โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

ตำนานเป็ดเนื้อเชอรี่ บินจากอังกฤษสร้างอนาคตใหม่ให้วงการเป็ดไทย

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 18 ส.ค. 2564 เวลา 05.36 น. • เผยแพร่ 18 ส.ค. 2564 เวลา 05.14 น.
26 เป็ดเชอร์รี่

ตำนานเป็ดเนื้อเชอรี่ บินจากอังกฤษสร้างอนาคตใหม่ให้วงการเป็ดไทย ปลดล็อกที่ (เคย) ซื้อ-ขายเป็นตัว มาชั่งน้ำหนัก

ความเป็นมาของเป็ดที่เลี้ยงในประเทศไทย เป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่เลี้ยงหารายได้ หลังจากการทำนาข้าวแล้ว

ทั้งนี้ เห็นว่าข้าวเปลือกยังมีตกหล่นอยู่มากจากการเกี่ยวข้าว แม้จะมี นก หนู มาช่วยเก็บกิน ก็ยังมีข้าวเปลือกเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

ทำให้เกิดการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งนาที่มีมานานกว่าร้อยปีที่ตกทอดกันมา ไม่มีใครรู้ว่า ใครนำเป็ดไปไล่ทุ่งคนแรกจนทุ่งนาข้าวก่อเกิดรายได้ ทั้งนายทุนปล่อยให้ชาวนาไปเลี้ยงต่างมีผลตอบแทนด้วยกัน แต่คนที่ได้เปรียบนอกจากนายทุนแล้ว ยังมีพ่อค้าเป็ดและโรงเชือดเป็ด มีผลประโยชน์มากกว่า

ประโยชน์ของนายทุนในอดีตก็คือ กำไรจากค้าลูกเป็ดที่ปล่อยให้ชาวนาเลี้ยงในทุ่งนา บางครั้งชาวนาก็ไม่ได้กำไรเลยก็มีเพราะลูกเป็ดเสียหายในทุ่งนา

กระบวนการเลี้ยง เมื่ออายุได้ 3 เดือนเศษ ชาวนาต้องต้อนฝูงเป็ดไปให้นายทุนจัดการขายให้กับพ่อค้ารับซื้อ ทั้งที่ท้องถิ่นและในกรุงเทพฯ พ่อค้ามีประสบการณ์ในการซื้อฝูงเป็ด ว่าเป็ดไข่ไล่ทุ่งที่สมบูรณ์และสีขนที่ตลาดต้องการ ตกลงราคาในการซื้อ-ขาย เหมาเป็นตัว

ตลาดเป็ดไข่เป็นของพ่อค้า รวมทั้งเป็ดที่เลี้ยงเน้นเป็ดเนื้อด้วย พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคาด้วยตนเอง เพราะมีลูกค้าอยู่ในกำมือ ทั้งฟาร์มเลี้ยงเป็ดไข่ และโรงเชือดเป็ดที่จะนำไปป้อนตลาดทั้งปี

หลังนำฝูงเป็ดไข่จากทุ่งนา ตกลงในราคาที่พอใจทุกฝ่าย ระหว่างพ่อค้าเป็ดกับนายทุนปล่อยเป็ดจ้างเลี้ยง เมื่อขายเป็ดไปแล้วนายทุนจะหักหนี้สินที่ชาวนาได้นำเป็ดไปเลี้ยง โดยหักค่าอาหาร ค่ายืมเงินจากชาวนาแล้ว ชาวนาจะเหลือเงินหรือไม่ ไม่มีสิทธิ์ร้องเรียน

ส่วนนายทุน หลังรับเงินจากพ่อค้าชำระค่าเป็ดแล้ว ก็จะนำหนี้สินที่เหลืออยู่ไปชำระค่าลูกเป็ดที่ซื้อมาจากโรงฟักลูกเป็ดย่านสามแยกเจริญกรุง หลังหัวลำโพงที่เป็นแหล่งจำหน่ายลูกเป็ดในอดีตที่มากสุด ปัจจุบัน เลิกหยุดกิจการแล้วกว่าสิบปี

