โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จากผู้ถูกกระทำสู่บทบาทผู้ส่งเสียง: 2 เพจจากหญิงเก่งเพื่อการเปลี่ยนแปลงความไม่เท่าเทียมทางเพศ

LINE TODAY

เผยแพร่ 31 พ.ค. 2564 เวลา 17.00 น. • Pannaput J.

You must never be fearful about what you are doing when it is right
คุณไม่จำเป็นต้องกลัวในสิ่งที่คุณทำเลย หากมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 

ประโยคของ “โรซา ปาร์ค” ผู้ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกร้องความเท่าเทียมกันที่เรียกว่า Montgomery Bus Boycott ในสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายให้เกิดความเท่าเทียมในทุกด้าน ๆ ของคนผิวสีกับคนผิวขาว  

LINE TODAY ขอพาไปพบกับ “ผู้หญิง” ที่มีความตั้งใจอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยเน้นการส่งต่อความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงรากของปัญหา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น  

ด้วยจุดเริ่มต้นจากความต้องการให้ความรู้สังคม  จนถึงการส่งต่อเรื่องราวของตัวเอง จากผู้ถูกกระทำสู่บทบาทผู้นำความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาจากราก นี่เป็นที่มาของการตั้งเพจ Thaiconsent และ SHero โดยสองสตรีนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย 

++++++++++++++++++++++++++++++

“จริงๆ เราก็เคยเจอ ตอนที่ตัวเองอยู่ปี 1 ปี 2 แล้วไปปาร์ตี้บ้านเพื่อน แล้วพี่เจ้าของบ้านที่สนิทกันมาก รู้จักกันมาประมาณ 7-8 ปี ตอนนั้นเราเมา เขาก็อุ้มเราขึ้นห้อง แต่ไม่ได้จะส่งไปนอน แม่งแบบจะข่มขืนเรา แต่ตอนนั้นเราอายุ 19-20 ปี และไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร เพราะว่าหนึ่งเราเมา สองเรารู้จักกัน แต่เราก็บอกเขาแล้วว่าเราไม่ ซึ่งตอนนั้นที่เราอายุ 20 เราไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเรียกว่าข่มขืนได้หรือเปล่า เพราะว่ามันไม่เหมือนกับการข่มขืนที่เราเห็นในข่าว ว่าต้องเป็นคนแปลกหน้า กระทำกัน ฉุดเข้าป่า อะไรแบบนี้….” 

จากประสบการณ์ส่วนตัว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “นานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง” เจ้าของเพจ Thaiconsent หญิงสาววัย 26 ปี ผู้ริเริ่มเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศด้วยการให้ความรู้ผ่านบล็อก เพื่อส่งต่อความเข้าใจเรื่อง “Consent” หรือ “ยินยอมพร้อมใจ” ให้กับสังคม เพราะนานาเชื่อว่าหากสังคมมีความเข้าใจในเรื่องนี้ จะช่วยให้ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศนั้นลดลง โดยนานาเองได้เริ่มจากการใช้คำง่ายๆ อย่าง Unfair Sex และ Fair Sex เพื่อให้สังคมเข้าใจง่ายๆ ก่อน อีกทั้งยังเลือกบทความที่คนไทยควรรู้ โดยแปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยได้อ่าน และต่อยอดด้วยการสร้างเพจ Thaiconsent ขึ้นในปี 2017 เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน และส่งต่อเรื่องราวของผู้ถูกกระทำสู่สังคมในวงกว้าง 

