สมัยโบราณไทยเรามีมาตราสำหรับ ชั่ง ตวง วัด อยู่หลายมาตรา ทั้งหยาบและละเอียด โดยเลือกสิ่งของใกล้ตัวหาง่ายมากำหนดเป็นมาตรฐานร่วมกัน เพื่อใช้ในจัดการข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ว่าอะไร สั้น, ยาว, หนัก, เบา ฯลฯ อย่างไร มีการรวบรวมเป็น “มาตราวัด” ต่างๆ ดังนี้
มาตราวัดสั้นยาว
8 ปรมาณู เป็น 1 อณู
8 อณู เป็น 1 ธุลี
8 ธุลี เป็น 1 เส้นผม
8 เส้นผม เป็น 1 ไข่เหา
8 ไข่เหา เป็น 1 ตัวเหา
8 ตัวเหา เป็น 1 เมล็ดข้าว
8 เมล็ดข้าว เป็น 1 นิ้ว
12 นิ้ว เป็น 1 คืบ
2 คืบ เป็น 1 ศอก
4 ศอก เป็น 1 วา
20 วา เป็น 1 เส้น
400 เส้น เป็น 1 โยชน์
แต่มาตราวัดดังกล่าวใช้วัดกันจริงๆ ส่วนมากคิดเพียง นิ้ว คืบ ศอก วา และเส้นเท่านั้น ส่วน “โยชน์” เห็นมีใช้ในหนังสือโบราณที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น
คนโบราณว่า จักรวาลหนึ่งวัดโดยกว้างได้ 12 แสน 3 พัน 4 ร้อย 50 โยชน์ และว่านรกนั้นอยู่ใต้เขาตรีกูฏลงไป 10,000 โยชน์ (เขาตรีกูฏอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ เขาพระสุเมรุคือภูเขาหิมาลัย) และหนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งพระเจ้าลิไทยแห่งกรุงสุโขทัยทรงแต่ง กล่าวถึงโลกว่า “…แผ่นดินอันเราอยู่นี้ โดยกว้างได้10,000 โยชน์ โดยหนาได้ 24,000 โยชน์ และน้ำอันทรงแผ่นดินไว้หนา 480,000 โยชน์ ลมอันทรงน้ำและแผ่นดินไว้บมิให้จมมิให้ไหวโดยหนาได้ 960,000 โยชน์…”
ส่วนนรกนั้นกล่าวไว้ว่า “…ไกลแต่เราอยู่นี้ไปเถิงยมโลกย์ได้ 150 โยชน์ แต่ยมโลกย์ ลงไปเถิงอวิจีได้ 1,00 โยชน์…”
นอกจากนี้ ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทรนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า ในศักราช 968 ปีมะเมียศก (พ.ศ. 2149) เมื่อเมืองสระบุรีได้มีใบบอกเข้ามาว่า พรานบุญพบรอยพระพุทธบาท สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร แล้วทรงมีพระราชศรัทธา จึงทรงอุทิศถวายวนาสณฑ์รอบรอยพระพุทธบาท 1 โยชน์
โดยโบราณท่านอธิบายความหมายของคำว่า ปรมาณู-ของละเอียด ที่ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าเห็น ส่วน อณู-ของละอองละเอียด ซึ่งสามารถที่จะมองเห็นได้ในเวลาที่แสงแดดส่องลอดเข้ามาตามช่องฝาที่แตก ส่วน เมล็ดข้าว-เมล็ดข้าวเปลือกขนาดกลาง คือไม่เล็ก ไม่ใหญ่
มาตราวัดสั้นยาวดังกล่าวได้ใช้จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงได้เปลี่ยนแปลง และเรียกมาตรานี้ว่า “มาตราวัดทางยาว” มีหน่วยวัดดังนี้
2 อณุกระเบียด เป็น 1 กระเบียด
