เป็นเรื่องราวของแพทย์รายหนึ่ง ซึ่งได้รับการแชร์กว่าสองพันครั้ง โดยคุณหมอท่านนี้ ได้นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ป่วย ที่ขอให้คุณหมอ การุณยฆาต เธอ เพราะความเจ็บป่วยเรื้อรัง เพราะความป่วยที่ทำให้เธอรู้สึกว่า ครอบครัวได้รับความลำบาก จนไม่อยากกลายเป็นภาระใคร
โดยเพจหมอคนสุดท้ายได้เรียบเรียงและเล่าเรื่องของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่ป่วยมะเร็งต้องเดินทางต่างพื้นที่มาพบหมอลำพังจากคำถามเริ่มต้นว่าเดินทางมายังไงสู่การพรั่งพรูถึงความลำบากและเรื่องราวของครอบครัวที่สามีรับภาระคนเดียวลูกที่ยังต้องเรียนหนังสือจนกลายเป็นสาเหตุที่เธอต้องการให้หมอทำในสิ่งที่ฟังแล้วสะเทือนใจ
โพสต์ดังกล่าวระบุว่า“รอยแผล…การุณยฆาต”“คุณกันยา(นามสมมติ) รอตรวจคุณหมอห้องเบอร์5 ค่ะ” เสียงพี่พยาบาลหน้าห้องตรวจเรียกคนไข้มานั่งรอหน้าห้อง ผมทบทวนประวัติในคอมพิวเตอร์อยู่สักพัก
เมื่อเดินออกไปเปิดประตูห้อง… เธอเป็นผู้หญิงวัยกลางคน รูปร่างผอม ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ คลุมทับด้วยเสื้อแขนยาวสีเทาๆ คุณกันยาใช่ไหมครับ? “ใช่ค่ะ” เชิญเข้าห้องตรวจนะครับ มีญาติมาด้วยไหมครับ? “ไม่มีค่ะ”
ผมประหลาดใจ เพราะผู้ป่วยประคับประคองส่วนใหญ่มักมีครอบครัวหรือญาติมาด้วยเสมอ…มาคนเดียว ไม่มีใครมาด้วยเลยเหรอครับ? ผมถามทวนอีกครั้ง “มาคนเดียวค่ะ”
เธอเดินเข้ามานั่งในห้องตรวจ ผมขออนุญาตเรียกว่าพี่กันยานะครับ”ค่ะคุณหมอ“ เธอตอบด้วยน้ำเสียงสั่นๆ คอตก นั่งก้มหน้า แขนสองข้างแนบลำตัว มือทั้งสองกุมกันแน่น
เดินทางมายังไงเหรอครับ? ”มารถประจำทางค่ะ“ หญิงวัย50 กว่าเดินทางมาหาหมอตามลำพัง เธออยู่อำเภอหนึ่งห่างจากตัวจังหวัดประมาณ30 กิโลเมตร
เธอต้องตื่นตั้งแต่ตี4 สามีขับรถมอเตอร์ไซด์ไปส่งที่ บขส. ในตัวจังหวัดตอนตี5 เพื่อนั่งรถทัวร์มาหาหมอที่โรงเรียนแพทย์ เมื่อถึงตัว บขส. ของจังหวัดปลายทางเธอต้องนั่งรถสองแถวต่อมาที่โรงพยาบาล
กว่าจะถึงโรงพยาบาลก็ราว8 โมง…ต่อคิว ไปห้องบัตร เจาะเลือด รอพบหมอก็เสร็จเกือบเที่ยง บางทีกว่าจะเสร็จก็บ่าย บางทีก็ค่ำ“ส่วนใหญ่พี่ก็ถึงบ้านสองทุ่มค่ะ”
ทำให้นึกถึงตอนที่ผมเองไปหาหมอนั่งรอตรวจ2 ชั่วโมง…มันก็เผลอรู้สึกหงุดหงิดใจจะแย่ แต่เชื่อว่าหลายคนคงรู้ว่า“การรอคอย” ที่โรงพยาบาลเป็นอย่างไร
“9 ปีแล้วค่ะ ที่รักษามา“ พี่กันยาเล่าให้ฟังว่า เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งมาหลายปี ผ่านการผ่าตัดและยาเคมีบำบัดมานับครั้งไม่ถ้วน รอยแผลเป็นที่อยู่หน้าท้อง รอยมีดกรีดเป็นแนวยาวใต้ชายโครงขวาโค้งเหนือต่อสะดือขึ้นไปถึงใต้ลิ้นปี่
รอยแผลเดิมถูกกรีดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา…“หมอมียาที่ฉีดให้พี่ตายหรือหลับไปเลยได้ไหม” ผมตกใจกับสิ่งที่พี่กันยาพูดออกมา น้ำตาเริ่มไหลออกมาอาบแก้มสองข้าง เธอเอามือปิดหน้า ก้มลงพร้อมเสียงร้องไห้โฮออกมา
ผมเอื้อมมือไปแตะที่ไหล่ของพี่กันยา “พี่อยากตาย มียาฉีดให้พี่ตายไปเลยได้ไหม” เธอย้ำอีกครั้ง ใช่ครับ…พี่กันยากำลังร้องขอ“การุณยฆาต” จากผม เกิดอะไรขึ้นกับพี่กันยาครับ?
