โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรียนเอกไทยใครว่าเชย? รวม 7 สายงานหลากสไตล์ที่ ‘เด็กเอกไทย’ ก็ทำได้เหมือนกัน!

Dek-D.com

เผยแพร่ 04 ม.ค. 2564 เวลา 08.19 น. • DEK-D.com
เรียนเอกไทยใครว่าเชย? รวม 7 สายงานหลากสไตล์ที่ ‘เด็กเอกไทย’ ก็ทำได้เหมือนกัน!
จบเอกไทยไม่จำเป็นต้องเป็น “ครู” พามาดู 7 อาชีพที่กำลังมาแรง ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ว่าเด็กเอกไทยก็สามารถทำได้

สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-Dทุกคน! เชื่อว่าเด็กเอกไทยคงโดนถามตลอดว่า “จบมาแล้วทำอะไร?” “จบมาเป็นครูได้อย่างเดียวเหรอ?”ฯลฯ วันนี้พี่ไพรเลยขอมาเคลียร์ให้ชัดเลยว่าเราสามารถนำทักษะความรู้จากรายวิชาในเอกไทยไปต่อยอดประกอบอาชีพได้หลายทางมากครับ จะผสมกับงานอดิเรกหรือความชอบก็ได้ หรืออาจเข้าไปเป็นเบื้องหลังคนสำคัญของแบรนด์หรือองค์กรในยุคที่ภาษาและการสื่อสารมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้นทุกวัน (ไม่ใช่เอกที่เชยหรือล้าสมัยอย่างที่หลายคนเข้าใจ)

วันนี้พี่ได้รวมลิสต์อาชีพสุดฮิตสำหรับเด็กเอกนี้มาฝาก ถ้ารู้สึกงานสายไหนใช่เราที่สุด แนะนำให้ศึกษาตั้งแต่เนิ่นๆ เลือกลงวิชาที่เน้นฝึกเต็มๆ สร้างจุดแข็งไว้เพิ่มโอกาสให้ตัวเองหลังเรียนจบนะครับ

สายการศึกษา

(ครู, อาจารย์มหาวิทยาลัย)

มาเริ่มที่งานยอดฮิตในฝั่งวิชาการกันก่อนครับ หลายคนเข้าใจว่าอาชีพ “ครู” ใครๆ ก็เป็นได้ แต่ในความเป็นจริงคือไม่ใช่แค่ต้องเป๊ะทฤษฎี แต่การจะสร้างบรรยากาศให้น่าเรียนยังต้องอาศัยทั้งศิลปะการถ่ายทอดและจิตวิทยาที่ดึงดูดผู้เรียน หมั่นอัปเดตเทรนด์และเสาะหาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้สอนด้วย (ใครอยากเห็นภาพการทำงานจริง ตามไปอ่านบทความนี้ได้เลยนะครับ ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน "ครู" อาชีพในฝันทุก พ.ศ.ของเด็กไทย)

ถ้าใครอยากเป็นครูภาษาไทย พี่ได้สรุปแนวทางให้ฟัง 2 วิธีดังนี้

1. เข้าเรียนคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์หรือที่เรียกกันว่า “สายตรง” น้องๆ จะได้เรียนทั้งตัววิชาเอก (ภาษาไทย) และวิชาชีพ (ครู) เมื่อจบจะได้วุฒิ “กศ.บ ภาษาไทย” และต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเอง ซึ่งใบวิชาชีพนี้จะเป็นตัวเบิกทาง ไม่ว่าจะเป็นการสอบบรรจุเป็นครูในโรงเรียนรัฐบาล สอนโรงเรียนเอกชน หรือจะเป็นติวเตอร์ก็ได้ครับ

2. เข้าเรียนคณะมนุษยศาสตร์ หรือคณะศิลปศาสตร์ (เอกภาษาไทย)โดยตัววิชาเอกหรือวิชาแกนจะเหมือนกับคนที่เรียนสายตรง แต่จะต่างกันที่วุฒิ (ศศ.บ) มีความหลากหลายกว่าในเรื่องของวิชาโท (เช่น ภาษาต่างประเทศ หรือสาขาอื่นๆ เช่น นิเทศศาสตร์, รัฐศาสตร์) ที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้ และเรื่องที่น้องๆ หลายคนอาจจะไม่ทราบแม้จะไม่ได้เรียนครู แต่ก็สามารถสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ โดยจะมี 2 วิธีหลักๆ

