โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นายก ฯมั่นใจกู้ 5 แสนล้าน แจกคนละหมื่นบาท ‘ไปต่อได้’ – มติ ครม.เก็บค่าใบอนุญาตใช้น้ำอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 11 ม.ค. เวลา 11.58 น. • เผยแพร่ 09 ม.ค. เวลา 20.48 น.
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายก ฯมั่นใจกู้ 5 แสนล้าน แจกคนละหมื่นบาท ‘ไปต่อได้’
  • นัดผู้ว่า ธปท. เคลียร์มุมมองนโยบาย ศก. พรุ่งนี้
  • สั่งราชทัณฑ์วินิจฉัยปม ‘ทักษิณ’ นอน รพ. ยึดหลักความเสมอภาค
  • เบรก ‘ยูโร 6’ หวั่นกระทบต้นทุนภาคขนส่ง
  • นอนทำเนียบ 24 ม.ค.นี้
  • มติ ครม.เก็บค่าใบอนุญาตใช้น้ำอุตสาหกรรม – ท่องเที่ยว
  • กฟน.ปรับแผนจำหน่ายไฟฟ้าวงเงิน 7.3 หมื่นล้าน
  • ไฟเขียว “Coding for Better Life” ผลิตบุคลากรดิจิทัล
  • ตั้งบอร์ด “กฟน.-กฟภ.-กปน.กปภ.”

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

เบรก ‘ยูโร 6’ หวั่นกระทบต้นทุนภาคขนส่ง

นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 รัฐบาลได้มีการประกาศขอให้ชะลอการประกาศใช้น้ำมันดีเซล มาตรฐาร Euro 6 กับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กและขนาดใหญ่ออกไปก่อน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเริ่มบังคับใช้มาตรฐาน Euro 5 กับรถยนต์ประเภทต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ประเภทสันดาปภายในครั้งสำคัญของประเทศ และเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหา PM2.5 จากรถยนต์ อย่างไรก็ตาม การจะยกระดับจาก Euro 5 ไปเป็น Euro 6 ในระยะต่อไป

“ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยต้องคำนึงมิติด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกรณีรถยนต์ดีเซลทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งเป็นรถเชิงพาณิชย์ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในวงกว้าง อีกทั้งในภูมิภาคอาเซียน นอกจากสิงคโปร์แล้ว ยังไม่มีประเทศใดประกาศใช้มาตรฐาน Euro 6 การที่ไทยประกาศใช้ก่อนจะเป็นการเพิ่มต้นทุนที่สูงให้กับผู้ประกอบการ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และยังมีผลกระทบกับการขนส่งข้ามแดนอีกด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า การยกระดับจาก Euro 5 ไปเป็น Euro 6 ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตพอสมควร และไทยเพิ่งประกาศใช้มาตรฐาน Euro 5 ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ดังนั้นขอให้ชะลอการบังคับใช้มาตรฐาน Euro 6 กับรถยนต์ดีเซล ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ออกไปก่อน จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาร่วมกันผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้มีความรอบคอบโดยคำนึงถึงมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมให้รอบด้าน แล้วจึงเสนอให้ ครม. พิจารณาใหม่อีกครั้ง

มั่นใจกู้ 5 แสนล้าน แจกคนละหมื่นบาท ‘ไปต่อได้’

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ในการประชุม ครม. วันนี้ยังไม่มีการพิจารณาถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินทำโครงการ Digital Wallet หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นมายังรัฐบาล เพราะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ตนเป็นประธานก่อน โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กำลังดูเวลาอยู่

เมื่อถามว่า มีข่าวว่าวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ได้อยู่ในตารางการประชุมของตน”

ถามต่อว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่วนหนึ่งพูดถึงความจำเป็น เร่งด่วนในการกู้เงินที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกัน”

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนอยากจะฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่าย เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกมาให้ฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่ต้องมีความเห็นของ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ , ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลตทุกคน ต้องให้ความสำคัญกับทุกเสียง

เมื่อถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีความชัดเจนว่าทำได้ หรือ ไม่ได้ ใช่หรือไม่ โดย นายเศรษฐา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้บอกว่าทำได้ หรือ ทำไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจ และต้องรับฟังความคิดเห็น ถึงบอกว่าจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการ

เมื่อถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องรัฐบาล เปิดเผย คำถาม และคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา นายเศรษฐา บอกว่า “เมื่อถึงเวลาอันสมควร ก็จะเปิดเผย”