“เราอยากให้คนนึกภาพออกว่าอะไรทำให้ผู้หญิงลำบากใจที่จะ Say No เพราะว่าเราดีเบทมาเยอะ และพบว่าคนไม่เข้าใจว่า การพูดว่า “ไม่” มันยาก เราอยากให้เพจเราเป็นเพจที่ทำให้คนเห็นว่าการคุกคามที่เกิดขึ้น เสียงมันไม่ได้ดัง มันเป็นการคุกคามที่เงียบ เพราะว่ามันกดให้เหยื่อให้กลัวที่จะพูด กลัวที่จะแสดงออก เราอยากให้คนเห็น “ความยาก” ตรงนั้น”
“เราอยากให้คนนึกภาพออกว่าอะไรทำให้ผู้หญิงลำบากใจที่จะ Say No เพราะว่าเราดีเบทมาเยอะ และพบว่าคนไม่เข้าใจว่า การพูดว่า “ไม่” มันยาก เราอยากให้เพจเราเป็นเพจที่ทำให้คนเห็นว่าการคุกคามที่เกิดขึ้น เสียงมันไม่ได้ดัง มันเป็นการคุกคามที่เงียบ เพราะว่ามันกดให้เหยื่อให้กลัวที่จะพูด กลัวที่จะแสดงออก เราอยากให้คนเห็น “ความยาก” ตรงนั้น”

และด้วยความรักในศิลปะของนานา จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการวาดภาพประกอบให้กับเรื่องเล่าต่างๆ ที่แฟนเพจส่งเข้ามา โดยนานามองว่าศิลปะนั้นช่วยทำให้คนมองประเด็นปัญหานี้ด้วยสายตาใหม่ อีกทั้งนานายังต่อยอดภาพวาดในเพจที่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงศิลปะ นำไปจัดเป็นนิทรรศการ รวมไปถึงความใฝ่ฝันที่อยากตีพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กเพื่อส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ให้ถึงผู้คนในวงกว้างมากขึ้น 

ภาพประกอบการเล่าเรื่องจากเพจ Thaiconsent
ภาพประกอบการเล่าเรื่องจากเพจ Thaiconsent
Thaiconsent Arts sExhibition 2018
Thaiconsent Arts sExhibition 2018

“ศิลปะทำให้คนมองด้วยสายตาใหม่ เมื่อก่อนจะเวลาเราเล่าเรื่องพวกนี้ จะเป็นแนวดราม่า ทำให้เร้าอารมณ์ แต่ของจริงมันเงียบ เลยอยากให้อาร์ทเล่าแทน ไม่งั้นสังคมจะไม่นับเรื่องที่ไม่กรีดร้อง”

หากมีคนเข้าใจมากขึ้น ก็จะมีคนช่วยพูด ซึ่งสิ่งนี้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้แก่สังคม และต่อตัวของนานาเองด้วย “ต้องมีคนที่เข้าใจเยอะๆ ก่อน จะได้ช่วยกันพูด เป็นเหมือน community สำหรับคนที่เจอมา แม้ว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับผู้หญิง แต่เพราะเพจเรา มันเลยมีแต่ผู้หญิง แต่ว่าในความป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ในผู้ชายมันเงียบกว่าเรื่องของผู้หญิงอีก เพราะผู้ชายเมื่อเล่าเรื่องแบบนี้ไปมันก็จะเอาความจริงจังจากคนฟังไม่ได้ หรือความกล้าที่จะเล่าก็ไม่ค่อยมี ฝั่งคนที่ทำ และมาสารภาพก็ยังไม่ค่อยพบ ซึ่งบางทีเขาก็รู้สึกผิด แต่ไม่รู้ว่าจะยังไงต่อ เขาไม่รู้จะทำไง จะไถ่โทษยังไง จะคุย จะเริ่มยังไง ก็งงๆ ว่าจะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้ บางคนก็กลัวว่าถ้าเปิดเผยตัวว่าทำก็เดี๋ยวจะโดนถล่ม นี่ถือเป็นสิ่งที่ยากเหมือนกัน”  

