หากมีใครสักคนมาบอกว่าเราเป็นคนที่มีความคิดขวางโลก เราก็คงจะรู้สึกไม่พอใจเท่าไหร่ แต่สำหรับ 'สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก' หรือ 'ศุ บุญเลี้ยง' กลับยินยอมที่จะถูกมองเช่นนั้น นั่นเพราะการขวางโลกในแบบสมจุ้ยแตกต่างจากคนอื่น เพราะมันเป็นการขวางโลกในโลกที่น่าขวาง
ทำไมต้อง ‘สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก’
'เวลาเขียนก็ต้องมีนามปากกาใช่ไหม เป็นค่านิยม ถ้าเป็นนักมวยก็คงไม่อยากใช้ชื่อจริงต่อย เป็นนักเขียนก็ควรมีนามปากกา แต่นามปากกานี่คิดยากมากถึงมากที่สุด ก็เลยเอาชื่อที่มีคนล้อ ๆ มาใช้เป็นคำว่า ‘สมจุ้ย’ ส่วน ‘เจตนาน่าสนุกนี่’ มาเพราะสมจุ้ยมันสั้นไป เลยกลายเป็น สมจุ้ย เจตนาฯ ก่อน หรือบอกไปเลยดีไหมว่าเจตนาฯ อะไร เจตนาน่าสนุก น่าจะเป็นที่มาที่ไปที่ไม่ได้ใช้เหตุผลมาก ใช้อารมณ์กับสัญชาตญาณช่วงที่จะส่งต้นฉบับ ใช้มาตั้งแต่เริ่มต้นเขียนหนังสือเลย'
เมื่อถามถึงตัวตนของ สมจุ้ย กับ ศุ บุญเลี้ยง ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันยังไง เราก็ได้รับคำตอบที่ชัดเจนมากว่า ‘สมจุ้ยคือกวนตีน’ แล้ว ศุ บุญเลี้ยงไม่ได้กวนตีน? ‘กวนตีนเหมือนกัน!’ (หัวเราะ)
‘ไม่หรอก ศุ บุญเลี้ยงน่าจะจริงจัง พระเอกกว่า เป็นผู้ใหญ่กว่า มีวุฒิภาวะมากกว่า ส่วนสมจุ้ยน่าจะเป็นเด็กกว่า ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรสูง แค่เจตนาน่าสนุกก็เอาแล้ว ขำ ๆ’
ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมานักต่อนักว่า สมจุ้ย เป็นคนชอบขวางโลก คิดอะไรไม่ค่อยเหมือนคนอื่น เราจึงอยากรู้ว่าแล้วจริง ๆ วิธีการมองโลกของสมจุ้ยเป็นยังไง ซึ่งคำตอบที่ได้น่าสนใจมากทีเดียว ‘เอาเรื่องการมองโลกเหมือนคนอื่นก่อนนะ ไม่รู้คนอื่นมองยังไง แต่ว่าเราคิดว่าที่เรามองนี่เป็นเหตุเป็นผล สมมติว่าเราใช้ปิ่นโต เพราะเราไม่อยากใช้ถุงพลาสติก เกิดจากที่เรามองว่าถุงพลาสติกมันลดทอนได้ ทีนี้พอเราจะหิ้วปิ่นโตขึ้นมา แต่คนอื่นไม่หิ้วกัน เราก็เลยแปลก ไม่ได้ทำเหมือนที่คนอื่นทำ เราก็เลยดูขวางโลก แต่จริง ๆ เราเห็นว่าโลกที่คนอื่นทำ มันน่าขวาง เราก็ขวางเลย เข้าใจใช่ไหม คือทิศทางมันไม่พอดีกับกระแสหลัก จริง ๆ แล้วโลกมันต้องไปแบบที่เราทำนี่แหละ อันนี้เป็นความเชื่อเรา แต่คนอื่นไม่ทำเยอะ หรือทำเหมือนกันเยอะ เช่น คนไปโรงเรียนเยอะ คนเชื่อฟังครูเยอะ คนที่ไม่ไปโรงเรียนก็เลยกลายเป็นคนขวางโลก คนที่ไม่เชื่อครูก็กลายเป็นคนที่ขวางโลก แต่ไม่ได้แปลว่าคนที่ไม่เชื่อครูจะต้องผิดไง ถ้ามันมีเหตุมีผลกว่า ก็ต้องไม่เชื่อครู ครูให้ทำอะไรโง่ ๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องทำ’
