โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Krungthai COMPASS วิเคราะห์รถไฟความเร็วสูง ‘ลาว-จีน’ นัยต่อเศรษฐกิจชายแดนไทย

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 22 ก.ย 2565 เวลา 19.23 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2565 เวลา 13.28 น.
รถไฟความเร็วปานกลาง Fuxing EMU รุ่น CR200J ขบวนแรก เดินทางมาถึงดินแดนลาว ในตอนเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่มาภาพ: เพจ CRI-FM93
รถไฟความเร็วปานกลาง Fuxing EMU รุ่น CR200J ขบวนแรก เดินทางมาถึงดินแดนลาว ในตอนเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่มาภาพ: เพจ CRI-FM93

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ “รถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน นัยยะต่อเศรษฐกิจชายแดนของไทย” โดยมองว่า

  • ในปี 2565 มูลการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนของไทยมีแนวโน้มเติบโตราว 5%YoY-7%YoY เป็น 1.80-1.84 ล้านล้านบาทและคาดมีการเติบโตต่อเนื่องในปี 2566 โดยเฉพาะการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว และการค้าข้ามแดนระหว่างไทย-จีน ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดใช้งานรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน และการเปิดด่านถาวร ที่คาดว่าจะเปิดอีก 5 แห่งในปี 2565 ทั้งนี้ รวมถึงการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่จะได้รับผลบวกด้วย
  • ในระยะถัดไป สินค้าที่ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกไปยังลาวเพิ่มขึ้นอีก เช่น ยา ฝ้าย ปุ๋ย เหล็กแปรรูปในรูปแบบต่างๆ สารเคมีในการเกษตร และสินค้าที่ไทยสามารถพัฒนาส่งออกไปยังจีนได้อีก เช่น เครื่องสำอางสัตว์จำพวกกุ้ง ปู ปลา ยาและเวชภัณฑ์ เนื้อซึ่งส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
  • ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยควรเตรียมการในการเข้าหาผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะขนส่งไปยังจีนและลาวมากขึ้นศึกษาเส้นทางการขนส่งสินค้าและเตรียมจำนวนคนขับและจำนวนรถบรรทุกให้เหมาะสม ส่วนผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ควรเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการเดินทาง สถานที่พัก อาหาร และสันทนาการ

……..

การค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนระหว่างไทยและประเทศคู่ค้าในช่วงที่ผ่านมา ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่องถึงแม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะต่อไป การพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในลาวและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จะมีความชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งการเตรียมพร้อมด้านพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมของไทยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว และการค้าข้ามแดนระหว่างไทย-จีน มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องต่อไปในอนาคต บทความนี้จะนำเสนอสถานการณ์การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต รวมถึงความเคลื่อนไหวของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก่อนที่จะชวนท่านผู้อ่านวิเคราะห์ถึง 3 คำถามสำคัญจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ที่จะส่งผลต่อการค้าชายแดน การค้าข้ามแดน และแนวโน้มการท่องเที่ยวระหว่าง ไทย-จีน-ลาว ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สถานการณ์การค้าชายแดนและข้ามแดนในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

ในปี 2564 รวมมูลค่าการค้าชายแดนและมูลค่าการค้าข้ามแดนมีการปรับตัวขึ้นกว่า 30%YoY เป็น 1.71 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่ามูลค่าการค้าในช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่ 1.34 ล้านล้านบาท โดยเป็นการปรับตัวขึ้นทั้งการส่งออกและการนำเข้า และเป็นการปรับขึ้นจากการค้ากับทุกประเทศคู่ค้า

มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย ลาว เมียนมา กัมพูชา ในปี 2564 มีการปรับตัวดีขึ้น 22%YOY เป็นราว 9.24 แสนล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 5.7 แสนล้านบาท (+27%YoY) และมูลค่านำเข้า 3.54 แสนล้านบาท (+13%YoY) โดยเป็นการปรับขึ้นจาก

1) การค้าชายแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย 3.35 แสนล้านบาท (+35%YoY) แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 1.82 แสนล้านบาท (+47%YoY) และมูลค่านำเข้า 1.53 แสนล้านบาท (23+%YoY)