“ตั้งแต่พี่ป่วยพี่ไม่ได้ทำงาน” “แฟนทำงานรับจ้างอยู่คนเดียว เงินก็ไม่พอใช้” “ลูกก็ยังเรียนอยู่” “พี่ไม่อยากเป็นภาระให้แฟน ไม่อยากให้ลูกลำบาก” “ไม่อยากรักษามะเร็งต่อแล้ว ไม่อยากมาแล้ว”
“มาทุกครั้ง ไหนจะค่ารถ ค่ากิน ค่าอยู่ บางทีก็ยืมเงินเขามา” “ถ้าพี่ตายไป ทุกคนในครอบครัวจะได้ไม่ต้องมาลำบากเพราะพี่ เงินที่เอามารักษาจะได้เอาไปให้ลูกเรียนหนังสือ” “พี่ปวดมากๆ เลยอยู่แบบนี้มันทรมาน”
”แต่ลึกๆ พี่ก็อยากอยู่กับลูก เห็นเขาเติบโต“ เธอมีลูกชายวัยมัธยมเพียงคนเดียว อยู่ๆ ผมก็รู้สึกจุกในใจ ผมเองก็เริ่มเสียงสั่น…
9 ปี ที่เธออดทนสู้กับโรคร้าย
9 ปี ที่เธอพยายามดิ้นรนที่จะมีชีวิตเพื่อลูกและคนในครอบครัว
9 ปี ที่เธอมาโรงพยาบาลคนเดียว
9 ปี ที่เธอแบกรับความรู้สึกเหล่านี้ไว้โดยไม่เคยปริปากออกมา
“พี่ขอโทษนะที่ร้องไห้” เธอยังคงร้องไห้ไม่หยุด “ขอบคุณนะพี่กันยาที่เล่าให้ผมฟัง” “พี่กันยารู้ไหม…ที่ผ่านมาพี่เก่งมากๆ เลยนะ” “ตอนนี้ผมรับรู้ทุกๆ ความรู้สึกของพี่”
“แม่ที่อยากมีชีวิตเพื่อลูก ในขณะเดียวกันการมีชีวิตอยู่แม้พี่เจ็บป่วยก็ยังห่วงลูก กลัวลูกลำบาก มากกว่านึกถึงตัวเองตัวเอง”
“ผมไม่เคยมีลูกนะ แต่ผมก็รับรู้ว่าพี่กันยารักลูกมากแค่ไหน เพราะผมก็ได้รับรู้ความรู้สึกนี้จากแม่ของผม” พี่กันยาเอื้อมสองข้างมาจับมือผม ประนมมือและดึงขึ้นไปที่อกของเธอ
“จากวันนี้ไปพี่กันยามาโรงพยาบาลไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวแล้วนะ พี่ยังมีผมและทีมประคับประคอง” ผมเห็น“รอยยิ้ม” ของพี่กันยาเป็นครั้งแรกตั้งแต่พบกัน “ความปวดของพี่ผมและทีมจะช่วยจัดการ”
“ค่าใช้จ่ายต่างๆ ผมจะให้นักสังคมสงเคราะห์ทีมผมเข้ามาช่วยเหลือนะครับ“ มูลนิธิการุณรักษ์ได้ช่วยเหลือค่าเดินทางในการมาโรงพยาบาลแต่ละครั้ง จำนวนเงินอาจไม่ได้มากมาย แต่มันพอที่จะ“ต่อชีวิต” ให้คนคนหนึ่งได้
ทำให้“แม่” ยังได้มีชีวิตเพื่อลูก ช่วยให้”ความทุกข์“ ตลอด9 ปีได้มีน้ำชโลมให้เจือจางลงบ้าง ให้รอย”แผลเป็น“ ของความเจ็บปวดได้เล็กลง คนที่ปรารถนา“ความตาย” คนที่ร้องขอ“การุณยฆาต” เขาต้องทุกข์มากเพียงใด
เป็นเพราะ… โรคมะเร็งเหรอ? ความเจ็บปวด? ตัวเขาเอง? ความยากจนหรือเปล่า? ระบบสุขภาพมีส่วนมั้ย? ความเหลื่อมล้ำในสังคม? มีเหตุปัจจัยอย่างอื่น? หรือมันก็หลายๆ อย่างรวมกัน
