โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ดีมานด์ “ทองคำ” ในตลาดสูงต่อเนื่อง หลบภัยภาวะวิกฤตเศรษฐกิจผันผวน

Manager Online

เผยแพร่ 10 ส.ค. 2565 เวลา 15.25 น. • MGR Online

“ทองคำ” แหล่งหลบภัยในภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยพุ่ง อีกทั้งดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หนุนการลงทุนในทองคำมีต่อเนื่อง แม้Q2 ดีมานด์ทองคำวูบ สวนทางตัวเลขครึ่งแรกปี 65 เพิ่มขึ้น 12% หรือที่ 2,189 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ 64 ด้าน“สภาทองคำโลก” เผยเหตุเพราะภาคอิเล็กทรอนิกส์ประสบปัญหาการหยุดชะงักของสายการผลิตอีกทั้งความต้องการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลด เหตุวิกฤตค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะความต้องการทองคำในไทย เพิ่ม 14% ด้าน " วายแอลจี"เผยระยะสั้นทองคำโลกมีลุ้นรีบาวด์เหตุตลาดกังวลเศรษฐกิจสหรัฐชะลอและเงินบาทอ่อนค่า ส่วนทองคำในประเทศยังดีต่อเนื่อง ระยะสั้นมีลุ้น 31,000 บาทต่อบาททองคำ

เมื่อเศรษฐกิจโลกเจอแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงง่าย ๆ อีกทั้งจีนที่ Lockdown ส่งผลกระทบต่อฝั่งอุปทาน (Supply Chain) แม้ว่าราคาน้ำมันอาจผันผวนและปรับลดลงบ้าง แต่ภาวะสงครามยูเครนกับรัสเซียที่มีความยืดเยื้อ ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน ส่งผลให้เกิดความผันผวนกับสินทรัพย์ต่างๆ ต่อเนื่องยาวกระทั่งปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปี 2565 นักวิเคราะห์คาดว่าราคาทองจะยังคงพุ่งขึ้นต่อไป เพราะสถานการณ์ในยูเครนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่งผลให้ตลาดทองคำทั่วโลกเปิดตัวเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเพราะความต้องการของผู้บริโภคในไตรมาสแรก (ไม่รวมการซื้อขายแบบไม่เป็นทางการ หรือ OTC) เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลจากกระแสเงินทุนที่แข็งแกร่งในกองทุนรวมดัชนี (ETF) ชี้ให้เห็นถึงสถานะทองคำที่เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่มีความปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจผันผวน

โดยเฉพาะหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยแรงสุดในรอบ 28 ปี และคาดว่าจะปรับขึ้น 0.75% อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งตลาดการเงิน หรือ Fed Fund Futures คาดการณ์ว่า Fed อาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 3.50 –3.75 % ภายในปี 2565 นี้ นั่นย่อมจะส่งผลให้สินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกจะเผชิญความผันผวนต่อไป

"ทองคำ" สินทรัพย์ที่ถูกมองว่าเหมาะจะเป็นแหล่ง "หลบภัย" ที่ดีที่สุดเพราะนักลงทุนจะหันมาเก็บหรือซื้อทองคำไว้ในมือแทนการลงทุนในสินทรัพย์อื่น เมื่อเกิดวิกฤตหรือเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นในระบบ

สภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยความต้องการของทองคำทั่วโลก (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) ในไตรมาส 2 ดิ่ง 8% มาอยู่ที่ 948 ตัน เมื่อเทียบปีก่อน ขณะที่กระแสเงินลงทุนจาก ETF ที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1 กลับเป็นแรงผลักให้ความต้องการทองคำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 12% หรือที่ 2,189 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ 2564

