โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ไม่ย้ายโรงเรียนไปไว้ที่บ้าน แต่ใช้ข้อดีของบ้านเป็นฐานสร้างการเรียนรู้” การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่มีบ้านเป็นฐาน ฉบับโรงเรียนเพลินพัฒนา

Mood of the Motherhood

อัพเดต 18 พ.ค. 2563 เวลา 12.34 น. • เผยแพร่ 18 พ.ค. 2563 เวลา 12.20 น. • INTERVIEW

ในระหว่างที่ความชัดเจนเดียวที่ภาครัฐมีให้กับพ่อแม่และผู้ปกครองคือการเลื่อนวันเปิดเทอมของนักเรียนทุกระดับชั้นจากช่วงเดือนพฤษภาคมไปเป็นเดือนกรกฎาคม ท่ามกลางข้อกังวลใจของหลายฝ่าย เราได้มองเห็นความพยายามที่จะปรับตัวและสรรหาวิธีการมากมายมาใช้สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน บ้าน และเด็ก เพื่อให้เกิดการเรียน (รู้) ทดแทนการเรียนการสอนในห้องเรียนตามสถานการณ์ปกติ

เท่าที่ศึกษาหาข้อมูลเราพบว่าหลายโรงเรียนมีวิธีการปรับตัวที่น่าสนใจ และหนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนเพลินพัฒนา ที่ไม่ต้องรอให้ถึงเดือนกรกฏาคม แต่จะทดลองทำการเดินหน้าเปิดเทอมแบบเสมือน ด้วยกระบวนการที่โรงเรียนเรียกขึ้นว่า Home-Based Learning Community (HBLC) ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้

M.O.M ได้มีโอกาสพูดคุย (แบบเสมือน) กับ คุณครูศีลวัต ศุษิลวรณ์ (ครูปาด)—รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนเพลินพัฒนา เพื่อร่วมเข้าใจถึงสิ่งกระบวนการ HBLC รวมไปถึงแนวทางการเตรียมพร้อมของโรงเรียนที่ไม่ต้องรอความชัดเจนจากใคร แต่ใช้องค์ความรู้ และความร่วมมือจากทุกฝ่าย สร้างชุมชนการเรียนรู้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือเด็กๆ ของเรา

เตรียมรับมือกับจุดที่แย่ที่สุด

แม้จะมีการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการเลื่อนกำหนดการการเปิดเทอมไปเป็นเดือนกรกฎาคม สิ่งที่โรงเรียนเพลินพัฒนาทำคือไม่ได้ตั้งรับและรอการประกาศจากทางการเพียงอย่างเดียว แต่โรงเรียนได้จัดตั้งวอร์รูมที่ทำงานคู่ขนาน คอยประเมินสถานการณ์และวางแผนเพื่อออกเป็นมาตรการของโรงเรียน

“ในการวางแผนเราพิจารณาจากสามส่วน ส่วนแรกคือประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนที่สองคือข้อมูลข่าวสารและท่าทีของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าทั้งสองแนวทางออกมาสอดคล้องกัน อันนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าท่าทีของทั้งสองหน่วยไม่สอดคล้องกัน เราได้ประชุมครูของเราทั้งหมดแล้ว ทุกคนเห็นพ้องกันว่าจะเลือกยึดแนวทางของสาธารณสุขเป็นหลัก

ทีนี้บนข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ก็จะแบ่งออกเป็นอีกสองส่วน คือระยะสั้นกับระยะยาว ระยะสั้นเท่าที่เราเห็นอัตราการติดเชื้อในแต่ละวันที่ลดลงอย่างดูดี เราก็มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่วันที่ 1 กรกฏาคม จะสามารถเปิดเรียนได้ เพียงแต่จะเป็นการออกมาเรียนในลักษณะใด นี่คือโจทย์ที่โรงเรียนต้องคิดให้ได้เร็วที่สุด ส่วนระยะยาวที่เราต้องคิดต่อไปก็คือ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ก็แปลว่าแม้ผู้ติดเชื้อจะลดลงจนเป็นศูนย์ แต่เราก็ต้องมีมาตรการที่รัดกุมในการออกแบบว่าเด็กๆ จะมาโรงเรียนอย่างไร