และสำหรับตัวนานาเอง ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นกัน เธอมองว่าการยอมรับตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ และการแก้ปัญหาที่แท้จริงควรถอดถอนจากสาเหตุ และการต่อสู้นี้ เป็นเหมือนการรักษาใจของเธอไปด้วย “ตอนแรกๆ ที่มาสัมภาษณ์เราก็จะยังไม่เล่านะว่าเราเป็นคนที่เคยเจอ แต่ทำมาสักพักก็ถึงจุดที่ว่าเราเล่าเรื่องคนอื่นมาเยอะแล้ว เล่าเรื่องตัวเองก็ได้ อย่างแรกคือได้ฮีลตัวเอง เพราะว่ามันคือการแก้แค้นที่ราก ไม่ได้เอาผิดกับคน แต่ถอดถอนที่สาเหตุของมัน คือเรารู้สึกว่ามันเป็นฮีลลิ่ง และเป็นการต่อสู้ในรูปแบบของเรา เพราะว่าเราก็คิดว่าคนที่ทำเราก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแบบนั้น แต่บังเอิญที่ว่าเป็นผู้ชายที่โตมาในสังคมแบบนั้น ถูกสอนมาแบบนั้นถ้ามีโอกาสก็ให้ทำแบบนั้น ไปเอาเรื่องเป็นคนๆ มันก็ไม่หายไป ต้องเอาที่วัฒนธรรมเลย” และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเริ่มต้นจากตัวเอง การทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่เป็นความลับ หรือตราบาปในชีวิตของผู้ถูกกระทำ ก้าวแรกที่สำคัญคือการไม่เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ 

“อย่างแรกคือเล่ากับคนแปลกหน้าไปเลย นักจิตวิทยา หรือเพจนี้ก็ได้ เลือกช่องทางที่ไม่ได้เปิดเผยตัวก่อน เหมือนซ้อมเล่า ก้าวแรกที่คุณทำให้เรื่องนี้ไม่เป็นความลับมันดีมาก อย่างน้อยชีวิตเราก็ต้องถือความลับเรื่องนี้ไปแล้วเรื่องหนึ่ง แต่จะทำไรต่อกับมัน จะให้คนได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ได้ แต่ขอให้เอามันออกมาไม่เป็นความลับก่อน จากนั้นก็หาโอกาสสนับสนุนกันไป และแต่ละคนมันมีขั้นในการก้าวของแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่ต้องพุ่งมากก็ได้ถ้าไม่ไหว แต่มันต้องใช้เวลา”
“อย่างแรกคือเล่ากับคนแปลกหน้าไปเลย นักจิตวิทยา หรือเพจนี้ก็ได้ เลือกช่องทางที่ไม่ได้เปิดเผยตัวก่อน เหมือนซ้อมเล่า ก้าวแรกที่คุณทำให้เรื่องนี้ไม่เป็นความลับมันดีมาก อย่างน้อยชีวิตเราก็ต้องถือความลับเรื่องนี้ไปแล้วเรื่องหนึ่ง แต่จะทำไรต่อกับมัน จะให้คนได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ได้ แต่ขอให้เอามันออกมาไม่เป็นความลับก่อน จากนั้นก็หาโอกาสสนับสนุนกันไป และแต่ละคนมันมีขั้นในการก้าวของแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่ต้องพุ่งมากก็ได้ถ้าไม่ไหว แต่มันต้องใช้เวลา”

สุดท้ายนานาคิดว่าเพจนี้เป็นช่องทางการเริ่มต้นที่ดี แม้นานาเองจะมีแพลนไปเรียนต่อ แต่เป้าหมายในปีนี้คือจะเริ่มจริงจังมากขึ้นกับเรื่องการระดมทุน มีความคิดในการร่วมมือกับมูลนิธิ หาทีมงานเพื่อทำเพจต่อไป สำหรับผู้อ่านคนไหนอยากติดตามเรื่องราว และร่วมเป็นกระบอกเสียงส่งต่อเพื่อความเปลี่ยนแปลง ติดตาม และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจ Thaiconsent

