โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

ข่าวปลอมโควิดระบาดหนัก ทำคนแห่ต้านเลือดบริจาค-โยงปนเปื้อนวัคซีน

Khaosod

อัพเดต 01 ก.พ. 2566 เวลา 08.28 น. • เผยแพร่ 01 ก.พ. 2566 เวลา 06.28 น.
ปกเพียวบลัด

ข่าวปลอมโควิดระบาดหนัก ทำคนแห่ต้านเลือดบริจาค-โยงปนเปื้อนวัคซีน

ข่าวปลอมโควิดระบาดหนัก - วันที่ 1 ก.พ. เอเอฟพีรายงานว่า ผลพวงของข่าวปลอมเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและขบวนการต่อต้านผู้บริจาคโลหิตที่เคยได้รับวัคซีนดังกล่าว

ขบวนการดังกล่าวมีเพจบนเฟซบุ๊ก ชื่อว่า เพียว บลัด มูฟเมนต์ (pure blood movement) หรือขบวนการเลือดบริสุทธิ์ โดยสมาชิกกลุ่มมีความเชื่อว่า เลือดจากผู้บริจาคโลหิตซึ่งได้เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นจะสร้างความปนเปื้อนให้กับร่างกายของผู้รับเลือดได้

สมาชิกบางส่วนของขบวนการยังเสนอให้สถาปนาธนาคารเลือดเฉพาะกิจขึ้นมาใหม่โดยรับบริจาคโลหิตจากบุคคลที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เท่านั้น สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่การแพทย์ในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า เริ่มมีผู้ป่วยที่ขอรับเลือดเฉพาะจากคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมากขึ้นต่อเนื่อง

สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คนเลือดบริสุทธิ์" ที่ต่อต้านการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังรณรงค์ให้ใช้ความรุนแรงจัดการกับบรรดาเจ้าหน้าที่การแพทย์ที่รับผิดชอบด้านวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว ทั้งยังพยายามเผยแพร่ข่าวปลอมว่า วัคซีนข้างต้นนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก

กรณีดังกล่าวยังเกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ หลังคู่รักคู่หนึ่งพยายามขัดขวางไม่ให้คณะแพทย์เดินหน้าผ่าตัดหัวใจเพื่อช่วยชีวิตลูกน้อยของตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าลูกจะได้รับเลือดที่มาจากผู้บริจาคซึ่งเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้ร่างกายของลูกปนเปื้อน

กรณีที่เกิดขึ้นส่งผลให้ศาลต้องสั่งให้เด็กเข้าอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐเพื่อให้คณะแพทย์เดินหน้าช่วยชีวิตเด็กได้ แต่คดีที่เกิดขึ้นกลายเป็นตัวอย่างที่สร้างความเดือดดาลให้กับกลุ่มผู้ต่อต้านวัคซีนลุกลามไปทั่วโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แคทรีน วอลเลซ นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก หรือยูไอซี กล่าวว่า ข่าวเกี่ยวกับกรณีข้างต้นนั้นได้รับการรายงานผ่านทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกในโลกโซเชียล ทำให้คนหันมาเชื่อทฤษฎีสมคบคิดกันมากขึ้น

"เป็นความเชื่อถือว่าไร้หลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง การนำเลือดจากผู้บริจาคโลหิตที่เคยได้รับวัคซีนไปให้กับผู้รับ ไม่ได้ทำให้ผู้รับได้รับวัคซีนไปด้วย" ผศ.วอลเลซ ยืนยัน

อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ เซฟ บลัด โดเนชั่น (เลือดบริจาคแบบปลอดภัย) ของมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยนายจอร์จ เดลลา พีเอตรา นักธรรมชาติบำบัดชาวสวิส มีสำนักงานที่นครซูริก ซึ่งครหาอย่างผิดๆ ว่าวัคซีน mRNA เป็นภัยต่อสุขภาพ ชี้แจงไปในทางตรงกันข้ามกับผศ.วอลเลซ

อีเมลที่ตอบกลับมาโดยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อของเว็บไซต์ดังกล่าว ระบุว่า มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่มีความกังวลต่อความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด แต่ทั้งหมดล้วนเห็นตรงกันว่าเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันผ่านกลไกเบื้องหลังของร่างกาย และจะติดตัวผู้รับไปตลอดกาล

คำชี้แจงดังกล่าวขัดกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานกาชาดอเมริกันหรือเออาร์ซี ที่ยืนยันว่าเลือดจากผู้บริจาคโลหิตที่เคยได้รับวัคซีนดังกล่าวมานั้นปลอดภัย ขณะที่ผศ.วอลเลซ ระบุว่า มูลนิธิเซฟ บลัด โดเนชั่นนั้นตั้งอยู่บนข่าวปลอมอย่างสมบูรณ์

ทว่า ผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของทางมูลนิธิเพื่อขอรับ "เลือดที่ปลอดภัย" นั้นจะต้องจ่ายค่าแรกเข้า 50 ยูโร หรือประมาณ 1,800 บาท และค่าสมาชิกรายปี 20 ยูโร หรือราว 700 บาท ทำให้ผศ.วอลเลซ ตั้งข้อสังเกตว่า การเล่นกับความหวาดกลัวของมนุษย์นั้นสามารถสร้างรายได้ได้มหาศาล

ความหวาดระแวงและความเข้าใจผิดจากข่าวปลอมดังกล่าวยังลุกลามไปถึงสเปิร์มจากชายที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและน้ำนมจากหญิงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาจากข่าวปลอมที่ว่าวัคซีนโรคโควิด-19 ทำให้สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้รับเปลี่ยนแปลงหรือถึงขั้นเป็นหมันได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม นักทฤษฎีสมคบคิดคาดว่า เลือด สเปิร์ม และน้ำนมจากบุคคลที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอาจกลายเป็นสิ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับเหรียญบิตคอยน์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า น่าจะหาผู้บริจาคได้ยากในชาติที่มีสัดส่วนประชากรรับวัคซีนสูง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0