แต่ผมรู้ว่าการดูแลประคับประคองหรือPalliative care ที่ดีจะช่วยให้“อยู่อย่างมีความหมาย และจากไปอย่างมีความสุข” โดย“ไม่เร่ง” และ“ไม่ยืด” การตาย
ผมเองเคยคิดว่าตัวเองก็เป็นหมอที่รับฟังคนไข้ในระดับหนึ่ง แต่พี่กันยาสอนให้ผมต้องใส่ใจต่อ“ความทุกข์ของคนไข้” มากขึ้น “มาโรงพยาบาลยังไงเหรอครับ?” อาจช่วยให้ใครบางคนไม่ต้องร้องขอความตาย “พี่โชคดีที่ได้มาเจอหมอ”
ลึกๆ แล้วผมไม่อยากให้การเข้าถึงการดูแลประคับประคองเป็น“ความโชคดี” เลย ผมปรารถนาจะได้เห็นการสนับสนุนให้เกิดระบบการดูแลประคับประคองที่ดี สามารถ“เข้าถึงได้” และ“เท่าเทียม”
เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่ารวยหรือจน ชนชาติ ศาสนาใด คนไทยทุกคนควรมีสิทธิ“ตายดี” ผมได้เข้าใจคำว่าเส้นทางชีวิตผู้ป่วย หรือpatient journey ของอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนผมจริงๆ
ผมขอเป็นกำลังใจให้คนกำลังเดินในเส้นทางของความเจ็บป่วยอยู่ หวังว่าจะมีใครสักคนหนึ่งที่“ตอบรับ” และ“โอบกอด” ความทุกข์ของคุณอยู่นะครับ
(เรื่องราวและรูปภาพได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยให้เผยแพร่เป็นวิทยาทาน)
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เรื่องจริง สะเทือนใจ หมอเล่าเคส คนไข้ร้องขอ การุณยฆาต เล่า9 ปีที่ต้องดิ้นรน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th
ความเห็น 24
สู้ต่อไป
BEST
คุณหมอเป็นคนจิตใจดีมากเลยคะ ที่ไม่มองข้ามคนป่วยที่ยากจน
15 ธ.ค. เวลา 08.41 น.
sripai
BEST
น้ำตาไหลคร่า อ่านจนจบ ร้องไห้ แข่งเรย สงสารมาก ทุกข์ กาย และใจ มานานมาก
ขอให้พี่ กันยา ชนะโรคร้าย ทุเลาเบาลง
ขอให้มีคนเมตตา เยอะๆ
15 ธ.ค. เวลา 08.39 น.
เปรม
BEST
ขอให้หมอเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป ข.ให้คนป่วยมีชีวิตที่ดีขึ้นอยู่ดูลูเจริญเติบโต อ่านแล้วสะเทือนใจมาก
15 ธ.ค. เวลา 08.45 น.
Ben
โมทนาสาธุสาธุสาธุค่ะขอให้เจริญรุ่งเรืองค่ะ
15 ธ.ค. เวลา 08.33 น.
รจนา
เป็นกำลังใจไห้คุณกันยาค่ะอ่านแล้วน้ำตาซึมตามเลยค่ะสู้สู้นะค่ะคุณกันยา
15 ธ.ค. เวลา 09.35 น.
ดูทั้งหมด