โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

4 จังหวัดค่าแรง 400 - ห่วงเอสเอ็มอี แนะรัฐคุมเข้มปรับราคาสินค้า

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 25 ธ.ค. 2567 เวลา 06.20 น. • เผยแพร่ 25 ธ.ค. 2567 เวลา 00.22 น.
1-21

ผู้ประกอบการโอดขึ้นค่าแรงรอบล่าสุด มีผล 1 ม.ค. 2568 โดยเฉพาะ 4 จว.-1 อำเภอที่ขึ้น 400 บาท ส่วนใหญ่หวั่นแรงงานเถื่อนทะลัก ภาคตะวันออกมองผู้ประกอบการท่องเที่ยวรับได้ เพราะปกติจ่ายแพงกว่าอยู่แล้ว ห่วงธุรกิจรายย่อยมากกว่า เช่นเดียวกับภูเก็ต อยากให้จ่ายตามความสามารถของแรงงาน หาดใหญ่กังวลขึ้นค่าแรงอยู่อำเภอเดียว คาดแรงงานทะลักเข้าพื้นที่ ขณะที่กลุ่มสมาคมภัตตาคารไม่มีปัญหา

จากกรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ อัตราสูงสุดวันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุดวันละ 337 บาท ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปนั้น

4 จว.-1 อำเภอรับ 400/วัน

ค่าแรงที่กำลังจะปรับขึ้นแบ่งออกเป็น 4 อัตรา ประกอบด้วย 1.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 2.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 380 บาท ใน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

3.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราวันละ 372 บาท ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5) 4.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 67 จังหวัด ที่เหลือให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0

“การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไป แรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะทำให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ จำนวน 3,760,697 คน” นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างกล่าว

สมาคมภัตตาคารชี้รับได้

ส่วนความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคเอกชนที่ต้องรับภาระจ่ายค่าจ้าง เริ่มจากนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า จากที่มีประกาศจะขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจาก 4 จังหวัดนี้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันสูง รวมไปถึงการชิงตัวพนักงานด้วย ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่จ่ายค่าแรงสูงกว่าอัตราที่ภาครัฐกำหนดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการจ้างงานใหม่ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและอยู่ในระบบ เบื้องต้นมองว่าจังหวัดระยองอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากปกติผู้ประกอบการจะจ้างแรงงานจากฝั่งกัมพูชา ซึ่งอาจจ้างในอัตราค่าแรงที่ไม่ได้สูงหนัก หากขึ้นค่าแรงก็อาจจะมีผลกระทบบ้าง

ร้านพรีเมี่ยมย้ำไม่กระทบ

นายจักรกฤติ สายสมบูรณ์ กรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหาร อาทิ มากุโระ, ซัมติงทูเก็ตเตอร์, ฮิโตะริชาบู ฯลฯ กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารในเครือของบริษัทเป็นกลุ่มพรีเมี่ยมแมส ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องระดับคุณภาพการบริการอยู่แล้ว ที่ผ่านมาจึงจ่ายค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าที่ภาครัฐกำหนด มองว่าหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในเครือ

หวั่นแรงงานเถื่อนทะลัก EEC

นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทครั้งนี้ น่าจะดึงดูดให้แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบันค่าแรงคนไทยที่ทำงานใน 3 จังหวัดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ่ายเกิน 400 บาทอยู่แล้ว

พื้นที่ภาคตะวันออกมีแรงงานต่างด้าว 2 สัญชาติ คือ เมียนมาและกัมพูชา แต่ตอนนี้พบแรงงานสัญชาติจีนเข้ามาจำนวนมาก โดยทำงานเป็นพนักงานขายตามร้านค้า พนักงานเสิร์ฟ ซึ่งแรงงานจีนเหล่านี้น่าจะเข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมาย เพราะแรงงานจีนที่เข้ามาถูกกฎหมายเป็นแรงงานที่มีฝีมือเฉพาะทาง ยิ่งเมื่อปรับค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 400 บาท จะยิ่งทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายทะลักเข้ามา โดยแรงงานเหล่านี้คาดว่าน่าจะเข้ามาตั้งแต่การเปิดฟรีวีซ่า

