โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ BOI ยุคใหม่กู้แข่งขันไทย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 ต.ค. 2565 เวลา 17.11 น. • เผยแพร่ 19 ต.ค. 2565 เวลา 02.06 น.
นฤตม์ เทอดเสถียรศักดิ์
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ถดถอยกำลังเป็น “โจทย์ใหญ่” และความท้าทายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะหน่วยงานหัวหอกในการขับเคลื่อนการลงทุน มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับภารกิจนี้ “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คนใหม่ ก้าวรับตำแหน่งแทน “ดวงใจ อัศวจินตจิตร์” เดินหน้ายุทธศาสตร์ 5 ปีฉบับใหม่ (2566-2570)

ซึ่งไม่เพียงออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยการให้สิทธิประโยชน์เท่านั้น แต่จะเพิ่มบทบาทการเป็นผู้บูรณาการ (integrator) ใช้เครื่องมือด้านภาษี การเงิน nontax ในลักษณะ whole package เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ (facilitator) และเป็นผู้เชื่อมโยงผู้ประกอบการ (connector) รายใหญ่-รายเล็ก ไทย-ต่างชาติ กับเป้าหมายดึงการลงทุน “5 อุตสาหกรรม” หลัก เพื่อทวงอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกลับมา

มุ่งเป้า 5 อุตสาหกรรม

ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” โดยใช้ 7 กุญแจสำคัญในการส่งเสริมการลงทุน และยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค โดยกุญแจดอกสำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเร่งทำมาตลอด คือ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับ “อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น” ควบคู่กับการสร้าง “อุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า “S-curve” อยู่แล้ว

แต่การโฟกัสไปที่ “5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า” และสร้างความเข้มแข็งให้กับ supply chain จะยิ่งตอกย้ำและชัดเจนกับเป้าหมายของประเทศมากขึ้น

ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรม BCG ที่เป็นนโยบายประเทศ ด้วยการต่อยอดและเพิ่มมูลค่า จากอุตสาหกรรมพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่แล้วของประเทศอย่างภาคเกษตร 2.อุตสาหกรรม EV ที่ครอบคลุมทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และล่าสุดเตรียมเสนอบอร์ดบีโอไอ พิจารณาสิทธิประโยชน์ในส่วนของแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ

3.อุตสาหกรรม smart electronics (โดยเฉพาะต้นน้ำ) เพื่อมุ่งเป้าดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่เข้ามา รวมถึงสิ่งที่ยังขาดอย่างเรื่องการวิจัย 4.อุตสาหกรรม digital และ 5.อุตสาหกรรม creative ซึ่งไทยเองต่างมีศักยภาพและแวลูเชนจำนวนมาก

ภารกิจของ 16 สำนักงานในต่างประเทศจึงให้เริ่มรุกการจัดกิจกรรมสัมมนา เพื่อมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่ต้องการมากขึ้น ขณะที่บีโอไอส่วนกลางในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ก็เตรียมที่จะไปโรดโชว์ที่โตเกียว โอซากา ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง

3 เครื่องมือดึงลงทุน

นายนฤตม์กล่าวว่า แม้ทั้ง 5 อุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมทั้งหมดแล้ว แต่นับจากนี้จะชัดเจนมากขึ้น และจะเน้นการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง โดยอาศัย 3 เครื่องมือหลัก คือ “การให้สิทธิประโยชน์” แบบ whole package (tax+nontax+financial) ที่จะไม่มีเพียงมาตรการจากทางบีโอไอ อย่างการยกเว้น/ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล อากรเครื่องจักร อากรวัตถุดิบ อากรของที่ใช้ เพื่อวิจัย การยกยอดผลขาดทุน (loss carry forward) เท่านั้น

แต่จะมีสิทธิประโยชน์จากกระทรวงการคลัง อย่างภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีสรรพสามิต อากรศุลกากร หรือแม้กระทั่งการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน สิทธิประโยชน์จากทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สินเชื่อ soft loan ต่าง ๆ จากสถาบันการเงินเข้ามาพ่วงคู่กันไป

จะเห็นได้จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ให้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในส่วนของดีมานด์ ซัพพลาย เป็นการจับมือร่วมกันกับหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อให้มาตรการนี้เป็นจริงเกิดขึ้นให้ได้

เครื่องมือถัดมา คือ การ “ให้บริการแบบครบวงจร” ทั้งก่อน-หลังการลงทุน “บีโอไอ” จะใช้เพียงเครื่องมือในการให้สิทธิประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป การบริการจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนในการให้ข้อมูลและให้คำปรึกษา

สำหรับการลงทุนและจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทย บริการ online สำหรับการยื่นคำขอการใช้สิทธิประโยชน์ และการรายงานผลการดำเนินงาน บริการประสานงานระหว่างนักลงทุนและหน่วยงานรัฐ บริการจับคู่ธุรกิจ (business matching) และหาผู้ร่วมทุน ทั้งหมดมันจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นที่นักลงทุนเข้ามา ระหว่างทางและจนจบ

สุดท้ายเครื่องมือที่ต้องสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุน (investment ecosystem) โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน ที่จะสร้างคนขึ้นมาและส่วนที่ดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามา ในขณะเดียวกันฝั่งภาคเอกชนก็ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะต่างเข้ามาร่วมมีบทบาทในการสร้างและพัฒนาคน บุคลากรขึ้น เพื่อซัพพอร์ตสิ่งเหล่านี้เช่นกัน

นักลงทุนมองหาเป้าหมายลงทุน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการปรับบทบาทใหม่ของบีโอไอ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยที่นักลงทุนเลือกประเทศเป้าหมายที่จะมาลงทุน ซึ่งเดิมมีเพียง 5-6 ปัจจัยเท่านั้น เช่น ศักยภาพของตลาด การเติบโตทางเศรษฐกิจ สิทธิประโยชน์จากภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ กฎระเบียบที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ ฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนต้นทุนที่เหมาะสม

แต่จากนี้มีปัจจัยอื่น ๆ เป็นตัวเลือกในการตัดสินใจเพิ่มขึ้น และที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า เช่น มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการจัดหาพลังงานหมุนเวียน ความสามารถด้านเทคโนโลยี/นวัตกรรม สังคมผู้สูงอายุ การเก็บภาษี OECD tax rules : global minimum tax ความพร้อมด้านบุคลากร สงครามการค้าหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความยืดหยุ่นของ supply chain การบริหารจัดการวิกฤตที่ไม่กระทบภาคธุรกิจ

จุดแข็งไทยไม่น้อยหน้าใคร

และเป็นที่รู้กันดีว่าสำหรับในภูมิภาคนี้ หรือจะปักหมุดให้แคบลงในอาเซียน ประเทศไทยถือเป็นแหล่งลงทุนอันดับต้นของหลายประเทศ มีความน่าสนใจด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานดี ทั้งไฟฟ้า ประปา ถนน โทรคมนาคม ท่าเรือ สนามบิน นิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นฐานอุตสาหกรรมสนับสนุน มีความพร้อมเรื่องของวัตถุดิบ ชิ้นส่วนรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ บุคลากรโดยรวมมีคุณภาพ

มีวีซ่าระยะยาว (LTR)+smart visa เพื่อดึงดูดต่างชาติศักยภาพสูง มี creativity & hospitality ขณะที่สิทธิประโยชน์แข่งขันได้ไม่น้อยหน้าเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่าง ๆ จะเห็นได้จากการร่วมมือและซัพพอร์ตกันที่ผ่านมา มีความสามารถจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงบริหารจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ดี ไม่สร้างปัญหาให้ภาคธุรกิจ

เตรียมพบ ส.อ.ท.-สภาหอการค้าฯ

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คนใหม่ ย้ำว่า ในแง่การทำงาน บีโอไอไม่สามารถใช้เครื่องมือของตนเองเพียงอย่างเดียวได้ และจะไม่สามารถช่วยสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ได้หากไม่มีข้อมูลหรือการหารือร่วมกันกับภาคเอกชน ดังนั้นในเดือน ต.ค.นี้ บีโอไอเตรียมประชุมกับ 2 หน่วยงานสำคัญกับตัวแทนฝั่งภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทย เพื่อวางกรอบความร่วมมือสำหรับมาตรการและบริการที่จะมีให้กับ SMEs

ปี’65 เป้าหมาย 6 แสนล้าน

สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 600,000 ล้านบาท ขณะที่สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่า 439,090 ล้านบาท แม้จะลดลง 14% แต่พบว่ามีโครงการยื่นเข้ามาถึง 1,247 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน 8% และหากพิจารณาจากสถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงกับการลงทุนจริงมากที่สุด พบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการออกบัตรส่งเสริม 1,101 โครงการ เพิ่มขึ้น 17% มูลค่า 357,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จึงเป็นสัญญาณว่าใน 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0