โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แจงยิบเหตุเปลี่ยนพื้นที่สร้างศูนย์ฝึกอบรมกู้ภัย จาก ‘สามพราน’ เป็น ‘หนองจอก’

เดลินิวส์

อัพเดต 07 พ.ย. เวลา 17.58 น. • เผยแพร่ 07 พ.ย. เวลา 10.50 น. • เดลินิวส์
แจงยิบเหตุเปลี่ยนพื้นที่สร้างศูนย์ฝึกอบรมกู้ภัย จาก ‘สามพราน’ เป็น ‘หนองจอก’
กทม. ตั้งโต๊ะชี้แจงเหตุผลเปลี่ยนพื้นที่สร้างศูนย์ฝึกอบรมกู้ภัย จาก อ.สามพราน เป็นพื้นที่หนองจอก เนื่องจากติดเรื่องผังเมืองและ EIA ส่วนเรื่องการฟ้องร้องของเอกชนนั้น ยืนยันดำเนินการตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร น.ส.ทวิดา กมลเวชช พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา นายสุริยชัย รวิวรรณ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกัน แถลงข่าวชี้แจงกรณีการเปลี่ยนพื้นที่สร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยจาก อ.สามพราน จ.นครปฐม มาเป็นที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

น.ส.ทวิดา กล่าวว่า จากเดิมโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย สามพราน ระยะที่ 1 (สถานีฝึกกู้ภัย) และระยะที่ 2 (อาคารฝึกอบรมและอาคารที่พัก) กำหนดที่ตั้งโครงการบริเวณ ต.ท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม พื้นที่รวม 57 ไร่ 3 งาน ซึ่งตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนอ้อมใหญ่ จ.นครปฐม พ.ศ. 2562 พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภท ก.1 (วัตถุประสงค์เพื่อสงวนและรักษาเป็นย่านชนบทและเกษตรกรรมริมแม่น้ำนครชัยศรี) และ ย.1 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยในเขตเกษตรกรรมริมแม่น้ำนครชัยศรี) ซึ่งหากดำเนินโครงการในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป อาจกระทบการก่อสร้างอาคารหอพักผู้ฝึกอบรมเพื่อรองรับผู้พักจำนวนมากตามรูปแบบที่ได้มีการศึกษาไว้ ส่งผลให้ผู้ฝึกอบรมต้องไปพักค้างนอกพื้นที่โครงการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ รูปแบบกิจกรรมการฝึกอบรม และประโยชน์ใช้สอยภาพรวม

สำหรับแบบก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย ประกอบด้วย อาคารบรรยายฝึกอบรม อาคารที่พักอาศัย และอาคารสถานีฝึกกระจายอยู่ในพื้นที่ โดยกรณีหากมีห้องชุดหรือห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตร.ม.ขึ้นไป จะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งการดำเนินการไม่ทราบกำหนดเวลาแน่ชัด และหากไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ EIA จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรุงเทพมหานคร ส่วนการพิจารณาปรับลดจำนวนห้องพักเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและกรอบเวลางบประมาณ ก็จะส่งผลให้การดำเนินโครงการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผลการศึกษาโครงการฯ ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น

ดังนั้นเหตุผลทั้งในเรื่องกฎหมายผังเมือง และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ จึงได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนพื้นที่ก่อสร้างใหม่มาอยู่ในกรุงเทพฯ และพิจารณาพื้นที่ดินของกทม.เอง ซึ่ง กทม. มีพื้นที่ว่างในเขตหนองจอก จำนวน 78 ไร่ 2 งาน ปัจจุบันเป็นศูนย์การเรียนรู้มหานคร หนองจอก สังกัดสำนักงาน ก.ก. และเป็นพื้นที่อยู่ในผังเมืองสีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทสถานที่ราชการ) ประกอบกับมีอาคารที่พักผู้ฝึกอบรมอยู่เดิม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น