- เข้าอบรมและสอบ 11 มาตรฐานให้ผ่านหลังจากสอบแล้วผ่านต้องฝึกสอนเป็นระยะเวลา 1 ปี จากนั้นจะได้ใบประกอบวิชาชีพครู

- เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูหรือที่เรียกกันว่า “ป.บัณฑิต” ปกติแล้วจะไม่เปิดให้คนทั่วไปเรียนนะครับ ต้องเป็นครูอัตราจ้างและมีเอกสารรับรองก่อนถึงจะสามารถเรียนได้

สายงานเขียน

(นักเขียน, บรรณาธิการ, นักเขียนสคริปต์รายการ-ละคร-ซีรีส์, Content Creator, Copy Writer)

จริงอยู่ที่เด็กคณะไหนก็สามารถทำอาชีพเหล่านี้ได้ แต่ข้อดีของเด็กเอกไทยคือจะได้เรียน “ระบบโครงสร้างภาษา” ที่ช่วยให้เขียนงานได้ลื่นไหล อ่านแล้วไม่กำกวม แถมยังมีรายวิชาเกี่ยวกับวรรณกรรมและการเขียนที่แยกเป็นประเภทต่างๆ เช่น การเขียนบท, การเขียนสารคดี, การเขียนบทความเชิงวิชาการ ฯลฯ เด็กเอกไทยทุกคนจึงต้องผ่านการฝึกเขียนฝึกอ่านงานมานับไม่ถ้วนจนซึมซับเข้าเส้นเลือดเลยครับ!

แต่ถ้าใครสงสัยว่างานเขียนมีข้อแตกต่างอะไรนอกจากออกแบบเนื้อหา > วางโครงร่าง > ลงมือเขียน เดี๋ยวพี่ไพรจะมาเล่าความน่าสนใจให้ฟัง

- นักเขียนสคริปต์รายการ-ละคร-ซีรีส์ แน่นอนว่าถ้ามีทักษะเขียนที่คล่องถือจะเป็นแต้มต่อ แต่งานนี้ไม่ใช่แค่เขียนไหลตามบทไปเรื่อยๆ ครับ เพราะเราต้องคิดให้ทุกองค์ประกอบสอดรับกันอย่างลงตัวและสมเหตุสมผล ทั้งแก่นเรื่อง ฉาก ตัวละคร สถานที่ มุมมอง และถึงขั้นต้องลงรายละเอียดกันแบบวินาทีต่อวินาทีด้วย ข้อดีของเด็กเอกไทยคือจะได้เจอรายวิชาวรรณกรรมที่ช่วยให้เห็นกรณีศึกษาหลากหลายแบบ ได้ฝึกวิเคราะห์เนื้อเรื่องและลงมือเขียนจริงอยู่ตลอดครับ (ถึงยากและอ่านเยอะแต่มีประโยชน์มากจริงๆ นะ)

- Content Creator, Copy Writerมองเผินๆ อาจคิดว่าเป็นอาชีพเดียวกัน แต่จริงๆ มีข้อแตกต่างชัดเจนเลยครับ สำหรับ Content Creatorลักษณะงานที่ทำจะแปลตรงตามชื่อ คือ สร้างคอนเทนต์ หรือเนื้อหาใหม่ๆ ปัจจุบันจะเห็นได้ในทุกช่องทางเพราะส่วนใหญ่จะออกมาในรูปของ แพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter, Instagram, Youtube หรือที่มาแรงแห่งยุคก็ต้องให้ Tiktok

ในขณะที่ Copy Writerจะค่อนไปลักษณะงานแนวๆ คิดสโลแกน โปรโมตแบรนด์สินค้ามากกว่า ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ นักเขียนหรือคนคิดคำโฆษณานั่นเองซึ่งถือเป็นกุญแจหลักของแบรนด์เลยก็ว่าได้ เพราะว่าเราจะต้องสร้างสรรค์ คิดคำหรือประโยคยังไงให้คนทั่วไปจำได้ ได้ยินปุ๊บรู้ปั๊บว่าสโลแกนนี้คือแบรนด์อะไร และต้องการขายอะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สโลแกนของ Mamy Poko ยิ้มง่ายไม่ซึมเปื้อน (ได้ยินแค่นี้ก็รู้เลย) เห็นแบบนี้ดูเหมือนจะง่าย แต่ก็ท้าทายมากเลยล่ะครับ เพราะไม่ใช่แค่ภาษา แต่ต้องอาศัยความสร้างสรรค์ (Creative) ด้วย

