“ข้าวต้มมัด” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ข้าวต้มผัด” เป็นขนมพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่รู้จักกันโดยทั่วไป และมีแทบทุกพื้นที่ของประเทศ นอกจากเป็นขนมหรือของกินเล่นแล้ว หลังวันออกพรรษา 1 วัน ที่มีการตักบาตรเทโว ข้าวตัมมัดก็จัดเป็นเครื่องไทยทานถวายพระสงฆ์อีกด้วย
ข้าวต้มมัด มีส่วนประกอบหลักคือ ข้าวเหนียว, มะพร้าว, กะทิ, กล้วยน้ำว้า, น้ำตาล, เกลือ และมีบ้างที่ใส่ถั่วดำ
การทำข้าวต้มมัดเริ่มจากนำข้าวเหนียวไปแช่น้ำ (ถ้าเป็นข้าวเหนียวใหม่แช่ประมาณ 3 ชั่วโมง ถ้าเป็นข้าวเหนียวเก่าอาจนานกว่านั้น) จากนั้นซาวข้าวเหนียวให้สะอาด ก่อนสงขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ ต่อด้วยนำกะทิใส่กระทะตั้งไฟ เติมน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย คนจนละลาย รอจนกะทิเดือดจึงตักข้าวเหนียวลงกระทะผัด ขั้นตอนนี้เองที่ทำให้บางคนเรียกมันว่า “ข้าวต้มผัด” ผัดจนน้ำกะทิงวด แต่ข้าวเหนียวที่ได้ยังเป็นลักษณะกึ่งดิบกึ่งสุกกินไม่ได้ ก็ยกขึ้นจากเตาพักให้เย็น
จากนั้นนำกล้วยน้ำว้าสุกมาผ่าแบ่งซีกเป็นไส้ขนม, นำถั่วดำที่ต้มจนสุกมาผสมในข้าวเหนียวที่ผัดแล้ว ใช้ใบตองขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 นิ้ว ยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ที่เช็ดสะอาด มาห่อข้าวต้มมัดให้เป็นกลีบ (ชิ้น) เมื่อห่อได้ 2 กลีบ ก็ใช้ตอกมัดขนมให้เป็นมัดเดียว ขั้นตอนนี้เองที่ทำให้บางคนเรียกมันว่า “ข้าวต้มมัด” แล้วนำไปนึ่งให้สุก ออกมาเป็นข้าวต้มมัดที่เห็นโดยทั่วไป
แต่ข้าวต้มมัดกินบ่อยๆ บางคนก็อาจเบื่อ หรือจะเป็นเพราะความสามารถในการพลิกแพลงของช่างขนมหวานไทย จึงมีการดัดแปลงข้าวต้มมัดที่กินบ่อยๆ เป็นขนมอื่นแทน และตั้งชื่อเสียใหม่
ขนมใหม่ที่ว่านี้ ส่วนผสมต่างๆ ก็ยังคงเหมือนเดิม ยกเว้นอย่างเดียวคือ ไม่มีถั่วดำ และห่อด้วยใบตองที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ขนาดประมาณหมูยอที่เป็นแท่งๆ ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นจึงไม่มัดเป็น 2 กลีบรวมกันอีกแล้ว เมื่อขนมนึ่งสุก ก็แกะใบตองออก หั่นตามขวางเป็นแว่นๆ หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วเอามะพร้าวขูดมาคลุกหรือโรย ใครชอบหวานก็เอาน้ำตาลมาโรยเพิ่มเติมอีก ดูไม่ค่อยต่างจากข้าวต้มมัดสักเท่าใด แต่มันก็มีชื่อเรียกใหม่ว่า “ข้าวต้มหัวหงอก” เข้าใจว่าได้ชื่อนี้เพราะมีมะพร้าวสีขาวโรย
นอกจากนี้ บางคนทำข้าวต้มมัดกลีบเดียวแล้วมัดเลยก็มี ซึ่งอันนี้อาจจะหากดูยากสักหน่อย แต่ที่หาดูง่าย, เป็นที่รู้จัก และขึ้นชื่อเรื่องรสชาติ คือข้าวต้มมัดเจ้าอร่อยที่สายการบินสัญชาติไทยแห่งหนึ่ง นำมารับรองผู้โดยสารที่ใช้บริการในเลาจน์ของสายการบิน
เพราะฉะนั้นอย่าเชื่อว่า ข้าวต้มมัดจะมี 2 กลีบเสมอไป
อ่านเพิ่มเติม :
- ขนมเปียกปูน… ขนมไทยสีดำ กรรมวิธีผลิตแบบครอบครัวจากความทรงจำวันวาน
- ปรัมปราจาก “ป่าขนม” ความสัมพันธ์ของ ข้าวเหนียว-ข้าวเจ้า กับขนมไทยในยุคโบราณ
เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รู้จัก “ข้าวต้มมัด” ขนมพื้นบ้านของไทย ที่ไม่จำเป็นต้องมัดเป็นคู่
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 0