โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุณกำลังไม่มีสมาธิอยู่ใช่ไหม? มาลองวิธีง่ายๆ เหล่านี้ดูสิ!

Mission To The Moon

เผยแพร่ 06 ต.ค. 2564 เวลา 13.00 น. • Pattraporn Hoy

 

อ่านหนังสือกี่รอบก็จำเนื้อหาไม่ได้เสียที ฟังอะไรก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา จดจ่อกับอะไรนานๆ ไม่ได้สักอย่าง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นนะ? 

.

เป็นเพราะว่าเราไม่มี ‘สมาธิ’ อย่างไรล่ะ

.

ถ้าอยากรู้ว่าทำไมจู่ๆ สมาธิของเราถึงหายไป แล้วก็ไม่รู้ว่าจะกู้มันกลับมาอย่างไร มาหาคำตอบกันผ่านหนังสือ “The Power of Output” กัน มันจะให้คำตอบเราเอง!

.

จากหนังสือ The Power of Output ผู้เขียนบอกไว้ว่ากฎของ Input คือ ห้ามอ่าน ฟังหรือดูไปพร้อมๆ กัน สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจ หลังจากนั้นเราต้องเข้าใจคำจำกัดความของ Input และ Output ได้ Input คือการฟังและการอ่าน ส่วน Output คือการพูด การเขียนและปฏิบัติ 

.

ผู้เขียนยังบอกอีกว่า Input มีสองรูปแบบด้วยกัน คือ Input ที่ ‘แท้จริง’ กับ Input ‘ปลอม’ แบบแรกคืออ่านโดยละเอียด อ่าน ดูหรือฟังแบบตั้งใจ  ส่วนแบบที่สองคืออ่านไปอย่างนั้น อ่าน ดูหรือฟังผ่านๆ ถ้าพูดให้เห็นภาพ Input ปลอมคือการที่เราเข้าห้องเรียนไป 50 นาที แต่เราไม่รู้เรื่องเลย หรือเป็นการที่เราประชุมไปหนึ่งชั่วโมง แต่เราจับประเด็นหัวข้อสนทนาไม่ได้เลย 

.

กฎข้อแรกที่จะทำให้เรามี Input ที่แท้จริงคือ การปรับข้อมูลจากการฟัง ดู แล้วเก็บข้อมูลส่วนนั้นไว้ เขียน จดและจำผ่านการเขียนหรือวิธีการเก็บข้อมูลอื่นๆ ที่เราสามารถมองเห็นและจับต้องได้

.

กฎข้อที่ 2 จัด Input กับการกำหนดเป้าหมายให้เป็นเส้นคู่กัน สิ่งนี้จะทำให้สมาธิดีขึ้น เพราะว่า ถ้าเป้าหมายของ Input ไม่ชัดเจน ความถูกต้องในการรับ Input จะถูกตัด เวลาที่เราทำ Input ด้วยการเรียนรู้อะไรสักอย่าง เช่น เรียนหนังสือ อ่านหนังสือ หรือเข้าคอร์สเรียนพิเศษต่างๆ เราต้องตั้งทิศทางและเป้าหมายไว้เสมอ ใช้เวลาแค่นิดเดียวเท่านั้น มันจะช่วยเพิ่มความถูกต้องในการทำ Input ได้อย่างก้าวกระโดด

.

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะเรียนภาษาอังกฤษ ให้คิดว่าทำไมจึงเรียน เราอาจจะเรียนเพราะต้องการไปเรียนต่อต่างประเทศ คีย์เวิร์ดคือภาษาอังกฤษ ส่วนเรียนต่อต่างประเทศคือคีย์เวิร์ดแสดงทิศทาง

.

หลังจากนั้นก็ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเรียนแล้วอยากทำอะไรต่อ สมมติว่าเราอยากเรียนเพราะว่าเราอยากร่วมโปรแกรม Working Holiday ที่ออสเตรเลีย ก็ฟังดูเป็นรายละเอียดที่ชัดเจนพอสมควรว่าเราต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษเท่าไรจึงจะไปได้ แล้วเราจะไปได้เมื่อไร เช่น 2022 เป็นต้น เมื่อเรากำหนดทิศทางอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ได้แล้ว เราจะรู้ว่าต้องซื้อหนังสือเรียนแบบไหน เรียนพิเศษที่ไหนดี 

.

แต่ถ้าเราคิดว่าการเรียนภาษาอังกฤษ ‘น่าจะ’ มีประโยชน์ แต่ไม่รู้ว่าอยากได้ความรู้มากแค่ไหน อยากสอบได้คะแนนเท่าไร หรือจะเอาภาษาอังกฤษไปใช้ทำอะไร เมื่อไม่รู้เป้าหมายการเรียน เราจะไม่สามารถเลือกวิธีเรียนหรือตำราเรียนได้อย่างหมาะสม ดังนั้น เราจะต้องจับคู่ Input กับการกำหนดเป้าหมายให้เหมาะสม

.

และกฎข้อสุดท้ายของ Input ซึ่งเป็นกฎการพัฒนาตนเองที่สำคัญที่สุดจากหนังสือ The Power of Output นั่นก็คือการใช้ Input คู่กับ Output ควบคู่ไปด้วยกัน 

.