ดังนั้น เวลาเราประชุมกับทีมครู เราจะสร้าง Worst-Case Scenario ขึ้น เช่น มีข้อมูลออกมาว่าเราต้องใช้เวลารอวัคซีน 18 เดือน เราก็สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเลยว่าอีก 18 เดือนโรงเรียนถึงจะเปิดเทอม แล้วครูก็จะช่วยกันออกแบบการจัดการเรียนรู้จากเงื่อนไขนี้

แต่ว่าในทางปฏิบัติจริง ตอนนี้อัตราการติดเชื้อลดลงไปในทางที่ดีจึงทำให้แผนการของเรามีการปรับเปลี่ยน สิ่งที่เราเริ่มทำก็คือการทำโครงการที่มีชื่อว่า ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่มีบ้านเป็นฐาน’ (Home-Based Learning Community) ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้

การเรียนรู้เกิดขึ้นที่บ้าน ในรูปแบบใดก็ได้ ออฟไลน์หรือออนไลน์ก็ได้หมด หน้าจอเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่บ้าน

อะไรคือ Home-Based Learning Community (HBLC)

ในมุมมองของเพลินพัฒนา การจัดการเรียนรู้ในระหว่างที่นักเรียนมาโรงเรียนไม่ได้ ทำให้ฐานการเรียนรู้ของเด็กย้ายกลับไปอยู่ที่บ้าน แต่การจะเชื่อมต่อโรงเรียนกับบ้านได้ ก็ต้องอาศัยช่องทางออนไลน์เป็นสื่อกลาง ทำให้พ่อแม่หลายคน โดยเฉพาะพ่อแม่ของเด็กเล็กกังวลใจว่ามันจะไม่เร็วเกินไปใช่ไหม ที่จะให้ลูกเริ่มเรียนรู้ผ่านช่องทางนี้

“เด็กของเราตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงประถมหนึ่ง เราแทบจะไม่ได้ให้ใช้จอเลย มีบ้างแต่น้อยมาก คนที่ต้องใช้จอจริงๆ คือคนที่ดูแลเด็ก เพราะเป็นคนที่ต้องเรียนรู้แนวทางจากโรงเรียน เพื่อนำไปใช้กับเด็กอีกที ส่วนเด็กตั้งแต่ประถมสองขึ้นไป เราจึงให้เริ่มใช้หน้าจอเพื่อเรียนรู้

แต่บนประเด็นเรื่องการใช้จอ เรามองว่าอยากให้ยกเลิกวาทกรรมคำว่า “ออนไลน์” เพราะคำนี้มันจะทำให้เรายุ่งอยู่กับตัวเครื่องมือ โรงเรียนก็จะมุ่งคิดแต่ว่าจะใช้เครื่องมือนี้ยังไงเพื่อทดแทนการเรียน ส่วนที่บ้านก็จะคิดว่าจะใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างไรเพราะไม่ค่อยถนัด และยังกังวลด้วยว่ามันจะดีหรือเปล่า จะเป็นปัญหากับลูกหรือไม่

แต่ถ้าเราปรับวิธีคิดมาเป็น ‘การเรียนรู้ที่ใช้บ้านเป็นฐาน’ แบบนี้จะทำให้เราผ่อนคลายขึ้น เพราะมันกว้างขึ้น การเรียนรู้เกิดขึ้นที่บ้าน ในรูปแบบใดก็ได้ ออฟไลน์หรือออนไลน์ก็ได้หมด หน้าจอเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่บ้าน

ที่สิงคโปร์และหลายประเทศก็มีการใช้ HBL แต่ของเรามีตัว C ซึ่งหมายถึง Community หรือชุมชน เพิ่มเข้ามา มันหมายความว่า งานนี้ไม่ได้ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง แต่คำว่าชุมชนมันหมายถึง ไม่มีใครเป็นศูนย์กลาง

ต้องย้อนกลับไปที่ปรัชญาของโรงเรียนเราก่อน เราก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมาบนปรัชญาที่ว่า ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม’ มันไม่มีใครเป็นศูนย์กลาง เพราะว่าทุกคนต้องเรียนรู้ร่วมกัน ต้องเรียนรู้จากกัน และทุกคนต้องสร้างการเรียนรู้ให้แก่กัน

