โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

4 สูตร 4 สไตล์บริหารเงินในบ้าน จัดการยังไงให้ชีวิตคู่แฮปปี้

HealthyLiving

อัพเดต 21 ส.ค. 2561 เวลา 17.41 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2561 เวลา 08.00 น. • Healthy Living
SatangStory_thumnail.jpg

การสร้างครอบครัว นอกจากการเก็บออมเงินเพื่อจัดงานแต่งแล้ว การวางแผนการเงินหลังแต่งงานก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งหลังมีลูกด้วยแล้วค่าใช้จ่ายจะยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว ซึ่งถ้าจัดการไม่ดี ก็อาจจะทำให้ชีวิตคู่ล่มได้ง่าย ๆ ดังนั้น การวางแผนบริหารการเงินและค่าใช้จ่ายในครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เรามาดูกันว่าสูตรในแต่ละบ้านแบบไหนเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อจะเอามาปรับใช้ให้เหมาะกับครอบครัวของเรากัน

 

 

สูตร 1 : แฟร์ ๆ แยกกันเด็ดขาดกระเป๋าใครกระเป๋ามัน สบายใจดี

บ้านคุณแชมป์ & คุณอ้อม พนักงานบริษัททั้งคู่

ลักษณะเด่น

- ไม่มีบัญชีกองกลาง

- บิลต่าง ๆ เช่นค่าน้ำค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถหารสอง

- ค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างคนต่างรับผิดชอบของตัวเอง

“สูตรนี้เราใช้ตั้งแต่ตอนที่อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน และยังใช้เรื่อยมาหลังแต่ง สำหรับพวกเรามันลงตัวมาก ๆ เพราะเราสองคนต่างมีความชอบความสนใจของตัวเอง อย่างอ้อมพอเราทำงานเหนื่อย หาเงินมาได้ก็อยากจะเอาไปสปา ไปทำหน้าทำเล็บ ดูแลตัวเอง สามีก็อยากเอาไปซื้อกล้องซื้อของสะสมของเขา เราก็ไม่ว่ากัน ไม่ก้าวก่าย มีค่าใช้จ่ายอะไรที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันสิ้นเดือนก็มาเคลียร์ มาหารกัน ก็สบายใจดีค่ะ” คุณอ้อมกล่าว

สำหรับวิธีนี้เป็นวิธีการที่เรียกได้ว่าตรงไปตรงมาที่สุด และหากทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันได้ และมองภาพไปทิศทางเดียวกัน เป็นวิธีที่จะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวน้อย แต่ต้องย้ำว่า ทั้งสองฝ่ายต้องมีความคิดไปทางเดียวกัน และไม่คิดเล็กคิดน้อยตั้งแต่แรกด้วยนะ ซึ่งหากใครสนใจสูตรนี้ สิ่งสำคัญคือเรื่องของการสื่อสารที่ต้องชัดเจน และสม่ำเสมอ  และทุกครั้งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้เงินไปในเรื่องส่วนตัว ต้องคิดถึงอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เพราะหากเราใช้เงินฟุ่มเฟือยมากไป อีกฝ่ายจะต้องรับภาระหนี้สิน บิลต่าง ๆ สิ้นเดือนแทนเรา ซึ่งจะเป็นชนวนศึกของการกระทบกระทั่งหรือความไม่เข้าใจกันได้

 

 

 

สูตร 2 : กระเป๋าใบเดียวเพราะสามีภรรยาคือคน ๆ เดียวกัน

บ้านคุณอนนท์ & คุณวิไลพร ธุรกิจส่วนตัว

ลักษณะเด่น

- เปิดบัญชีร่วม

- รายได้ทั้งหมดเข้าบัญชีเดียวกัน

- รายจ่ายทั้งหมดช่วยกันจัดสรรจากบัญชีกลาง โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้คนในคนหนึ่งเป็นคนจัดการ