Input กับ Output เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน การทำสองสิ่งนี้และทำ ‘ฟีดแบ็ก’ วนไปเรื่อยๆ จะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ แต่ปัญหาจริงๆ ที่เราเจอในชีวิตประจำวันคือเราต้องทำ Input และ Output ไปพร้อมๆ กัน เช่น การแข่งขันเทนนิส เราต้องมองบอลและการเคลื่อนไหวของคู่แข่งไปพร้อมกับการคาดเดาของการเคลื่อนไหวต่อไปของอีกฝ่าย พร้อมกับขยับเท้าตัวเองไปด้วย

.

สรุปคือ เราต้องรับข้อมูลซึ่งเป็น Input ไปพร้อมกับการปฏิบัติซึ่งเป็น Output หากเรารอจนกว่าจะจับตำแหน่งของบอลให้ได้ก่อน แล้วค่อยขยับเท้า ย่อมตามลูกบอลไม่ทันแน่นอน

.

การสนทนากับผู้คนในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน การฟังคือ Input การพูดคือ Output แต่เราไม่ได้ทำสองสิ่งนี้สลับกัน ขณะที่เราฟัง เราต้องคิดไปด้วยว่าเราจะตอบอะไร ดังนั้น ในความเป็นจริง เราแทบจะฟังและพูดไปพร้อมๆ กัน

.

การฟังพร้อมกับจดโน้ตก็เช่นกัน เราไม่ได้จดโน้ตเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งพูด แต่เราฟังที่เป็น Input และเขียนที่เป็น Output ไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้เอง สองสิ่งนี้ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน และมักจะเป็นการกระทำที่ต้องทำแทบจะพร้อมกันหรือทำในเวลาเดียวกัน

.

เพราะฉะนั้น สามารถสรุปได้ว่า Input และ Output เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน และหากจะเปรียบเทียบกับเหรียญห้าร้อยเยน Input คือด้านหน้าของเหรียญ Output คือด้านหลังของเหรียญ ถึงเราจะต้องการจ่ายเงิน 250 เยนก็ไม่สามารถลอกเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของเหรียญออกมาเพื่อจ่ายเงินได้

.

บอกได้ว่า Input และ Output เป็นของคู่กันที่ไม่อาจตัดขาดกันได้ หากเราใช้ประโยชน์จากลักษณะของทั้งสองสิ่ง คือการทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน จะช่วยให้เราจดจำได้ดีขึ้น และยังทำให้การเรียนรู้หรือการทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย

.

นอกจากกฎ 3 ข้อของ Input ที่จะทำให้เราจำสิ่งต่างๆ ได้ดี มีระบบการทำงานที่เป็นไปอย่างราบรื่นแล้ว การทำสมาธิเป็นอีกวิธีง่ายๆ ที่ช่วยทำให้เรากลับมาจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าได้นานขึ้น ซึ่งในปัจจุบันก็มีตัวช่วยหลากหลายที่ทำให้การทำสมาธิมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยวิธีนั้นก็คือ…

.

‘การใช้แอปพลิเคชันทำสมาธิ’

.

ในปัจจุบัน มีแอปพลิเคชันการทำสมาธิให้เลือกหลากหลาย เช่น Headspace, Calm หรือ Insight Timer เป็นต้น ต้องบอกว่าเหตุผลที่ในช่วงหลายๆ ปีมานี้ คนสนใจการทำสมาธิกันเยอะขึ้น เป็นเพราะความทุกข์ของคนเราส่วนใหญ่เกิดจากอดีต หรือไม่ก็อนาคต ส่วนการที่เราอยู่กับปัจจุบันคือคอนเซ็ปต์อย่างหนึ่งของการทำสมาธิผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ณ เวลานั้นเราไม่กังวลถึงอนาคตและไม่โหยหาอดีต การทำสมาธิเป็นช่วงเวลาเล็กๆ ที่ทำให้เรานิ่งและสงบมากขึ้น  และจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น 

.

หลักการของการทำสมาธิคือทำอย่างไรให้เรามีความคิดอยู่กับปัจจุบันได้ และฝึกทำสมาธิบ่อยๆ 

.

การทำสมาธิแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน เพียง 3 นาทีก็สามารถทำให้เรากลับมามีสมาธิได้แล้ว และไม่จำกัดว่าต้องเป็นช่วงก่อนนอนหรือก่อนพรีเซนต์งาน เราสามารถทำระหว่างวันการทำงานที่ออฟฟิศ ทำที่บ้าน หรือทำสมาธิก่อนที่เราจะทำสิ่งสำคัญ เช่น ไปหาลูกค้า ดีลงาน ประชุมสำคัญ เป็นต้น งานสำคัญเช่นนี้เราควรจะทำสมาธิสัก 10 นาที และไม่ต้องยึดติดกับท่านั่งมากนัก  สามารถนั่งอยู่บนเก้าอี้ง่ายๆ และรวบรวมสมาธิก็พอ

.

.

อ้างอิง:

หนังสือ “The Power of Input ศิลปะของการเลือก-รับ-รู้” โดย ชิออน คาบาซาวะ

.

#missiontothemoon

#missiontothemoonpodcast

#inspiration

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0