ถามว่า แสดงว่าเรื่องนี้จะต้องใช้ระยะเวลาไปอีกสักระยะ นายเศรษฐา ตอบว่า “ต้องประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งตนนั่งเป็นประธานก่อน อย่างที่ตนได้เรียนให้ทราบ ยังไงก็ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ฯ เพราะมีหลายฝ่ายร่วมอยู่ และต้องมาแสดงความคิดเห็น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายก ฯ มั่นใจว่าเรื่องนี้เดินไปต่อได้ใช่ หรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ไปต่อได้แน่นอนครับ ชัดเจนครับ แต่ต้องขอความเห็นจากที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลฯก่อน และจะตอบเนื้อหาทีหลัง”

เมื่อถามว่า จะทันเดือนพฤษภาคม 2567 หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ณ เวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม แต่ต้องขอประชุมก่อน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการฯมีข้อสงสัย หรือ ข้อเสนอแนะอะไรอีกหรือไม่ อย่างที่บอกนัยสำคัญของกฤษฎีกา คือ ต้องฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย”

“ยืนยันถ้าออกก็ออกเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อถามว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ทำให้เกิดความหนักใจอะไรใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ทุกเรื่องมีความหนักใจหมด เพราะต้องดูเรื่องของความถูกต้อง ความครบถ้วนในแง่ของการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย” นายเศรษฐา กล่าว

นัดผู้ว่า ธปท.เคลียร์มุมมองนโยบาย ศก. พรุ่งนี้

เมื่อถามว่า ความเห็นที่แตกต่างของนายกฯ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนหนึ่งมองว่าอาจมีผลกระทบต่อนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “คนอยู่บ้านเดียวกัน เห็นไม่ตรงกันก็หลายอย่าง ตนว่าอยู่ในสังคมเดียวกันเชื่อว่าหลายๆ ท่านมีจุดประสงค์เดียวกันคืออยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น แต่เรื่องของการปฏิบัติงาน หรือ เรื่องนโยบายต่าง ๆ อาจมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกัน”

เมื่อถามว่า จะมีโอกาสเชิญผู้ว่า ธปท. มาพูดคุยกันเหมือนช่วงแรกหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็ยังยืนยันและขอบคุณที่สื่อมวลชนบอกว่า ไหนบอกจะมีการพูดคุยกันทุก ๆ เดือน แต่รู้สึกว่าเดือนธันวาคม 2566 ไม่ได้พูดคุยกัน แต่ก็มีการยกหูโทรศัพท์คุยกัน ขอบคุณที่เตือนมา ตนก็ได้นัดผู้ว่าการ ธปท.ไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ซึ่งท่านก็ตอบรับโดยดี ไม่ได้มีเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน”

“แน่นอนไม่ปฏิเสธว่าเห็นตรงกันทุกเรื่อง ผมเชื่อว่าท่านก็เห็นตรงกับผมบางเรื่อง ผมก็เห็นตรงกับท่านบางเรื่อง แต่บางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันก็ต้องมาพูดคุยกัน และเหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเยอะ ก็เป็นหน้าที่ผมที่จะต้องโน้มน้าวความคิดเห็นของท่านว่าเหตุการณ์มันเปลี่ยนไป ตรงนี้มองว่าเป็นการอยู่ร่วมกัน เป็นธรรมดาก็ต้องมีการพูดคุยกัน” นายเศรษฐา กล่าว

นอกจากนี้ นายเศรษฐา กล่าวถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 จะมีการพูดคุยกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยจะมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ซึ่งต้องให้ความสำคัญ และนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

สั่งราชทัณฑ์วินิจฉัยปม ‘ทักษิณ’ นอน รพ. ยึดหลักความเสมอภาค

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมหลังสมาชิกวุฒิสภาเตรียมยื่นอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ว่า “อย่างที่เคยบอกไปแล้วตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่แบกความหวังของพี่น้องประชาชน 68 ล้านคน ซึ่งก็มีความหนักใจทุกเรื่อง”

“ทุกอย่างก็เป็นไปตามกลไกตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ของฝ่ายบริหาร เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติมีความข้องใจหรือมีเรื่องที่ต้องการให้เราตอบคำถาม ก็ต้องมีความพร้อม รัฐบาลยืนยันมีความพร้อม” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามว่า สว. ต้องการให้ชี้แจงเรื่องดิจิทัลวอลเลต และเรื่องการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐากล่าวว่า “ใช่ครับ ก็ต้องตอบสิครับ ยื่นเรื่องอะไรมาก็ต้องตอบชัดเจน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ครบ 120 วันแล้ว ทางกระทรวงยุติธรรมได้มีการรายงานมาหรือไม่ ว่านายทักษิณจะได้รับวีซ่าอยู่ต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้คำว่าต่อวีซ่าถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้ต้องฟังกรมราชทัณฑ์ที่เสนอมาทางกระทรวงยุติธรรม แต่ตนได้สั่งการชัดเจนแล้ว ว่าการกระทำทั้งหลายต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมและถูกต้องตามกฎหมาย”