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปีนี้พบว่าความต้องการทองคำของผู้บริโภคในไทยเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบเป็นรายปี กล่าวคือ จาก 7.5 ตัน ในไตรมาส 2/2564 ไปเป็น 8.5 ตัน ในไตรมาส 2/2565 ด้วยแรงหนุนจากความต้องการอัญมณีที่สูงขึ้น 10% จาก 1.7 ตัน ในไตรมาส 2/2564 เป็น 1.9 ตัน ในไตรมาส 2/2565 และความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำพุ่ง 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี จาก 5.7 ตัน ในไตรมาส 2/2564 มาเป็น 6.6 ตัน ในไตรมาส 2/2565 ทั้งนี้ การใช้เครื่องประดับได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การผ่อนคลายมาตรการด้านโควิด-19 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

นายแอนดรูว์ เนย์เลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาค APAC (ไม่รวมประเทศจีน) ของสภาทองคำโลกกล่าวว่า “ครั้งนี้นับเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันที่ได้เห็นความต้องการของอัญมณีในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาทองคำที่ลดลง รวมถึงความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน ท่ามกลางปัญหาเงินบาทอ่อนค่าและความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องประดับทั่วโลกยังคงสูงกว่าการบริโภค เนื่องจากความต้องการในภาคส่วนนี้ยังคงต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด”

เมื่อพิจารณาจากภาพรวมของดีมานส์ทั่วโลกแล้วหลังจากที่มีกระแสความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นช่วงแรกในเดือนเมษายนราคาทองคำกลับปรับลดในไตรมาส 2/2565 เนื่องจากนักลงทุนหันไปสนใจอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ราคาทองคำที่ลดลง 6% ในไตรมาสนี้ส่งผลกระทบต่อ ETF ทองคำ ทำให้เกิดการไหลออกที่ 39 ตัน ในไตรมาส 2 การไหลเข้าสุทธิในครึ่งปีแรกคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 234 ตัน เทียบกับ 127 ตัน ของการไหลออกในครึ่งปีแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม การลดลงในไตรมาส 2 มีแนวโน้มทำให้ ETF อ่อนลงในช่วงครึ่งปีหลัง หากภาพรวมเงินเฟ้อลดลงท่ามกลางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำยังคงทรงตัวอยู่ที่ 245 ตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี ในไตรมาส 2 ความต้องการที่เพิ่มขึ้นชี้ชัดว่ามาจากตลาดอินเดีย ตะวันออกกลาง และตุรกี ซึ่งช่วยพยุงในส่วนของความต้องการที่ลดลงของจีน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ดีมานส์ทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกจึงตกลงมาที่ 12% มาอยู่ที่ 526 ตัน ในครึ่งปีแรก เมื่อเทียบเป็นรายปี

ขณะที่ ภาคส่วนของอัญมณีนั้น พบว่า ดีมานส์ทองคำในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 4% มาอยู่ที่ 453 ตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของดีมานส์ในอินเดีย นับว่าเพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564 ผลประกอบการที่แข็งแกร่งในอินเดียช่วยลดแรงปะทะจากดีมานส์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญกว่า 29% ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและการจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางต่าง ๆ นับเป็นผู้ซื้อสุทธิในไตรมาส 2 โดยเพิ่มทุนสำรองทางการทั่วโลกที่ 180 ตัน การซื้อสุทธิสูงถึง 270 ตันในครึ่งปีแรก ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของธนาคารกลางเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ 25% ของผู้ทำแบบสอบถามชี้ถึงแผนที่จะเพิ่มการสำรองทองคำในอีก 12 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้เมื่อหันไปมองภาคเทคโนโลยี จะเห็นว่าดีมานด์ทองคำลดลง 2% จากไตรมาส 2 ปี 64 ที่ 78 ตัน ส่งผลให้ความต้องการในครึ่งปีแรกของปี 65 ลดลงเล็กน้อยที่ 159 ตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี ภาคอิเล็กทรอนิกส์ยังคงประสบปัญหากับการหยุดชะงักของสายการผลิต อีกทั้งความต้องการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภคยังลดลง เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยทั้งสองปัจจัยนี้มีผลต่อดีมานด์ที่ลดลงมาเล็กน้อย

ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูล Gold Demand Trends พบว่าการทำเหมืองในช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,764 ตัน เพิ่มขึ้น 3% ในครึ่งปีแรกของปี 64 การผลิตได้รับแรงหนุนจากการที่บางโครงการขุดแร่ทองคำที่มีคุณภาพสูงขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของจีนกลับมาสร้างผลผลิตได้ในระดับปกติ หลังจากการหยุดเดินเครื่องเพื่อความปลอดภัยเมื่อปีที่ผ่านมา ราคาทองคำที่สูงขึ้นในไตรมาส 1 และภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองได้เพิ่มกิจกรรมการรีไซเคิลให้สูงขึ้น โดยการรีไซเคิลช่วงครึ่งปีแรกทั้งหมดอยู่ที่ 592 ตัน เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

Ms. Louise Street นักวิเคราะห์อาวุโสประจำภูมิภาค EMEA ของสภาทองคำโลกให้ความเห็นว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 65 ตลาดทองคำทั่วโลกได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ มันยังต้องปะทะกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และแม้ว่าจะเห็นราคาที่ลดลงจากระดับที่สูงเป็นพิเศษในไตรมาส 1 ก็ตาม แต่ทองคำก็ยังนับเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดของปีนี้

“ในอนาคต เราเล็งเห็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับทองคำในครึ่งปีหลังของปี 65 ความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมีแนวโน้มผลักดันให้เกิดการลงทุนในทองคำต่อไป แต่การตึงตัวของค่าเงินและดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดปัญหาได้ และเนื่องจากหลายประเทศกำลังเผชิญหน้ากับความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและวิกฤตค่าครองชีพยังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจำกัดการใช้จ่าย ความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดลง แม้ว่าควรจะมีจุดแข็งอยู่บ้างก็ตาม”

YLG เผยระยะสั้นทองคำโลกลุ้นรีบาวด์

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLGตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (TFEX) เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดไปแล้ว 0.75% ในการประชุมเดือนก.ค. และเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ล่าสุดนักลงทุนเริ่มหันไปให้ความสนใจกับประเด็นความกังวลเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัว และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามากดดันเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งต่อไป โดยล่าสุดภาคเอกชนได้ออกมาคาดการณ์ว่าผลประกอบการณ์ไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐจะออกมาต่ำกว่าที่คาด ทั้งนี้การที่ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัว ถือเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อเฟดในการประชุมครั้งต่อไป และส่งผลดีต่อทองคำ ให้ราคามีโอกาสขยับและปรับตัวขึ้นได้

ทั้งนี้หาก ในระยะสั้นราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาจะถือเป็นจังหวะให้นักลงทุนขายทำกำไรออกไปก่อน เพราะระยะกลางทิศทางทองคำยังเป็นแนวโน้มขาลงในลักษณะพักฐาน อย่างไรก็ดีสำหรับถ้านักลงทุนที่มีทองคำอยู่ในพอร์ตให้รอขาย โดยจับตาดูหากผ่าน 1,784 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไปได้ มองว่าราคาจะปรับระดับขึ้นไปที่ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ซึ่งบริเวณดังกล่าวหากไม่ผ่านแนะนำทยอยขายทำกำไรออกไปก่อนแล้วซื้อเมื่อราคาย่อตัว ที่แนวรับ 1,752-1,745 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตามในระยะยาว 12 เดือน ข้างหน้า หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จะถือเป็นปัจจัยหนุนให้ทองคำกลับมาเป็นขาขึ้นได้อีกครั้ง