สายงานแปล

(ล่าม, นักแปล)

งานแปลต้องอาศัยความเข้าใจทั้งภาษาต้นทางและปลายทางและมีตัวกลางซึ่งสำคัญที่สุดซึ่งก็คือ ‘นักแปล’ แบบเรานี่แหละ ดังนั้นทักษะการใช้ภาษาไทยก็สำคัญมาก เพราะไม่ใช่แค่แปลตรงตัว แต่ต้องเก็บใจความให้ครบ เรียบเรียงให้สละสลวยและดูเป็นธรรมชาติที่สุด และเข้ากับบริบทกับต้นฉบับด้วย (ปาดเหงื่อแป๊บ) และสำหรับเด็กเอกไทยเราเองก็ได้เปรียบในส่วนนี้ แต่ขึ้นชื่อว่าเรื่องการแปลแล้ว เราเองก็จำเป็นต้องมีทักษะภาษาที่ 3 ที่ 4 เพิ่มด้วย ดังนั้นเวลาที่น้องๆ เข้าเรียนเค้าจะมีวิชาโทเป็นภาษาต่างประเทศให้เลือกตามความสนใจ เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับที่แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดสอน เราเองก็สามารถนำความรู้ตรงนี้มาต่อยอดพร้อมเป็นนักแปลได้เลย!

นอกจากนี้งานแปลยังสามารถเจาะประเด็นเฉพาะได้อีก น้องๆ อาจจะได้แปลบทความเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย ธุรกิจ วรรณกรรม หรือ การแพทย์ ฯลฯ คือยิ่งเป็นเรื่องที่เฉพาะทางก็อาจจะยิ่งยาก แต่บอกเลยว่าค่าตอบแทนคือดีเวอร์! ดังนั้น แค่ทักษะภาษายังไม่พอนะ เราเองก็อย่าหยุดพัฒนาหาความรู้ใหม่ๆ พร้อมอัปเดตคลังศัพท์ที่ใช้ในการแปลไปพร้อมๆ กันอยู่เสมอ ถือเป็นงานที่ท้าทายและได้เปิดโลกอยู่ตลอดเวลาเลยครับ (บอกเล่าทุกเรื่องที่คนอยากทำ "งานล่าม-งานแปล" ต้องรู้!)

สายสื่อสารมวลชน

(พิธีกร, ผู้ประกาศข่าว, งาน PR)

ขึ้นชื่อว่าเป็นงานด้านการสื่อสาร ชัดเจนเลยว่าขาดเรื่องภาษาไปไม่ได้ เราสามารถนำทักษะสั่งสมมาต่อยอดในสายงานนี้ได้อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างอาชีพที่หลายคนทำกัน เช่น

- พิธีกร/MC นอกจากทำหน้าที่ดำเนินรายการ ยังถือเป็นผู้สร้างสีสันให้กับผู้ร่วมงาน/คนดู เรียกว่าเป็นคนสำคัญที่จะนำทิศทางบรรยากาศของงานเลยก็ว่าได้ (งานนี้ต้องอาศัยเอนเนอร์จี้ สมาธิ ความกล้าแสดงออกอยู่ตลอดเวลาครับ) // น้องๆ คนไหนที่อยากทำงานนี้ ขอแนะนำว่าให้ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เช่น สมัครเป็น MC ของงานคณะ-งานมหาวิทยาลัย หรือเลือกใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองเป็นพื้นที่ปล่อยของ รับรองยิ่งคนเห็นเยอะ ก็มีโอกาสที่คนจะบอกต่อ ซึ่ง “คอนเน็กชัน” คือสิ่งสำคัญในโลกการทำงานที่ไม่อาจประเมินค่าได้เลยครับ แต่ถ้าใครพูดไม่เก่งก็อย่าเพิ่งกังวล เพราะในเอกไทยจะมี ‘วิชาการพูด’ทำให้น้องๆ ได้ฝึกและอัปเกรดการพูดของตัวเองโดยเฉพาะแน่นอน ลงเรียนเลย อย่ากลัว!