สมจุ้ยเล่าต่อว่า เมื่อตอนเป็นนักศึกษา จะมีประเพณีบูมขอตังรุ่นพี่ในวันรับปริญญา สมจุ้ยก็ไม่ทำแบบนั้น เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ ‘ไม่สมควรจะทำ’ และ ‘ไม่คู่ควรจะทำ’
‘เมื่อก่อนตอนเรียนที่จุฬาฯ เวลารุ่นพี่รับปริญญาก็จะมีรุ่นน้องมาบูมขอตัง ทีนี้เขาก็จะให้เราไปบูมขอตัง เราก็ไม่ไป คนอื่นก็ไปกัน ที่เราไม่ไป เพราะเราไม่อยากทำ รุ่นพี่มารับปริญญา ทำไมต้องมาจ่ายตังให้เรา เราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่สมควรจะทำ และไม่คู่ควรที่เราจะทำด้วย หลังจากนั้นมา ไม่แน่ใจว่ากี่ปี จุฬาฯ ก็เริ่มออกกฎว่า อย่าไปทำแบบนั้นกับรุ่นพี่ ถามว่าใครขวางโลก? เราทำสิ่งที่มันน่าทำ ถึงเราไม่ไปขอตังพี่ แล้วเราไปทำอะไร เราก็เอาบัตร ตั๋วหนัง ไปขายตามบริษัท เพื่อเอาเงินมาช่วยชมรม มันก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่หาเงินใช่ไหม แต่เราใช้วิธีอื่นที่เราคิดว่าพอเหมาะพอดีกว่าเท่านั้นเอง เราก็เอาเงินที่ได้ไปทำหนัง ทำละคร ทำเพลง เราไม่มาเต้นไก่ย่างถูกเผา (หัวเราะ) เขาก็ว่าเราขวางโลก ก็ไม่เป็นไร’
การมองโลกแบบสมจุ้ย เจตนาน่าสนุก มีอิทธิพลต่องานเขียนยังไงบ้าง
‘วิธีที่เรามอง เราก็รู้สึกว่า มองให้เห็นแก่นของเรื่องจริง ๆ ไม่ใช่เห็นมิติเดียว พอเรามองละเอียด มองแบบมีที่มาที่ไป มองในอีกมุมนึงบ้าง แทนที่จะด่วนสรุป เราก็ได้รู้ว่ายังมีมุมนี้ให้คิดนะ เอาวิธีมองมาเป็นวิธีเขียน’
งานเขียนใน THINK TODAY การนำเรื่อง ‘ป้าย ๆ’ มาเขียนมีที่มาที่มายังไง
‘หนึ่งก็คือ เราต้องเขียนในสื่อที่เราไม่คุ้นเคย สำหรับเราเอง เราไม่ได้เสพการอ่านจากออนไลน์ อ่านแหละ แต่ไม่ได้เสพ เรายังเสพหนังสือเล่มอยู่
แล้วเราฟังมาว่า ผู้อ่านอยากอยู่หน้าจอนาน แต่ผู้อ่านไม่อยากจะอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนาน ๆ ก็เลยคิดว่าจะเขียนอะไรดีแบบสั้น ๆ เพราะสั้น ๆ มันเขียนยากเหมือนกันนะ ดังนั้นก็ควรจะมีอะไรสักหน่อย ไม่ใช่สักแต่ว่าเขียนสั้น พอคิดแบบนั้นเราก็นึกถึงรูป เพราะว่าผู้อ่านได้ดูภาพไปด้วย แล้วไม่ได้คิดว่ามันเป็นแค่รูปประกอบ แต่ให้มันเป็นรูปนำเรื่องไปเลย แล้วด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านตัวอักษร เราก็เห็นตัวอักษรที่มันแปลก ๆ วิธีเขียนมันผิดเพี้ยนหรือแปลก ๆ อยู่ตลอดเวลา พอเราจะทำคอลัมน์เลยคิดว่า อะไรที่เราสนใจจริงจัง เพราะว่าจะต้องเขียนทุกสัปดาห์ แล้วก็อะไรที่ผู้อ่านสนใจร่วม เราคิดได้ดังนั้นก็เอาอันนี้แหละ’
ฟีดแบคเป็นยังไงบ้าง
‘ผู้อ่านก็เก็ตบ้างไม่เก็ตบ้าง’
เวลามีคนไม่เก็ตมุก รู้สึกยังไง
