โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

พื้นที่จำกัด หญ้ามีน้อย ก็เลี้ยงวัวลูกผสมได้ ด้วยเศษผัก

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 22 ธ.ค. 2565 เวลา 04.54 น. • เผยแพร่ 22 ธ.ค. 2565 เวลา 04.53 น.
18 วัวลูกผสม

ผมเคยเขียนไปแล้วว่าผมมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจนำเข้าน้ำเชื้อวัว นำเข้าอุปกรณ์หลากหลายชนิดที่เกี่ยวกับวัว รวมทั้งมีฟาร์มวัวเนื้อขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจมานานหลายสิบปี ท่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจวัวเนื้อ วัวนมในบ้านเราให้ฟังหลายต่อหลายเรื่อง

เรื่องหนึ่งที่สะกิดใจผมก็คือ เรื่องของธุรกิจวัวเนื้อของเมืองไทยในอนาคต ท่านฟันธงไว้ว่า การเลี้ยงวัวเนื้อไล่ทุ่งจะหายไป การเลี้ยงวัวเนื้อในระบบฟาร์มปิดจะทยอยเข้ามาแทนที่เหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วในธุรกิจหมู ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ในบ้านเรา ดังนั้น ในอนาคตท่านชี้ว่าเราจะไม่เห็นวัวฝูงใหญ่เดินหากินหญ้าตามข้างถนน อาจจะเห็นพี่น้องเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงวัวบ้านละ 2-3 ตัว ไว้เป็นอาชีพเสริม แต่เกษตรกรที่เลี้ยงวัวเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงวัวจำนวนมากจะต้องทำเป็นฟาร์มระบบปิด เนื่องด้วยมาตรฐานการผลิตอาหาร มาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากมายในอนาคต พื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการเกษตรก็ปรับเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้จะส่งผลถึงพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ฉบับนี้ผมจึงอาสาพาท่านไปพบกับเกษตรกรที่เลี้ยงวัวในเมือง เลี้ยงวัวในพื้นที่จำกัด ที่แม้แต่หญ้ายังหาได้ค่อนข้างยาก ตามไปชมกันในฉบับนี้ครับ

เลี้ยงวัวมา 19 ปี

พาท่านไปพบกับ คุณมานี ลอยเกตุ ที่บ้านเลขที่ 22/3 หมู่ที่ 13 ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี คุณมานี เล่าว่า

“พวกเราเป็นมุสลิม บ้านเราเลี้ยงวัวมาแล้ว 19 ปี เริ่มเลี้ยงเมื่อปี พ.ศ. 2543 ก่อนจะมาเลี้ยงวัวเคยขายก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวหมกไก่ กระเพาะปลา ขายของมา 13-15 ปี หลังจากนั้น ได้เลี้ยงแพะด้วย ทำให้ไม่มีเวลา ทำให้เลิกขายของไป ตอนหลังได้เอาวัวมาเลี้ยงอีก จึงจริงจังกับการเลี้ยงสัตว์มาจนถึงปัจจุบัน”

เลี้ยงวัวลูกผสม

“ตอนเริ่มต้นที่ตัดสินใจเลี้ยงวัว เพราะมีคนขายที่ให้ เราเห็นว่าเป็นที่ว่างๆ มีโรงเรือน มีหลังคา เราจึงเอาวัวมาเลี้ยง เริ่มต้นจากวัวแค่ 3 ตัว ที่ซื้อมา ราคา 15,000 บาท เป็นวัวลูกผสมตัวผู้ทั้งหมด ทั้งวัวลูกผสมบราห์มันแดง และวัวพันธุ์ผสมฮินดูบราซิล ต่อมาอีก 3-4 ปี ก็ซื้อวัวตัวเมียเข้ามาเพิ่มอีก จนมาถึงตอนนี้เรามีวัวทั้งหมด 16 ตัว ซึ่งวัวทั้งหมดใช้แรงงานคนในบ้านเราเอง 3 คน ช่วยกันเลี้ยงวัว” คุณมานี เล่า

เลี้ยงแบบขังตลอดเวลา

เมื่อจริงจังกับการเลี้ยงวัวและขยายฝูง จนมีวัวเยอะขึ้น คุณมานีจึงต้องใช้ระบบเลี้ยงขัง เพราะไม่สามารถปล่อยออกไปเลี้ยงข้างนอกบ้านซึ่งเป็นเขตเมืองได้ อีกทั้งยังไม่มีพื้นที่ปลูกหญ้า จึงต้องอาศัยเกี่ยวหญ้าขนที่มีในพื้นที่รอบๆ บ้าน มาให้วัว

