โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แอฟริกา CDC แนะแก้ปัญหาไวรัสฝีดาษลิงระบาดทั่วโลก ต้องเริ่มที่ ‘แอฟริกา’ ต้นตอแพร่เชื้อ

The Bangkok Insight

อัพเดต 11 ส.ค. 2565 เวลา 07.39 น. • เผยแพร่ 11 ส.ค. 2565 เวลา 07.39 น. • The Bangkok Insight
แอฟริกา CDC แนะแก้ปัญหาไวรัสฝีดาษลิงระบาดทั่วโลก ต้องเริ่มที่ ‘แอฟริกา’ ต้นตอแพร่เชื้อ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา ชี้ยากจะยุติการระบาดของไวรัสฝีดาษลิง ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุจากแอฟริกา แนะระดมฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อ

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก อ้างอิง ข้อเสนอจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (แอฟริกา CDC) ในการยุติการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง รวมถึงข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก โดยระบุว่า

ไวรัสฝีดาษลิง
ไวรัสฝีดาษลิง

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา หรือ แอฟริกา CDC เสนอว่า อาจเป็นการยากที่จะยุติปัญหาการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงที่แพร่กระจายไปทั่วโลก หากไม่เริ่มแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ (แอฟริกา) ยังไม่มีวัคซีนมาช่วยควบคุมโรคฝีดาษลิงในแอฟริกาซึ่งมีความรุนแรง มีอัตราการตายถึ 3.6%

ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดออกมานอกทวีปแอฟริกามีการระบาดอย่างรวดเร็วและพบในกลุ่มชายรักชายมากที่สุดถึง 98%

จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบกลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ในแอฟริกาเกือบ 50 ตำแหน่ง แต่ไม่พบว่าก่อโรคที่รุนแรงขึ้น ตรงข้ามกลับมีอัตราการตายน้อยกว่า 1%

ดร. อาเหม็ด อ็อกเวลล์ (Ahmed Ogwell) ผู้อำนวยการ แอฟริกา CDC ซึ่งดูแล 54 ประเทศในทวีปแอฟริกา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในแอฟริกา ได้รวบรวมข้อมูลโรคฝีในลิงมาตั้งแต่ปี 2513 ไม่พบว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นตัวจักรสำคัญของการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิง

แต่ตัวขับเคลื่อนให้เกิดการระบาดในแอฟริกายังเป็นแบบ ดั้งเดิม คือแพร่จากสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงไปสู่คน แม้จะมีการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนอยู่บ้างอยู่ แต่อยู่วงจำกัดและยุติลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้กลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคฝีดาษลิง

ทุกชุมชน ทุกเพศ ทุกวัย ล้วนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อฝีดาษลิง

เจ้าหน้าที่แผนกโรคติดต่อฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) ดร. โอทิม แพทริก รอมฎอน (Otim Patrick Ramadan) กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานว่าโรคฝีดาษลิงในแอฟริกาติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระหว่างชายรักชาย (เกย์) หรือ ไบเซ็กชวล (Bisexual) เนื่องจากผู้ติดฝีดาษลิงในแอฟริกาเป็นชาย 60% และหญิง 40%

ในปี 2565 ความรุนแรงของการระบาดไวรัสฝีดาษลิงในแอฟริกามีมากกว่าทางตะวันตก โดยในแอฟริกามีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันและต้องสงสัยมากกว่า 2,800 รายใน 11 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตถึง 103 ราย

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันและผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้น 766 รายโดยมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 28 ราย อัตราการเสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงในแอฟริกาขณะนี้สูงถึง 3.6%

ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิ เพิ่มขึ้นประมาณ 19% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมียืนยันการติดเชื้อมากกว่า 25,000 ราย แต่จำนวนผู้เสียชีวิตนอกทวีปแอฟริกามีเพียงไม่กี่ราย และยังไม่พบการระบาดจากสัตว์สู่คน

น.พ. ดิมี โอโกอินา ผู้เชี่ยวชาญประจำคณะกรรมการฉุกเฉินโรคฝีดาษลิงของ WHO จากประเทศไนจีเรียกล่าวว่า เป็นที่น่ากังวลที่ทวีปแอฟริกา ยังไม่มีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงแม้แต่โดสเดียว รวมทั้งยังมีความต้องการชุดทดสอบไวรัสฝีดาษลิง (PCR) อีกเป็นจำนวนมาก

มันไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะควบคุมการระบาด (ด้วยการฉีดวัคซีน) เฉพาะในยุโรปและอเมริกา เพราะต้นตอของการระบาด (จากสัตว์มาสู่คน) ยังอยู่ในแอฟริกา(จึงควรระดมฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงในแอฟริการ่วมไปพร้อมกับการระดมฉีดวัคซีนยุโรปและอเมริกา)

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกคาดว่า ฝีดาษลิงที่ระบาดในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป อาจมีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกานานก่อนหน้าที่โรคนี้จะแพร่กระจาย ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายรักชาย ในสเปนและเบลเยียม ในปี 2565 โดยพบว่ามากกว่า 70% ของการะบาดของโรคฝีดาษลิงทั่วโลกขณะนี้ เกิดในยุโรป และ 98% เกิดในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย

จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของฝีดาษลิงที่ระบาดในปี 2565 นอกทวีปแอฟริกา พบว่า เป็นสายพันธุ์ย่อย B.1 ประมาณ 96% โดยพบการระบาดส่วนใหญ่ในยุโรป ในขณะที่พบสายพันธุ์ A.2 ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและอินเดีย

สายพันธุ์ย่อย B.1 และ A.2 ที่พบระบาดในปี 2022 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากฝีดาษลิงในแอฟริกาถึง 46 ตำแหน่ง โดยมีการกลายพันธุ์ในรูปแบบจำเพาะ คือ TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA อันเกิดจากเอนไซม์มนุษย์ที่สร้างจากยีน APOBEC3 ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันไวรัสเข้ามารุกรานเซลล์

เอนไซม์ดังกล่าว จะกระตุ้นให้จีโนมไวรัสมีกลายพันธุ์ในลักษณะจำเพาะ (TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA) จนทำให้จีโนมเสียหายไม่อาจเพิ่มจำนวนไวรัสได้ ส่วนไวรัสที่เหลือรอดก็จะปรากฏเสมือนแผลเป็น (TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA) บนสายจีโนม

สิ่งนี้สนับสนุนสมมุติฐานที่ว่า ฝีดาษลิง สายพันธุ์ที่ระบาดนอกทวีปแอฟริกา ซึ่งมีการกลายพันธุ์ไปเกือบ 50 ตำแหน่ง ไม่ได้ช่วยให้ไวรัสแพร่ระบาดหรือก่อโรคที่รุนแรงขึ้น

แตกต่างไปจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดจากเอนไซมของไวรัสเอง ซึ่งช่วยให้ไวรัสแพร่ระบาดได้รวดเร็ว หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี หรือดื้อต่อวัคซีนมากขึ้น

ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีได้พัฒนาการตรวจสายพันธุ์ของฝีดาษลิงอย่างรวดเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยอาศัยเทคโนโลยี MassArray Genotyping และการตรวจหาสายพันธุ์ความละเอียดสูงด้วยเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (whole-monkeypox genome sequencing)

เทคโนโลยีดังกล่าว จะสามารถแยกไวรัสฝีดาษลิง A.1, A.1.1, A.2, และ ฺB.1 ออกจากกันได้ รวมทั้งแยกจากไวรัสฝีดาษคน ไวรัสเริม และไวรัสสุกใสได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0