- ผู้ประกาศข่าวค่อนข้างใกล้เคียงกับพิธีกร แต่นอกจากเรื่องภาษา น้องๆ ต้องมีความสนใจเฉพาะทางอย่างจริงจัง พร้อมอัปเดตติดตามข่าวหรือสถานการณ์รอบโลกอยู่เสมอยิ่งถ้าใครที่รู้ว่าตัวเองชอบประเด็นไหน เช่น การเมือง, กีฬา หรือสายบันเทิง ถ้ารู้แล้วก็ไปให้สุดเลยครับ (อย่าลืมเก็บพอร์ตงานเขียน พร้อมฝึกเขียนข่าว/อ่านข่าวบ่อยๆ นะครับ)

- งานประชาสัมพันธ์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ PR” (Public Relations) งานนี้เหมาะกับคนที่ชอบงานเขียน งานสื่อสาร พร้อมกับการติดต่อผู้คนหลากหลาย เพราะแทบทุกองค์กรจะต้องมีตำแหน่งนี้ (ไม่ว่าจะหน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน, โรงแรม, โรงพยาบาล ฯลฯ ) ฝ่าย PR ของก็จะมีหน้าที่อัปเดตข่าวสารโปรโมชันข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรติดต่อหาพื้นที่ประชาสัมพันธ์ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ถือว่าเป็นอีกงานที่ท้าทายทั้งทักษะการเขียนและความคิดสร้างสรรค์เลยครับ

สายการตลาด

(Digital Marketing / Account Executive)

ปัจจุบันนี้รูปแบบการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) กำลังเติบโตและมาแรงมากกก ไม่ว่าจะหันไปทางไหนน้องๆ ก็จะเห็นการโปรโมตสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์เต็มไปหมด บอกเลยว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กการตลาดเสมอไป เพราะอย่างเด็กเอกไทยก็จะมีจุดแข็งที่ถ้าฝึกเยอะๆ จะหยิบมาปรับใช้กับงานนี้ได้สบายมาก เดี๋ยวมาดูลักษณะงานสายนี้กันครับ

- Digital Marketingพูดง่ายๆ ก็คือฝ่ายการตลาดนั่นแหละ แต่จะเน้นไปที่การโปรโมตสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ( Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือจะบนเว็บไซต์ Dek-D ก็ได้ ^^) และนอกจากจะต้องทำการโปรโมตโฆษณาแล้วยังต้องประสานงานกับลูกค้าและฝ่ายอื่นๆ ทำให้ทักษะภาษาที่ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย อังกฤษ หรือภาษาที่สามจำเป็นต่องานนี้ แต่ถ้าศึกษาเรื่องการตลาดหรือเทกคอร์สหาเรียนนอกตำราเพิ่มเติมก็จะช่วยเพิ่มโอกาสมากขึ้นนะครับ (ตามไปดูคอร์สออนไลน์ดีๆ ได้ที่เพจ One More Course อัปสกิลเพื่ออนาคต by Dek-Dได้เลยครับ รวมไว้เพียบ!)

- Account Executive (AE)หรืองานบริหารลูกค้า เห็นคำว่า Account อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเป็นงานบัญชีนะครับ 55555 ปกติแล้วเราจะเรียกอาชีพนี้สั้นๆ ว่า “AE” ลักษณะงานจะคาบเกี่ยวกับ Digital Marketing เลยก็ว่าได้ (บางที่ก็ทำเป็นตำแหน่งเดียวกัน) หน้าที่หลักๆ คือ เป็นฝ่ายกลางคอยติดต่อสื่อสารประสานงานระหว่างทีมงาน(เช่น ฝ่ายคอนเทนต์ ฝ่ายตัดต่อ) กับฝ่ายลูกค้า เป็นผู้สรุปและบรีฟงานให้ตรงตามความต้องการของลูกค้านั่นเอง เรียกว่าวันๆ นึงคือ ต้องคอยติดต่อกับลูกค้าอยู่เสมอ (สายเข้าไม่หยุด อีเมลเด้งแจ้งเตือนทุกนาที 55555) ดังนั้น คนที่ทำงานนี้ต้องมีทักษะการสื่อสารเจรจาได้อย่างดีเยี่ยม สามารถแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้เอกภาษาไทยจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับคนที่ชอบงานด้านนี้ครับ (ตามไปทำความรู้จักงาน AE เพิ่มเติมที่บทความนี้เลย AE(เออี) อาชีพในฝันของเด็กยุคใหม่ แล้วรู้ไหมว่า หน้าที่จริงๆ ของ AE คืออะไร?)

