โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สพฐ. เปิดสูตรคำนวณน้ำหนักกระเป๋านักเรียน ต้องหนักเท่าไหร่? – รมช.ศธ. เตรียมปรับใช้ E-Book มากขึ้น

Campus Star

เผยแพร่ 31 ก.ค. 2562 เวลา 08.06 น.
สพฐ. เปิดสูตรคำนวณน้ำหนักกระเป๋านักเรียน ต้องหนักเท่าไหร่? – รมช.ศธ. เตรียมปรับใช้ E-Book มากขึ้น
สพฐ. คุมน้ำหนักกระเป๋านักเรียน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ค่าเฉลี่ยน้ำหนักกระเป๋านักเรียนในประเทศไทยอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ของนักหนักตัวเด็ก ซึ่งได้มีการใช้เกณฑ์นี้มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

จากกรณีของนักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนชุมแพศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สะพายกระเป๋านักเรียนหนัก 10 กิโลกรัมไปโรงเรียน เป็นเหตุทำให้บริเวณหลัง หัวไหล่ และบริเวณกระดูกต้นคอมีความผิดปกตินั้น

สพฐ. คุมน้ำหนักกระเป๋านักเรียน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน

ล่าสุด! (วันที่ 30 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่า สพฐ. ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการกำชับให้ ผอ.โรงเรียนชุมแพศึกษา คุมเข้มเรื่องนี้แล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ออกมาตรการเพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ยังได้ออกหนังสือเวียนกำชับเรื่องน้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เด็ก ๆ สะพายไปโรงเรียนไปยังทุกเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศรวม 29,000 โรงเรียน

น้ำหนักกระเป๋า นร.ไทย ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเด็ก

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยังได้ย้ำอีกด้วยว่า น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เด็กสะพายไปโรงเรียนในแต่ละวันตามมาตรฐานโลก ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่า น้ำหนักของกระเป๋าต้องไม่เกิน 10-20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเด็ก ตัวอย่างเช่น นักเรียนมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 20 กิโลกรัม ดังนั้นนักเรียนสามารถสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2-4 กิโลกรัม ฯลฯ

ขณะที่ค่าเฉลี่ยน้ำหนักกระเป๋านักเรียนในประเทศไทยอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ของนักหนักตัวเด็ก ซึ่งได้มีการใช้เกณฑ์นี้มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อแยกตามระดับชั้นจะมีรายละเอียดสัดส่วนดังนี้

– ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 2 : น้ำหนักของกระเป๋าเรียนไม่เกิน 3 กิโลกรัม
– ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – 4 : น้ำหนักของกระเป๋าเรียนไม่เกิน 3.5 กิโลกรัม
– ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6 : น้ำหนักของกระเป๋าเรียนไม่เกิน 4 กิโลกรัม
– ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 : น้ำหนักของกระเป๋าเรียนไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเด็ก

แพทย์ชี้! อาการกระดูกสันหลังคด อาจจะเกิดจากพันธุกรรม

และในวันเดียวกัน (วันที่ 30 ก.ค. 2562) ด้าน นายแพทย์ กิตติพงษ์ วิทยาไพโรจน์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (โรคกระดูกสันหลัง) โรงพยาบาลขอนแก่นราม ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า อาการปวดหลังหรือไหล่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากผลข้างเคียงที่กล้ามเนื้อในร่างกายของน้องไม่ปกติ มาจากการกระดูกสันหลังของนักเรียนชั้น ม.3 ไม่ปกติ

ส่วนอาการกระดูกสันหลังน้องคดงอนั้นยังไม่ทราบสาเหตุอาจจะเกิดจากภาวะทางพันธุกรรมหรือภาวะอื่น ๆ โดยภาวะกระดูกสันหลังคดงอนั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนโดยทั่วไปแต่ไม่มากนัก ซึ่งจะพบในผู้หญิงช่วยประถมปลายและช่วงมัธยมต้น

รมช.ศธ. เตรียมปรับใช้ “หนังสืออิเล็กทรอนิกส์” มากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ทางด้านรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ก็ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า คงต้องใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book มากขึ้น เพื่อไม่ให้เด็กต้องสะพายกระเป๋าเรียนที่หนักไปโรงเรียน ซึ่งวิธีนี้เป็นทางออกที่ตรงที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าจากกรณีดังกล่าวจะเป็นข่าวได้ไม่นาน แต่เราก็ได้มีแนวคิดนี้อยู่แล้วว่าจะให้มีการใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book มากขึ้น โดยเด็ก ๆ สามารถดาวน์โหลดหนังสือลงในโทรศัพท์มือถือได้เลย

เมื่อถามว่าได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอาการนักเรียนชั้น ม.3 หรือไม่ เพราะหมอไม่ได้มีการวินิจฉัย แต่เป็นเพียงการสันนิษฐานของแม่เด็กนักเรียน คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ยังพิสูจน์ไม่ได้แต่มีส่วน เหมือนกับเรื่องที่เด็กใช้มือถือวันละ 7 – 10 ชั่วโมง นอกจากต้องใช้สายตาแล้วยังต้องแบกศรีษะของตนเองด้วย เพราะเมื่อเราก้มหน้าร่างกายก็ต้องแบกศรีษะทำให้มีผลเสียต่อสุขภาพ

ส่วนโรงเรียนในชนบทให้เด็กนำหนังสือไปโรงเรียนในทุกวิชา ทั้งที่บางเล่มก็ไม่ได้ใช้เรียนนั้น เราให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพของนักเรียนอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้วเราคงไม่นิ่งนอนใจ

ข้อมูลจาก FB : The MATTER, www.komchadluek.net, www.thairath.co.th

บทความที่น่าสนใจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0