ดังนั้นแม้กระทั่งในห้องเรียน เด็กต้องเรียนรู้จากกันและกัน เด็กต้องเรียนรู้จากครู ครูเรียนรู้จากเด็ก เราทำแบบนี้มาตลอด แต่มันอยู่ในรูปแบบ School-based learning Community คือมีโรงเรียนเป็นฐาน

ทีนี้พอเรามาโรงเรียนไม่ได้ แต่เรายังต้องยึดความเป็นชุมชนของเราเอาไว้ สิ่งที่เราต้องทำคือย้ายฐานไปที่บ้าน แต่ชุมชนการเรียนรู้ยังอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต่างก็คือ เราไม่มองว่าโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เท่านั้น แต่ทุกคนต้องเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้จากกันและกัน และก่อการเรียนรู้ให้แก่กัน

อีกประการคือคำว่า Home-Based Learning นั้นไม่ได้หมายถึงแค่บ้านของนักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังหมายถึงบ้านของครู ของฝ่ายวิชาการ ของฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ เราจะใช้บ้านอย่างไร ในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนได้เรียนรู้เหมือนกัน แต่เด็กได้ประโยชน์สูงสุด

โจทย์ของเราจึงเป็นเรื่องนี้ ไม่ใช่คำว่าการเรียนออนไลน์ เพราะการออนไลน์เป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือ

ถ้าเราใช้ออนไลน์เป็นหลัก เรามีสิทธิ์ที่จะพลาดไปเป็น School-Based Learning ที่เป็นการสอนแล้วก็ส่งไปทางช่องทางออนไลน์ให้เด็กดู ซึ่งอันนี้จะเป็นปัญหา เพราะยิ่งเราห่วงเนื้อหา เวลาที่เด็กต้องใช้กับหน้าจอก็จะยิ่งเยอะขึ้น ความเครียดก็เยอะขึ้น

การเรียนรู้โดยมีฐานอยู่ที่บ้าน ผ่าน 4 เครื่องมือที่ต้องเตรียมพร้อม

“เรามีเครื่องมือสี่อย่างที่ต้องเตรียมทุกคนให้พร้อม เครื่องมือแรกคือกระบวนการทั้งหมดที่โรงเรียนจะสนับสนุนเด็กที่บ้าน โรงเรียนจะสร้างกระบวนการ ทรัพยากร และเครื่องไม้เครื่องมือทั้งหมด เพื่อช่วยให้ที่บ้านสามารถเข้าร่วมจัดการการเรียนรู้ได้อย่างราบรื่น

สองก็คือ สร้างเครื่องมือในการสื่อสาร ช่องทางออนไลน์จะเข้ามาเป็นเครื่องมือของส่วนนี้ ที่ทำให้โรงเรียนเชื่อมไปหาเด็กที่บ้านได้ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้

สามคือการติดต่อกันแบบออฟไลน์ เราคำนึงถึงการขนส่งพัสดุที่ปลอดเชื้อ เพราะมันมีจุดที่คนต้องติดต่อกัน โรงเรียนเรามีการมอบกล่อง Kids Box ให้เด็กๆ ผ่านวิธีการ Drive-Thru ที่ผู้ปกครองขับรถมารับได้เลย กล่องพวกนี้เช็ดแอลกอฮอลล์หมดแล้ว หรือถ้าเราจะใช้บริการขนส่ง เราก็ต้องสร้างวิธีที่ปลอดเชื้อขึ้น

ตัวที่สี่คือ เมื่อข่าวสารข้อมูลทั้งหมดถูกส่งไปที่บ้าน ที่บ้านก็จะต้องเริ่มมีรีแอ็คชันเกิดขึ้น มีกิจกรรมเกิดขึ้น

เมื่อเครื่องมือทั้งสี่โยงใยเข้าหากัน ถักทอเข้าหากัน มันจะเกิดการเรียนรู้ระหว่างเด็กกับเด็ก เด็กกับครู ครูกับครู พ่อแม่กับพ่อแม่ ครูกับพ่อแม่ พ่อแม่กับเด็ก ทุกคนได้เรียนรู้จากกัน

