โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

‘พิธา’นำทีมก้าวไกลเยี่ยมศูนย์เด็กเล็ก-ลุยปมที่ดินริมทางรถไฟ

เดลินิวส์

อัพเดต 26 ก.ค. เวลา 18.04 น. • เผยแพร่ 26 ก.ค. เวลา 10.51 น. • เดลินิวส์
‘พิธา’นำทีมก้าวไกลเยี่ยมศูนย์เด็กเล็ก-ลุยปมที่ดินริมทางรถไฟ
‘พิธา’นำทีมก้าวไกลเยี่ยมศูนย์เด็กเล็ก-ลุยปมที่ดินริมทางรถไฟ ชี้เป็นปัญหายืดเยื้อ ต้องการทางออกที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ด้าน ‘วิโรจน์’ เผยก้าวไกลเตรียมเสนอชื่อคนนอกเชี่ยวชาญงบประมาณ นั่งกรรมการงบ กทม. เชื่อช่วยเสริมความโปร่งใส

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กทม. และ นายเอกกวิน โชคประสพรวย สก.เขตราชเทวี พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร เพชรบุรี ซอย 5 และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน

นายพิธา กล่าวว่า ปัญหาชุมชนริมทางรถไฟในเขตราชเทวีมีมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นอย่างน้อย สืบเนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอีอีซี ต่อมาเมื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เข้ามา ก็มีการพูดคุยว่าจะทำพื้นที่อยู่อาศัยแนวสูง ซึ่งขัดกับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน แม้ชุมชนแห่งนี้จะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ แต่ชาวบ้านก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ยาวนานกว่า 3 ชั่วอายุคน ดังนั้นต้องหาทางออกที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพราะปัจจุบันประชาชนไม่ได้รับความชัดเจนมาเกือบ 10 ปี เป็นปัญหาเดือดเนื้อร้อนใจ วันนี้ตนอยากใช้เวลาเพื่อรับฟังปัญหา เข้าใจภาพรวมอย่างแท้จริง จะได้นำไปพูดแทนราษฎร และออกแบบแก้ไขปัญหาต่อไป

จากนั้นนายพิธาและคณะเดินทางต่อไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมักกะสัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กที่มาจากครอบครัวที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงเป็นปัญหาที่สอดคล้องกับครอบครัวที่ต้องเผชิญกับปัญหาไม่มีที่อยู่อาศัย โดยนายพิธา กล่าวว่า จะแก้ปัญหาของศูนย์เด็กเล็กฯ ได้ ต้องแก้ 3 ข้อที่เป็นอุปสรรค 1.แก้ไขระเบียบ 2.แก้โครงสร้าง 3.แก้งบประมาณ โดยเรื่องการจัดสรรงบประมาณนั้น กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสภา กทม. เร็วๆ นี้

ด้านนายเอกกวิน กล่าวว่า ศูนย์เด็กเล็กเป็นหนึ่งในปัญหาของ กทม. ที่ถูกมองข้าม ใน กทม.มีจำนวนศูนย์ฯ กว่า 274 แห่ง ต้องใช้งบประมาณจากชุมชนเท่านั้น เป็นเงินจำนวนเพียง 5,000-10,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาศูนย์ฯ ให้ได้มาตรฐานในระยะยาว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตนจึงยื่นตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อร่างข้อบัญญัติศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้ศูนย์ฯ มีข้อบัญญัติและงบประมาณของตัวเอง ขึ้นกับสำนักพัฒนาสังคม กทม. สามารถตั้งงบประมาณมาดูแลได้โดยตรง

ด้านนายวิโรจน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย กทม. พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นว่า โครงสร้างของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรเชื่อมต่อกับโรงเรียน จะได้มีอุปกรณ์การเรียนการสอน หลักสูตร หรือการดูแลสวัสดิการของครูอย่างครบถ้วน โดยต้นทางที่สำคัญที่สุดคือเรื่องงบประมาณ แต่สิ่งที่สำคัญมากเช่นกันคือความโปร่งใสและงบประมาณที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงเป็นที่มาที่ตนได้หารือกับผู้ว่าฯ กทม. ว่าปีนี้พรรคก้าวไกลจะเสนอคนนอก 2 คนที่มีความรู้ความสามารถด้านงบประมาณและได้รับการยอมรับเรื่องความโปร่งใส มาเป็นกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณ กทม. วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จากเดิมสัดส่วนนี้เป็น สก. ทั้งหมด ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม. ก็มีความยินดีอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยไม่ได้สนับสนุนแนวทางนี้

ด้านนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องงบประมาณจะเข้าสู่สภา กทม. ปลายเดือนนี้แล้ว และไม่เห็นเหตุผลใดที่จะไม่เปิดให้คนนอกเข้าไปตรวจสอบ หากต้องการทำให้การพิจารณางบประมาณเกิดความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน.

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0