‘(หัวเราะ) รู้สึกตลกดี โดนด่าอะไรงี้ บางคนก็ไม่ได้เก็ตตั้งแต่อันแรกนะ บางคนอ่านไป 3-4 ชิ้น ถึงเพิ่งบอกว่า อ๋อเก็ตแล้ว! คำว่า get นี่มันดีกว่า understand อีกนะ มันแปลว่าเขาต้องขบคิด ตีความอะไรบางอย่าง แล้วก็ถึงบางอ้อขึ้นมา รู้สึกดีมากเลยนะเวลาผู้อ่านเก็ต’
หากให้นิยามงานเขียนสไตล์สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก จะเป็นแบบไหน
‘Satire ไม่ใช่ขำขัน แต่เป็นเสียดสี จิกกัด ไม่ได้เอาเรื่องตลกมาเล่าให้ฟังตรง ๆ แต่เป็นแนวเสียดสีมากกว่า’
สมจุ้ยทำงานหลายบทบาท ทั้งเป็นวิทยากวน( วิทยากรในแบบสมจุ้ย) นักเขียน นักดนตรี ชอบบทบาทไหนที่สุด
‘ชอบเป็นนักเขียนที่สุด มันถูกกับนิสัย เพราะว่าเป็นคนตื่นเช้ามาก ตี 4 ตี 5 ถามหน่อยถ้าไม่เป็นนักเขียนจะไปทำอาชีพอะไร ตี 4 นี่ยังออกกำลังกายไม่ได้เลยนะ ตื่นมาวิ่งไม่ได้เลย มันเช้าเกินไป แต่เราตื่นแล้วเราก็เขียนหนังสือได้เลย สมองทำงานก็ทำได้เลย แล้วก็ใส่ชุดอะไรก็ได้ ไม่เหมือนอาชีพอื่น นักเขียนมันเขียนตอนไหนก็ได้ น่าจะเหมาะกับนิสัยตัวเองที่สุด’
ในฐานะที่เป็นนักเขียนผู้คร่ำหวอดในวงการมานาน คิดว่างานเขียนในอดีตกับปัจจุบันต่างกันมากน้อยแค่ไหน
‘แค่รู้สึกว่าโลกมันมียุคสมัยของมัน แล้วคนที่เคยหัวก้าวหน้า ก็พร้อมที่จะกลายเป็นคนตกยุค หรือปรับตัวไปกับโลกไม่ได้ หรือมีความคิดที่ยึดติดกับโลกเก่า ๆ วิธีคิดเดิม ๆ มากกว่า แค่กังวลว่าเราจะเป็นคน out หรือเปล่า แต่ไม่ได้คิดว่างานเขียนมันจะแตกต่างกันแบบตายตัว ไม่มีว่าเขียนแบบใหม่ต้องเป็นแบบนี้เขียนแบบเก่าต้องเป็นแบบนั้น '
'ถ้าจะว่าไปก็มีเรื่องที่น่าสนใจในชีวิตมากขึ้นดีกว่า แต่ถ้าเรื่องนั้นมันน่าสนใจจริง เราก็ยินดีที่จะอยู่กับมัน เช่น ทำไมนิยายบางเรื่องหนา แต่มีคนอ่านอยู่ แต่เวลาเราพูดถึงคน มันก็มีหลายคนใช่ไหม คนสมัยนี้ก็มีเป็นร้อยเป็นพันแบบ เราไม่รู้ว่าจะใช้ใครเป็นตัวอ้างอิง แต่สมมติว่าเราตั้งนิยามว่า เด็ก ๆ ไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ถามว่าแฮร์รี่พอตเตอร์ยาวไหม แล้วเด็กหรือเปล่า ทำไมมันจึงไม่อยู่ในทฤษฎีอันนี้ แต่จะว่าเด็กชอบอ่านอะไรยาว ๆ เด็กคงชอบอะไรยาว ๆ ที่เด็กชอบ แต่ถ้าไม่ยาว ก็ชอบได้ สรุปว่าประเด็นที่สำคัญ ก็คือว่า ทำไงให้งานเขียนมีความร่วมสมัย อันนี้น่าสนใจ คือมันมีงานที่ดี แต่ไม่ร่วมสมัย ไม่เหมาะกับยุคสมัย หรือมีคนดีบางคนที่ตกยุค ซึ่งคนเหล่านี้เคยมีความคิดก้าวหน้ามาก่อน อันนี้แหละที่เราสนใจ’
อาชีพนักเขียนให้อะไรกับสมจุ้ย