ดังนั้นมันจึงแตกต่างมาก กับการที่เราพูดว่า ออนไลน์หรือไม่ออนไลน์ และถ้าเราใช้ออนไลน์เป็นหลัก เรามีสิทธิ์ที่จะพลาดไปเป็น School-Based Learning ที่เป็นการสอนแล้วก็ส่งไปทางช่องทางออนไลน์ให้เด็กดู ซึ่งอันนี้จะเป็นปัญหา เพราะยิ่งเราห่วงเนื้อหา เวลาที่เด็กต้องใช้กับหน้าจอก็จะยิ่งเยอะขึ้น ความเครียดก็เยอะขึ้น

เราได้ให้คุณครูลองทำห้องเรียนสมมติ ที่คุณครูสอน แล้วลองให้คุณครูนั่งเรียน สิ่งที่คุณครูพบคือ สมมติว่าเวลาเรียนเท่ากัน ความเครียดของผู้เรียนจะเพิ่มเป็นสองเท่า นี่คือความรู้สึกของครูนะ ไม่ใช่ของเด็ก ถ้าเป็นเด็กอาจจะมากกว่านั้น มันเลยยิ่งทำให้เรารู้เลยว่า ต้องไม่ใช้วาทกรรมคำว่าออนไลน์เป็นหลัก

พ่อแม่กับบทบาทใหม่ในการเข้ามามีส่วนร่วมจัดการการเรียนรู้ของลูก

โรงเรียนมองว่า ที่จริงแล้วกุญแจสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ HBLC คือพ่อแม่ หรือเรียกว่า Parent-Based Learning ก็ได้ แต่บ่อยครั้งที่โรงเรียนไม่อาจพูดฟันธงแบบนี้เพราะจะเป็นการกดดันพ่อแม่เกินไป สิ่งที่โรงเรียนช่วยได้ คือการสนับสนุน ส่งเสริม ช่วยเหลือผ่านทุกวิธีการ เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองสามารถก่อการเรียนรู้ร่วมกัน

“เราจะมีวิดีโอคลิปที่เป็นไกด์ไลน์ของวิธีการเล่นกับเด็ก วิธีพูดกับเด็ก วิธีตั้งคำถาม หรือวิธีการจัดกิจกรรมเล็กๆ แล้วเราก็จะมีกล่อง Kids box ในนั้นจะมีหมดเลย หนังสือ สื่อ อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งคู่มือในการใช้อุปกรณ์เหล่านั้น แม้กระทั่งว่าเป้าหมายหรือจุดประสงค์ของมันน่าจะประกอบไปด้วยอะไรได้บ้าง มันเชื่อมโยงอย่างไรกับกิจกรรมก่อนหน้านั้น แล้วเราสามารถสังเกตเห็นอะไรได้บ้าง

แต่สิ่งที่เรากำชับกับผู้ปกครองคือ ต้องเป็นการสังเกต ไม่ใช่การประเมิน และจะไม่มีการประเมินเกิดขึ้น หมายถึงว่าจะไม่มีการประเมินเพื่อดูพัฒนาการความก้าวหน้าอย่างจริงจัง เพราะว่าจะเป็นแรงกดดันให้ผู้ปกครองมากเกินไป และที่สำคัญคือโอกาสผิดพลาดสูงด้วย เราเรียกมันว่า เป็นการสังเกตการณ์เรียนรู้เพื่อนำมาปรับปรุงดีกว่า นี่คือสิ่งที่เราชวนผู้ปกครองทำ

สำหรับที่บ้าน ถ้ายังนึกอะไรไม่ออก ก็ทำตามไกด์ไลน์ที่โรงเรียนให้อย่างเดียวก็ได้ แต่ถ้าพอจะนึกอะไรออก ก็จะบอกไว้ในคลิปวิดีโอว่า มันเอาไปทำได้อีกสารพัด บางครั้งพ่อแม่อาจจะได้ไอเดียใหม่ๆ จากการที่เด็กตอบสนอง เพราะฉะนั้นเราก็จะมีเครื่องช่วยให้ผู้ปกครองได้สังเกตการตอบสนองของเด็ก พอเห็นการตอบสนอง ผู้ใหญ่ก็จะรู้ว่า เราจะปรับปรุงความสัมพันธ์ หรือการเล่นกันยังไง ตามที่เด็กตอบสนองมา

