โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เจ็บนี้ใครรับผิดชอบ! สาวขี่ จยย.ล้มบาดเจ็บ หลังสะดุดฝาท่อปิดไม่สนิท

MThai.com

เผยแพร่ 14 มิ.ย. 2562 เวลา 12.06 น.
เจ็บนี้ใครรับผิดชอบ! สาวขี่ จยย.ล้มบาดเจ็บ หลังสะดุดฝาท่อปิดไม่สนิท
ภาพหญิงสาวได้รับบาดเจ็บ หลังขี่จักรยานยนต์สะดุดฝาท่อระบายน้ำบนถนนพระราม 9 ที่ปิดไม่สนิท

[summary]

*สาวประสบอุบัติเหตุขี่ จยย.สะดุดฝาท่อระบายน้ำจนได้รับบาดเจ็บ
*เหตุเกิดบริเวณถนนพระราม 9 มุ่งหน้ารามคำแหง จุดเกิดเหตุมีฝาท่อระบายน้ำปิดไม่สนิท
*ผู้โพสต์ต้องการเตือนภัย และร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ไข-เยียวยาผู้บาดเจ็บ
*เหตุลักษณะนี้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ แต่ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้

[/summary]

เกิดเหตุหญิงสาวรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้ม จนทำให้มีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณหน้าผาก และรอยแผลถลอกพกช้ำตามร่างกายหลายแห่ง

หลังจากระหว่างที่ขี่รถอยู่บนถนนนั้น เธอก็ขับไปสะดุดกับฝาท่อระบายบนถนนที่ปิดไม่สนิทจนควบคุมรถไม่อยู่ และทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้น

โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่บริเวณถนนพระราม 9 มุ่งหน้ารามคำแหง เมื่อช่วงคืนของวันที่ 13 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

เตือนภัยให้ระวัง – พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไข เยียวยาผู้บาดเจ็บ

ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้น ถูกเผยแพร่ผ่านผู้ใช้เฟซบุ๊ก Jaa ae ที่ต้องการเตือนภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนย่านดังกล่าวทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ระมัดระวังการขับขี่ให้มาก จะได้ป้องกันไม่ให้อันตรายลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกได้

ขณะเดียวกันก็เป็นการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข และเข้าเยี่ยวยาผู้บาดเจ็บ หลังปล่อยปละละเลยไม่สนความปลอดภัยของประชาชน จนเกิดอุบัติเหตุและมีผู้บาดเจ็บในที่สุด

ฝาท่อระบายน้ำเมืองกรุง ทำเกิดอุบัติเหตุบ่อยจริง

อุบัติเหตุที่เกิดจากฝาท่อปิดไม่สนิท หรือบางครั้งไม่ได้ปิดให้อยู่ในสภาพเดิม หากนับเฉพาะในปีนี้เกิดขึ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง แต่ที่ยังฝังตรึงใจก็คือเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อช่วงวันที่ 18 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ที่เพจ Policenews ได้มีการเปิดเผยคลิปนาทีที่รถยนต์คันหนึ่งวิ่งในช่องทางขวาของถนนวิภาวดีรังสิตในช่วงกลางคืน

จากนั้นได้เหรียบเข้ากับฝาท่อวงกลมเหล็กขนาดใหญ่วางอยู่กลางถนนบริเวณหน้าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ทำให้หยุดรถไม่ทัน เหยียบเข้าไปอย่างจัง จนยางรถฉีกขาดไป 2 เส้น หวุดหวิดขับรถตกท่อ ซึ่งระหว่างนั้นได้พบรถยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุจากฝาท่อที่เปิดไว้ 5 คัน

และเหตุการณ์แท็กซี่ตกท่อระบายน้ำบนถนนพหนโยธิน บริเวณหน้าโรงหนังเมเจอร์รัชโยธิน หลังจากฝาท่อเกิดชำรุด ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ถือว่าโชคดีมากไม่มีใครได้รับอันตรายบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ก็น่าแปลกมากที่เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่สามารถหาหน่วยงานให้มารับผิดชอบได้ ทั้งๆ ที่ทรัพย์สินเสียหายหนักและเกือบเอาชีวิตไม่รอด

