โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

ดาวโจนส์ ปิดตลาดบวก 317.24 จุด นลท.มองข้ามปัจจัยลบ

การเงินธนาคาร

เผยแพร่ 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ดัชนี ดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในวันพุธ (5 ก.พ.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนบวกเช่นกัน หลังจากนักลงทุนมองข้ามปัจจัยลบเกี่ยวกับสงครามการค้าและผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทอัลฟาเบท (Alphabet) และหันไปให้ความสนใจกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในเดือนม.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 44,873.28 จุด เพิ่มขึ้น 317.24 จุด หรือ +0.71%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 6,061.48 จุด เพิ่มขึ้น 23.60 จุด หรือ +0.39% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,692.33 จุด เพิ่มขึ้น 38.31 จุด หรือ +0.19%

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.8 ในเดือนม.ค. จากระดับ 54.0 ในเดือนธ.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.2 เนื่องจากอุปสงค์ชะลอตัวลง โดยดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่

การประชุมครั้งต่อไปของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 มี.ค. ขณะที่เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า แม้นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 16.5% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.

โธมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์กล่าวว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรครั้งใหม่ รวมทั้งนโยบายคนเข้าเมือง และนโยบายอื่น ๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

หุ้น 8 ใน 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 1.59% และ 1.57% ตามลำดับ ส่วนหุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสารและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลงมากที่สุด โดยลดลง 2.79% และ 1.59% ตามลำดับ

หุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีธุรกิจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งสัญญาณฟื้นตัวหลังจากที่ร่วงลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่แล้ว อันเนื่องมาจากความกังวลที่ว่าโมเดล AI ต้นทุนต่ำของดีปซีค (DeepSeek) ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ตอัปของจีนจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของบริษัทเทคโนโลยี AI ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ หุ้นอินวิเดีย (Nvidia) พุ่งขึ้น 5.3% หุ้นบรอดคอม (Broadcom) พุ่งขึ้น 4.3% หุ้นเดลล์ เทคโนโยีส์ (Dell Technologies) พุ่งขึ้น 2.7% หุ้นควอลคอมม์ (Qualcomm) ปรับตัวขึ้น 1.6% หุ้นไมครอน เทคโนโลยี (Micron Technology) พุ่งขึ้น 3.2%

อย่างไรก็ดี หุ้นอัลฟาเบท (Alphabet) ร่วงลง 7.3% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ธุรกิจคลาวด์ที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 4/2567 และเปิดเผยแผนการลงทุนด้าน AI ในปีนี้สูงถึง 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.884 หมื่นล้านดอลลาร์

หุ้นแอปเปิ้ล (Apple) ปรับตัวลง 0.14% หลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าของจีนจะดำเนินการตรวจสอบนโยบายของแอปเปิ้ลและค่าธรรมเนียม App Store

นักลงทุนยังคงติดตามความคืบหน้าในการเจรจาด้านภาษีศุลกากรระหว่างปธน.ทรัมป์ และปธน.สี จิ้นผิง ผู้นำของจีน หลังจากปธน.ทรัมป์กล่าวว่าเขาไม่รีบร้อนที่จะพูดคุยกับปธน.สีเกี่ยวกับการแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 183,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 176,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 24.7% สู่ระดับ 9.84 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค. 2567 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ขณะที่การนำเข้าพุ่งขึ้น 3.5% สู่ระดับ 3.649 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการส่งออกลดลง 2.6% สู่ระดับ 2.665 แสนล้านดอลลาร์

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพุธ (5 ก.พ.) หลังการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน โดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์หลังการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ได้ช่วยชดเชยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มรถยนต์

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 538.56 จุด เพิ่มขึ้น 2.52 จุด หรือ +0.47%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,891.68 จุด ลดลง 14.72 จุด หรือ -0.19%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 21,585.93 จุด เพิ่มขึ้น 80.23 จุด หรือ +0.37% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,623.29 จุด เพิ่มขึ้น 52.52 จุด หรือ +0.61%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพุธ (5 ก.พ.) โดยฟื้นตัวขึ้นหลังจากติดลบ 2 วันติดต่อกัน หลังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นจีเอสเค (GSK) และหุ้นกลุ่มเหมืองทองคำ ขณะที่นักลงทุนมุ่งความสนใจในขณะนี้ไปที่การประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในวันพฤหัสบดีนี้ (6 ก.พ.)

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 8,623.29 จุด เพิ่มขึ้น 52.52 จุด หรือ +0.61%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% ในวันพุธ (5 ก.พ.) หลังสหรัฐฯ เปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์พุ่งขึ้นมากกว่าคาด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของอุปสงค์พลังงาน นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1.67 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 71.03 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.59 ดอลลาร์ หรือ 2.09% ปิดที่ 74.61 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (5 ก.พ.) และยังคงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเดินหน้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 17.20 ดอลลาร์ หรือ 0.60% ปิดที่ 2,893.00 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (5 ก.พ.) โดยดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการทำสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.35% แตะที่ระดับ 107.578

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ ตลาดหุ้นทั้งไทยและเทศ ได้ที่นี่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0