2) การค้าชายแดนระหว่างไทยและลาว 2.14 แสนล้านบาท (+13%YoY) แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 1.24 แสนล้านบาท (+20%YoY) และมูลค่านำเข้า 9 หมื่นล้านบาท (+4%YoY)

3) การค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาร์ 2.04 แสนล้านบาท (+24%YoY) แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 1.19 แสนล้านบาท (37%YoY) และมูลค่านำเข้า 8.4 หมื่นล้านบาท (+9%YoY)

4) การค้าชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา 1.69 แสนล้านบาท (+9%YoY) แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 1.43 แสนล้านบาท (+8%YoY) และมูลค่านำเข้า 2.5 หมื่นล้านบาท (+13%YoY) (รูปที่ 1 และรูปที่ 2)

มูลค่าการค้าผ่านแดนระหว่างไทยและจีน สิงคโปร์ เวียดนาม ประเทศอื่นๆ ในปี 2564 มีการปรับตัวดีขึ้น 42%YOY เป็นราว 7.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 4.6 แสนล้านบาท (+45%YoY) และมูลค่านำเข้า ราว 3.3 แสนล้านบาท (+37%YoY)

1) การผ่านแดนระหว่างไทยและจีน 3.6 แสนล้านบาท (+54%YoY) แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 1.9 แสนล้านบาท (+60%YoY) และมูลค่านำเข้า 1.72 แสนล้านบาท (47+%YoY)

2) การค้าผ่านแดนระหว่างไทยและสิงคโปร์ 1.2 แสนล้านบาท (+38%YoY) แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 5.3 หมื่นล้านบาท (+51%YoY) และมูลค่านำเข้า 6.8 หมื่นล้านบาท (+28%YoY)

3) การค้าผ่านแดนระหว่างไทยและเวียดนาม 7.5 หมื่นล้านบาท (+27%YoY) แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 4.6 หมื่นล้านบาท (+5%YoY) และมูลค่านำเข้า 2.9 หมื่นล้านบาท (+91%YoY)

4) การค้าผ่านแดนระหว่างไทยและประเทศอื่นๆ 2.2 แสนล้านบาท (+32%YoY) แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 1.6 แสนล้านบาท (+43%YoY) และมูลค่านำเข้า 6 หมื่นล้านบาท (+9%YoY) (รูปที่ 3 และรูปที่ 4)


ส่วนในช่วง 7 เดือน แรกของปี 2565 (มกราคม-กรกฎาคม) มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย ยังคงเติบโตราว 3%YoY เป็นราว 9.9 แสนล้านบาท การปรับตัวเพิ่มขึ้นดัง กล่าวเกิดจากการค้าชายแดนเป็นหลัก โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 6.18 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.6%YoY ซึ่งเป็นการปรับตัวทั้งจากการนำเข้าและการส่งออกจากทุกประเทศคู่ค้า (เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย) ซึ่งตรงกันข้ามกับการค้าผ่านแดนที่หดตัวลงเป็น 3.8 แสนล้านบาท หรือหดตัว -16.8%YoY ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการหดตัวจากการค้าข้ามแดนระหว่างไทย-จีน ทั้งการนำเข้าและส่งออก ที่ลดลง -30.2%YoY เป็น 1.5 แสนล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายโควิทเป็นศูนย์ (zero-COVID Policy) ทำให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าชะลอตัว แต่คาดว่าสถานการณ์การนำเข้าและส่งออกจะดีขึ้นในระยะข้างหน้า เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

สำหรับทั้งปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ของไทยคาดว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนรวมทั้งส่งออกและนำเข้าจะขยายตัวต่อเนื่องในกรอบ 5%YoY-7%YoY เป็น 1.80-1.84 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ เรายังคาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนในปี 2566 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว และการค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีน ที่ได้รับอานิสงส์จากโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง ที่เปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

ปัจจัยสนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว และการค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีน ในระยะถัดไปมีอะไรบ้าง?

จากสถิติการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ลาวและจีนเป็นสองประเทศคู่ค้าที่มีความสำคัญและมูลค่าการค้ามีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต โดยได้รับอานิสงส์การเปิดดำเนินการของรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน และการเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2565 การค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว ส่วนใหญ่เป็นการลำเลียงสินค้าโดยอาศัยรถบรรทุกผ่านด่านการค้าและกระจายไปในประเทศต่อไป ส่วนการการค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีน ส่วนใหญ่เป็นการลำเลียงผ่านรถบรรทุกเช่นกัน โดยการขนส่งสินค้าข้ามแดนจากไทยสามารถส่งผ่านได้ทั้งทางลาวไปยังคุนหมิง หรือทางเวียดนามไปยังหนานหนิง

เมื่อเดือน ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ได้เปิดให้บริการทั้งในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางและขนส่งระหว่างเวียงจันทร์-บ่อเต็น จากเดิมที่ใช้รถบรรทุกหรือรถโดยสาร 13 ชั่วโมง เป็นราว 4 ชั่วโมง 20 นาที เส้นทางรถไฟดังกล่าวมีระยะทางราว 400 กิโลเมตรเชื่อมระหว่างเวียงจันทร์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว ซึ่งตั้งอยู่ห่างจาก จ.หนองคาย ของไทย ราว 25 กิโลเมตร และบ่อเต็น เมืองหลวงน้ำทา ลาว ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนจีน และสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองคุนหมิงของจีนได้ โดยมีสถานีโดยสารจำนวน 32 สถานี แบ่งเป็น สถานีขนส่งสินค้า 22 สถานี ปัจจุบันสร้างแล้วเสร็จ 11 สถานี และ สถานีขนส่งผู้โดยสาร 10 สถานี

นอกจากนี้ ทางการลาวยังได้สร้างท่าเรือบก (dry port) กระจายตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ท่าบกท่านาแล้ง (dry port) และเขตโลจิสติกส์ (logistics park) นครหลวงเวียงจันทน์ พื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ ในบ้านดงโพสี เมืองหาดซางฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งรถไฟความเร็วสูงจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทั้งในการการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวระหว่าง ไทย-ลาว-จีน ต่อไป (รูปที่ 5)

ในปี 2565 ไทยและ สปป.ลาว มีแผนที่จะผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนถาวร เพิ่มอีก 5 แห่งในปี 2565 ปัจจุบัน ไทยมีจุดผ่านแดนถาวรด้าน สปป. ลาว 20 แห่ง และมีแผนที่จะผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนถาวรด้าน สปป. ลาว เพิ่มอีก 5 แห่งในปี 2565 ได้แก่ 1) ด่านบ้านแจมป๋อง อ.เวียงแท่น จ.เชียงราย 2) ด่านเชียงคาน จ.เลย 3) ด่านท่าเรือหนองคาย 4) ด่านท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม 5) ด่านท่าเทียบเรือมุกดาหาร ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างไทย-ลาว และไทย-จีนสะดวกมากขึ้น และสนับสนุนให้การค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว และการค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีน เติบโตขึ้นในอนาคตอีกด้วย (รูปที่ 6)

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเห็นภาพมากขึ้น 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอุดร นิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตและกระจายสินค้าทั้งในประเทศรวมถึงประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนต่อไป โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่บริเวณเขต ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี มีพื้นที่ราว 2,200 ไร่ แผนการพัฒนาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนอุตสาหกรรมและส่วนโลจิสติกส์ โดยในส่วนของโลจิสติกส์ปาร์ก จะประกอบด้วย สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ ICD เขตปลอดอากร (free zone) คลังสินค้า ส่วนโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ตั้งอยู่บริเวณ ต.นากระแซง ต.ทุ่งเทิง อ.เดชอุดม จ. อุบลราชธานี มีเนื้อที่ราว 2,940 ไร่ แบ่งเป็น เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำดิบ 627 ไร่ และเพื่ออุตสาหกรรม 2,313 ไร่ โดยเน้นดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเคมี พลาสติก ของใช้อุปโภคบริโภค

**[

  • ธันวาคมนี้…เสียงหวูด “รถไฟลาว-จีน” ดังสนั่น ](https://thaipublica.org/2021/04/pundop26/)**