4 กระเบียด เป็น 1 นิ้ว
12 นิ้ว เป็น 1 คืบ
2 คืบ เป็น 1 ศอก
4 ศอก เป็น 1 วา
20 วา เป็น 1 เส้น
400 เส้น เป็น 1 โยชน์
นอกจากนี้ของมีค่าเช่นทองคำ ก็มีมาตราชั่งดังนี้
มาตราชั่งทองคำ
3 เมล็ดพันธุ์ผักกาด เป็น 1 เมล็ดงา
2 เมล็ดงา เป็น 1 เมล็ดข้าว
4 เมล็ดข้าว เป็น 1 กล่อม
2 กล่อม เป็น 1 กล่ำ
2 กล่ำ เป็น 1 ไพ
4 ไพ เป็น 1 เฟื้อง
2 เฟื้อง เป็น 1 สลึง
4 สลึง เป็น 1 บาท
4 บาท เป็น 1 ตำลึง
20 ตำลึง เป็น 1 ชั่ง
20 ชั่ง เป็น 1 ดุล
20 ดุล เป็น 1 ภารา
มาตรานี้คำที่ไม่ค่อยได้ยิน เช่น กล่อม-เมล็ดมะกล่ำตาหนูหรือมะกล่ำเครือ มีลักษณะและขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วเขียว, กล่ำ-เมล็ดมะกล่ำตาช้างหรือมะกล่ำต้น มีลักษณะและขนาดเท่ากับเมล็ดมะขามเทศ, ดุลเป็นนาม หมายถึงตราชูหรือคันชั่ง ในมาตรา 20 ดุล เป็น 1 ภารา ก็คือ หาบ
“มาตราวัด” ในสมัยโบราณยังมีอีกมากที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จะเห็นได้ว่าชื่อเรียกหน่วยต่างๆ ในมาตราต่างๆ จะเป็นสิ่งใกล้ตัว, อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย หรือเมล็ดพืช ซึ่งนอกจากจะแสดงความรู้ของคนโบราณ ยังบอกให้รู้ว่าการมี “เหา” นั้นเป็นการอนุรักษ์ของโบราณเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ตราชูเป็นคู่กับตราชั่ง “ตราชู” มาจากไหน? คนไทยไฉนเรียก “ตราชั่ง(ตาชั่ง)”
- มาตราวัดแบบโบราณในคัมภีร์ “จันทสุริยคติธีปนี” ใช้ “วัว” เป็นเกณฑ์วัด !?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เทพชู ทับทอง. “เมล็ดข้าว เส้นผม ตัวเหา มาตราวัดโบราณ”, กรุงเทพฯ ในอดีต, อักษณบัณฑิต 2518
เผยแพร่ในระบบครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2562
ความเห็น 3
Bill สุรพล
คนโบราณ ฉลาดมาก
23 มิ.ย. 2562 เวลา 07.57 น.
kris Senamart๗๘
ความรู้ที่ดีครับ บ้านเราก็มีความเจริญ
23 มิ.ย. 2562 เวลา 15.36 น.
น่าสนใจดีนะ ที่เขาอยู่กันมาได้ด้วยดี..เท่าที่ทราบ รัชกาลที่ 6 ได้นำประเทศไทย เข้าเป็นสมาชิกของ ระบบชั่งตวงวัด.. ระบบเมตริก ของ ฝรั่งเศส.. ที่ มีระบบการตวงสากล สร้างภาชนะตวงมาตรฐานขึ้น เป็น ..ทะนานหลวง..มี ตราประทับรับรอง ที่ภาชนะตวงนั้น..เพื่อประโยชน์ในการค้าขายกับต่างประเทศ สารคดี ไม่ได้ระบุ หรือเน้นย้ำ ว่าเรา ใช้ ระบบการชั่งในระบบเมตริก ที่เป็นกรัม กิโลกรัม ส่วนการวัดระยะทาง เป็น เซ็นติเมตร เมตร กิโลเมตร กันแพร่หลาย เมื่อไหร่ เพราะ มันต้องมี ตาชั่ง และแถบวัดมาตรฐาน มาใช้งานนะ .ใครรู้ เล่ามานะ
23 มิ.ย. 2562 เวลา 07.56 น.
ดูทั้งหมด