สายธุรกิจและบริการ

(งานโรงแรม, พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน)

แม้ว่าในปีนี้สายงานธุรกิจและบริการนั้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ เป็นอีกหนึ่งอาชีพยอดฮิตสำหรับคนเรียนจบสายภาษาและสำหรับเด็กเอกไทย เราก็สามารถทำงานสายนี้ได้เช่นกัน เพราะว่าเป็นงานที่ใช้ทักษะการสื่อสารเป็นหลัก บวกด้วยหัวใจที่รักในการบริการ (Service Mind)

แต่ใดๆ ก็คือ น้องๆ จำเป็นต้องมีทักษะภาษาต่างประเทศติดตัวไว้เลย ซึ่งอย่างที่พี่บอกไว้ข้างต้นว่า การเลือกเรียนวิชาโทนั้นจำเป็นมากๆ และควรเลือกเรียนตามความสนใจของตัวเองเพื่อใช้ต่อยอดการทำงานในอนาคต (เป็นการเพิ่มโพรไฟล์ช่วยให้ดูมีอะไรมากขึ้น) ว่าแล้วมาดูตัวอย่างอาชีพในสายงานนี้กัน

- งานโรงแรมเด็กจบสายภาษาส่วนใหญ่มักจะทำงานเป็น “Reception” หรือที่เรียกว่า “แผนกต้อนรับ” งานหลักๆ ของแผนกนี้คืออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น เช็กอิน-เช็กเอาต์, ประสานงาน, ให้ข้อมูล หรือจองห้องผ่านทางโทรศัพท์ นอกจากจะได้ใช้ทักษะภาษาที่เรียนมาแล้ว เมื่อมีประสบการณ์หรือชำนาญงานก็จะมีโอกาสเลื่อนขั้นไปในตำแหน่ง General Manager (GM) หัวหน้าแผนกสูงสุดที่ต้องบริหาร วางแผน ดูแลความเรียบร้อยในโรงแรมครับ (ช่วง High season ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักเยอะ บอกเลยว่าได้ Service charge ดีเวอร์!)

- พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอาชีพติดปีกที่เป็นความฝันของใครหลายๆ คน ซึ่งหัวใจสำคัญของอาชีพนี้ก็คือ ‘ภาษา’ และ ‘Service Mind’อย่างที่พี่บอกไปว่าเวลาน้องๆ เลือกลงวิชาโทก็อยากให้น้องๆ คิดเผื่อถึงความจำเป็นในอนาคต แม้ว่าตอนเราทำงานทุกคนต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ แต่ถ้าเรามีความรู้อยู่แล้วก็จะทำให้เราพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว สำหรับสิ่งที่เป็นจุดแข็งของงานนี้นั้นน่าจะเป็นคำศัพท์เฉพาะสำหรับงานการบิน บางคนคงกังวลว่า “อ้าวว! เรียนเอกไทยแล้วจะรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษได้ยังไง?” เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงครับหากน้องๆ ลงวิชาโทภาษาอังกฤษก็มีโอกาสได้อัปสกิลความรู้ในส่วนนี้ติดตัว หรือบางมหาลัยก็มีวิชาเลือก ‘ภาษาอังกฤษสำหรับอุตสาหกรรมการบิน’ เปิดไว้ให้โดยเฉพาะครับ (15 เรื่องลับๆ บนเครื่องบินที่ ‘แอร์โฮสเตส-สจ๊วต’ ไม่ได้บอกผู้โดยสาร แต่ก็อยากให้รู้!)

สายโซเชียลมีเดีย

(Blogger, Youtuber, Influencer, TikToker)

ใครชอบเล่นโซเชียลยกมือขึ้น! // ยกมือ พี่เองก็ชอบสิงอยู่ในโซเชียลเหมือนกัน บางคนอาจไม่รู้ว่าแค่สร้างคอนเทนต์ในรูปแบบของบทความ, วิดีโอ ก็สามารถสร้างรายได้จนกลายเป็นอาชีพได้ ซึ่งปัจจุบันมันจะมีคำเก๋ๆ ไว้เรียกคนที่เป็นมือโปรในการสร้างคอนเทนต์ลงโซเชียลว่า “Influencer” ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ และก็สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการสร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเอง (ถึงไม่มีใครปั้น ก็ปั้นตัวเองได้!) จากใจคนที่เรียนเอกภาษาไทย บอกเลยว่างานนี้เหมาะสำหรับเราสุดๆยกตัวอย่างของพี่ก็เคยได้เรียนวิชาที่เกี่ยวกับทฤษฎีและการเขียนเพื่อการสื่อสารมวลชน ซึ่งทุกอย่างที่เรียนมามันสามารถนำมาใช้ได้จริงๆ เพราะเมื่อเรารู้หลักการสื่อสาร เราจะสามารถสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบไหนก็ได้อย่างง่ายดายเลยล่ะ ^^ ว่าแล้วก็ขอยกตัวอย่างอาชีพที่เกี่ยวข้องมาให้ดูกันเลยดีกว่า