“ผมเชื่อว่าขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา ว่ามีความเสมอภาค เท่าเทียม และมีความยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งผมมั่นใจว่ากระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ได้ทำถูกต้อง รวมถึงท่านที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยเหมือนกัน ที่จะต้องชี้แจงตามกฎหมาย ที่ระบุไว้”

เมื่อถามว่า วันที่ 12 มกราคมนี้ กรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร จะขอขึ้นไปที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดย นายเศรษฐา บอกว่า “ยังไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย”

นอนทำเนียบ 24 ม.ค.นี้

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า คืนแรกที่จะนอนทำเนียบรัฐบาลคือวันที่ 24 มกราคม 2567 นี้ โดยเหตุผลที่เลือกวันดังกล่าว เพราะเป็นวันที่มีฤกษ์ดี แล้ววันรุ่งขึ้นก็จะทำงานต่อ และเป็นวันที่ไม่ได้เดินทาง

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ให้ข้อมูลว่า ตนมีกำหนดเดินทางระหว่างวันที่ 14 -19 มกราคม 2567 มีภารกิจเดินทางไปร่วมประชุม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และวันที่ 19-21 มกราคม 2567 มีภารกิจที่ จ.เชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะพักค้างคืนต่อเนื่องยาวเลยหรือไม่ นายเศรษฐาตอบว่า “ไม่ครับ ไม่แน่นอน”

เมื่อถามว่า การจัดงานวันเด็กในปีนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล จะนำไดโนเสาร์มาจัดแสดงเหมือนเช่นทุกปีหรือไม่ นายเศรษฐา บอกว่า “ไม่มี ไดโนเสาร์สูญพันธุ์หมดแล้ว”

เผยเป็นหัวหน้าทีมสร้างโอกาส ให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดน

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงการลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตนจะไปดูเรื่อง ‘โอกาส’ เพราะชาวบ้านประสบปัญหามามากแล้ว จึงเห็นใจ ดังนั้นครั้งนี้จะลงไปพูดเรื่องโอกาส

ผู้สื่อข่าวถามถึงความปลอดภัยและความมั่นคงในพื้นที่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมลงไปพูดเรื่องโอกาส ฉะนั้นก่อนลงไปก็เคลียร์แล้วว่าพื้นที่ที่จะไป ขอให้ไม่พูดแล้วเรื่องปัญหา เราพูดเรื่องโอกาส พี่น้องชาวภาคใต้ประสบปัญหามาเยอะมากแล้ว ตอนนี้เป็นเรื่องของโอกาส หน้าที่ผมคือสร้างโอกาส ขอฝากพี่น้องทุกคนด้วยว่าเรามีหน้าที่ต้องสร้างโอกาสและแรงบันดาลใจให้พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมก็เป็นหัวหน้าทีมในการสร้างโอกาส”

ถามต่อว่า เอกชนจะร่วมลงทุนโอกาสด้วยหรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า“หวังว่าจะเป็นผลที่ตามมา”

ปรับโฉมนำเสนอ งบฯปี’68 รูปแบบใหม่

ด้านนายชัย รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ขอบคุณทุกหน่วยงาน และรัฐมนตรีทุกคน โดยเฉพาะสำนักงบประมาณฯ ที่ให้การสนับสนุนการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ปี 2567 วาระ 1 เมื่อวันที่ 3 – 5 มกราคม 2567 จนสำเร็จลุล่วง และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“นายกฯ กำชับว่า เนื่องจากรัฐบาลนี้เพิ่งเข้ามาใหม่ เวลาการเตรียมการเรื่องการจัดทำงบประมาณยังตั้งหลักไม่ได้เต็มร้อย ดังนั้น ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ซึ่งขณะนี้กระบวนการเริ่มต้นขึ้นแล้ว นายกฯ เน้นย้ำว่าขอให้ทุกหน่วยงานที่จะเสนองบประมาณ ขอให้นำเอานโยบายของนโยบายเป็นจุดเน้นให้เชื่อมโยงกับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งต้องสะท้อนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และมีการกำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินแผนงาน หรือ โครงการที่ชัดเจน สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายชัย กล่าว

