โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Worn Up ขอเกิดใหม่ใกล้ ๆ เธอ พบการกลับมามีชีวิตอีกครั้งของชุดนักเรียนเก่าที่ถูกทิ้ง

นิตยสารคิด

อัพเดต 10 พ.ค. 2566 เวลา 20.34 น. • เผยแพร่ 10 พ.ค. 2566 เวลา 20.34 น.
Worn-Up-cover
Worn-Up-cover

ในบรรดาชุดต่าง ๆ ที่อยู่ในตู้เสื้อผ้า ดูเหมือนว่า “ชุดนักเรียน” จะเป็นหนึ่งในชุดที่เรียกได้ว่ามีระยะเวลาของมัน

ชุดนักเรียนชั้นประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย หรือแม้แต่ชุดนักศึกษาต่างถูกเก็บไว้ในมุมที่มิดชิดที่สุดของตู้เมื่อเราเติบโต ก้าวผ่านช่วงวัยนั้น ๆ ไป และหลายครั้งชุดเหล่านี้ก็ได้รับการจัดการในแบบต่าง ๆ เพื่อให้มันยังเป็นประโยชน์ต่อไปได้อีก บ้างก็ถูกนำไปส่งต่อให้กับเด็กนักเรียนรุ่นต่อมา หรือบ้างก็อาจจะนำไปทำเป็นผ้าอเนกประสงค์ และบ้างก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจำใจต้อง “โละทิ้ง” เพื่อคืนพื้นที่ให้กับตู้เสื้อผ้า

แต่ในวันนี้ สตาร์ทอัปจากออสเตรเลียอย่าง “Worn Up” ได้นำเสนออีกวิธีการสำหรับการชุบชีวิต “ชุดนักเรียนปลดระวาง” ให้เกิดใหม่ในรูปแบบที่ไฉไลยิ่งขึ้น ทั้งยังได้อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนเหมือนเคย ภายใต้กรอบของความยั่งยืนที่ช่วยโลกได้อีกทาง

146109616_779681512677326_4762636901263301627_n.jpg

facebook.com/Wornup1

Worn Up ก่อตั้งโดยแอน ทอมป์สัน คุณแม่รุ่นบูมเมอร์ที่กำลังศึกษาปริญญาโทด้านความยั่งยืน ทั้งยังควบตำแหน่งผู้ก่อตั้ง “Sustainable Schoolwear” บริษัทพี่น้องที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการทำงานที่ควบคู่กันไป บริษัท Sustainable Schoolwear เป็นร้านขายชุดนักเรียนออนไลน์ที่ผลิตอย่างมีจริยธรรมในออสเตรเลีย ซึ่งเน้นการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ด้วยการใช้ผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GOTS1 หรือ ผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล หรือทั้งสองชนิดรวมกันในการผลิต ซึ่งแม้ว่าผลิตภัณฑ์ในร้านของเธอจะมีราคาที่สูงขึ้นเล็กน้อย แต่ก็เป็นการดีสำหรับผู้บริโภคในระยะยาวที่จะสามารถสวมใส่เสื้อผ้านี้ได้นานกว่า จึงคุ้มค่ากับทั้งเราและโลก อีกทั้งผ้าคุณภาพสูงเหล่านี้ยังแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ง่ายขึ้นเมื่อหมดอายุการใช้งาน ธุรกิจนี้จึงกลายเป็นการอุดรอยรั่วตั้งแต่กระบวนการผลิต

ขณะที่ Worn Up นั้นเกิดขึ้นเพื่อตอบปัญหาชุดนักเรียนที่ว่า “จบงานแล้วจะไปไหน” แนวคิดของโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นจากความอยากรู้อยากเห็นของทอมป์สันเองว่าท้ายที่สุดแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับชุดนักเรียนที่เธอผลิต “เมื่อ 3 ปีก่อนฉันถามว่าเครื่องแบบนักเรียนที่เราผลิตจะไปอยู่ที่ไหนในช่วงสุดท้ายของชีวิต และฉันไม่พอใจกับคำตอบที่ค้นพบนัก” เธอกล่าวในบทสัมภาษณ์ปีที่แล้ว