เวลาเดียวกัน พ่อค้าเป็ดไล่ทุ่งหลังจากได้เป็ดไข่ไล่ทุ่งก็นำมาเลี้ยงต่อในย่านชานเมือง ให้เป็ดกินอาหารดีหน่อย แล้วไปปล่อยต่อให้เจ้าของฟาร์มเป็ดไข่ ย่านชลบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฯลฯ

แล้วถ้าเป็ดเลี้ยงเป็นเป็ดเนื้อขนาดเล็ก ก็จะนำไปเลี้ยงในฟาร์มที่ย่านราษฎร์บูรณะ บางแค เป็นแหล่งพักเป็ดและนำไปตอนฝังหัวให้เป็ดอ้วนขึ้น เพื่อส่งเป็นตลาดเชือดเป็ดย่านตลาดเก่าเยาวราชต่อไป

หากกล่าวถึงวงจรเป็ดเนื้อไทยในยุคอดีตกว่าหลายทศวรรษยังไม่มีการพัฒนา กล่าวคือ ทั้งเป็ดปิ้งไฉ่ เป็ดปักกิ่งตัวเล็ก และรวมถึงห่านจีน ที่ตลาดซื้อ-ขายยังเหมาเป็นตัว ทำให้ระบบซื้อ-ขายที่พ่อค้ารับซื้อนิยมเหมาเป็นตัว ทำให้คนเลี้ยงเป็ดเนื้อขายขาดทุน จะเลี้ยงมากก็ไม่ได้ เพราะพ่อค้ากำหนดราคาขายหวังฟันกำไรแล้วไปขุนต่อ หรือพ่อค้าเรียกว่า “จ๊อเป็ด หรือเป็ดผูกขา” คือตอนหักเป็ดขุนให้อ้วนเอากำไรเยอะว่างั้นเถอะ

จนถึงกาลอวสานของเป็ดเนื้อไทย ที่คนเลี้ยงอยู่ไม่ได้ ระบบซื้อ-ขายเป็นตัว เป็นกลไกที่บิดเบี้ยวของตลาดเป็ด ไม่ได้พัฒนาตัวเป็ดเลย ทำให้คนเลี้ยงเลิกเลี้ยงกันมาก ยกเว้นเลี้ยงเพื่อป้อนตรุษจีน หรือสารทจีน ที่เป็นเทศกาลเท่านั้น

“จนกระทั่งในปี 2520 เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่บริหารโดย ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ มองการณ์ไกลว่า เป็ดเป็นสัตว์ปีกที่มีขน เปรียบเหมือนทองคำที่มีค่าอยู่ในตัวเป็ดทั้งหมด รวมถึงเครื่องในเป็ดภายใน ภายนอก มีประโยชน์หมด”

ฟาร์มเป็ดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงย้ายมาจากจังหวัดสมุทรสาคร มาสร้างโรงเรือนใหม่อยู่ที่เขตหนองจอก ในปี 2519-2520 ตั้งชื่อว่าฟาร์มหนองจอก 5 (ฟาร์ม 1-4 อยู่ในเขตหนองจอก เป็นฟาร์มไก่และโรงฟักไก่)

หลังสร้างเล้าเป็ดที่เป็นแห่งเดียวที่เลี้ยงเป็ด จึงนำเอาเป็ดไข่พันธุ์กากี แคมป์เบลล์ และเป็ดเนื้อเชอรี่วัลเลย์ หรือบางคนเรียกเป็ดปักกิ่งก็มี นำมาจากประเทศอังกฤษ ปลายปี 2521 โดยมี คุณธนิต บุญรอด เป็นผู้จัดการฟาร์มคนแรก

ก่อนอื่นต้องขยายความถึงที่มาของเป็ดเชอรี่ที่คนเริ่มรู้จักกันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน สอบถามถึงความเป็นมาแล้ว พบว่า