**[

  • เปิดแล้ว…รถไฟลาว-จีน ](https://thaipublica.org/2021/12/first-train-of-laos-china-railway-launched/)**

**[

  • ภาระหนี้ของรัฐบาลลาว จากทางรถไฟลาว-จีน ](https://thaipublica.org/2021/07/pundop37/)**

**[

  • ข้อมูลจำเพาะล่าสุด ของ “รถไฟลาว-จีน” ](https://thaipublica.org/2021/10/pundop51/)**

**[

  • แม่น้ำโขง…ยังคงชีวิตชีวา แม้มีทางรถไฟลาว-จีน ](https://thaipublica.org/2021/12/pundop58/)**

จากภาพที่เกิดขึ้น Krungthai COMPASS ชวนท่านผู้อ่านมาวิเคราะห์ถึง 3 คำถามสำคัญที่ต้องติดตามในระยะถัดไป อันได้แก่

1) สินค้าอะไรที่ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกไปยังลาวและจีนได้มากขึ้น?
2) ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยควรเตรียมพร้อมกับการรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วยรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน อย่างไร? และ 3) โครงข่ายคมนาคมรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่สร้างขึ้น จะส่งผลอย่างไรต่อการท่องเที่ยวของลาวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทย?

1) สินค้าอะไรที่ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกไปยังลาวและจีนได้มากขึ้น?

การวิเคราะห์ประเภทของสินค้าที่สามารถส่งออกข้ามแดนไปยังลาวและส่งออกผ่านแดนไปยังจีน พิจารณาจากการเติบโตเฉลี่ยสะสมระหว่างปี 2559-2562 ของมูลค่าสินค้าต่างๆ ที่มีการนำเข้าทั้งจากลาวและจีน สะท้อนถึงความต้องการของสินค้านั้นๆ ในระหว่างปี 2559-2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าของสินค้าที่ลาวและจีนนำเข้าจากไทยเมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้านั้นที่ลาวนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด (ส่วนแบ่งตลาดของไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ) ในช่วงเวลาเดียวกัน จากนั้นใช้ค่าเฉลี่ยของการเติบโตสะสมของมูลค่าสินค้าทุกประเภทและค่าเฉลี่ยของส่วนแบ่งตลาดทุกสินค้าเพื่อแบ่งกลุ่มสินค้าออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มที่เป็นดาวเด่น (star) กลุ่มสินค้าที่มีอัตราการนำเข้าระหว่างปี 2559-2562 สูงกว่าค่าเฉลี่ย และ ไทยมีสัดส่วนส่วนแบ่งตลาดของการส่งออกสินค้าในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย
2) กลุ่มที่พัฒนาได้ เป็นกลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้าที่เติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่ไทยยังมีสัดส่วนการส่งออกที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
3) กลุ่มที่มีการนำเข้าที่เติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่มีสัดส่วนส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าค่าเฉลี่ย
4) กลุ่มที่มีการนำเข้าที่เติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและมีสัดส่วนส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

จากการวิเคราะห์ พบว่าสินค้าที่เป็นดาวเด่นในช่วงปี 2559-2562 ที่ไทยส่งออกไปยังลาว ได้แก่ น้ำตาลและลูกกวาดหรือขนมหวาน ผลไม้ ของเสียจากอุตสาหกรรมอาหาร แก้วและเครื่องแก้ว เครื่องสำอางและน้ำหอม ซีเมนต์ ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น บรรจุภัณฑ์ ท่อ ข้อต่อท่อ จาน ชาม แผ่นชีทพลาสติก ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่มีการเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2559-2562 มากกว่าค่าเฉลี่ยที่ 18.8%CAGR และไทยมีส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยระหว่างปี 2559-2562 มากกว่า 44.3%