- Bloggerอาจจะเรียกว่านักเขียนออนไลน์ก็ได้ (เป็นอาชีพที่พี่อยากทำมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยนะ) ข้อดีของอาชีพนี้คือการที่สามารถเขียนอะไรก็ได้ในแบบสไตล์ของตัวเองทั้งในเว็บไซต์ หรือจะเปิดเพจของตัวเองก็ได้ทั้งนั้น ถ้าใครเขียนดีๆ มีเนื้อหาที่โดนใจผู้อ่าน มีคนแชร์เยอะๆ ก็จะทำให้เรามีโอกาสได้งานจ้าง งานรีวิว มีสปอนเซอร์เข้ามา เป็นช่องทางสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยเลย

- Youtuberปัจจุบันก็คงใช้คำว่า “อาชีพ” ได้อย่างเต็มตัว พี่ว่าทุกคนคงรู้จักอาชีพนี้กันดี ลักษณะการทำงานของอาชีพนี้เราจะต้องจับจุดให้ได้ก่อนว่าชอบทำวิดีโอหรือคอนเทนต์แบบไหนเช่น ท่องเที่ยว, แต่งหน้า, ชวนชิม, รีวิว, เล่นเกม หรืออาจจะเป็นการนำเสนอไลฟ์สไตล์ของตัวเองในแต่ละวัน รายได้ส่วนใหญ่ก็จะนับจากผู้เข้าชม หรือบางครั้งก็จะมีคนจ้างเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวหรือสินค้าครับ

- TikToker เรียกได้ว่ามาแรงไม่หยุด จนตอนนี้สามารถสร้างเป็นอาชีพได้แล้วด้วย ลักษณะจะคล้ายๆ กับ Youtuber แต่วิดีโอจะสั้นกว่าทำง่ายและรวดเร็วกว่าด้วยธรรมชาติของคอนเทนต์ TikTok นั่นแหละครับ น้องๆ สามารถเลือกทำได้ความชอบส่วนตัวเลย หรือใครที่อยากจะทำคลิปสอนภาษาไทยลงในแพลตฟอร์มนี้ก็เก๋ไปอีกแบบ // แอบกระซิบว่ารายได้ดีด้วยนะ

และทั้งหมดนี้ก็แค่ตัวอย่างเท่านั้นนะครับ! เห็นมั้ยว่าเรียนจบมาต่อยอดได้หลากหลายมากจริงๆ ซึ่งจะว่ากันตามตรงในฐานะที่พี่ก็เรียนเอกภาษาไทย เมื่อก่อนเคยตั้งคำถามและตอบตัวเองเหมือนกันว่าจบมาต้องเป็นนักเขียนหรือครูแน่ๆ แต่พอมาเรียนจริงๆ จะเห็นเลยว่าความรู้จับไปวางได้แทบทุกสายงาน แม้กระทั่งงานที่เป็นเทรนด์ในยุคใหม่ด้วย ไม่ได้เชยอย่างที่หลายคนเข้าใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการขวนขวาย หาตัวเองให้เจอ แล้วลงวิชาที่ตอบโจทย์กับการเดินไปสู่เป้าหมายของเราให้มากที่สุด (ย้ำว่าอย่าลงเรียนวิชาไหนแค่เพราะวิชานั้นได้เกรดง่ายหรือลงตามเพื่อนนะครับ เน้นลงที่สนใจจริงๆ)

สุดท้ายนี้พี่ก็หวังว่าเอกภาษาไทยจะเป็นอีกตัวเลือกสำหรับน้องๆ ในการเรียนต่อมหาวิทยาลัยนะครับ และถ้าน้องๆ คนไหนมีความคิดเห็นหรือต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็อย่าลืมคอมเมนต์กันเข้ามาได้เลยนะ สำหรับวันนี้พี่ไพรต้องขอตัวลาไปเต้น TikTok ก่อน เจอกันใหม่ในบทความหน้าครับ ^^

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0