ที่มาของ “เชอรี่” ก็คือเรียกกันติดปากจากฟาร์มเชอร์รี่ วัลเลย์ โดย บริษัท เฟอร์กูสัน กรุ๊ฟ มี ท่านเซอร์ เฟอร์กูสัน เจ้าของ ประธานเครือเฟอร์กูสัน มีกิจการหลายอย่างมากมาย พืชไร่ อุตสาหกรรม เครื่องนุ่งห่มจากขนเป็ดมากมาย ฯลฯ

ส่วนฟาร์มเชอร์รี่ วัลเลย์ (Cherry Valley Farmer) ตั้งอยู่ในเมืองลินคอล์น เซียร์ (Lincoln shire) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ ห่างจากกรุงลอนดอน ประมาณ 200 กิโลเมตร

ภายในฟาร์ม คงประกอบด้วยแผนกต่างๆ มีโรงเลี้ยงเป็ด โรงฆ่าเป็ด แผนกพันธุกรรม ผสมพันธุ์เป็ด  โรงฟอกขนเป็ด โรงฟักลูกเป็ด ฯลฯ เป็ดเนื้อที่นำมาทดลองขยายพันธุ์จากเป็ดปักกิ่ง พันธุ์ดั้งเดิมที่จีนเป็นต้นตำรับความเข้าใจของคนทั่วไป

กระทั่ง ฟาร์มเชอร์รี่ วัลเลย์ ได้พัฒนาสายพันธุ์เป็ดเนื้อปักกิ่ง เป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลกแล้ว ไม่มีใครสู้ฟาร์มนี้ได้ จากการศึกษามาของตลาดเป็ด โดยสายตาคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ที่เป็นผู้สนใจไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร มานาน จนทำให้เกิดมีสายพันธุ์ไก่ที่ดีที่สุดในโลกนำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยเป็นคนแรก จึงเห็นว่าฟาร์มเชอร์รี่ วัลเลย์ จากอังกฤษ โดยมอบหมายให้ คุณหมอนิตย์ ภาวรกันต์ และ คุณสัญญา เทียมศิริ ไปเซ็นสัญญากับฟาร์มเชอร์รี่ วัลเลย์ เพื่อตกลงนำเข้าฟาร์มหนองจอก 5 เมื่อปลายปี 2521 เป็นต้นมา

ตลาดเป็ดเมืองไทยไม่เคยได้ยินชื่อเป็ดเนื้อพันธุ์ปักกิ่ง ที่ชื่อเชอรี่ นั้น ยังไม่เคยคุ้นหูหรือรู้จักกันมาก่อน กระทั่งมีปัญหากันขึ้น เพราะตลาดเป็ดกับตลาดไก่เนื้อไม่เหมือนกัน

พ่อค้าเป็ดก็คือพ่อค้าเป็ด ที่นิยมซื้อ-ขายเหมาเป็นตัว ที่คนเลี้ยงเป็ดเนื้อขยาดกลัวพ่อค้าเอามาเหมาแล้วเลือกเป็ดตัวโตที่พ่อค้าเป็ดเรียกว่า “หัวเป็ด” คัดเอาออกมาก่อน ที่เหลือหางเป็ดให้คนเลี้ยงเลี้ยงต่อไป แล้วมาจับภายหลัง มันทำให้คนเลี้ยงต่อต้องขาดทุนและไม่มีทางเลือก เพราะขืนเลี้ยงต่อไปขาดทุนแน่นอน ในทำนองเดียวกัน ลูกเป็ดพันธุ์เชอรี่ออกมาแล้วในช่วงปลายปี 2522 แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เกิดปัญหาเมื่อลูกค้าที่เคยเลี้ยงไก่เนื้อมาก่อน สนใจลูกเป็ดเนื้อเชอรี่ไปเลี้ยง บอกว่า เป็ดปักกิ่ง คนเข้าใจกัน แต่เป็ดปักกิ่งรุ่นเก่าในไทยก็ถูกซื้อ-ขายเหมาเป็นตัวเหมือนกัน พ่อค้าอ้างว่า ห่านก็ตัวใหญ่ก็เหมาซื้อเป็นตัวเหมือนกัน