รวมถึงระหว่างดำเนินการฝึกอบรมหากมีเหตุสาธารณภัยที่ต้องเรียกระดมกำลังก็สามารถเข้าสนับสนุนพื้นที่ได้รวดเร็วกว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยระยะแรกศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงสามารถใช้ห้องพักของศูนย์การเรียนรู้มหานคร ระหว่างรอก่อสร้างอาคารที่พักในระยะต่อไป และบริเวณใกล้เคียงมีสนามกีฬาบางกอกอารีน่าของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถใช้เป็นสถานีฝึกอบรมและฝึกสมรรถนะได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เสนอขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568-2570 โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร บริเวณศูนย์การเรียนรู้มหานคร ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีบริษัทเอกชนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทและยังยื่นฟ้องต่อสำนักงานป.ป.ช. ในมาตรา 157 หลังกทม.มีการยกเลิกสร้างศูนย์ดับเพลิงนครปฐมว่า นายวิศณุ กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าผู้ฟ้อง ฟ้องอะไรทางเราบ้าง เพราะยังไม่มีการประกาศตัวผู้ชนะการประมูล ยังไม่มีการเซ็นสัญญา โดยตอนยื่นซอง E-bidding มีทั้งหมด 5 ราย เราก็ทำตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ

ด้านนายธวัชชัย กล่าวถึงไทม์ไลน์การเปิดประมูลครั้งที่ผ่านมาว่า การประกวดราคามีขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 65 และได้ตัวผู้รับจ้างช่วงเดือน เม.ย. 65 ซึ่งผู้รับจ้างที่ชนะการประกวดราคาในครั้งนั้น ไม่ใช่รายเดียวกับที่เป็นผู้ร้องเรียนในครั้งนี้ ซึ่งขณะนั้นประกวดราคาได้ราคาต่ำสุด แล้วก็มีการยื่นอุทธรณ์ จากนั้นมีการส่งเรื่องอุทธรณ์ไปยังกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะพิจารณากลับมาประมาณเดือน ก.ย. 65 โดยผลการอุทธรณ์ฟังขึ้น จึงต้องมีการพิจารณาทบทวนใหม่ ในการตัดสินว่าผู้ใดจะเป็นผู้ชนะการประกวดราคา ทั้งนี้ระหว่างที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบข้อกฎหมายต่างๆ จึงทำให้กลับมาพิจารณาทบทวนว่าจะต้องเดินต่อหรือไม่

สำนักการโยธา จึงได้มีการปรึกษา สปภ. และ ฝ่ายกฎหมายเห็นว่า จำเป็นจะต้องมีการยกเลิกการประกวดราคา เนื่องจากพื้นที่ที่จะดำเนินการสร้างยังไม่ได้มีการทำ EIA และอาจจะมีผลต่อการขัดกับกฎผังเมือง และไม่มีงบประมาณที่ใช้ดำเนินการเซ็นสัญญา เพราะกรมบัญชีกลางแจ้งกลับมาในช่วงปลายปี 65 แล้ว ประกอบกับไม่ได้มีการกันเงินงบประมาณไว้ต่อในปี 66 อีกทั้งเราไม่ได้ยกเลิกศูนย์ฯ เป็นเพียงการย้ายสถานที่ ต้องดำเนินการต่อ

ซึ่งในขณะนั้นก็ยังไม่มีการประกาศให้ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ชนะการประกวดราคาแต่อย่างใด จึงเสนอขออนุมัติยกเลิกการประกวดราคา ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 มาตรา 67 (3) ซึ่งหาก กทม. ดำเนินการต่อไปในพื้นที่ อ.สามพราน จะเกิดความเสียหาย จึงย้ายไปสร้างที่หนองจอกจะเหมาะสมกว่า และสามารถนำอาคารไปใส่ได้เลย ส่วนหอพักก็อาจจะไม่ต้องสร้างเพิ่มขึ้น จึงเป็นการประหยัดงบประมาณไปด้วย โดยขณะนี้ สปภ. ได้รับงบประมาณ ปี 2568 ในการดำเนินการก่อสร้างที่หนองจอกแล้ว โดยได้มีการปรับแบบแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนเปิดประกวดราคา และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 68 ทั้งนี้ หากผู้ร้องเรียนจะเข้ามาเสนอราคาใหม่ ทาง กทม. ก็ไม่ขัดข้อง เพราะปัจจุบันผู้ร้องเรียนรายนี้ยังคงมีงานที่ทำอยู่กับกทม.ด้วย.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น