ชลบุรีชี้ SMEs กระทบหนัก

นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาแรงงานภาคการท่องเที่ยวได้รับค่าแรงขั้นต่ำเกินกว่า 400 บาทอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ โรงแรมเชน ยังจ่ายเงินพิเศษและค่าเซอร์วิสชาร์จให้อีกจำนวนมาก ทำให้แรงงานได้รับเงินเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำไปมาก ๆ อยู่แล้ว

การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ โดยพิจารณาจังหวัดเป็นหลัก ไม่มีการพิจารณาประเภทธุรกิจ ไม่ดูทักษะของแรงงาน ทำให้สถานประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และจะทำให้แรงงานที่ไม่มีทักษะได้รับค่าแรงเพิ่มโดยไม่พัฒนาตัวเอง

ธุรกิจท่องเที่ยวไม่สะเทือน

“คิดว่าโรงงานที่จะมาตั้งในจังหวัดชลบุรี คงย้ายไปตั้งจังหวัดอื่นที่มีค่าแรงถูกกว่า ขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ได้ดีขึ้นทั้งหมด หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้นมา ธุรกิจเดียวที่ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ขณะที่ธุรกิจเซ็กเตอร์อื่นแย่ลงหมด ทั้งโรงงาน อสังหาริมทรัพย์” นายธเนศกล่าว

การปรับค่าแรงขั้นต่ำควรนำเรื่องทักษะความชำนาญในการทำงานที่มากกว่าคนอื่นในวิชาชีพเดียวกัน เช่น เป็นช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องกล เชฟทำอาหาร มีความสามารถมากกว่าคนอื่น หรือพนักงานต้อนรับที่พูดได้หลายภาษา ทั้งจีน รัสเซีย เยอรมัน จะได้ค่าแรงที่สูงกว่าคนอื่นตามทักษะ แต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่พิจารณาเรื่องความสามารถ ความชำนาญ ทำให้แรงงานที่ไม่มีทักษะได้รับไปด้วย ทำให้สถานประกอบการได้รับผลกระทบ

ฉะเชิงเทราชี้กระทบทั้งห่วงโซ่

นายสุกัณฑ์ โสรัจจกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานต่างด้าวแน่นอน เนื่องจากเป็นแรงงานที่ขาดความรู้ความสามารถ และจะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการและผู้รับเหมา ซึ่งเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่

“บอกเลยว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทครั้งนี้ คนไทยไม่ได้ประโยชน์ เพราะปัจจุบันค่าจ้างแรงงานไทย เราจ่ายให้ตามความสามารถและประสบการณ์ ซึ่งเกินกว่าที่รัฐกำหนดอยู่แล้ว แต่จะมีปัญหาส่วนแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่มีมากกว่า 10,000 คน ทำงานในโรงงาน และผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไป ซึ่งได้รับค่าจ้างอยู่ที่ 300 กว่าบาท ตามความสามารถเมื่อเพิ่มค่าแรงจะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ”

ภูเก็ตเสนอจ่ายตามศักยภาพ

นายมนต์ทวี หงษ์หยก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง มองว่าความเป็นจริงในภาคธุรกิจมีการจ่ายค่าแรงเกิน 400 บาท แต่ด้วยฐานเงินเดือนมีโครงสร้างกันอยู่แล้ว ดังนั้นการขึ้นค่าแรงกับกลุ่มแรงงานต่างด้าวในสภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหา จะทำให้โครงสร้างฐานเงินเดือนทั้งหมดดีดขึ้นยกแผง สุดท้ายแล้วจะเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ถ้ามองว่าเศรษฐกิจของภูเก็ตดีไม่ใช่ดีกันทั้งเกาะ มีบางธุรกิจที่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้อิงกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเต็ม ๆ และค่าแรงขั้นต่ำอาจจะไม่เป็นธรรม เนื่องจากจังหวัดไหนที่มีปากมีเสียงเยอะจะได้รับการขึ้นหรือไม่ขึ้นค่าแรง จึงอยากให้พิจารณาโครงการที่หอการค้าไทยเสนอ คือ จ่ายตามศักยภาพการทำงานของพนักงานในแต่ละตำแหน่งต่าง ๆ ตามสมรรถนะและศักยภาพของแรงงานในแต่ละตำแหน่ง คือ จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ

สมุยหวั่นแรงงานเถื่อนเพิ่ม

นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า การขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจรายย่อย อีกทั้งความกังวลเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในเกาะสมุยที่อาจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีมาตรการหรือนโยบายมาส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยด้วย เช่น กระทรวงแรงงานเข้ามาพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นเงินเฟ้อโดยใช่เหตุ

“สำหรับกลุ่มโรงแรม 4-5 ดาว อาจจะไม่กระทบมากนัก เพราะปรับเพิ่มค่าแรงไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ปัญหาอยู่ที่กลุ่มโรงแรมตั้งแต่ 3 ดาวลงมา อาจจะมีต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 40,000-50,000 บาท/เดือน รวมถึงมีความกังวลปัญหาแรงงานต่างด้าวจากเกาะพะงัน เกาะเต่า จะหลั่งไหลเข้ามาที่เกาะสมุยมากขึ้น เพราะปัจจุบันแรงงานไทยในเกาะสมุยมีค่อนข้างน้อย หากเกิดความเหลื่อมล้ำด้านค่าแรงจะทำให้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น”

หาดใหญ่ปรับค่าแรงเหลื่อมล้ำ

ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับอัตราค่าแรงงาน จ.สงขลา รวม 16 อำเภอ ปรากฏว่า อ.หาดใหญ่ ปรับจาก 345 บาท เป็น 380 บาท ในขณะที่ 15 อำเภอ อัตรา 352 บาท จึงเห็นควรต้องปรับให้เท่าเทียมกันทั้ง 16 อำเภอ ประมาณ 355 บาท และอัตราค่าแรงงาน อ.หาดใหญ่ ยังปรับสูงกว่ากรุงเทพฯ ทั้ง ๆ ที่กรุงเทพฯ อัตราค่าครองชีพที่สูงกว่า

การปรับอัตราแรงงานลักษณะนี้จะเกิดความเหลื่อมล้ำจะส่งผลกระทบทั้งจังหวัด โดยเฉพาะต่อ อ.หาดใหญ่ ทางด้านการลงทุน นักลงทุนก็จะเคลื่อนไหวไปลงทุนยังอำเภออื่น ๆ กันหมด เพราะจากอัตราแรงงานที่ต่ำกว่า และแรงงานจากอำเภออื่น ๆ ก็จะไหลเข้ามายัง อ.หาดใหญ่ เพราะจะได้ค่าแรงที่สูงกว่าเกือบ 30 บาท/วัน และทำงานอยู่นอก อ.หาดใหญ่ จะได้ค่าแรงต่ำกว่าเกือบ 30 บาท/วัน

เชียงใหม่ให้รัฐคุมราคาสินค้า

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า พื้นที่เขตอำเภอเมืองที่จะปรับขึ้นค่าแรงจากเดิม 350 บาท เป็น 380 บาท ถ้ามองในส่วนของผู้ประกอบการก็ถือว่าได้รับผลกระทบที่ต้องจ่ายประกันสังคมสมทบที่จะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากโควิดและน้ำท่วม โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบมาก

อย่างไรก็ตาม หากมองในส่วนของผู้ใช้แรงงาน การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ก็ถือว่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลโฟกัสเรื่องการคุมราคาสินค้ามากกว่า

เพราะเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะปรับขึ้นค่าแรง ก็พบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคได้ปรับขึ้นราคาไปรอล่วงหน้าแล้ว ซึ่งการปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะปรับขึ้นทั่วประเทศเท่ากันหมด จึงอยากให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอย่างจริงจัง รวมถึงลดต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 4 จังหวัดค่าแรง 400 – ห่วงเอสเอ็มอี แนะรัฐคุมเข้มปรับราคาสินค้า

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net