“เราเลี้ยงวัวแบบขังตลอดเวลา ในคอกที่ค่อนข้างกว้าง มีพื้นที่ให้วัวทั้งฝูงเดินกันได้สบายๆ บางส่วนยังมีหลังคาเอาไว้ให้วัวหลบแดดด้วย เราปล่อยวัวออกไปเลี้ยงไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องชุมชนที่เป็นเมือง ไม่เหมาะจะให้สัตว์ออกไปเพ่นพ่าน เราจึงต้องขังวัวเอาไว้ตลอดเวลา แล้วหาอาหารมาเลี้ยงมัน” คุณมานี เล่าให้ฟัง

เลี้ยงด้วยเศษผักผลไม้

แม้จะยังพอหาหญ้าขนมาให้วัวกินได้ แต่ก็ยังไม่พอกับจำนวนวัวที่เลี้ยง จึงต้องหาอาหารอื่นๆ มาให้วัวกินแทนหญ้า คุณมานี บอกว่า

“หญ้าที่ใช้เลี้ยงวัวเราจะตัดหญ้าขนเกี่ยวมาให้วัวกิน ซึ่งหญ้าขนหาได้ตามพื้นที่ใกล้บ้าน นอกจากหญ้าก็ยังให้อาหารอื่นๆ อย่าง ต้นข้าวโพด เปลือกข้าวโพด ที่ซื้อมาราคาเข่งละ 20 บาท เป็นหลัก และยังมีพวกเศษผักผลไม้กากฝรั่ง เปลือกแคนตาลูป เปลือกแอปเปิ้ล เปลือกสับปะรด เปลือกบีทรูท ที่ไปขอมาฟรีจากตลาด นอกจากนั้น ยังมีพวกผลไม้ตกเกรดที่ขายไม่ได้ราคา แม่ค้าก็จะให้มาฟรีๆ ที่ผ่านมาเราไม่เคยให้อาหารข้น อาหารเม็ด รำ หรืออาหารเสริมใดๆ ให้วัวเลย จะมีก็แค่ฟางก้อนที่เอาไว้ให้กินในช่วงหน้าแล้งที่หาหญ้าไม่ค่อยได้”

แม้เศษผักผลไม้จะได้มาฟรี แต่ยังมีปัญหาที่ต้องระวัง

“เศษผัก เปลือกผลไม้ ที่เราได้มาฟรี ก็มีปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้าง เราเคยให้วัวและแพะที่เลี้ยงไว้กินเศษผัก พวกผักบุ้ง ผักกะหล่ำ ที่ได้ฟรีมาจากตลาด พอวัวกินเข้าไปเยอะ กินไปนานๆ ผลก็คือ ทั้งลูกวัว ลูกแพะตาย แม่วัวคลอดลูกออกมาแล้วลูกตายไส้ทะลักออกมา เราคิดว่าน่าจะเป็นผลมาจากสารเคมีที่ติดมากับผักผลไม้ที่เราเอามาให้วัวกิน ระยะหลังเราจึงระมัดระวังเพิ่มขึ้น อะไรที่พอจะล้างได้ เราก็ล้างก่อนจะให้วัวกิน” คุณมานี เล่า

คัดวัวขาย ปีละ 2-3 ตัว

คุณมานี เล่าว่า วัวที่มีทั้งหมด จะคัดออกขายปีละ 2-3 ตัว

“วัวที่เลี้ยงเอาไว้เป็นวัวสายพันธุ์ลูกผสม มีทั้งพันธุ์ลูกผสมแบรงกัส พันธุ์ลูกผสมบราห์มัน พันธุ์ลูกผสมชาโรเล่ส์ เป็นวัวสาวแม่พันธุ์ 10 ตัว โดยจะใช้พ่อพันธุ์ลูกผสมบราห์มันคุมฝูง ที่ผ่านมาจะได้ลูกวัวปีละ 4-5 ตัว ลูกวัวตัวผู้เมื่ออายุ 9 เดือน ถึง 1 ปี เราจะคัดออกขายให้พ่อค้าทั่วไปที่มาซื้อทั้งหมด เก็บเอาไว้เฉพาะวัวตัวเมียใช้เป็นแม่พันธุ์ขยายฝูง ที่ผ่านมาพ่อค้าจะเข้ามาซื้อถึงที่คอก”

ในเรื่องราคาขายวัวนั้น คุณมานี บอกว่า

“ทราบมาว่า วัวราคาตกลงมาจากเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ช่วงนี้ราคาก็คงยังขึ้นๆ ลงๆ แต่เราก็อาศัยพ่อค้าแม่ค้าประจำที่เคยซื้อขายกันอยู่ ส่วนใหญ่ราคาที่ขายวัวออกไป เราก็ยังค่อนข้างพอใจ ก็ถือว่าอยู่ได้”

