โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘พาณิชย์’ ชี้โอกาสธุรกิจเพียบ จากกฎหมายสมรสเท่าเทียม เช็กเลย!!

The Bangkok Insight

อัพเดต 22 เม.ย. เวลา 07.45 น. • เผยแพร่ 22 เม.ย. เวลา 07.45 น. • The Bangkok Insight
‘พาณิชย์’ ชี้โอกาสธุรกิจเพียบ จากกฎหมายสมรสเท่าเทียม เช็กเลย!!

สนค.เผยไทยกำลังจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม สร้างโอกาสหลายธุรกิจ ทั้งโรงแรม จัดงานแต่งงาน ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ประกันภัย การเงิน การให้คำปรึกษาและวางแผนครอบครัว บันเทิงและนันทนาการ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการสำรวจประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

กฎหมายสมรสเท่าเทียม
กฎหมายสมรสเท่าเทียม

จากการสำรวจพบว่า นอกจากจะช่วยยกระดับด้านความเท่าเทียมทางเพศของไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะธุรกิจบริการในหลากหลายสาขา เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจทางการเงิน ธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักหลากหลายเพศ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและนันทนาการ โดยเฉพาะซีรีส์วาย เป็นต้น

ทั้งนี้ มีผลการศึกษาของสถาบันด้านการวิจัย The William Institute ในสหรัฐ พบว่า ภายหลังที่สหรัฐ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศในช่วงปี 2558-2562 สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 3,800 ล้านดอลลาร์ และยังช่วยสร้างการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นถึง 4.5 หมื่นราย

สำหรับธุรกิจบริการที่มีโอกาสเติบโต โดยธุรกิจโรงแรม มีโอกาสเติบโนจากการจัดงานแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA+ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน เช่น ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าชุดแต่งงาน จะขยายตัวตามไปด้วย ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางมาไทย จากการที่มีกฎหมายรองรับและสภาพสังคมที่เป็นมิตร จะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้รู้สึกปลอดภัยและสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจประกันภัยและธุรกิจทางการเงิน ที่จะเติบโตตามคู่รักหลากหลายเพศ ที่จะทำประกันชีวิต กู้เงินซื้อบ้าน ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินร่วมกัน ธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักหลากหลายเพศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและนันทนาการ โดยเฉพาะซีรีส์วาย และการมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลระดับโลก World Pride ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในระดับสากลและก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องของไทย

ดังนั้น ไทยควรใช้โอกาสนี้ในการผลักดันเป็นศูนย์กลางการจัดงานแต่งงานของทุกเพศสภาพในเอเชีย เนื่องจากความพร้อมในด้านกฎหมาย ความเป็นเลิศในด้านการจัดงานและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องของไทย และการมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแต่งงานและฮันนีมูน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายครอบคลุมถึงการอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ภาครัฐต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกในด้านการจดทะเบียนสมรส โดยเฉพาะในเรื่องเอกสาร วีซ่า ระยะเวลาในการดำเนินการ และสนับสนุนให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องในการจัดงานแต่งงานมีมาตรฐานและคุณภาพ เพื่อสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับคู่รักต่างชาติ เพื่อที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมของคู่รัก LGBTQIA+ ทั่วโลกในการแต่งงาน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรไทยได้มีมติเห็นชอบร่าง พรบ.สมรสเท่าเทียม และเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติรับหลักการร่างพรบ.สมรสเท่าเทียมวาระแรกแล้ว และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างกฎหมาย

หากไทยมีกฎหมายดังกล่าว จะช่วยขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมบุคคลในทุกเพศให้สามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมายและสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เท่าเทียมกับคู่รักชาย-หญิง และไทยจะกลายเป็นชาติที่ 37 ของโลกและชาติแรกของอาเซียนที่มีกฎหมายนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter):https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube:https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0