ด้วยความต้องการที่ไม่อยากให้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป “เบสท์ บุษยาภา ศรีสมพงษ์” นักกฎหมายผู้ทำงานเกี่ยวกับการเข้าถึงความยุติธรรมของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย อีกหนึ่งสตรีที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องตนเอง จนส่งกลายเป็นการส่งเสียงในสังคมเกี่ยวกับเรื่องการต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว ที่มาของโปรเจ็ค SHero (ชีโร่) พื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนที่ต้องการให้กระบวนการยุติธรรม และสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“ขจัดความรุนแรงในครอบครัว และ ทำให้วัฒนธรรมความรุนแรง ไม่เป็นเรื่องปกติอีกต่อไป” นี่คือเป้าหมายหลักของโปรเจ็ค Shero แม้เบสท์จะบอกว่าตนเองนั้นไม่ถนัดเรื่องการคิดรูปแบบนำเสนอมากเท่าไหร่นัก แต่การเปิดเพจมาเป็นเวลาปีกว่าทำให้เบสท์ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วผู้คนมากมายที่ต้องการพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรื่องความรุนแรงทางเพศ รวมไปถึงคนรุ่นใหม่ก็มีความตะขิดตะขวงกับวัฒนธรรมทางเพศที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน การมีพื้นที่แลกเปลี่ยนน่าจะเป็นหนทางและจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“เราทุกคนไม่ว่าจะฐานะอะไร เพศใด เคยเจอกับความรุนแรงบางรูปแบบมาก่อน ไม่ว่าจะทางอารมณ์ ทางวาจา หรือทางใจ แต่เราไม่ค่อยพูดถึงมัน ไม่จัดการกับมัน ไม่ยุติมัน พอเราทำเพจ มีคนหลายคนเข้ามาเปิดใจในแบบที่เขาไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง เพราะเราเปิดเพจมาด้วยการเล่าเรื่องที่ตัวเองโดนกระทำมาก่อนอย่างไม่อาย เรามองว่าการแชร์มันคือการเสริมพลัง พอเราแชร์ เขาก็เริ่มลุกขึ้นพูด เริ่มกล้าขอความช่วยเหลือ มันไม่ใช่เรื่องต้องอาย เพราะเราผ่านสิ่งนั้นมา เราเลยสร้างวงพูดคุยมากขึ้น เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่คนหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น และเราเองก็ได้เรียนรู้จากคนอื่นไปด้วย”

เบสท์เล่าให้เราฟังว่า SHero เป็นโปรเจ็คที่เริ่มต้นช่วยเหลือจากเคสเล็กๆ จนตอนนี้ได้กลายเป็นที่ที่คนนึกถึงเมื่อมีเคสต่างๆ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยไอเดียที่ว่า “ทุกคนสามารถเป็น Shero หรือ Hero ได้เหมือนกัน โดยที่ไม่เมินเฉยเวลาเห็นคนถูกกระทำ” จนทำให้ SHero กลายเป็นพื้นที่ที่รวมผู้คนที่มีความรู้ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย สังคม หรือจิตวิทยา ที่ต้องการมาทำงานอาสา “หากเรามี SHero (advocate) อยู่ทุกภาค ทุกชุมชน ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ในรุ่นต่อไป วัฒนธรรมความรุนแรงมันก็จะเปลี่ยนไป จะไม่เป็นเรื่องปกติธรรมดาอีกต่อไป วันนึงการใช้ความรุนแรงก็จะหมดไป” เริ่มต้นจากการช่วยเหลือ และต่อยอดจนกลายเป็นเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ซึ่งตอนนี้คือช่องทางการให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาความช่วยเหลือด้านกฎหมายในเคสความรุนแรงทางเพศ มีการสร้างเครือข่ายเยาวชน เพื่อให้ความรู้และทัศนคติที่ถูกต้อง รวมไปถึงการเสริมพลังผู้อยู่รอด (survivor of violence) ให้สามารถลุกขึ้นมาเป็น SHero ได้อีกด้วย