- ไม่มีบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว

“บ้านพี่เอามารวมกันหมดนะ จะมากจะน้อย เพราะเราคิดว่าเมื่อแต่งกันแล้วมันก็คนเดียวกัน ช่วยกันหาช่วยกันเก็บ พี่คิดว่าเงินเนี่ยพอเอามารวมกันมันก็มีเป็นก้อน มันเป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่า ถ้ากระจายไปตรงนั้นทีตรงนี้ทีแล้วมันเหมือนเบี้ยหัวแตก ยิ่งเราทำธุรกิจด้วยมันก็มีหลายบัญชีอยู่แล้ว จะให้มาแตกเป็นของฉันของเธออีกมันวุ่นวาย มันไม่มีหรอกของฉันของเธอ มีแต่ของเรา” 

สำหรับสูตรบ้านนี้น่าจะเป็นสูตรคลาสสิกของสังคมไทย ด้วยค่านิยมที่มองว่าสามีภรรยาก็เหมือนคน ๆ เดียวกัน แต่รู้ไหมว่าคำ ๆ นี้นั้นทำให้หลายคู่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันมานักต่อนักแล้ว เพราะความไม่เข้าใจกันและไม่ได้มีความคิดไปทางเดียวกันตั้งแต่ต้นนี่แหละ 

สำหรับครอบครัวที่สามีภรรยาทำธุรกิจร่วมกันอาจจะเป็นไปได้ที่ใช้เงินรวมกันตรงกลาง แต่หากต่างคนต่างทำงาน หรือคนใดคนหนึ่งไม่ทำงาน หรือคนใดคนหนึ่งมีรายได้น้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมาก สูตรการจัดการเงินสูตรนี้จะค่อนข้างเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ง่าย 

ซึ่งหากจะใช้สูตรนี้ ทั้งคุณและคู่ของคุณจะต้องมั่นใจว่า 

 

1. รูปแบบการใช้เงิน และนิสัยการจับจ่ายของทั้งคู่ เป็นไปในทางเดียวกัน มุมมองและวิธีการในออม การลงทุน ไม่ขัดแย้งกัน

2. ตกลงกันได้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าใครจะเป็นคนจัดการเงินที่หามาได้ทั้งหมด

3. มีแผนการจัดการรวมถึงบัญชีรายรับรายจ่ายที่ชัดเจนและโปร่งใส ตรวจสอบได้ (ฟังดูเหมือนเวอร์ สามีภรรยานะทำไมต้องทำขนาดนั้น แต่เอาจริงแล้ว เพราะไม่ทำขนาดนี้นั่นแหละ เลยทำให้บ้านแตกมานักต่อนักแล้ว)

4. ตกลงกันให้ได้ว่า หากต้องการซื้อสินทรัพย์ร่วมกัน แต่มีความเห็นไม่ลงรอยกัน ใครจะเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด และอีกฝ่ายต้องเคารพการตัดสินใจนี้ด้วย 

 

 

สูตร 3 : หาได้มากจ่ายมาก หาได้น้อยจ่ายน้อย เน้นความเท่าเทียมไม่ใช่เท่ากัน

บ้านคุณอ้อ (พนักงานบริษัท) & คุณอ๋อง (ฟรีแลนซ์)

ลักษณะเด่น

- อาจจะมีบัญชีร่วมหรือไม่มีก็ได้

- ฝ่ายที่มีรายได้มากรับผิดชอบค่าใช้จ่ายมากกว่า คิดสัดส่วนเป็น % ของรายได้หรือตามแต่ตกลง

- มีบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว

“สำหรับครอบครัวเราใช้คำว่าหารเท่า แต่เท่านี้ไม่ใช่หมายความว่าเท่ากัน แต่มันคือเท่าเทียม เรามีรายได้มากกว่าสามี เราก็ช่วยดูแลค่าใช้จ่ายใหญ่ ๆ พวกค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ค่าเทอมลูก สามีช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายรายเดือนค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหารในบ้าน เพราะสามีเป็นฟรีแลนซ์ รายได้ไม่แน่นอน ไม่ได้แบ่งว่าเธอเป็นผู้ชายต้องจ่ายมาก ฉันผู้หญิงต้องจ่ายน้อยกว่า อ้อว่าสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว

ยังรู้สึกด้วยซ้ำว่าเราโชคดีที่สามีทำงานอยู่บ้าน เขาก็มีเวลาไปรับไปส่งลูก ดูแลลูก ก็กึ่ง ๆ พ่อบ้านไปในตัว อ้อว่าเขาค่อนข้างเสียสละมากว่าเราด้วยซ้ำ เราแค่ออกไปทำงานนอกบ้าน บางทีกว่าจะกลับมาลูกหลับแล้ว แต่เขาต้องทำงานทั้งของตัวเองทั้งงานในบ้าน เราจะไปเอาเปรียบเขาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อีกมันก็ไม่น่าใช่” 