ส่วนเรื่องของโรคและการจัดการ คุณมานี บอกว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแล

“เรื่องโรคของวัวที่เราเลี้ยงที่ผ่านมา ก็มีโรคปากเท้าเปื่อย เราก็ดูแลกันเอง วัวตัวไหนที่เป็นโรคเราจะใช้น้ำเกลือล้างแผลให้ทุกวัน จนกว่าแผลจะหายไป ส่วนโรคอื่นๆ ยังไม่มีอะไรน่าห่วง แต่เราในฐานะเกษตรกรก็อยากจะให้นักวิชาการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ให้ความรู้กับเราบ้าง หรืออาจจะมาฉีดวัคซีน ให้ยาถ่ายพยาธิกับสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ เราเข้าใจว่าอาจจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ในเขตเมืองที่ไม่ค่อยเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาการเลี้ยงสัตว์ของเราก็ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ใครในพื้นที่ จึงอยากให้หน่วยงานราชการเห็นใจเราตรงนี้” คุณมานี เล่า

วัว เกี่ยวข้องกับพี่น้องชาวมุสลิมอย่างไร

ผมขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ชี้แจง เนื่องจากสมัยเด็กผมย้ายที่เรียนเปลี่ยนที่อยู่บ่อย เพราะคุณพ่อรับราชการและต้องย้ายไปประจำจังหวัดต่างๆ ทุก 2-3 ปี ช่วงหนึ่งผมได้ไปอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส จึงทำให้ผมได้รู้จักกับเพื่อนมุสลิมมากมาย วันนี้ผมก็ยังคงติดต่อกับเพื่อนมุสลิมหลายคน ทำให้ได้รู้ได้เห็นการปฏิบัติในศาสนาอิสลามอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น

“การเชือดกุรบ่าน” คือการเชือดสัตว์เป็นพลีเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้และมิตรสหาย ดังที่คุณ Pisan เขียนไว้ว่า การเชือดกุรบ่านเพื่อนำมาฉลองในวันอีดิลอัฎฮา หรือ “วันอีดใหญ่” สัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่าน ได้แก่ อูฐ วัว แพะ แกะ สัตว์ที่ทำกุรบ่านต้องมีอายุครบตามเกณฑ์ บรรดาสัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่านนั้น ดีที่สุดคือ “อูฐ” รองลงมาคือ “วัว” จากนั้นคือ แกะ กับแพะ

ที่สำคัญเนื้อที่ได้จากการทำกุรบ่านจะไม่บริโภคแต่ผู้เดียว ต้องแจกจ่ายเป็นทานแก่คนยากจน รวมทั้งมิตรสหาย และเก็บไว้เพื่อตนเองเพียงนิดเดียวเท่านั้น เพื่อเป็นสิริมงคลในการทำกุรบ่าน การเชือดสัตว์พลีหรือการทำ “กุรบ่าน” เป็นการปฏิบัติที่องค์ศาสดามีพระประสงค์จะขัดเกลาจิตใจมนุษย์ให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันตามทรรศนะของอิสลาม ดังนั้น วัว จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามและวัวก็อยู่ในชีวิตประจำวันของพี่น้องชาวมุสลิมทั่วประเทศอีกด้วย

ไม่ว่าจะอย่างไร คุณมานี บอกว่า ยังมีความสุขกับการเลี้ยงวัว และวัวก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเธอ นี่เป็นเรื่องราวดีๆ ของการเลี้ยงวัว ของคนรักวัว ใครสนใจอยากสอบถาม พูดคุยกับคุณมานีกริ๊งกร๊างกันไปได้ที่โทร. 086-316-9014 ครับ ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว ผมธนากร เที่ยงน้อย ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ

เอกสารอ้างอิง

Pisan. กุรบ่านรายาญี…การให้ที่เท่าเทียม. ที่มา : https://www.isranews.org/south-news/documentary/1763-2009-11-28-12-12-24.html

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 2

  • 🦂♏️SKD♏️🦂
    ดีงามๆ ช่วยขจัดเศษของเหลือทิ้ง แต่ระวังนิดนึงนะ เรื่องสารพิษตกค้างจาก ยาฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดศัตรูพืช❗️❗️❗️
    18 ก.พ. 2563 เวลา 02.37 น.
  • ทุกอย่างทำได้ อยู่ที่จะทำรึเปล่า ถ้าจะทำซะอย่าง อะไรก็ทำได้
    18 ก.พ. 2563 เวลา 02.52 น.
ดูทั้งหมด