“กรณีที่จะเพิ่ม หรือ ลดงบประมาณใดๆก็ตาม ต้องสามารถอธิบายเหตุผลและความจำเป็นได้อย่างชัดเจน นายกฯ ย้ำว่างบปี 2567 รูปแบบเวลาสรุป เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้ออกแบบใหม่ รูปโฉมของงบประมาณรอบหน้า การจัดหมวดหมู่จะดูเริ่มเป็นของรัฐบาลนี้อย่างเต็มร้อย เพราะเราจะมีเวลาในการเตรียมการ ที่ผ่านมาแม้เนื้อหาข้างในต่างกัน แต่เวลาจัดหมวดหมู่เป็นแพทเทิร์นเดียวกันกับที่ผ่านมา ฉะนั้นปี 2568 จะเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน” นายชัย กล่าว

นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หารือและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ตามแนวทางดังกล่าว และให้แต่ละกระทรวงส่งแผนการทำงานตามนโยบายของกระทรวงมาเพื่อประกอบการพิจารณางบประมาณต่อไป

มอบ ก.พ.ร. ตั้ง KPI วัดผลงานส่วนราชการ

นายชัย กล่าวต่อว่า นายก ฯ ขอให้มีการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานาของหน่วยงาน โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร.กำหนด KPI และติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล สะท้อนผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานที่ชัดเจน และให้ผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

“นายกฯ เน้นย้ำ ให้ทุกหน่วยงานกำหนด KPI และส่งมา จากนี้ไปการทำงานต้องมี KPI และวัดผลได้อย่างชัดเจน” นายชัย กล่าว

ห้ามต่ออายุ ขรก.เกษียณเด็ดขาด

นายชัย กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกฯ เน้นย้ำเป็นนโยบายว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปในรัฐบาลชุดนี้ จะไม่มีการต่ออายุเกษียณราชการโดยเด็ดขาด ไม่อนุญาต เกษียณแล้วเกษียณเลย นี่เป็นนโยบายภายในรัฐบาลนี้”

สั่งทุกหน่วยชะลอจัดซื้อระบบ Cloud

นายชัย รายงานว่า นายกฯ ขอให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานของรัฐ ที่มีการตั้งงบประมาณเพื่อจัดหาหรือเช่าระบบ cloud ชะลอการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (National Cloud) ของประเทศไทย จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เพื่อให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลกลางในการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานต่าง ๆ และหากกระทรวงไหนมีข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าวให้ส่งมารวมที่ DGA

“สรุปคือ กระทรวง ทบวง กรมไหน มีแผนจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับระบบคลาวน์หรือเช่าระบบ ให้รอไว้ก่อน รอให้เรื่องการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเรียบร้อยก่อน จึงค่อยทำ ไม่อย่างนั้นจะไม่เป็นไปตามแผนงานใหญ่” นายชัย กล่าว

ผ่อนผัน ‘ทะเบียนบ้านชั่วคราว’ ขอไฟฟ้า -น้ำประปาได้

นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ผ่อนผันให้ผู้มีทะเบียนบ้านชั่วคราว ได้สามารถขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากในอดีตทะเบียนบ้านชั่วคราวจะขอได้ช้าและลำบาก แต่กระทรวงมหาดไทยสนองนโยบายนายกฯ ด้วยการอนุโลมและปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐสามารถขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาได้

นายชัย รายงานว่า นายกฯ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช) ดำเนินการ ดังนี้

1. ดำเนินการขอผ่อนผันการปฏิบัติตามมติ ครม 8 เมษายน 2546 โดยเร่งด่วน และให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดิน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิในที่ดินว่าเป็นที่ดินของรัฐหรือของประชาชน เฉพาะที่อยู่ในที่ดินดังกล่าวมาก่อนอยู่วันที่มีการประชุม ครม. วันนี้ ให้มีไฟฟ้าใช้ในระหว่างการพิสูจน์สิทธิในที่ดินเป็นการชั่วคราวตามหลักสิทธิมนุษยชนโดยเร็ว โดยนำร่องในจังหวัดกาญจนบุรี แล้วรายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม. ทราบภายใน 1 เดือน ทั้งนี้ ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกับ สคทช. ในการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อสั่งการนี้ด้วย

2. เร่งรัดดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินอันเป็นเหตุของปัญหานี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แล้วรายงาน ครม.ทราบ

3. ให้ถือว่าการดำเนินการตามข้อสั่งการนี้เป็น KPI การปฏิบัติงานของ สคทช. ด้วย

“จากที่นายก ฯ ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่ามีประชาชนกว่าสามหมื่นครัวเรือน อาศัยในที่ดินที่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นของรัฐหรือเอกชน และอยู่ในระหว่างพิสูจน์สิทธิ ระหว่างพิสูจน์ขอใช้น้ำไฟไม่ได้ คนเดือดร้อนเยอะ เฉพาะเมืองกาญฯ 30,000 กว่าครัวเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน จึงให้นำร่องที่จังหวัดกาญจนบุรี และรายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม. ให้ทราบภายใน 1 เดือน” นายชัย กล่าว