ส่วนสินค้าที่ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกไปยังลาวได้ ได้แก่ ยา ฝ้าย ปุ๋ย เหล็กแปรรูปในรูปแบบต่างๆ เช่น เหล็กโครงสร้าง (HS73) สารเคมีในการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช ยาฆ่าหนู ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ ลาวมีการนำเข้าเฉลี่ยในช่วงปี 2559-2562 ประมาณ 1,000-2,500 ล้านบาทต่อปี1 ยกเว้นเหล็กแปรรูปในรูปแบบต่างๆ ที่มีการนำเข้าเฉลี่ยในช่วงปี 2559-2562 ประมาณ 9,900 ล้านบาทต่อปี1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าพื้นฐานในอุตสาหกรรมเกษตรและก่อสร้าง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องตามการพัฒนาของประเทศลาว (รูปที่7)

อย่างไรก็ดี ในปี 2564 ลาวมีการซื้อทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นราว 8,315 ล้านบาท1 (260 ล้านเหรียญสหรัฐ) จาก 7.8 ล้านบาท (2.5 แสนเหรียญสหรัฐ) ในปีก่อนหน้า โดยราว 97% เป็นการซื้อจากสวิสเซอร์แลนด์ และ 2.7% จากไทย ทองคำจึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ต้องติดตามความต้องการของลาวในระยะถัดไป

สำหรับจีน สินค้าที่เป็นดาวเด่นที่มูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ ผลไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ โดยเราพบว่า มูลค่าการนำเข้าผลไม้สู่จีนจากไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 22.5%CAGR ในช่วงปี 2559-2562 และมีส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ย 25.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งผลไม้ไทยเป็นหนึ่งในสินค้าที่ชาวจีนให้การยอมรับและบริโภค เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกได้มากขึ้นในอนาคต

สินค้าที่ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกไปยังจีนได้ ได้แก่ เครื่องสำอาง สัตว์จำพวกกุ้ง ปู ปลา ยาและเวชภัณฑ์ เนื้อ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าในช่วงปี 2559-2562 มากกว่าค่าเฉลี่ยที่ 9.6%CAGR แต่ยังมีสัดส่วนส่วนแบ่งตลาดในช่วงปี 2559-2562 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 3.7% โดยสินค้าเหล่านี้ ได้แก่ เครื่องสำอางและน้ำหอม โดยเฉพาะเครื่องสำอาง, ครีมบำรุง, ครีมกันแดด, สัตว์จำพวกกุ้ง กั้ง ปู และปลาแช่เย็น แช่แข็ง, ยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะยารักษาโรคทั่วไป ผ้าพันแผล ผ้าก๊อซ พลาสเตอร์ปิดแผล, เนื้อสัตว์โดยเฉพาะ เครื่องในสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ห่าน ซึ่งจีนมีการนำเข้าจากไทยเฉลี่ยราว 9.7 พันล้านบาท (3 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในระหว่างปี 2562-2564 (รูปที่ 8)

อย่างไรก็ดี รูปแบบการขนส่งสินค้าเหล่านี้ไปยังจีน อาจใช้ได้ทั้งทางบก ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน รถบรรทุก ในการขนส่งสินค้าข้ามแดนไปยังจีน แล้วกระจายต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของจีน หรืออาจจะใช้การขนส่งทางทะเล หรือทางอากาศก็ได้

2) ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยควรเตรียมพร้อมกับการรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วยรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน อย่างไร?

ปริมาณสินค้าที่นำเข้าและส่งออกที่จะใช้รถไฟความเร็วสูงลาว-จีนคาดจะเติบโตเป็น 7.6 ล้านตันในปี 2573 จากเดิมที่ขนส่งด้วยรถบรรทุกและเรือราว 3.2 ล้านตันในปี 2559 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ World Bank โดยเป็นการส่งออกและนำเข้าสินค้าทางบกระหว่างไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ผ่านลาวไปยังจีน (transit trade through Lao PDR) 3.9 ล้านตัน/ปี จาก 2 ล้านตัน/ปี ในปี 2016 และปริมาณการส่งออกและนำเข้าสินค้าทางบกระหว่างลาวและจีน (bilateral trade) 3.7 ล้านตัน/ปี จาก 1.2 ล้านตัน/ปี ในปี 2559 ซึ่งประมาณการดังกล่าวครอบคลุมถึงปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณสินค้าที่เปลี่ยนจากการขนส่งทางถนนเป็นรถไฟและปริมาณสินค้าที่เปลี่ยนจากการขนส่งทางน้ำเป็นรถไฟ ทำให้ความต้องการการขนส่งทางรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน เป็น 7.6 ล้านตัน/ปี หรือเฉลี่ยราววันละ 20,820 ตันต่อวัน คิดเป็นราว 960 ตู้สินค้าขนาด 20 TEU ต่อวัน (รูปที่ 9)

