พยาบาลทาสทุน! เงินเดือนต่ำเตี้ย! ไม่มีสิทธิ์บรรจุ4 ปี!
การเรียกร้องความเป็นธรรมของวิชาชีพพยาบาล ภายใต้ประเด็นสัญญาทุนการศึกษาฯ เป็นเรื่องที่เรียกร้องกันมายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากสำหรับวิชาชีพนางฟ้าชุดขาวของประชาชน ที่จะต้องอดทนรอคุณภาพชีวิต สิทธิ และสวัสดิการที่ควรคู่กับความทุ่มเทแรงกายแรงใจรับใช้ประชาชน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมากล่าวถึงความคืบหน้า ภายหลังการเรียกร้องถึงสัญญาทุนพยาบาลที่ไม่เป็นธรรม โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เร่งประชุมหารือเพื่อหาทางออกในวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา
ทำไม? การเป็น“ลูกจ้างประจำ” ตามสัญญาทุนจึงไม่เป็นธรรมกับวิชาชีพนี้
และการบรรจุเป็น“ข้าราชการ” มีความสำคัญขนาดไหนที่ทำให้การเรียกร้องฯยังคงเดินหน้าแม้ยาวนานกว่า10 ปีมาแล้วก็ตาม
สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการจัดทำสัญญาทุนการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตของกระทรวงสาธารณสุข ตามโครงการผลิตพยาบาลโดยใช้เงินบำรุงเป็นทุนการศึกษานักเรียนพยาบาล ได้มีการ“ยกเลิกการบรรจุเป็นข้าราชการ” สำหรับพยาบาลทำงานใช้ทุน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา เหลือเพียงสถานะ“ลูกจ้างชั่วคราว” ของกระทรวงสาธารณสุข มีสัญญา 4 ปี หากไม่ต้องการใช้ทุน ต้อง คืนทุนเป็นเงินมากกว่าทุนที่ได้รับตลอด 4 ปีที่ผ่านมาถึง 2-3 เท่า หรือประมาณ 2.6 แสนบาท ในขณะที่การ เป็นลูกจ้างชั่วคราวเงินเดือนในชั่วระยะเวลา 4 ปีจะอยู่ที่ประมาณ 11,000 ถึง 15,000 บาทเท่านั้น
นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้“สัญญาทุน” ฉบับนี้ถูกขนานนามว่าเป็น“สัญญาทาส”
วิชาชีพซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชน กำลังถูกพันธการด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอยู่หรือเปล่า?
ไม่เพียงเรื่องเงินเดือนอันน้อยนิดที่สวนทางกับค่าครองชีพในปัจจุบันเท่านั้น แต่ “สวัสดิการ” “ความมั่นคง” และ “ความภาคภูมิใจในวิชาชีพ” ก็ยังถูกลดทอนตามไปด้วย ในแง่สวัสดิการ พนักงานชั่วคราวใช้สิทธิรักษาพยาบาลด้วยประกันสังคม ขณะที่ข้าราชการเป็นสิทธิเบิกจ่ายตรงซึ่งสามารถดูแลคนในครอบครัวได้
“เอาง่ายๆถ้าคุณเป็นลูกจ้างชั่วคราวคุณไม่มีสิทธิจะไปยื่นเอกสารกับธนาคารขอกู้เงินซื้อบ้านเขาบอกว่าเอ้า…..คุณเป็นพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวหรอกเหรอไม่ได้นะต้องรอเป็นข้าราชการก่อน” น.ส.วราพร กวีวิทยาภรณ์ เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าว
นอกจากความไม่เป็นธรรมในการปฎิบัติงานวิชาชีพแล้ว เงื่อนไขของสัญญานี้ ยังเป็นปัญหากับนักเรียนผู้มีความประสงค์เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตอีกด้วย ซึ่งเฟซบุ๊กแฟนเพจ “พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข” ได้โพสต์รูปเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งระบุดังนี้..
สำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งการเลือกศึกษาในวิชาชีพนี้คือความหวังของครอบครัว จึงจำเป็นต้องยินยอมปฎิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อให้มีสิทธิ์เข้ารับการศึกษาต่อ
และแน่นอนว่าการเลือกเดินทางบนเงื่อนไขสัญญานี้ ก็ย่อมต้องไปหวังพึ่งน้ำบ่อหน้ากันต่อไป
แหล่งข้อมูล
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1269509
https://www.posttoday.com/politic/report/494436
เฟสบุคแฟนเพจ : พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข