โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ทำไม BTS ราคาไม่เท่ากับ MRT : อะไรคือเหตุผลที่เราทุกคนยอมจ่ายแพง

aomMONEY

อัพเดต 07 ก.พ. 2561 เวลา 18.06 น. • เผยแพร่ 30 ม.ค. 2561 เวลา 09.50 น. • TAXBugnoms
ทำไม BTS ราคาไม่เท่ากับ MRT : อะไรคือเหตุผลที่เราทุกคนยอมจ่ายแพง
ทำไม BTS ราคาไม่เท่ากับ MRT : อะไรคือเหตุผลที่เราทุกคนยอมจ่ายแพง

เรื่องนี้เกิดขึ้นในทวิตเตอร์จากการตั้งคำถามของผู้โดยสารคนหนึ่ง โดยมีการเปรียบเทียบราคาการเดินทางจากต้นสาย และปลายสายที่เหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ตัวพาหนะอย่าง BTS กับ MRT ซึ่งมีราคาที่ไม่เท่ากัน 

โดยเทียบจาก BTS สถานีศาลาแดง – อโศกราคาอยู่ที่ 37 บาท กับ MRT สถานีสีลม - สุขุมวิทจ่ายแค่ 23 บาท ซึ่งมีราคาแตกต่างถึง 14 บาทหรือต่อให้เทียบกันในราคาสูงสุด จาก BTS ศาลาแดง ไป BTS หมอชิต 44 บาท กับ MRT สีลม ไป MRT สวนจตุจักร แค่ 42 บาท MRT ก็ยังถูกกว่าอยู่ดี

ในฐานะที่เป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง มองว่าประเด็นนี้น่าสนใจในเชิงการสังเกตและตั้งข้อสงสัยของผู้บริโภค แต่เมื่อเราลองไปศึกษาดูในเบื้องต้นพบว่าจำนวนสถานีไม่เท่ากัน และในมุมของการดำเนินงานด้านราคาของ BTS และ MRT ยังพบว่าความยืดหยุ่นราคาตั๋วนั้น BTS กลับทำได้น่าสนใจกว่า MRT ที่ต้องจ่ายต่อรอบตามระยะในราคาที่กำหนดไว้ ในขณะที่ BTS มีการทำแพคเกจราคาตั๋วเฉลี่ยต่อเที่ยวได้ดี 

ลองเที่ยวเดินทางสำหรับบุคคลทั่วไป

50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท

40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท

25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท

15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท

เที่ยวเดินทางสำหรับนักเรียนนักศึกษา

50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท

40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท

25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท

15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท

ถึงแม้ว่าการซื้อแพคเกจต่อรอบ ราคายังคงน้อยกว่าจากโจทย์ที่ตั้งไว้ก็ตาม แต่ถ้าวัดกันโดยภาพรวมในระยะทางที่ยาวกว่า ก็ถือว่าคุ้มค่าพอสมควรในส่วนของ BTS ดังนั้น การซื้อตั๋วในราคาแพคหรือราคาปกติ ก็จะขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการใช้งานของผู้บริโภค แต่ถ้ามีทางเลือกให้ไปถึงปลายทางสำหรับขาจรแล้ว ก็เลือก MRT เพื่อประหยัดราคาน่าจะดีกว่า

แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ทำไมราคามันถึงไม่เท่ากัน?

ทีนี้เราอยากแชร์ประสบการณ์ของมนุษย์เงินเดือนที่ใช้บริการ BTS ในมุมของการซื้อตั๋วแพคเกจที่มีความสำคัญแฝงอยู่เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนยอมลงทุน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายอีกหลายๆ ด้านที่ทำให้เราเห็นราคาส่วนต่างอย่างคุ้มค่า 

จ่ายแพงกว่าทำไม…นั้นมีเหตุผล

จ่ายตั๋วครั้งเดียวไม่ต้องต่อแถวให้นาน 

ถ้าใครเคยมีประสบการณ์ต่อคิวแลกเหรียญตามด้วยต้องไปต่อคิวเพื่อหยอดเหรียญแลกบัตรซ้ำซ้อนอีก น่าจะเข้าใจความรู้สึกกันเป็นอย่างดีว่า มันนานแสนนานขนาดไหน นี่ยังไม่รวมความกดดันเวลาหยอดเหรียญไปแล้วเครื่องมันไม่นับอีกนะ โอ้โห…เกรงใจและกดดันจากคนข้างหลังมากๆ หยอดไปภาวนาไป ขอให้บัตรออกจากเครื่องมาเร็วๆ สาธุ

จ่ายตั๋วครั้งเดียวเพื่อลดความเสี่ยงด้านเวลา

ถึงแม้ว่าความหนาแน่นและราคาของ BTS จะไม่ได้ดั่งใจใครหลายคน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเดินทางเข้าเมืองชั้นใน BTS ยังเป็นตัวช่วยต่อการเดินทางสำหรับมนุษย์เงินเดือนได้ดีเสมอ อย่างน้อยก็พอคำนวณเวลาได้ว่าเราจะไปถึงสถานที่นัดหมายได้ทันเวลา และไม่ต้องไปเสี่ยงกับการนั่งวินมอเตอร์ไซค์บนถนนที่เต็มไปด้วยรถเล็ก รถใหญ่ และไฟแดงอีกหลายๆ แยก 

จ่ายครั้งเดียวเป็นเลขกลมๆ ง่ายต่อการทำบัญชี

จากประสบการณ์นั้น การซื้อตั๋วแบบเป็นแพคเกจรายเดือนจะง่ายต่อการทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย ประจำเดือน เพราะเราจะรู้ว่าค่าเดินทางต่อวันกำหนดอยู่วันละเท่าไหร่ ค่าเดินทางจึงกลายเป็นอัตราคงที่ที่เราสามารถบริหารจัดการได้อย่างชัดเจน ยกเว้นเพียงแต่ในเดือนนั้นคุณจะทำบัตรหล่นหายไป จนต้องขึ้นบัตรใหม่นะจ๊ะ 

จ่ายครั้งเดียวแต่สบายใจสำหรับคนท้องไส้ไม่ค่อยดี 

จริงๆ ข้อนี้ไม่ได้เกี่ยวกับประโยชน์ของการซื้อตั๋วเท่าไหร่ แต่เราคิดว่ามันเป็นประโยชน์ทางอ้อมสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ท้องไส้อ่อนแอที่ข้าศึกชอบบุกอยู่บ่อยๆ การใช้บริการ BTS นั่นก็เป็นจุดเชื่อมโยงให้สามารถหาห้องน้ำได้ง่ายกว่าตอนอยู่บนรถแท็กซี่ รถเมล์ หรือมอเตอร์ไซค์เป็นแน่แท้ 

**พรี่หนอมขอแชร์

ถ้ามีรถแล้วต้องขึ้น MRT หรือ BTS จงระวังต้นทุนแฝงที่ตามมาอีกมากมาย**

เอาจริงๆ สิงที่ Creative Salary เขียนมานั้นมีเหตุผลอยู่แล้ว แต่ในแง่ของมนุษย์เงินเดือนเหมือนกัน ต้องบอกว่าพรี่หนอมอยากชวนคิดอีกแง่ว่าในฐานของคนที่มีรถขับ การขึ้น MRT หรือ BTS นั้นมันอาจจะเป็นความล้มเหลวและวุ่นวายในชีวิตหลายต่อหลายครั้ง

เมื่อวันก่อนพรี่หนอมไปทำธุระแถวจุฬาประมาณ 5 โมงครึ่ง แต่ว่ามีนัดเพื่อนที่ Central Embassy รถไฟฟ้าเพลินจิต ตอนประมาณ 6 โมงกว่าๆ สิ่งที่พรี่หนอมทำได้คือ ขับรถไปจอดที่สยามแล้วนั่งต่อรถไฟฟ้าไปลงสถานีเพลินจิต หลังจากที่เปิด Google Maps แล้วพบว่าต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมงกว่าๆเพื่อเดินทางฝ่าการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนตอนเย็น

หรือบางทีพรี่หนอมต้องไปเซ็นทรัลพระราม 9 จากออฟฟิศที่อยู่แถวสีลมช่วงเย็น พรี่หนอมก็ต้องตัดใจจอดรถไว้ที่สีลมแล้วนั่ง MRT ไปลงสถานีพระราม 9 เพื่อให้ทันเวลานัดหมาย เพราะถ้าขับรถไปก็มีแต่ตายลูกเดียว

ประเด็นที่พูดมาทั้งหมดคืออะไร? อันนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะมาอวดว่าแหม เรานี่เก่งจังเป็นคนบริหารเวลาดี แต่กำลังจะบอกว่าจริงๆแล้วการทำแบบนี้มันเป็นความล่มสลายของระบบการจราจรประเทศเรา (จะโดนจับไหม?) และมันน่าเศร้าตรงที่ต้นทุนแฝงที่เราต้องจ่ายไปเพื่อซื้อเวลามันเยอะเสียเหลือเกิน

อย่างตัวอย่างการจอดรถที่สยาม นั่งไปเพลินจิต ค่ารถไฟฟ้าสองสถานีก็ประมาณ 20 บาทได้มั้ง (จำไม่ได้เพราะจ่ายผ่านบัตร Rabbit) ไปกลับก็ประมาณ 40 บาท ส่วน MRT สีลมไปพระราม 9 ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30 บาท ไปกลับก็ 60 บาท ไม่รวมกับเวลาที่เสียไปนั่ง ไป และ กลับ อีกรอบละหลายนาทีอยู่ 

แถมยังมีค่าจอดรถที่โอ … โอโหทำไมแพงจังวะอีกหลายสิบบาท บางทีกลับมาดึกก็ล่อไปเป็นร้อย ดังนั้น ต้นทุนแฝงพวกนี้ มันมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับคนมีรถที่ต้องการประหยัดเวลา แต่กลายเป็นว่าเสียทั้งเงินและเวลาหลายต่อเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

ว่าแต่หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วพรี่หนอมจะมาบ่นเรื่องนี้ทำไมล่ะครับ อันนี้ก็ต้องบอกอีกว่า การบริหารจัดการเวลาของเรานั้น บางทีมันต้องแลกมาด้วยเงิน และเวลาที่ต้องไปเสียตามมาอีกไม่น้อยเลยล่ะครับ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ คุณต้องวางแผน และก็วางแผนให้เรียบร้อยก่อนว่า คุณต้องการอะไรแบบไหน และต้องทำอะไรบ้าง

มีนัดตอนเย็นรู้ตัวว่าไม่รอด อาจจะต้องเลื่อนเวลาเป็นนัดค่ำหน่อย ถ้าอยากจะขับรถไป (แต่จะคุ้มไหมกับการเจอรถติด) หรือว่า บางทีก็ต้องมาคิดอะไรเล็กๆน้อยๆอย่างการนั่ง BTS หรือ MRT ที่จะประหยัดกว่ากันด้วยนะ รวมถึงค่าจอดรถ ค่าเสียเวลา หรือคำนวณอะไรให้คุ้มค่าที่สุด

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะจ่ายแพงกว่าแค่ไหน สิ่งที่เห็นได้ก็คือ เราทุกคนยังต้องใช้แก่นเดียวกัน นั่นคือหลักการคิดและการบริหารเวลาที่ดีอยู่ ซึ่งบางทีแล้วการมีอะไรที่มากกว่าคนอื่นเขา อาจจะทำให้ชีวิตเรามีต้นทุนที่จ่ายแพงกว่าเก่าก็ได้นะ…

หมายเหตุ: สิ่งที่สรุปมาในบทความนี้เป็นเพียงข้อคิดเห็น ไม่ได้เป็นการชี้คำตอบถูกผิดแต่อย่างใด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0