นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี( ครม.) เป็นที่เรียบร้อย อยู่ในระหว่างการตรวจสอบขั้นสุดท้ายของสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศ ในพระราชกิจจานุเบกษา เพื่อผลบังคับใช้ภายในสิ้นเดือน มี.ค. ล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจากที่ผ่านมาทางสถานทูตสหรัฐฯ ได้ส่งหนังสือแสดงความกังวลและข้อห่วงใย ว่าร่าง พ.ร. ก. พระราชกำหนดดังกล่าว ที่จะบังคับให้แพลตฟอร์มดิจิทัล มีส่วนร่วมรับผิดชอบความสียหายด้วยนั้น จะกระทบการดำเนินธุรกิจของ แพลตฟอร์มเทคโนโลยี ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ที่ให้บริการกับประชาชนในประเทศไทยด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทางสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ก็มีการแสดงความกังวลเช่นกัน แต่ กระทรวงดีอี ได้ชี้แจงถึงข้อมูล ใน พ.ร. ก. พระราชกำหนดดังกล่าว แล้ว นอกจากนี้ จะมีการเชิญ ทางผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการมือถือ มาประชุมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจถึงข้อกฎหมายภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรับผิดชอบ หากผู้ประกอบการปฎิบัติตามกฎหมาย และขั้นตอนต่างๆ กำหนดแล้ว ก็ไม่ต้องกังวล โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทบอะไร และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องนำไปปรับแก้ไขร่างฯ ซี่งเป็นอำนาจของรัฐบาลที่ต้องเร่งกำหนดมาตรการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่กระทบกับประชาชนให้เร็ว ด้วยการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับ เนื้อหาสาระของร่างพระราชกำหนด ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ จนกว่าจะมีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ก่อน เนื่องจากอาจมีแรงต้านมากจนกระทบกับความเร่งด่วนที่ต้องรีบประกาศใช้ แต่ยืนยันว่าตามหลักการของกฎหมาย ไม่ได้ส่งผลกระบต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นสิ่งที่บริษัทหรือผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว หากทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่ต้องร่วมรับผิด อย่างเช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลอาชญากรรม บัญชีม้า และอื่นๆ หากมีการส่งข้อมูลให้หน่วยงานรัฐตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่า มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตัวเลขจากศูนย์ เอโอซี 1441 ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีจำนวนลดลง โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา มีความเสียหาย 33 ล้านบาท จากเดิมที่มีความเสียหายกว่า 80 - 100 ล้านบาท ต่อวัน