โดยทองคำในประเทศระยะสั้นประเมินความเคลื่อนไหวที่ 30,000-31,000 บาทต่อบาททองคำ นักลงทุนที่ถือทองคำราคาในประเทศปีนี้ถือเป็นปีที่ดี เนื่องจากราคาทองคำในประเทศปรับตัวขึ้นจากช่วงต้นปีประมาณ 5% เป็นไปตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจากต้นปีมาประมาณ 9% และในปีนี้ทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในปีนี้การลงทุนทองคำในตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ถือว่ามีความคึกคักมากเช่นกัน เนื่องจากเป็นทางเลือกในการลงทุนที่สามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง นอกจากนี้ปัจจุบัน YLG ได้เพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดฟิวเจอร์สต่างประเทศ ด้วยการร่วมมือกับ CME Group เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่เทรดผ่าน YLG futures สามารถเข้าถึงทุกสินค้าของ CME Group ทุกบริการ เช่น Precious Metal futures ,Oil futures ,Cryptocurrency futures , Forex futures ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งกองทุนสถาบันในการเข้าไปซื้อขายสินค้า พร้อมเชื่อมต่อ Exchange ทั่วทั้งโลกไม่ว่าจะเป็น จีน ฮ่องกง หรือ สิงคโปร์ ทำให้นักลงทุนและนักเก็งกำไรสามารถจัดการกับความเสี่ยงและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเปิดให้บริการตามวันทำการสหรัฐ จึงสามารถลงทุนได้ไม่เว้นวันหยุดราชการของไทย

หวั่นเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนยื้อ ทองคำปลอดภัย

นายอิศรา พุฒตาลศรี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (บลจ.วี)เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยช่วงเดือนที่ผ่านมา จากผลกระทบของการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สะท้อนผ่านตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินไว้ที่ระดับใกล้เคียง 0% เช่นเดียวกับธนาคารของประเทศอื่นๆ ประกอบกับการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ความน่าสนใจในการลงทุนพันธบัตรลดน้อยลง จึงมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากพันธบัตรสู่สินทรัพย์อื่น เป็นปัจจัยที่หนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำและเงินปรับตัวขึ้น

โดยเดือน ก.ค. ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.63% ขณะที่เงินปรับเพิ่มขึ้น 35.41% เป็นการปรับตัวขึ้นเร็วกว่าราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหุ้นบริษัทเหมืองทองคำและบริษัทเหมืองเงินปรับตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าการปรับตัวของราคาทองคำแท่งและเงิน ตลาดเริ่มรับรู้ถึงผลดำเนินงานของเหมือง เนื่องจากขณะที่ราคาสินทรัพย์ทรงตัวในระดับสูง ต้นทุนการจัดการเหมืองยังอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ มองว่า ด้วยแนวโน้มสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นช่วงปลายปีนี้ อาจส่งผลต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยืดเยื้อ ทำให้ตลาดมีความกังวล เงินลงทุนมีการไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย อีกทั้ง Real Yield ที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาทองคำและเงินยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทิศทางราคาทองคำและเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ความต้องการโลหะเงินในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการแพทย์ก็ยังมีสูง เป็นปัจจัยสนับสนุนช่วยผลักดันราคา ดังนั้นการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) โดยลงทุนในหุ้นเหมือนทองคำและเงิน ช่วยสร้างโอกาสได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นด้วย

บล.เมย์แบงก์(กิมเอ็ง) ฯแนะให้จับตาการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม ที่จะประกาศผลในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ หากตัวเลขเริ่มคงที่และไม่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีและส่งผลบวกต่อราคาทองคำและบิทคอยน์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่เคลื่อนไหวผันแปรกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในทางตรงกันข้าม หากตัวเลขเงินเฟ้อยังคงปรับตัวสูงขึ้น ราคาทองคำและบิทคอยน์ อาจจะทรงตัว หรือ ปรับตัวลงเล็กน้อย เพราะอาจจะเกิดคาดการณ์ใหม่ว่า FED จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าเดิมในการประชุมครั้งถัดไป

หากตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มคงที่และเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย สินทรัพย์ที่น่าจะได้รับประโยชน์ คือ “ทองคำ” เพราะถ้าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มอ่อนค่าลง ซึ่งเริ่มเห็นดัชนี DXY ปรับตัวลงมาบ้างแล้ว ทองคำจะปรับตัวขึ้นได้จากความคาดหวังที่จะเป็นสินทรัพย์ที่เอาชนะเงินเฟ้อได้ ซึ่งทองคำยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยน้อยมาก

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0