โดยมีพ่อค้าเป็ดทั่วไปตีราคาเป็ดพันธุ์ใหม่ที่คนไม่รู้จักดีพอให้ราคาตัวละ 50 บาท ในขณะราคาลูกเป็ดตัวละ 12-15 บาท คนเลี้ยงได้ 50 วันเศษ น้ำหนัก 2.5-2.6 กิโลกรัม ต่อตัว ทว่ามาคิดต้นทุนแล้วถ้าซื้ออาหารสำเร็จเลี้ยงต้องขาดทุน ยกเว้นหาอาหารมาผสมเลี้ยงจะอยู่ได้ แต่ไม่มีกำไร นี่คือปัญหาแรกของฟาร์มหนองจอก

เมื่อมีพ่อค้าโหดก็มีพ่อค้าใจดี ที่มองเห็นคุณภาพเป็ดพันธุ์ใหม่มีอนาคตแน่ๆ แต่ไม่กล้าแสดงออก แต่พ่อค้าใจดีจ่ายเงินช้าหน่อย แต่ให้ราคาดี ให้ลูกค้าตัดสินใจกัน

อดีตพ่อค้าย่านตลาดเก่าเยาวราช และย่านวัดเล่งเน่ยยี่มีหลายพวก ล้วนร่ำรวยจาก “ขนเป็ด” กันทุกร้าน ชั้นบนดาดฟ้าของอาคารที่พักของร้านมีไว้ตากขนเป็ด ยามขัดสนเงินก็เอาขนเป็ดไปขาย ครั้งละ 3-4 แสนบาท

“ซึ่งไม่แปลกในสมัยพ่อค้าเศรษฐีขนเป็ดติดอันดับต้นๆ ของไทยในอดีต ควบคู่กับนายธนาคารใหญ่ ว่าใครจะรวยกว่ากัน”

การแก้ปัญหาวิกฤตซื้อ-ขายเหมาเป็นสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในปัญหาของเป็ดที่กรมการค้าภายในไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย ปล่อยเรื้อรังมานานนับศตวรรษ

ในเมื่อมีทางตัน ก็ต้องมีทางออก วันหนึ่งมีพ่อค้าจากตลาดเก่าเยาวราชใกล้วัดเล่งเน่ยยี่ ได้กลิ่นเป็ดตัวขาว ใหญ่กว่าลูกห่านที่เคยนำมาใช้แทนเป็ดปักกิ่ง ที่มาทดแทนเป็ดใหญ่ที่หายไป มาทำเป็นเป็ดปักกิ่งกินหนัง เลยถูกบรรดาคอเป็ดเรียกชื่อว่าห่านปักกิ่ง คนกรุงกินหนังห่านแทนเป็ด

พ่อค้าที่อาสามาเจรจากับฟาร์มหนองจอก ที่กล้าหาญมาตกลงราคาซื้อเหมาเป็นตัวมาชั่งน้ำหนักขายกันในราวต้นปี 2523 เขาชื่อ ร้าน “เอี้ยงง้วน” แห่งตลาดเล่งเน่ยยี่ตลาดเก่า เจรจาร่วมกับฟาร์มหนองจอก และลูกค้าเป็ดคนใหม่ที่อยู่ฟาร์มเรณู ไรย์สุวรรณ ไม่ไกลนัก โดยสรุปการเจรจาดังนี้

ประการแรก พ่อค้าตกลงในราคากิโลกรัมละ 25 บาท จับในเวลากำหนด 56 วัน หรือ 8 สัปดาห์ มาจับหน้าเล้า

ประการที่สอง น้ำหนักเป็ดต้องไม่ต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม ต่อตัว