แน่นอนว่าสินค้าที่ทำการขนส่งผ่านเข้าออกลาว ยังคงต้องขนส่งโดยรถบรรทุกจากไทย ก่อนที่การขนส่งทางรางจะพัฒนาในระยะข้างหน้า ในระยะสั้น การขนส่งทางรถบรรทุกจะยังเป็นรูปแบบหลักที่ใช้ขนส่งสินค้าไปยัง จ.หนองคาย แล้วข้ามฝั่งไปยังลาว ก่อนที่จะกระจายสินค้าต่อไปภายในประเทศลาวหรือขนส่งต่อไปยังจีน ส่วนในระยะข้างหน้า การก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางขอนแก่น–หนองคาย และเส้นทางขอนแก่น-นครพนม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางมากขึ้น ประกอบกับก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 หรือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2) ซึ่งจะสามารถรองรับทั้งรถยนต์, รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ แบบไม่ต้องรอหลีก จะทำให้การเข้าถึงสถานีขนส่งสินค้าท่าบกนาท่าแล้ง ซึ่งเป็น logistics park ในฝั่งลาว ที่เชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีน เป็นไปได้โดยสะดวกมากขึ้น

ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย ควรเตรียมการในการเข้าหาผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะขนส่งไปยังจีนและลาวมากขึ้น ศึกษาเส้นทางการขนส่งสินค้า และเตรียมจำนวนคนขับและจำนวนรถบรรทุกให้เหมาะสม ในระยะ 5-7 ปี ก่อนที่รถไฟทางคู่ช่วงเส้นทางของแก่น–หนองคาย และเส้นทางขอนแก่น-นครพนมจะสร้างแล้วเสร็จ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรถบรรทุก ผู้ประกอบการคลังสินค้า จะยังเป็นผู้ประกอบการที่มีบทบาทสำคัญ ผู้ประกอบการจึงควรหาลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะส่งออกและนำเข้าจากลาวและจีนมากขึ้น จากนั้น ศึกษาเส้นทางการขนส่งสินค้าขาออกจากแหล่งผลิตของไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก ไปยังลาว และเส้นทางขนส่งสินค้าขาเข้าจากลาว ที่บางส่วนอาจเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกยังท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรมีการเตรียมพร้อมในด้านศูนย์พักและกระจายสินค้า และจำนวนรถบรรทุกให้เหมาะสมกับชนิดและปริมาณของสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้ที่ต้องการใช้รถบรรทุกและคลังสินค้าที่ควบคุมความเย็น เป็นต้น

ในระยะถัดไป ผู้ประกอบการควรวางแผนในการขนส่งและกระจายสินค้าทางราง เช่น การขนถ่ายสินค้าระหว่างรถไฟและรถบรรทุก การกระจายสินค้าต่อเนื่องจากเส้นทางรถไฟ เพื่อเตรียมการเมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย และรถไฟทางคู่เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม แล้วเสร็จ

3) โครงข่ายคมนาคมรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่สร้างขึ้น จะส่งผลอย่างไรต่อการท่องเที่ยวของลาวแลผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทย?

จำนวนผู้โดยสารที่จะใช้บริการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางเวียงจันทร์-บ่อหานในปี 2573 คาดมีจำนวนราว 4.2 ล้านคน จากการคาดการณ์ของ World Bank โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1)ผู้โดยสารที่เดินทางภายในประเทศ จำนวน 3.1 ล้านคน 2) ผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างตะวันตกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และลาว 0.83 ล้านคน และ 3) ผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างตะวันตกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือของจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทยและกัมพูชา ผ่านลาว 0.34 ล้านคน (รูปที่ 10) ทั้งนี้ ในช่วง 4 ธ.ค. 2564 – 7 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา (ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน) รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน วิ่งให้บริการไปแล้ว 119 เที่ยว (ไป-กลับ) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 113,827 คน เฉลี่ยวันละ 1,721 คน มีสถิติจำนวนผู้โดยสารใช้บริการต่อวันมากที่สุด 2,804 คน

จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางภายในลาวด้วยรถไฟความเร็วสูงจะได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังลาว ซึ่ง Krungthai COMPASS คาดว่าจะปรับตัวขึ้นเป็นราว 7.15-10.5 ล้านคนต่อปี จากเฉลี่ยประมาณ 4.2 ล้านคน/ปี ในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งราว 40%-50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มีแนวโน้มจะใช้บริการรถไฟความเร็วสูง (รูปที่ 10) การสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางเวียงจันทร์-บ่อหาน ถือเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าสู่ลาวมากขึ้น นักท่องเที่ยวเหล่านี้ ส่วนใหญ่เดินทางไปท่องเที่ยวยังเวียงจันทร์ (60%-70%) รองลงมาคือหลวงพระบาง (13%-20%) อุดมไซ และหลวงน้ำทา ซึ่ง 3 แห่งแรกอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จึงทำให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการนั่งรถไฟความเร็วสูงชมวิวตามเส้นทางรถไฟก็เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ใหม่ที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ในอนาคต จำนวนนักท่องเที่ยวจะมีการเดินทางผ่านไทยเดินทางไปยังลาวมากขึ้น จะส่งดีต่อผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวของไทย จำนวนนักท่องเที่ยวของลาวที่มีแนวโน้มเติบโต ย่อมส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่เป็นทางผ่านไปยังลาวสูงขึ้นด้วย โดยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวด้วยรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน สามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง ทางเครื่องบินโดยการเดินทางไปยังสนามบิน จ.อุดรธานี แล้วเดินทางต่อไปยัง จ.หนองคาย และทางรถไฟ ไปยัง จ.หนองคาย ก่อนที่จะเดินทางข้ามไปยังลาวต่อไป ซึ่งในปัจจุบันการเดินทางด้วยรูปแบบที่กล่าวมาสามารถทำได้แล้ว แต่จะมีมากขึ้นในอนาคตตามเทรนด์การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางจากไทยไปลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของไทย อาทิเช่น ผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสาร ผู้ประกอบการโรงแรม ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ประกอบการนำเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการใน จ.หนองคาย จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง

ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ควรเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการเดินทาง สถานที่พัก อาหาร และสันทนาการ ผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยควรเตรียมพร้อมในการเพิ่มจำนวนเที่ยวยานพาหนะโดยสารเพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น รวมถึงการเชื่อมต่อกับทั้งระบบ รถ ราง และเครื่องบินเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจากสถานีขนส่งผู้โดยสารไปยังพรมแดนที่ จ.หนองคาย ส่วนผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารควรมีการเตรียมพร้อมด้านสถานที่ให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือน รวมถึงเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยในสถานที่บริการ อีกทั้ง ยังสามารถนำเสนออาหาร สินค้าและบริการที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่และสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

การค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้าโดยเฉพาะการค้าข้ามแดนระหว่างไทย-ลาว และการค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเปิดดำเนินการของรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน เส้นทางเวียงจันทร์-บ่อเต็น เมื่อเดือนธันนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีสินค้าที่ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกไปยังลาวเพิ่มขึ้นดีอีก อาทิเช่น ยา ฝ้าย ปุ๋ย เหล็กแปรรูป สารเคมีในการเกษตร และ สินค้าที่ไทยสามารถพัฒนาส่งออกไปยังจีนได้อีก อาทิเช่น เครื่องสำอาง สัตว์จำพวกกุ้ง ปู ปลา ยาและเวชภัณฑ์ เนื้อ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ผลิตและเกี่ยวข้องกับสินค้าเหล่านี้ในการส่งออกมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์และผู้ประกอบการการท่องเที่ยวของไทยยังมีโอกาสที่จะได้รับผลบวกจากการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมพร้อมด้านการแข่งขันกับสินค้าที่มีแนวโน้มจะถูกนำเข้ามาจากจีนผ่านทางรถไฟความเร็วสูงด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น