แน่นอนว่า คำตอบที่ทอมป์สันค้นพบคือเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งส่วนใหญ่ล้วนจบชีวิตลงที่การฝังกลบซึ่งสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก แม้ว่าขยะสิ่งทอในหลุมฝังกลบกว่า 95% จะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ก็ตาม ทอมป์สันกล่าวว่า ปีหนึ่ง ๆ จะมียูนิฟอร์มราว 100-200 กิโลกรัมถูกทิ้งจากแต่ละโรงเรียนในออสเตรเลีย ในขณะที่มีรายงานว่า สิ่งทอมากกว่า 300,000 ตันถูกทิ้งในรัฐนิวเซาท์เวลส์ทุกปี ซึ่งกว่า 240,000 ตันจบลงที่หลุมฝังกลบ เฉลี่ยได้ว่าชาวออสเตรเลียแต่ละคนจะทิ้งขยะสิ่งทออย่างน้อยถึงคนละ 23 กิโลกรัมต่อปี “ดังนั้น ฉันจึงขอให้โรงเรียนในท้องถิ่นของฉันเข้าร่วมโครงการนำร่องของ Worn Up และพวกเขาต่างกระตือรือร้นกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับสภาท้องถิ่นของฉัน”

หลังจากการประสานงานผ่านสภาท้องถิ่นและโรงเรียนหลายสิบแห่ง Worn Up สามารถรวบรวมเครื่องแบบจากโรงเรียนและคณะได้กว่า 55 ตัน และได้ทำการเปลี่ยนมันให้กลายเป็นส่วนประกอบสำหรับวัสดุใหม่ที่เรียกกันว่า “FABtech” ซึ่งมีส่วนประกอบของเส้นใยยูนิฟอร์มที่ไม่ใช้แล้วและพลาสติกจากหลุมฝังกลบ “เสื้อผ้านั้นขึ้นชื่อว่ายากที่จะรีไซเคิล ในขณะเดียวกัน ขยะพลาสติกน้อยกว่า 10% จาก 2.5 ล้านตันที่ชาวออสเตรเลียสร้างขึ้นในแต่ละปีถูกนำไปรีไซเคิล เราอยากที่จะลองแก้ปัญหาทั้งสองนี้ไปพร้อมกัน แต่มันไม่มีอะไรในตลาดที่ทำส่วนนี้เลย ดังนั้นเราเลยคิดค้นมันขึ้นมา” โดยวัสดุที่ได้นั้นจะมีลักษณะแข็ง สีสันสะดุดตา สามารถใช้สร้างผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น โต๊ะนักเรียน หรือเก้าอี้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ใด ๆ ก็ตามคืนกลับไปสู่ห้องเรียนที่ต้องการได้ ทั้งยังกลายเป็นสื่อการสอนให้คุณครูพูดถึงเรื่องกระบวนการปฏิรูปสิ่งทอให้เป็นวัสดุใหม่ได้ด้วย

ทอมป์สันยังได้ติดต่อองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation-CSIRO) ผ่านโปรแกรม “Kick-Start” เพื่อพัฒนาและรับรองวัสดุ FABtech นี้ สำหรับการดึงดูดนักลงทุนต่อไป

เมล เดลโอลิโอ นักวิทยาศาสตร์การทดลองอาวุโสของ CSIRO กล่าวว่า “นักวิทยาศาสตร์ของเราใช้เวลาหกเดือนในการทำงานร่วมกับทอมป์สันและทีมของเธอ เพื่อประเมินผลิตภัณฑ์ ดูเป้าหมายระยะยาวของพวกเขา และดูว่าจะปรับปรุงสูตรได้อย่างไร” จนได้เป็นผลิตภัณฑ์เวอร์ชันอัปเกรดที่แข็งแรงขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความเป็นไปได้ที่ดีขึ้นและความน่าเชื่อถือที่มากขึ้นแล้ว “การมีส่วนร่วมของ CSIRO ยังช่วยให้เราเอาชนะความเข้าใจผิดของผู้คนที่ว่า ของเสียนั้นไม่อาจดีเท่ากับวัสดุบริสุทธิ์ และเราจำเป็นต้องปัดเป่าความเชื่อผิด ๆ นั้นออกไป หากเราจะเอาจริงเอาจังกับการรีไซเคิลในประเทศนี้” ทอมป์สัน กล่าว

