คนไทยคุ้นเคยกับโรคกระเพาะอาหาร เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอาการเรอเปรี้ยวหรือมีรสขมในปาก ปวดแสบร้อนในช่องท้องส่วนบน ปวดบริเวณหน้าอก ก็จะคิดไว้ก่อนว่านั่นเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทั้งที่ความจริงแล้วอาจจะเป็นโรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD)
รู้หรือไม่
คนไทยจะพบโรคนี้ประมาณ 7.4% ซึ่งมากกว่าเบาหวาน ซึ่งจะพบแค่ 4% ของประชากรเท่านั้น แต่ผู้ที่มีโรคนี้ประมาณ 40% จะไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน
"กินเผ็ด" ทีไรแสบท้องทันที อาการนี้มีโอกาสเป็นโรคอะไรบ้าง
แนะสารพัดวิธีดูแลตนเอง ให้ห่างไกล "โรคกระเพาะอักเสบ"
รู้จักโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้
โรคกรดไหลย้อน มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ลักษณะของโรคคือการที่มีกรดไหลย้อนขึ้นจากกระเพาะอาหารมาที่หลอดอาหาร โรคกรดไหลย้อนมักพบได้จากการที่มีการอักเสบของหลอดอาหาร โรคกรดไหลย้อน ซึ่งมีผลกระทบได้ในทุกช่วงอายุ และวิถีชีวิตในแถบยุโรป พบได้ในผู้ใหญ่ ประมาณ 20 – 40% ซึ่งอาการที่พบเป็นประจำคืออาการแสบยอดอก
โรคกรดไหลย้อนจะพบได้มากในทุกกลุ่มอายุ แต่ที่พบมากและมักจะมีอาการรุนแรงจะเป็นกลุ่มคนอ้วน ยิ่งกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น
ปวดในช่องท้อง สัญญาณเตือน 9 โรคอันตราย อย่านิ่งนอนใจจนโรคลุกลาม
ภาวะกรดไหลย้อน
- ภาวะไหลย้อน (GER) เกิดจากสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลเข้าสู่หลอดอาหาร
- ภาวะไหลย้อน (GER) เกิดขึ้นเป็นปกติในทารกและเด็กและจะหายไปเองเมื่อเติบโตขึ้น
- ภาวะไหลย้อน (GER) อาจทำให้เกิดการอาเจียน ไอ เสียงแหบ และเจ็บปวดขณะกลืน
อาการกรดไหลย้อน
อาการของโรคกรดไหลย้อนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการนอกหลอดอาหารจะมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ซึ่งหากเจ็บคอเรื้อรังแต่หาสาเหตุไม่พบส่วนใหญ่ 70% จะเป็นโรคกรดไหลย้อน ส่วนที่มีอาการในหลอดอาหารจะมีการอักเสบ
ผู้ป่วยด้วยโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการแสบยอดอก เรอเปรี้ยว ภาวะนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบหรือเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรง จนทำให้ปลายหลอดอาหารตีบ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหารได้ บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
แต่เท่าที่พบผู้ป่วยบางรายไม่ได้มาด้วยอาการแสบยอดอก เรอเปรี้ยว แต่มาพบแพทย์ด้วยอาการของโรคหู คอ จมูก เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง มีกลิ่นปาก หรืออาจมาด้วยอาการทางระบบหายใจ เช่น หอบหืด บางรายก็มาด้วยอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งเมื่อวินิจฉัยแล้วไม่พบโรคอื่นก็จะส่งมาที่แผนกและส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน
แสบร้อนยอดอก อีกหนึ่งอาการเตือนจาก “โรคนิ่วในถุงน้ำดี”
ระดับภาวะกรดไหลย้อน
ภาวะที่มีการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าหลอดอาหารแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับที่ 1 เป็นระดับที่อ่อนที่สุด คือ เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง หรือนาน ๆ เป็นทีแล้วก็หายไป มีภาวะไหลย้อนนิดหน่อย ไม่มีอาการอะไรที่รบกวนสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นความปกติของร่างกาย เรียกว่า ภาวะการไหลย้อนที่กระเพาะอาหาร (Gastroesophageal Reflux – GER)
- ระดับที่ 2 คือ เกิดภาวะไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารเฉพาะบริเวณใกล้ ๆ กับกระเพาะอาหาร มีอาการที่รบกวนสุขภาพ อย่างนี้เรียกว่า โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease – GERD)
- ระดับที่ 3 คือ เกิดภาวะไหลย้อนที่รุนแรง คือ ไหลเข้าสู่หลอดอาหารย้อนขึ้นมาจนถึงคอ อย่างนี้เรียกว่า โรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ (Laryngopharyngeal Reflux – LPR)
ตรวจวินิจฉัยและรักษากรดไหลย้อน
การตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนไม่แนะนำให้ใช้วิธีส่องกล้อง ยกเว้นในรายที่มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง ถ่ายอุจจาระสีดำ เพราะการส่องกล้องจะวินิจฉัยได้เพียง 10 – 30% เท่านั้น หากรักษาด้วยการใช้ยารักษา ซึ่งใช้ดีที่สุดในกลุ่มคนไข้ที่มีการอักเสบของหลอดอาหาร หากให้ยาแล้ว 2 สัปดาห์อาการดีขึ้นก็ให้สันนิษฐานว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน
การปรับพฤติกรรมการกิน การนอน สามารถช่วยรักษากรดไหลย้อนได้ 20% แต่หากใช้ยาในการรักษาจะหายได้ 80 – 100%
แต่หากรักษาด้วยยาไม่ได้ผลก็จะใช้วิธีการผ่าตัดด้วยการผูกหูรูดกระเพาะอาหารเพื่อไม่ให้กรดไหลย้อน แต่การผ่าตัดต้องใช้ฝีมือศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น
อาหารเลี่ยงห่างโรคกรดไหลย้อน
อาหารบางชนิดก็ทำให้มีอาการแย่ลง เช่น
- ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
- ช็อกโกแลต
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- อาหารทอดและมีไขมันมาก
- หัวหอมและกระเทียม
- อาหารที่มีมินต์
- อาหารรสจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด
- อาหารที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนผสม เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ซอสในสปาเกตตีหรือพิซซ่า
วิธีลดภาวะกรดไหลย้อน
- เลิกสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้อาการแย่ลง อาทิ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต กาแฟ น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
- ถ้าอ้วนให้ลดน้ำหนักลง
- ทานครั้งละน้อย ๆ ในแต่ละมื้อ แต่ทานบ่อยขึ้น
- สวมเสื้อผ้าหลวม ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดรูปจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการนอนภายใน 3 ชั่วโมงหลังอาหาร
- นอนหนุนเตียงให้ด้านหัวสูง 6 – 8 นิ้ว การใช้หมอนหนุนจะไม่ได้ผล เนื่องจากมีการงอบริเวณลำตัว
- หากอาการไม่รุนแรงนัก การออกกำลังกายโดยการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องจะช่วยให้การบีบรัดของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ
ความเห็น 0