพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG 12 Responsible Consumption and Production แห่งองค์การสหประชาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เท่ากับศูนย์ “9 to Zero” เพื่อโลกในอนาคตจะได้ไม่ย้อนถามกลับมาว่า ทำไมที่ผ่านมาจึงไม่ยอมหยุดทำร้ายโลก จนเมื่อรู้ตัวก็สาย
ความเห็น 0