ทั้งนี้ Worn Up เป็นบริการแบบชำระเงินเนื่องด้วยค่าใช้จ่ายระหว่างกระบวนการ แต่โรงเรียนหลายแห่งก็ยินดีจ่ายเพื่อโลกที่น่าอยู่ขึ้น รวมถึงหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของรัฐนิวเซาท์เวลส์ (EPA) ก็ได้เห็นความสำคัญและสนับสนุนโครงการ “Worn Up Textile Rescue Program” ผ่านการให้ทุนช่วยเหลือมูลค่า 100,000 ดอลล่าร์จากโครงการ Circulate ของ EPA ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงโรงเรียนในชนบทและธุรกิจขนาดใหญ่

อแมนดา เคน EPA Organics Manager กล่าวว่า Worn Up เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับสิ่งทอที่ถูกทิ้ง “Worn Up ช่วยกันสิ่งทอที่ใช้ซ้ำได้ออกจากการฝังกลบ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างงานในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดการปล่อยมลพิษ”

WornUp_780x439.jpg

facebook.com/Wornup1

มากไปกว่านั้น ความสนใจของเด็ก ๆ ที่มากขึ้นในเรื่องผลกระทบของสิ่งทอต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกความสำเร็จที่ทอมป์สันภาคภูมิใจอย่างยิ่ง “เราเห็นการตอบรับอย่างท่วมท้นจากโรงเรียน พวกเขากระหายซึ่งข้อมูล และการเปลี่ยนแปลงที่พิสูจน์ได้ เช่น ยูนิฟอร์มของฉันส่งตรงไปเป็นโต๊ะ” เธอกล่าวในขณะที่เล่าเรื่องของเด็กชั้นประถมคนหนึ่งที่พูดในคาบเรียนว่า “กางเกงขาสั้นของผมเป็นแบบ 50/50 ผ้าฝ้ายออร์แกนิก 50 มันจึงประหยัดน้ำได้ 3,000 ลิตร และโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 50 ดังนั้นจึงไม่ได้มีปิโตรเลียมอยู่ในนั้น งั้น ครูสมิธ กางเกงของครูทำมาจากอะไร แล้วครูรู้ตัวแค่ไหนฮะ”

การดำเนินการของ Worn Up ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ได้ช่วยชีวิตเหล่ายูนิฟอร์มให้ออกจากหลุมฝังกลบแล้วมากกว่า 100 ตัน จากการรวบรวมชุดนักเรียนแบบเก่าหรือชุดที่ชำรุดและฉีกขาดจากโรงเรียนทั่วชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย โดยความท้าทายของทอมป์สันในระดับต่อไปก็คือ การค้นหาว่าวัสดุนี้จะสามารถใช้ในโปรเจ็กต์อาคารพาณิชย์ได้อย่างไร ส่วนในระยะยาว ทอมป์สันก็หวังว่า FABtech จะได้รับการยอมรับและถูกใช้งานทั่วโลกในนามของผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลีย และกลายเป็นโมเดลให้ทั่วโลกได้ปฏิบัติตาม

ทั้งนี้อีกหนึ่งคำสำคัญที่ทอมป์สันเน้นย้ำอยู่เสมอก็คือ “ความร่วมมือ” ระหว่างกันที่จะช่วยให้โมเดลที่ยั่งยืนนี้สำเร็จ ซึ่งตัวเธอเองก็ยังคงเปิดรับและเสาะหาความร่วมมือเพื่อโลกที่ดีขึ้นต่อไป

1Global Organic Textile Standard หรือมาตรฐานสิ่งทออินทรีย์สากล เกิดขึ้นเพื่อกำหนดข้อกำหนดอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันสำหรับสิ่งทอออร์แกนิก ตั้งแต่กระบวนการเก็บเกี่ยว กระบวนการผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ไปจนถึงขั้นตอนการติดฉลาก

ที่มา : บทความ “Helping a start-up to transform fabric into furniture” โดย Rebecca Willetts จาก ecos.csiro.au
บทความ “Worn Up and its sister company Sustainable Schoolwear are transforming the school uniform sector.” จาก acehub.org.au
บทความ “Worn Up gives old school uniforms a brand-new life” โดย Abbey Halter จาก canberraweekly.com.au
บทความ “Recycled school uniforms fashioned into furniture” จาก epa.nsw.gov.au
บทความ “St Peter’s environmental initiative sees uniforms worn out for a good cause” จาก stagnesparish.org.au
บทความ “ใบรับรองสำหรับผลิตภัณฑ์ อินทรีย์” จาก cleanglobeint.co.th
เว็บไซต์ global-standard.org
เว็บไซต์ sustainableschoolwear.com
เว็บไซต์ wornup.com

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0