ประการที่สาม ชำระเงินไม่เกิน 15 วัน ชื่อเป็ดว่า เชอรี่ ตามเถ้าแก่เรียก

เริ่มจับเป็ดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ค้าขาย เป็ดชั่งกิโลกรัมเกิดขึ้นที่ฟาร์ม คุณเรณู ไรย์สุวรรณ เขตฉะเชิงเทรา เขตติดต่อกับเขตหนองจอก โดยเฉลี่ยตามข้อตกลงในวันที่ 25 พฤษภาคม 2523 คุณเรณูบอกกำไรเฉลี่ยตัวละ 10 กว่าบาท ได้กำไรจากเลี้ยงฝูงละ 500 ตัว เป็นที่พอใจ บางรายที่เลี้ยงนครปฐม กำไรมากกว่านี้

บรรดาพ่อค้าเป็ดย่านตลาดเก่าเยาวราชตื่นตาเป็ดเชอรี่มาก ระดมจับกันเพิ่มมากขึ้น นับเป็นนิมิตหมายวงการเป็ดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ขายเป็ดเนื้อเชอรี่ชั่งน้ำหนักขายเป็นรายแรกของประเทศไทย

เพราะคุณภาพเป็ดเชอรี่นำมาย่าง เป็นเป็ดย่าง รสชาติวิเศษสุด เหตุที่พ่อค้าเมินเพราะเกรงว่าตัวเองขาดผลประโยชน์ที่จะจับเป็ดเหมาเป็นตัวอีกต่อไป ที่เคยกำไรมาตลอดอาจจะกำไรน้อยลงมา

ไม่ทราบว่า กระทรวงพาณิชย์ เคยได้ข่าวหรือสำเหนียกบ้างไหมว่า การซื้อ-ขายเป็ดในปัจจุบัน เป็ดไล่ทุ่ง ห่านจีน หรือเป็ดแก่ ยังเหมาซื้อเป็นตัวอยู่ มันทำให้วงการเป็ดไม่พัฒนาเท่าที่ควร อย่าให้พ่อค้านายทุนเสวยสุขไปมากกว่านี้อีกเลย

อ่านจบแล้วคงเข้าใจที่มาที่ไปของคำว่า เป็ดเชอรี่แล้วน่ะ กว่าจะมาเป็นเป็ดชั่งน้ำหนักเป็นกิโลกรัม ของฟาร์มหนองจอก ที่ต้องแบกรับภาระตั้งแต่สอนลูกค้าเลี้ยงเป็ดแผนใหม่ หาตลาดให้ลูกค้าขายเป็ดได้ และต้องตามไปรับเช็คเก็บเงินจากพ่อค้าถึงที่ร้านให้แบบครบวงจร ของบรรดาพนักงานส่งเสริมเป็ด

ในโอกาสเป็ดเนื้อเชอรี่ได้ก้าวมาสู่อายุ 40 ปี พอดี หรือ 4 ทศวรรษ จึงอยากเห็นการพัฒนาอาชีพวงการเป็ดก้าวหน้าต่อไป แม้ว่าเป็ดไล่ทุ่งที่ยังมีคนนิยมเลี้ยงปล่อยกินข้าวเปลือก ได้วิวัฒนาการมาเลี้ยงเป็ดไข่ในทุ่งนาบ้างแล้ว แต่คุณภาพไข่ที่กินแต่ข้าวเปลือกอย่างเดียว ไม่ทำให้ไข่เป็ดมีคุณภาพที่ดีได้

อยากเห็นฝูงเป็ดไข่ที่เลี้ยงในเล้ามาโดยตลอดนั้นน่าจะเสียหายน้อยลง พันธุ์เป็ดไข่เก่าๆ ก็หายไป เป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ พันธุ์นครปฐม ชลบุรี ได้กลายเป็นเป็ดเชอรี่ กากี กันมากขึ้น

หากฝูงเป็ดไล่ทุ่งเจอปัญหาโรคไข้หวัดนก โรคดั๊กเพล็กซ์ เชื่อว่ามันจะสะเทือนถึงวงการทำอาหารและขนมไทยอีกมากมาย การควบคุมโรคยากมาก ฝากกรมปศุสัตว์ไว้ด้วย

เป็ดเนื้อในเล้าควบคุมโรคได้ปลอดภัย ไร้ปัญหา

…………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น