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการทำโปรเจ็คนี้สำหรับเบสท์คือ การตัดใจจากเคส “เราเจอผู้หญิงที่ถูกกระทำมาหลายรูปแบบ ทำไปเราก็อิน อยากให้เขาผ่านพ้น แต่เราไม่สามารถไปบังคับเขาได้ เราให้ความรู้ ให้ตัวเลือก ให้ support system ไปทุกอย่าง เขามีสิทธิในการตัดสินใจ เราเคยช่วยเคสที่ถูกทำร้ายมาหลายปี แต่ไม่ยอมเลิกกับสามี จนพาไปโรงพยาบาล พาไปสถานีตำรวจ ไปพาหนีออกจากบ้าน ไปอยู่ shelter สุดท้ายเคส เดินกลับเข้าบ้านไปเอง เพราะผูกพัน เราไปดึงเขาออกมาไม่ได้ ทำได้แต่ให้เขาคุยกับจิตแพทย์ คุยกับคนในชุมชน ให้เป็นหูเป็นตา ให้หัวหน้าชุมชนคุยกับผู้ชาย และให้เขาไปพบจิตแพทย์ แต่อะไรแบบนี้ ก็บังคับกันไม่ได้อีก ทำเต็มที่แล้ว ได้แต่คอย stand by ว่าเราอยู่ตรงนี้ มีอะไรก็ติดต่อมา เคสที่ไม่หลุดพ้นจะยากมาก ข้อท้าทายของเคสความรุนแรงคือ ส่วนใหญ่จะไปไม่ถึงขั้นฟ้องคดี เพราะยอมแพ้ก่อน ความรักความผูกพันกับผู้กระทำยังมีอยู่ เราถึงกำลังทำงานโปรโมทให้ mental health support ในชุมชนมันเพิ่มมากขึ้น เพราะกว่าจะไปถึง Justice ได้ empowerment มันต้องมาก่อน”

ปัจจุบันเธอกำลังศึกษาต่อในด้านสิทธิมนุษย์ชนและการเมืองระหว่างประเทศ ทำวิจัยเกี่ยวกับช่องว่างกฎหมายของไทยและระบบการเมืองที่ไม่ได้คุ้มครองผู้ถูกกระทำอย่างแท้จริง เธอมีความตั้งใจที่อยากขยายให้ชีโร่ได้ทำงานด้านวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงนโยบายมากขึ้น และกำลังวางแผนลงพื้นที่สามจังหวัด ดูเรื่องความรุนแรงและความไม่เท่าเทียมต่อเด็กในพื้นที่ที่มีปัญหา

สำหรับความร่วมมือที่ผ่าน ๆ มาของ ชีโรกับหน่วยงานอื่น ๆ ก็มีการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ มีการร่วมกันทำ Workshop ร่วมไปถึงการได้รับทุนสนับสนุนจาก YSEALI seeds grant จนทำให้ได้ขยายไอเดียไปในระดับอาเซียน กลายเป็นที่แลกเปลี่ยนในระดับนานาชาติจนกลายเป็นเครือข่าย รวมไปถึงการไปร่วมโปรเจ็คต่างๆ ของ UN WOMEN, โปรเจ็ค #donttellmehottodress ของซินดี้ สิรินยา รวมไปถึงเครือข่ายต่างๆ บนโลกออนไลน์ที่สนใจประเด็นเดียวกัน ในขณะที่ “ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มันเป็นปัญหาของสังคม เป็นเรื่องของทุกคน” วิธีการง่ายๆ คือเริ่มจากการสำรวจตัวเองและคนใกล้ตัว ทำความเข้าใจเรื่องอะไรคือความรุนแรง ให้ความรู้ตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความรุนแรงเคยเกิดกับเราไหม รูปแบบไหน ดูคนใกล้ตัว ตั้งวงคุยกัน เริ่มจากแค่นี้ ก็ค้นพบอะไรหลาย ๆ อย่าง และสำหรับใครอยากแลกเปลี่ยน หรือเป็นส่วนหนึ่งของ ชีโร่ ก็สามารถติดตามได้ที่ facebook: sherothailand twitter: sherothailand

จากพลังเล็กๆ ของผู้หญิงสองคน ที่เริ่มต้นแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัว สู่การเป็นเสียงให้สังคมวงกว้าง โดยเฉพาะในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ จากจุดเริ่มต้นที่พวกเธอต่างมองว่าความรุนแรงนั้นไม่ควรเป็นเพียงเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่สังคมควรตระหนัก และร่วมกันเปลี่ยนแปลงให้ถึงรากของวัฒนธรรม กฎหมาย รวมไปถึงการรับรู้ร่วมกันในสังคม การปลูกฝังเยาวชน และการมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน เพื่อมีเป้าหมายทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น นี่ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดี และเป็นก้าวใหญ่ของสังคมที่จะให้ความเป็นธรรมให้แก่ทุกเพศ และทุกคน  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0