โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จรัญ พงษ์จีน : รัฐบาลรอดศึกอภิปราย แต่ผ่านความตึงเครียดใหญ่กว่าได้หรือไม่?

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 23.14 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 23.14 น.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา10

การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อชี้ให้เห็นความไม่สมบูรณ์ในการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก “การถวายสัตย์ไม่ครบถ้อยความตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับ” ซึ่งถูกชี้ว่า ในทางกฎหมายเท่ากับ “ความเป็นรัฐมนตรี” ยังไม่เกิดขึ้น มีผลต่อการสั่งการ และมติต่างๆ ของฝ่ายบริหารที่จะเสี่ยงต่อการถูกตีความว่าดำเนินไปโดยไม่ชอบ

และการพูดเลยไปถึงการแถลงนโยบายที่นำเสนอโครงการต่างๆ โดยไม่ชี้แจงถึงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ในการบริหารจัดการประเทศ

อันถูกตั้งประเด็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้เป็นอย่างที่ “นายชวน หลีกภัย” เคยกล่าวไว้เมื่อมีการหยิบยกขึ้นมาพูดครั้งแรกว่า “เป็นเรื่องใหญ่” และแนะนำให้ “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” ซึ่งเป็นผู้หยิบยกขึ้นมาไปดูรายละเอียดให้ชัด และเป็นที่มาของการอภิปรายดังกล่าว

หากจะให้คะแนนจากการทำหน้าที่ ต้องถือว่า “ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย” ดูจะได้รับการยกย่องจากคนที่ติดตามการถ่ายทอดสดอภิปรายครั้งนี้ในอันดับแรก

ด้วยว่าการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่นายชวนนั่งบนบัลลังก์ประธานมีความเรียบร้อยมากอีกครั้งหนึ่งของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันปกติที่จะต้องมีประท้วงกันวุ่นวาย

เป็นการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ไม่น้อย

คนต่อมาหนีไม่พ้นที่ต้องยกให้“ปิยบุตร แสงกนกกุล” นักการเมืองหนุ่มจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นโชว์บทบาทที่โดดเด่นมาตลอด และครั้งนี้ก็ไม่ทำให้คนที่ติดตามผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่เตรียมข้อมูลมาอย่างดียิ่ง ทั้งข้อเท็จจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เลยไปถึงองค์ความรู้จากตำรับตำราต่างๆ ตลอดจนการเรียงร้อยเนื้อหาทั้งหมดมาอธิบายให้คนฟังเข้าใจได้เป็นอย่างดี

ที่ชัดเจนคือ แม้จะเป็นคนหนุ่ม แต่การควบคุมอารมณ์ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอเนื้อหาเป็นไปอย่างงยอดเยี่ยม จนทำให้แม้ฝ่ายที่ถูกอภิปรายพยายามหาช่องประท้วงก็ทำได้ยาก

ยิ่งเป็นการทำหน้าที่ระหว่างที่ “นายชวน” ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ยึดมั่นในหลักการ เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ยิ่งทำให้บทบาทของ “ปิยบุตร” เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ดีงามให้กับสภาผู้แทนราษฎร

อีกคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ได้ดีคือ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ที่เสนอประเด็นใหญ่ในเรื่อง“จริยธรรม” อันจะเป็นประเด็นให้สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ อันเป็นการเปิดประเด็นใหม่ ให้“ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ” จบลงแค่การอภิปรายครั้งนี้

จะเป็นเนื้อหาสำคัญที่ทำให้ “คณะรัฐบาล” ต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะต่อเนื่องไปในอนาคต ในทางที่จะเป็นคำถามต่อ “ความสมบูรณ์ของความเป็นคณะรัฐมนตรี”

 

เสียงคร่ำครวญเรื่องความยากลำบากของการดำเนินชีวิตในช่วงนี้มีให้ได้ยินทั่วทุกหัวระแหง

เป็นธรรมดาอยู่เองที่“ส.ส.” อันเป็น “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” จะรับฟังมาระงมหู เพราะเป็นผู้ที่ต้องไปอยู่ใกล้ชิดและรับฟังปัญหาจากประชาชน ด้วยการทอดทิ้งประชาชนย่อมสร้างชะตากรรมอันเลวร้ายให้เกิดขึ้นกับอนาคตของพวกเขา ไม่เหมือนกับ “นักการเมืองที่รอเสวยวาสนาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ” โอกาสที่จะเข้าใจความทุกข์ร้อนของประชาชนย่อมมีไม่เท่า ส.ส.

อย่างไรก็ตาม เพราะ “รัฐธรรมนูญ” กำหนดให้“นักการเมืองจากการแต่งตั้ง” มีบทบาทมากมายในการค้ำชู“การอยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรี” ทำให้ “คนเป็นรัฐมนตรี” ตระหนักถึงความสำคัญของเสียงที่สะท้อนจากประชาชน

ด้วยเหตุนี้เอง กระแสความอึดอัดจากนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงเกิดขึ้นกับ“ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล” เป็นอย่างมาก

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์ “ช่วยเหลือทุนใหญ่ให้เข้มแข็ง” จะเป็นการเริ่มต้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความเชื่อ“รองนายกฯ สมคิด” ซึ่งเป็นผู้ควบคุมทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ อยู่ที่“หากทุนใหญ่เข้มแข็ง จะมีการลงทุนอันเกิดการจ้างงานเพื่อผลิตสินค้า ซึ่งจะก่อให้เกิดกำลังซื้อมาหมุนเวียนเศรษฐกิจ”

เป็นความเชื่อที่เข้มข้น โดยไม่รับฟังความเห็นต่างว่า“ควรจะกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อจากรากหญ้าโดยตรง โดยเฉพาะการดูแลราคาสินค้าการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ของประเทศ”

จนถึงวันนี้“รองสมคิด” ยังเชื่อมั่นในทิศทางของนโยบาย “อุ้มทุนใหญ่” ที่ทำมากว่า 5 ปี

และนั่นเป็นความอึดอัดของบรรดา “ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” เพราะว่าเสียงที่ฟังจนหูแฉะนั่น“ชีวิตนับวันจะมองเห็นแต่ความสิ้นหวัง” สิ่งที่เกิดขึ้นคือ“ความย่ำแย่”

ปัญหาปากท้องท่วมท้น

เพราะการรับรู้ไปอีกทาง แต่ไม่สามารถนำความเป็นจริงของชีวิตชาวบ้านมาเป็นส่วนกระตุ้นให้เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ ให้มีความหวังต่อปัญหาปากท้องของประชาชนระดับล่างที่กำลังเดือดร้อนแสนสาหัสได้

ผลของความอึดอัดของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เริ่มจะเป็นปัญหาต่อรัฐบาล

เพราะเมื่อคนกำหนดนโยบาย ไม่ฟังเสียง ส.ส.ที่รับฟังมาจากประชาชน รอยแยกทางความคิดในพรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส.เริ่มตั้งคำถามต่อคนที่เข้าไปเป็นรัฐมนตรี โดยขอความเห็นใจในการที่จะต้องตอบคำถามกับประชาชนในปัญหาเรื่องปากท้อง

ประเมินกันว่า สถานการณ์จะเริ่มเครียดขึ้น ในการไม่มีคำตอบในเรื่องที่ควรตอบ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0