นายชัย กล่าวต่อว่า ระหว่างที่นายกฯ สั่งการข้อนี้ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร บอกว่าได้ไปที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและพบปัญหาเดียวกัน ขอเสนอในที่ประชุมว่า อย่าจำกัดแค่กาญจนบุรีโมเดล ขอขยายไปแม่ฮ่องสอนด้วย ทำให้นายกฯ เห็นชอบและสั่งการให้ทำแบบเดียวกันที่แม่ฮ่องสอนด้วย และถ้าจังหวัดอื่นมีความพร้อมก็ให้ทำไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ นายชัย ย้ำว่า ในการดำเนินงานตามข้อสั่งการนี้ให้ถือเป็น KPI การปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติด้วย

“หมายความว่าถ้าพิสูจน์สิทธิได้ล่าช้า ถือว่าผลงานไม่ดี ถ้าพิสูจน์ได้เร็วและชัดเจนและทำให้ประชาชนหมดปัญหาเร็ว ถือเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม” นายชัย กล่าว

ชวนหน่วยงานรัฐจัดกิจกรรมเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

นายชัย กล่าวต่อว่า ปีพุทธศักราช 2567 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสดังกล่าวแล้ว เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“นายกฯ ขอให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาจัดทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการหรือกิจกรรม โดยเสนอผ่านคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรม ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธาน และขอให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ เร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนได้รับทราบและร่วมแสดงความจงรักภักดีในปีมหามงคลนี้โดยทั่วกัน”นายชัย กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

กฟน.ปรับแผนจำหน่ายไฟฟ้าวงเงิน 7.3 หมื่นล้าน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตามแผนปรับปรุง และขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 (แผนฯ ฉบับที่ 12) (ฉบับปรับปรุง) วงเงินลงทุนรวม 73,086.90 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ในประเทศ จำนวน 46,800 ล้านบาท เงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 26,206.20 ล้านบาท และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล จำนวน 80.70 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 (โครงการฯ ระยะที่ 13) ส่วนที่ 1 วงเงินลงทุนรวม 7,403.50 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ในประเทศ จำนวน 5,600 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 1,803.50 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟน. อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฯ ฉบับที่ 12 วงเงินลงทุนรวม 84,694 ล้านบาท โดยใช้ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ฉบับเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งคาดว่าความต้องการไฟฟ้าในเขตบริการของ กฟน. พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม 3,192 ตารางกิโลเมตร จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,550 เมกะวัตต์ หรือมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.15 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง จึงทำให้ความต้องการไฟฟ้าในเขตพื้นที่ของ กฟน. มีค่าต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ประกอบกับบางโครงการที่ดำเนินการตามแผนฯ ฉบับที่ 12 ยังไม่แล้วเสร็จ

ดังนั้น กฟน. จึงดำเนินการจัดทำแผนฯ ฉบับที่ 12 (ฉบับปรับปรุง) โดยมีการปรับเป้าหมายของขอบเขตการดำเนินงาน เงินลงทุน และระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับปริมาณความต้องการไฟฟ้าที่ลดลง แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าของ กฟน.

นายคารม กล่าวต่อไปว่า การจัดทำโครงการฯ ระยะที่ 13 เพื่อให้การดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 – 2570 โดยโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าในช่วงปี 2565 – 2570 เพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าและเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ของ กฟน. ให้สามารถรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ รวมทั้งเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ “Innovation for Smart Living and Growth” ของ กฟน. ซึ่งเป็นการใช้ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าฉบับเดือนกันยายน 2564 ที่คาดว่าความต้องการไฟฟ้าในเขตบริการของ กฟน. จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,095.10 เมกะวัตต์ หรือมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.90 ต่อปี โดยโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 1 ประกอบด้วย (1) แผนงานพัฒนาระบบสถานีต้นทางและสถานีย่อย (2) แผนงานพัฒนาระบบสายส่งพลังไฟฟ้า

ตัดข้อสงวน 22 อนุสัญญา ฯสิทธิเด็กลี้ภัย

นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวม ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักกเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายคารม กล่าวว่า กสม ได้ติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการถอนข้อสงวนข้อ 22 เกี่ยวกับเรื่องสถานะของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อส่งเสริมการดำเนินการของประเทศไทยให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยการภาคยานุวัติเมื่อปี พ.ศ.2535 และได้ตั้งข้อสงวนไว้ 3 ข้อ เพื่อยกเว้นการดำเนินการตามบทบัญญัติของอนุสัญญาในข้อนั้น ได้แก่ 1) ข้อ 7 ว่าด้วยสถานะบุคคล 2) ข้อ 22 ว่าด้วยสถานะของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และ 3) ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา ต่อมาประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 29 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 และข้อ 7 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ปัจจุบันคงเหลือเพียงข้อสงวนข้อ 22 และถือเป็นรัฐภาคีประเทศสุดท้ายที่ยังคงข้อสงวนข้อนี้