แล้วเรายังเปิดช่องทางให้ผู้ปกครองได้ฟีดแบ็ก หรือปรึกษาคุณครูได้เสมอ”

การที่โควิดล้มกระดานเราเนี่ย มันไม่ได้ล้มไปแต่ตัวกระบวนการของเรา มันล้มข้อจำกัดไปด้วย มันล้มทั้งสองอย่างเลย มันจึงเป็นการทำงานบนเรื่องราวใหม่

เปิดรับความเห็น ทำความเข้าใจ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้

“ก่อนเริ่มโครงการ เรามีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองก่อน ก็พบปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ความไม่พร้อมทางเครื่องมือ เราก็เข้าไปช่วยกันแก้ไข เช่นการยืมกันบ้าง หรือการสลับเวลากันใช้ ซึ่งปัญหาตรงนี้ก็ได้รับการแก้ไขไปแล้ว

เรื่องกังวลที่ผู้ปกครองมีกันมาก ก็คือมีจำนวนเยอะเลยที่เขาต้องทำงาน ทั้งที่ทำงานอยู่บ้าน และบางคนก็ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้านอยู่ ดังนั้น คนที่อยู่กับเด็กๆ ก็จะเป็นญาติผู้ใหญ่ที่หรือพี่เลี้ยง นี่คือความกังวลก้อนใหญ่ อันนี้เราก็แก้ไขให้โดยที่เราทำคู่มือให้ ไม่ว่าใครอยู่กับเด็กก็ใช้คู่มืออันนี้ได้ ซึ่งคู่มือนี้ไม่ใช่คู่มือที่เอาไปสอนเด็ก แต่เป็นคู่มือที่ช่วยให้คนดูแลเด็กพาเด็กไปเรียนรู้

และเราก็จัดให้มีชั่วโมงที่ให้พ่อแม่หรือผู้ที่ดูแลเด็กสามารถปรึกษากับโรงเรียนได้ ซึ่งให้เลือกหลายเวลา จองเวลากันเข้ามาได้ ดังนั้นจึงสามารถใช้เวลาที่ไม่ต้องทำงาน ในการปรึกษากับทางโรงเรียนได้ กิจกรรมหลายอย่างที่ต้องพึ่งพ่อแม่ เราก็จะย้ายกิจกรรมนั้นไปไว้ที่วันเสาร์อาทิตย์ แล้วเราก็ไปหยุดวันอื่นแทน

เวลาเราคุยกันในทีม จะพูดกันเสมอว่านี่คือสถานการณ์ใหม่ นี่เป็นสภาวะโลกใหม่ ดังนั้นเราลืมข้อจำกัดเก่าๆ โครงสร้างเก่าๆ ไปได้เลย ไม่ต้องยึดว่าต้องทำงานวันจันทร์-ศุกร์เหมือนแต่ก่อน จึงกลายเป็นว่าตอนนี้ครูสนุกนะครับ สนุกมาก เพราะหลายอย่างที่เคยเป็นข้อจำกัด มันก็หายไปด้วย

การที่โควิดล้มกระดานเราเนี่ย มันไม่ได้ล้มไปแต่ตัวกระบวนการของเรา มันล้มข้อจำกัดไปด้วย มันล้มทั้งสองอย่างเลย มันจึงเป็นการทำงานบนเรื่องราวใหม่

แต่เมื่อเป็น Home-Based เราต้องไม่ยัดเยียดสภาวะที่เป็นจุดแข็งของโรงเรียนไปใส่บ้าน เราต้องเอาจุดแข็งที่บ้านที่และโรงเรียนไม่มีต่างหาก ดังนั้นถ้าถามว่า มันทดแทนกันได้ไหม เราก็จะตอบว่าในมุมนึงมันก็ได้ เพราะมันก็คือการเติบโต แต่ในอีกมุม มันก็เป็นคนละอย่างกันเลย”