ถนนใน กทม. ใครหนอที่ดูแล

ถนนสาธารณะที่อยู่ในพื้นที่ กทม. จะถูกดูแลโดยหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง การทางพิเศษฯ และกรมทางหลวงชนบท รวมทั้งเส้นทางที่ตัดผ่านที่ดินของหน่วยงานราชการอื่น และเส้นทางของเอกชนที่ได้รับการกำหนดให้เป็น “ถนน” อย่างเป็นทางการจากกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ไม่รวมเส้นทางที่ใช้สัญจรเฉพาะภายในพื้นที่หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา บ้านจัดสรร และสถานที่เอกชนซึ่งมักมีการปิดกั้นหรือควบคุมทางเข้าออก

ซึ่งหากเกิดถนนชำรุดต้องแก้ไขซ่อมแซม ก็ต้องมาดูว่าถนนเส้นนั้นมีหน่วยงานไหนรับผิดชอบดูแล เช่น หากเป็นทางด่วนชำรุด แน่นอนผู้ดูแลต้องเป็นการทางพิเศษฯ

หรือ ถ.รามอินทรา/แจ้งวัฒนะ ถนนศรีนครินทร์ พังเสียหาย หน่วยงานที่ดูแลต้องเป็นกรมทางหลวง เป็นต้น การจะเข้าไปกระทำการซ่อมถนนทันทีเลยนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

การบาดเจ็บของสาวขี่จักรยานยนต์ ที่สะดุดฝาท่อในครั้งนี้ หากอยากให้หน่วยงานที่เข้ามาดูแลรักษาเยียวยา ก็ต้องลงพื้นที่อีกครั้งว่าถนนที่เธอประสบอุบัติเหตุอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานไหน

จากนั้นก็ทำเรื่องไปยังหน่วยงานเพื่อทวงถามการเยียวยา หากไม่สนใจหรือปัดความรับผิดชอบ ก็สามารถติดต่อศาลปกครอง เพื่อให้ช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

ฟ้องหน่วยงานรัฐ เรียกค่าเสียหาย จากอุบัติเหตุที่เกิดจากท่อระบายน้ำ

การได้รับบาดเจ็บ หรืออันตรายจากท่อระบายน้ำในเมืองกรุงชำรุดนั้น มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเกิดขึ้นแล้วจากหลายคดี ทั้งคดีแพ่งและคดีปกครอง

โดยการฟ้องร้องนั้นสามารถเอาผิดหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง แต่ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้าหากเหตุนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

แต่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิด จากจะเอาผิดก็ฟ้องร้องกระทรวงการคลังแทน

การฟ้องร้อง มีทั้งการฟ้องร้องเอาผิด กทม. และ กรมทางหลวง ยกตัวอย่าง เมื่อปี 2551 ผู้ได้รับบาดเจ็บเดินตกท่อระบายน้ำริมฟุตปาธบนถนนทวีวัฒนา – กาญจนาภิเษกจนถึงขั้นขาหัก ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม. และผู้รับเหมา เป็นเงิน 5 ล้านบาทจากการถูกละเมิดจนทำให้ได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ผู้บาดเจ็บชนะคดี

ขณะที่อีกเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 เมื่อบริษัทประกันภัยรถยนต์ได้ทำการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรมทางหลวง กรณีที่ผู้ซื้อประกัน ขับรถยนต์ไปติดอยู่กับท่อระบายน้ำบริเวณถนนบรมราชชนนี ขาเข้ากรุงเทพฯ เนื่องจากไม่มีไฟเตือน หรือสัญญาณบ่งชี้ว่ามีหลุมหรือปากท่อเปิดอยู่ จนทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้สั่งให้กรมทางหลวง รับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทประกันภัยผู้ฟ้องคดี เพราะเข้าข่ายผิดมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ของกรมทางหลวงเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0