“การที่ประเทศไทยยังคงข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ จะทำให้ถูกมองว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายดูแลเด็กผู้ลี้ภัย หรือ เด็กที่อยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเขตอำนาจของไทย ทำให้เด็กกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่นเด็กกลุ่มอื่นในประเทศ อันไม่สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ประเทศไทยควรถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยเร็ว เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ และยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัย และเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ โดยเฉพาะหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงหลักการไม่ผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตราย” นายคารม กล่าวย้ำ

เก็บค่าใบอนุญาตใช้น้ำท่องเที่ยว – อุตสาหกรรม

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ดังนี้

1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. ….
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้ประเภทที่สาม พ.ศ. …. และ
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. …. โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป

นายรัดเกล้า กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง มีดังนี้ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. …. ประกอบด้วย

1) กำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการช้ำน้ำในปริมาณเล็กน้อย 2) กำหนดลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า และการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการประปา ซึ่งมีอัตราการใช้น้ำบาดาลเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อ แต่ไม่เกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อ หรือ อัตราการใช้น้ำผิวเดินไม่เกิน 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และ 3) กำหนดลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่การใช้น้ำสาธารณะในปริมาณมาก ได้แก่ การใช้น้ำบาดาลเกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อ หรือการใช้น้ำผิวดินในแม่น้ำ ลำน้ำ คลองส่งน้ำ น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำเกิน 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน การใช้น้ำส่งที่อาจส่งผลให้สมดุลของทรัพยากรน้ำสาธารณะเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ คุณภาพของทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้น ระบบนิเวศหรือลุ่มน้ำอื่นต่อ ที่เกี่ยวข้อง และการใช้น้ำของการนิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือพื้นที่อื่นในลักษณะเดียวกัน

2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สอง และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. …. ประกอบด้วย 1) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยกำหนดให้ผู้ขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ได้รับการลดค่าธรรมเนียมกึ่งหนึ่งสำหรับกรณี การใช้น้ำสาธารณะใบการประกอบธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน การประกอบกิจการที่ต้องใช้น้ำสาธารณะเพื่อการอุปโภคบริโภคเนื่องจากไม่มีน้ำประปาให้บริการในพื้นที่ และการประกอบกิจการที่ต้องใช้น้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดให้ผู้ขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับกรณี 1) หน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชน (สามารถบริการประชาชนได้ 3,400 คนต่อวัน) ในพื้นที่ของตน เฉพาะกรณีประปาหมู่บ้านที่กำลังการผลิตไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง การผลิตน้ำดื่มสำหรับบริโภคในโรงเรียน และการใช้น้ำในโรงพยาบาลและ 2) การใช้น้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ของตนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร

3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ สำหรับการใช้น้ำประเภทที่สอง และการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. …. โดยให้กำหนดค่านิยามต่าง ๆ ได้แก่ ต้นทุนการจัดเก็บค่าใช้น้ำ ค่าใช้จ่ายเงินลงทุน ต้นทุนการอุปทานน้ำ ประสิทธิภาพการส่งน้ำ และเงินสำรองเพื่อการบรรเทาวิกฤตน้ำ รวมถึง กำหนดวิธีการคำนวณค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และการใช้น้ำประเภทที่ 3 ดังนี้ ค่าใช้น้ำ = อัตราค่าใช้น้ำ x ปริมาณน้ำที่ใช้ โดยสูตรการคำนวณค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และการใช้น้ำประเภทที่ 3 ประกอบด้วยปัจจัย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเก็บค่าใช้น้ำ ต้นทุนการอุปทานน้ำ เงินสำรองสำหรับการบรรเทาวิกฤตน้ำเมื่อมีการขาดแคลนปริมาณการใช้น้ำของผู้ใช้ที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน ประสิทธิภาพการส่งน้ำ และปริมาณอุปทานน้ำทั้งหมดทั้งนี้ ให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หรือกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดอัตราค่าใช้น้ำที่แตกต่างกันได้ลักษณะเฉพาะของทรัพยากรน้ำสาธารณะ และอัตราค่าใช้น้ำสำหรับน้ำบาดาลจะต่ำกว่าอัตราค่าใช้น้ำผิวดินไม่ได้ และให้ทบทวนอัตราค่าใช้น้ำทุก 5 ปี

“ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว 3 ฉบับ กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ การใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ รวมทั้งอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ไม่ให้ใช้กับน้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล (มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฯ) เนื่องจากมีการกำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2556) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 แล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมการใช้น้ำบาดาลและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแหล่งน้ำบาดาล” นางรัดเกล้า กล่าว

ไฟเขียว “Coding for Better Life” ผลิตบุคลากรดิจิทัล

นางรัดเกล้า กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เน้นย้ำนโยบายปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียน และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตร และให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (9 มกราคม 2567) ได้รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ได้ดำเนินโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเร่งด่วนดังกล่าว โดยขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างยั่งยืน ซึ่งในแผนงานระยะสั้น ดศ. ได้ดำเนินการ Global Digital Talent Visa หรือการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว กรณีพิเศษสำหรับผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนสามารถเข้ามาพำนัก และทำงานในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ส่วนแผนงานระยะยาว ดศ. ได้เตรียมแผนงานที่จะรองรับ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้และทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนไทยทุกกลุ่มและทุกระดับ ตั้งแต่เด็กและเยาวชน ที่ต้องมีความรู้พื้นฐานด้าน Coding แรงงานต้องได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลชั้นสูง อาทิ AI, Machine Learning, Internet of Things และ Cloud Computing Software

โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ดำเนินการใน 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

1. การยกระดับห้องเรียนโค้ดดิ้ง (Develop Coding Infrastructure) โดยตั้งเป้าดำเนินการในโรงเรียนทั่วประเทศรวม 1,500 แห่ง โดยเปิดกว้างให้โรงเรียนที่สนใจและมีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการในรูปแบบร่วมมือพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง

2. การจัดทำหลักสูตรโค้ดดิ้ง พร้อมเสริมทักษะการสอนแก่คุณครู (Coding Coach Incubation) Re-Skill Up-skill คุณครูสู่การเป็น Coding Coach โดยตั้งเป้าเสริมทักษะการสอนแก่ครูไม่น้อยกว่า 3,000 คน เพื่อเป็นบุคลากรสำคัญที่จะถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียน ซึ่งคาดว่าจะสามารถยกระดับทักษะโค้ดดิ้งให้กับนักเรียนได้ไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อปี

3. การเสริมทักษะโค้ดดิ้งเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Acceleration Through Coding Challenge) โดยส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการระดมครูผู้สอนและนักเรียนร่วมเติมทักษะโค้ดดิ้งเข้มข้นผ่าน 2 กิจกรรม ได้แก่

  • Coding Bootcamp สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะโค้ดดิ้งผ่านการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมสร้างสรรค์ผลงานโค้ดดิ้ง
  • Coding War เวทีการแข่งขันโค้ดดิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นร่วมระดมความคิด สร้างสรรค์ผลงานเพื่อก้าวสู่การเป็นสุดยอดทีมโค้ดดิ้ง

4. การสร้างความตระหนักรู้ด้านโค้ดดิ้งและการประยุกต์ใช้จริงแก่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป (Awareness Coding Thailand) เพื่อต่อยอดการนำความรู้และทักษะด้านโค้ดดิ้งมาใช้ในบริบทต่าง ๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม การดำเนินธุรกิจ ฯลฯ พร้อมลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง Coding เปิดโอกาสผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้พิการทางร่างกายที่ความสนใจ ให้สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนโค้ดดิ้งได้

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับแรงกระแทกของอุตสาหกรรมโลกใหม่ผ่านการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล รองรับความต้องการของประเทศ

ตั้งบอร์ด “กฟน.-กฟภ.-กปน.กปภ.”

นายชัย กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาวสุดท้าย ชัยจันทึก ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการบัญชี) สูง] กองตรวจสอบภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบบัญชี (นักบัญชีทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นางสาวฉวี วงศประสิทธิพร ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) กองนโยบายและแผนแม่บท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายสมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จำนวน 6 คน ดังนี้

1) ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
2) นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชี
3) นายสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารธุรกิจ
4) นายประกิด บุณยัษฐิติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารธุรกิจ
5) นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน
6) นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประกันภัย

2. กำหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน คปภ. เป็นต้นไป

5. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียน และทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 9 ราย ดังนี้

1. นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ
2. นายวรัท พฤกษาทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
3. นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
4. นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5. นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6. ว่าที่ร้อยตรี เจษฎาภรณ์ พรหนองแสน ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 17 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
7. นายชูสิน วรเดช ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 6 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
8. นายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
9. นายนิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

6. ขออนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 1 คน และเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 13 คน (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ จำนวน 7 คน) และแต่งตั้ง นายพนิต ธีรภาพวงศ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และให้คณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามความในตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ มาตรา 6 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ประกอบด้วยประธานกรรมการ จำนวน 1 คน และกรรมการอื่น จำนวน 14 คน (รวมผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) ดังนี้

1. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ประธานกรรมการ
2. นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ กรรมการ
3. รองศาสตราจารย์ธีร เจียศิริพงษ์กุล กรรมการ
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์ กีรติวินทกร กรรมการ
5. นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช กรรมการ
6. พลโท อดุลย์ บุญธรรมเจริญ กรรมการ
7. นายกรณินทร์ กาญจโนมัย กรรมการ
8. พลตำรวจโท สำราญ นวลมา กรรมการ
9. นายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการ
10. นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ กรรมการ
11. นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต กรรมการ
12. ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช กรรมการ
13. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดิลก ภิยโยทัย กรรมการ
14. นายพนิต ธีรภาพวงศ์ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

7. ขออนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรายชื่อบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 1 คน และเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 13 คน (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อฯ 9 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ จำนวน 7 คน) และแต่งตั้ง นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงและให้คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงมีกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 6 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ประกอบด้วย ประธานกรรมการ จำนวน 1 คน และกรรมการอื่น จำนวน 14 คน (รวมผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) ดังนี้

1. นายขจร ศรีชวโนทัย ประธานกรรมการ
2. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ กรรมการ
3. นายสนิท ขาวสอาด กรรมการ
4. พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ กรรมการ
5. นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล กรรมการ
6. พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง กรรมการ
7. ศาสตราจารย์วีรกร อ่องสกุล กรรมการ
8. ศาสตราจารย์ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ กรรมการ
9. รองศาสตราจารย์รังสรรค์ วงศ์สรรค์ กรรมการ
10. นางสาวเพียงออ เลาหะวิไลย กรรมการ
11. รองศาสตราจารย์จิรพล สังข์โพธิ์ กรรมการ
12. รองศาสตราจารย์อัศม์เดช วานิชชินชัย กรรมการ
13. นายชยกฤต อัศวธิตานนท์ กรรมการ
14. นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

8. แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 1 คน และเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 7 คน (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ จํานวน 3 คน) และแต่งตั้ง นางสาวศุกร์ศิริ อภิญญานุวัฒน์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการอื่น ในคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค และให้คณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาคมีกรรมการจำนวน 11 คน ตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 ประกอบกับมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย ประธานกรรมการ จำนวน 1 คน กรรมการอื่น จำนวน 7 คน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมอนามัย และผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ดังนี้

1. นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ
2. พลโท พิเชษฐ คงศรี กรรมการ
3. นายเผ่าภัค ศิริสุข กรรมการ
4. นางปาณิสรา ดวงสอดศรี กรรมการ
5. พลอากาศตรี นิพนธ์ โพธิ์เจริญ กรรมการ
6. นายปริญญา แสงสุวรรณ กรรมการ
7. นายพีระพันธ์ เหมะรัต กรรมการ
8. นางสาวศุกร์ศิริ อภิญญานุวัฒน์ กรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

9. แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง (กปน.)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการการประปานครหลวง จำนวน 1 คน และเป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง จำนวน 13 คน (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 9 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ จํานวน 7 คน) และแต่งตั้ง นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง และให้คณะกรรมการการประปานครหลวงมีกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ มาตรา 6 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ประกอบด้วย ประธานกรรมการ จำนวน 1 คน และกรรมการอื่น จำนวน 14 คน (รวมผู้ว่าการการประปานครหลวงเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) ดังนี้

1. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ประธานกรรมการ
2. นายโชตินรินทร์ เกิดสม กรรมการ
3. พลโท สุเมธ พรหมตรุษ กรรมการ
4. นายชูชาติ รักจิตร กรรมการ
5. นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ กรรมการ
6. นายสนิท ขาวสอาด กรรมการ
7. ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล กรรมการ
8. นางสาวเพียงออ เลาหะวิไลย กรรมการ
9. นายนิทัศน์ มณีศิลาสันต์ กรรมการ
10. พลตำรวจโท กฤษฎา กาญจนอลงกรณ์ กรรมการ
11. รองศาตราจารย์ชัยวัฒน์ อุตตมากร กรรมการ
12. นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการ
13. นายชัยทัต แซ่ตั้ง กรรมการ
14. นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย กรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

10. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 4 (6) แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่ง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอการแต่งตั้งนางเนตรนภิส สุชนวนิช เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 4 (6) แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 9 มกราคม 2567 เพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0