ใช้จุดแข็งของบ้านนำทางทุกคน

“สิ่งที่เราบอกกับพ่อแม่คือ อย่าไปกังวลเรื่องนี้ เพราะเราไม่ได้คาดหวังให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือพี่เลี้ยง มาเป็นครูที่มีทักษะสูง HBLC ต้องการเลือกเอาจุดแข็งที่บ้านมีและโรงเรียนไม่มี ก็คือสายใยของครอบครัว ถ้าไม่ได้เก่งเรื่องทักษะครู อย่ากังวลเลย เอาสิ่งที่ครูไม่มีซึ่งก็คือความสัมพันธ์กันในครอบครัว ความรักความผูกพันมาทำให้แข็งแรงดีกว่า

เราเพียงแต่เอากิจกรรมที่โรงเรียนส่งไปให้เด็กกับพ่อแม่หรือคนดูแลทำร่วมกันที่บ้าน ทุกคนก็จะบรรลุเป้าหมายใกล้เคียงกันมาก

ที่บอกว่าใกล้เคียงกันมาก เพราะ HBLC มีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนการเรียนในโรงเรียนที่จะโฟกัสไปที่เรื่องพัฒนาการ สมรรถนะของเด็ก ที่โรงเรียนทำได้ เพราะต้องใช้ทักษะครู ต้องใช้หลักวิชาทางการศึกษา ต้องใช้การสร้างสังคมของเด็กแบบหลากหลาย กลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก ต้องย้ายที่เปลี่ยนฐาน อันนี้คือสิ่งที่โรงเรียนถนัดแต่บ้านทำได้ไม่ถนัด

แต่เมื่อเป็น Home-Based เราต้องไม่ยัดเยียดสภาวะที่เป็นจุดแข็งของโรงเรียนไปใส่บ้าน เราต้องเอาจุดแข็งที่บ้านที่และโรงเรียนไม่มีต่างหาก ดังนั้นถ้าถามว่า มันทดแทนกันได้ไหม เราก็จะตอบว่าในมุมนึงมันก็ได้ เพราะมันก็คือการเติบโต แต่ในอีกมุม มันก็เป็นคนละอย่างกันเลย”

ตอนนี้เรากำลังทำสิ่งที่ไม่มีใครรู้จัก เราก็ไม่รู้จัก ดังนั้นเรื่องที่ว่าเด็กจะได้เรียนรู้มากหรือน้อย ไม่ต้องวัดเลย เดือนนี้ทั้งเดือนไม่ต้องไปสนใจเลย สนใจแรงขับเชิงบวกก่อน ทำยังไงให้เด็กเกิดแรงขับเชิงบวกที่จะมาเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ ครูจะเกิดแรงขับนี้ได้ยังไง

หล่อเลี้ยง ‘แรงขับเชิงบวก’  ไม่ให้เหือดแห้ง

จากเดิมที่โรงเรียนมีระบบการประเมินและให้ฟีดแบ็กอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว แต่เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนไป สิ่งที่ยังจะต้องคงอยู่คือการประเมินผลและพัฒนา เพราะจะทำให้โรงเรียนมีข้อมูลมากพอเพื่อนำไปปรับเปลี่ยนให้ทุกคนได้รับประโยชน์มากที่สุด

“เรามีการประชุมทีมครูทุกวัน ว่าวันนี้ใครได้ฟีดแบ็กอะไร ทั้งที่จากสังเกตและที่ได้จากเด็กและผู้ปกครอง ฟีดแบ็กเหล่านี้นำไปสู่การปรับแผนทุกวัน นี่คือกลุ่มเล็ก ส่วนกลุ่มใหญ่เราจะฟีดแบ็กกันทุกสัปดาห์ และช่องทางเราก็เปิดให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองให้มากที่สุด

ตอนนี้ฝ่ายวิชาการได้สร้างเครื่องมือในการวัดแรงขับเชิงบวกของ ซึ่งจะวัดสองเรื่อง คือความอยากเรียน และความมั่นใจในการเรียน โดยในสถานการณ์นี้ เราจะไม่ได้วัดแค่เด็ก แต่จะวัดครูและผู้ปกครองด้วย