‘หนึ่งคือเป็นอาชีพที่มีคุณค่าในตัวมัน สองเป็นอาชีพที่มีรายได้ มีชื่อเสียง มีราคา ถูกกับนิสัยเราด้วย คือเราเป็นคนชอบอ่าน เลยรู้สึกว่ายิ่งได้คิดได้เขียน มันก็ยิ่งสนุก ยิ่งท้าทาย ยิ่งอยากทำให้ดี ผู้อ่านเหมือนได้รับสารอาหาร ได้รับความบันเทิง ได้เสพงานเรา ก็รู้สึกว่ามีคุณค่า ส่วนตัวเราก็ เชื่อว่างานเขียนมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงผู้คนและสังคมได้ แต่เป็นอำนาจที่มองเห็นไม่ชัดเจน ในความเป็นจริงมันได้ทำหน้าที่นั้นอยู่ เหมือนหมอศัลยกรรม นักเขียนก็เหมือนศัลยกรรมความคิดและจิตใจของผู้คน’
รู้สึกยังไงตอนได้รับการติดต่อให้มาเป็นนักเขียนประจำคอลัมน์ THINK TODAY
‘มันทำให้ความเชื่อของเราชัดเจนขึ้นว่า งานเขียนยังเป็นที่ต้องการอยู่ เพียงแต่แปรรูปไปอยู่ที่ไหนเท่านั้นเอง สองแล้วตื่นเต้นว่า เขาเลือกเราด้วยเหรอ (หัวเราะ) ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก ทำไมหนึ่งในนั้นเป็นเรา เพราะว่าเราไม่ได้มีรางวัลการันตี เราไม่ได้อยู่ในเทรนด์เหมือนคนอื่น รู้สึกแบบนั้น รู้สึกดีนะที่เรายังอยู่ในความสนใจอยู่’
อยากเขียนอะไรให้ผู้อ่าน อ่านใน THINK TODAY
‘ความตั้งใจแรกอยากเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับตรรกะวิทยา หมายความว่า ความเป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์มันได้บิดเบี้ยวไป แล้วเราอยากคืนความเป็นเหตุเป็นผลกลับมาสู่ระบบความคิดของผู้คน แต่ว่าน่าจะเป็นงานที่ใช้พื้นที่เยอะ และคนอ่านอาจจะต้องใช้กำลังในการอ่านเยอะ ตอนแรกอยากเขียนแบบนั้น แต่พอเป็นแบบปัจจุบันก็โอเค ฟีดแบคก็ดี คนตามมาอ่าน’
วางแผนงานเขียนของตัวเองในอนาคตไว้ยังไง
‘ตั้งใจว่าจะเขียนนิยายให้ได้ 1 เรื่อง แล้วก็เขียนบทหนังให้ได้ 1 เรื่องด้วย ตอนนี้นิยายเขียนไป 3 ตอนแล้ว ตอนที่ 4 ยังไม่มีสมาธิเขียนเลย ช่วงนี้เดินทางบ่อย ภาพตัวละครในหัวมันเลยไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ ถ้าสมาธิดี มันจะพาเรื่องราวไปเอง มันยากง่ายคนละแบบกับงานเขียนที่เคยเขียน’
หากเราสามารถคิดให้แตก คิดให้ต่าง แบบที่ 'สมจุ้ย' เป็นอยู่ โลกเราคงมีมุมมองที่หลากหลาย สร้างสรรค์ และ 'น่าสนุก' มากขึ้นไม่น้อย
ติดตามงานเขียนของ สมจุ้ย เจตนาน่าสนุกได้ที่ THINK TODAY
ความเห็น 9
MA💚
ชอบพี่ศุมาก อ่านหนังสือพี่แกมาตั้งแต่อยู่มัธยม
ชอบเพลงที่พี่แกร้อง แถมต้นฉบับเพลงอิ่มอุ่นก็ผลงานของพี่ศุ พรสวรรค์พี่แกเยอะจริง ๆ
21 ก.ย 2561 เวลา 12.19 น.
ApPle_🙉🙈🙊
ดีใจที่คุณศุ กลับมาเขียนอีก 😘😘😘
21 ก.ย 2561 เวลา 12.49 น.
Pear
รอติดตามนิยาย และบทหนังของพี่ค่ะ 🙂
21 ก.ย 2561 เวลา 02.43 น.
P >^.^< R
ติดตามอ่านบทความสมจุ้ยในline today อยู่ค่ะ
บางเรื่องก็ไม่get _พออ่านบทความนี้แล้วเข้าใจเลย
21 ก.ย 2561 เวลา 01.24 น.
Aoy
ตามอ่านตลอดค่ะ
21 ก.ย 2561 เวลา 07.08 น.
ดูทั้งหมด