กรุงเทพมหานครภายใต้การบริหารของผู้ว่าราชการการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ได้นำแพลตฟอร์ม ทราฟฟี ฟองดูว์ (Traffy Fondue) มาใช้เพื่อให้ประชาชนเข้ามาร้องเรียนปัญหา นำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัญหาข้อร้องเรียนต่างได้รับการแก้ไข จากเดิมที่ไม่มี แพลตฟอร์มทราฟฟี ฟองดูว์ ใช้เวลาแก้กันเป็นเดือน แต่ปัจจุบันร่นระยะเวลาเหลือเพียง1-2 วัน
ทราฟฟี ฟองดูว์ ขยายความได้ว่า เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ซึ่งเป็นช่องทางรับแจ้งและจัดการปัญหาเมืองที่พบผ่าน LINE Chatbot เกิดขึ้นมาก่อนที่ชัชชาติ สิทธิพันธ์ จะมาดำรงตำแหน่งผู้ว่ากทม. เริ่มต้นมาจากการพัฒนาของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริการนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง
Traffy Fondueทราฟฟีฟองดูว์ ใช้ เอไอเพื่อที่จะช่วยให้การสื่อสารเรื่องแจ้งปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยี AI มาเป็นตัวช่วยประมวลข้อมูลเรื่องรับแจ้งปัญหาที่ประชาชนแจ้งเข้ามา ตั้งแต่สรุปสาระของปัญหาที่ได้รับแจ้ง คัดแยกประเภทปัญหาจากข้อความ และรูปภาพ จัดลำดับความสำคัญของปัญหา และสามารถเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในแก้ไขปัญหา ที่สำคัญคือการตรวจสอบคำหยาบ คำไม่สุภาพ และเสนอแนะข้อความที่สุภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตอบโจทย์เรื่องที่แจ้งให้แก้ปัญหามากยิ่งขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดี และสะท้อนการบริหารจัดการเมือง ที่มีความโปร่งใสจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
ระบบการร้องเรียนที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงง่าย อีกทั้งยังช่วยคุ้มครองความปลอดภัย ระบบไม่ถามว่าคนแจ้งเป็นใคร แม้กรณีการแจ้งเรื่องทุจริตก็ตาม
ประชาชนและหน่วยงานที่ต้องการใช้ Traffy Fondue สามารถใช้ LINE สแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อน @TraffyFondue เพื่อแชทแจ้งปัญหา และติดตามรายงานอัพเดทการแก้ไขปัญหาได้ ผ่านการแจ้งเตือนในของ LINE Chatbot และข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://www.traffy.in.th/
ล่าสุดเว็บไซต์ https://bangkok.traffy.in.th เพิ่มฟีเจอร์ “สถิติ” ฟีเจอร์ที่แสดงเรื่องที่มีสถานะ “ที่สุด” ในด้านต่าง ๆ จากการแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในแพลตฟอร์ม Traffy Fondue โดยล่าสุดเปิดให้บริการดูข้อมูลสถิติได้ 7 ด้าน ประกอบด้วย
1 .เขตที่ประชาชนพอใจในการแก้ปัญหามากที่สุด
2.เขตที่แก้ปัญหามากที่สุด (%)
3.เรื่องยอดนิยมที่มียอดเข้าชมสูงสุด
4.เรื่องประชาชนถูกใจสูงสุด
5.เรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญสูงสุด
6.เปิดเรื่องใหม่มากสุด (เรื่องแจ้งเดิมที่ปิดงานแล้วแต่ต้องการแจ้งใหม่อีกครั้ง)
7.ปัญหาที่ได้รับการแก้ไขมากสุด
ประชาชนสามารถดูสถิติย้อนหลังในแต่ละเดือนโดยเข้าไปที่เว็บไซต์ https://bangkok.traffy.in.th และกดเลือกไอคอน “สถิติ” จากนั้นกดเลือกหัวข้อเรื่องที่ต้องการดูสถิติ ระบบจะแสดงผลสถิติของเรื่องที่เลือกดู อยากรู้สถิติของเดือนไหนก็เลือกเดือนที่ต้องการได้ เขตไหนทำงานเร็ว แก้ปัญหาไว ถูกใจประชาชน หรือเรื่องไหนฮอตฮิตเป็นที่สนใจของประชาชน ไม่ต้องเดาอีกต่อไป เข้าไปดูที่ฟีเจอร์ “สถิติ” ได้เลย
นอกจากนี้ หัวข้อ “เรื่องสำคัญสุด” ยังเปิดให้ประชาชนกด “โหวต” เพื่อให้ความสำคัญกับปัญหานั้น ปัญหาไหนได้รับคะแนนโหวตสูง กทม. ก็จะยิ่งให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขให้โดยเร็ว
ทั้งนี้ ข้อดีของฟีเจอร์ “สถิติ” คือ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงของคนกรุงเทพฯ และเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจจากประชาชน
ความเห็น 0