ตอนนี้เรากำลังทำสิ่งที่ไม่มีใครรู้จัก เราก็ไม่รู้จัก ดังนั้นเรื่องที่ว่าเด็กจะได้เรียนรู้มากหรือน้อย ไม่ต้องวัดเลย เดือนนี้ทั้งเดือนไม่ต้องไปสนใจเลย สนใจแรงขับเชิงบวกก่อน ทำยังไงให้เด็กเกิดแรงขับเชิงบวกที่จะมาเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ ครูจะเกิดแรงขับนี้ได้ยังไง หนึ่งเดือนแรกเอาเรื่องนี้ก่อน ถ้าไม่ได้สิ่งนี้ เรื่องอื่นไม่ต้องพูดถึง”

ใช้บ้านให้ดีที่สุดเท่าที่บ้านจะให้ได้ อย่าเข้าใจว่าเราย้ายโรงเรียนไปที่บ้าน แต่เราต้องย้ายทั้งกระบวนทัศน์ เอาจุดเด่นของบ้านขึ้นมา แล้วยอมรับว่าโรงเรียนอ่อนเรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าใช้บ้านเป็นฐาน 

HBLC กับการต่อยอดสู่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างยั่งยืน

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างโรงเรียนปิด จะมอบบทเรียนและทักษะสำคัญๆ ให้กับทุกฝ่าย จนอาจทำให้เรามีมุมมองต่อการเรียน-การเรียนรู้ ต่างออกไปจากเดิม

“ตอนนี้ School-Based Learning ถูกล้มกระดานไปแล้ว ทุกคนต้องทำใจก่อน ที่นี้ไม่ใช่ป่ามะพร้าว ที่นี่คือป่ากล้วย กล้วยก็มีข้อดี เหมือนสิ่งที่บ้านมีและโรงเรียนไม่มี

ความรู้ในโรงเรียนก็สำคัญ แต่มันมีสิ่งอื่นที่สำคัญไม่น้อย หรืออาจจะสำคัญกว่า ก็คือจิตใจ คาแรกเตอร์ และนิสัย “Learn how to learn ของเด็ก

ปกติเราพยายามฝึกนิสัย Learn how to learn กันในโรงเรียน ซึ่งก็ฝึกยากอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันเป็นของจริง เด็กกับพ่อแม่ต้องช่วยกันสร้างนิสัย Learn how to learn นี้ให้ได้

นี่จึงเป็นความหมายของการเรียนรู้โดยมีบ้านเป็นฐาน ใช้บ้านให้ดีที่สุดเท่าที่บ้านจะให้ได้ อย่าเข้าใจว่าเราย้ายโรงเรียนไปที่บ้าน แต่เราต้องย้ายทั้งกระบวนทัศน์ เอาจุดเด่นของบ้านขึ้นมา แล้วยอมรับว่าโรงเรียนอ่อนเรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าใช้บ้านเป็นฐาน

ถ้ากระบวนการ HBLC ที่เราสร้างขึ้นมามันเวิร์ก ภาษาหนังจีนเรียกว่า ‘ติดปีกให้พยัคฆ์’ ครูเก่งขึ้นเพราะได้ฝึกฝนการดีลกับเด็กแบบไม่เจอตัว เขาได้ทำสิ่งที่ยากที่สุดไปแล้ว ผู้ปกครองก็เก่งขึ้น เพราะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้บ้านเป็นฐาน มองเห็นโอกาสในการเรียนรู้มากมาย เด็กก็เก่งขึ้น เพราะเขาได้ฝึกที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อทุกคนกลับมาที่โรงเรียน เราจะเห็นความสนุกขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย นี่คือความเป็นไปได้ใหม่ที่เราจะเห็น”

ขอบคุณภาพถ่ายจากโรงเรียนเพลินพัฒนา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 1

  • •>a-ji<•
    อย่างลืมมองคนที่เขาไม่มีบ้างนะครับ งานก็ตก ข้าวจะกินยังไม่มี คนกลุ่มนี้ที่ถูกมองข้างครับ ทุกคนมีไม่เท่ากันครับ มากก็มากเกิน ไม่มีก็ไม่มีเลย
    18 พ.ค. 2563 เวลา 23.16 น.
ดูทั้งหมด