สำหรับสูตรนี้ หากคุณมีรายได้ทั้งคู่ แต่ฝ่ายหนึ่งมีรายได้น้อยกว่าอีกฝ่าย แน่นอนว่าเราสามารถแบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบกันอย่างครอบครัวคุณอ้อก็ได้ แต่หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีรายได้เลยเช่น เป็นแม่บ้านพ่อบ้านเต็มตัว ฝ่ายที่มีรายได้หลัก จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัวของฝ่ายที่ไม่มีรายได้ด้วย แต่สิ่งที่คุณทั้งคู่จะต้องคุยกันให้ดีก่อนการตัดสินใจใช้สูตรนี้ก็คือ

1. มั่นใจว่าคุณทั้งสองสะดวกใจและสบายใจกับไอเดียนี้

2. ไม่ควรคิดว่าค่าใช้จ่ายที่อีกฝ่ายออกให้เป็นบุญเป็นคุณ หรือเป็นรายได้ที่ได้มาฟรี ๆ หากอีกคนต้องทำหน้าที่ดูแลลูกและดูแลบ้าน เพราะนี่ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า “งาน” เหมือนกัน แถมเป็นงานที่เผลอ ๆ จะหนักกว่างานนอกบ้านด้วยซ้ำ

3. ทำบัญชีแจกแจงประเภทของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้ง ค่าใช้จ่ายประจำหลัก ๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัวของอีกฝ่ายด้วย โดยตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นว่าอีกฝ่ายที่ทำหน้าบริหารจัดการเงินก้อนนี้จะต้องดูแลให้อยู่ในงบไม่เกินที่กำหนดไว้ 

 

 

 

 

สูตร 4 : มีกระเป๋ากลางไว้ใช้จ่ายกองกลาง และกระเป๋าตัวเองไว้ใช้จ่ายส่วนตัว

บ้านคุณวศิน (ทันตแพทย์) & คุณมาดา (ธุรกิจส่วนตัว)

“เราแบ่งเงินแบบมีทั้งเงินส่วนตัว และเงินกองกลาง โดยตัดแบ่งมาเลยว่าแต่ละเดือนต่างคนต่างต้องส่งกองกลางเท่าไร บ้านผมแบ่ง 10% ของรายได้ของแต่ละคน เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน อีก 30% เป็นเงินลงทุนร่วมกัน เช่น ค่าผ่อนบ้าน เงินฝากประจำ ประกันชีวิต ที่เหลืออีก 60% คือค่าใช้จ่ายส่วนตัว มันทำให้เรายังพอมีช่องว่างในการใช้เงินของตัวเอง ไม่ว่าจะเอาไปใช้จ่ายหรือลงทุนส่วนตัว อย่างผมลงทุนเสี่ยง ๆ ที่แฟนไม่เห็นด้วยเช่นพวก crypto currency ผมก็เอาเงินส่วนนี้มาลง ซึ่งเกิดเราลงทุนผิดพลาดมันก็เป็นเงินส่วนตัว ครอบครัวก็ไม่ได้เดือนร้อนไปด้วย”

ลักษณะเด่น

- เปิดบัญชีร่วมกัน

- ต่างฝ่ายต่างส่งเงินเข้ามากองกลางเป็นสัดส่วนตามที่ตกลงกัน 

- ต่างฝ่ายต่างมีบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว

- รับผิดชอบหนี้สินส่วนกลางร่วมกัน รับผิดชอบหนี้สินส่วนตัวของตัวเอง

จากที่ได้คุยกับแต่ละบ้านมาหลาย ๆ บ้าน วิธีนี้เป็นวิธีที่ครอบครัวยุคใหม่ใช้กันมากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีที่เรียกว่าลงเรือลำเดียวกัน แต่ไม่ได้นั่งกอดกันกลม เรียกว่ามีระยะให้ทั้งสองได้หายใจ ชื่นชมวิวทิวทัศน์ในมุมของตัวเอง แถมต่างคนยังใส่ชูชีพ เตรียมพร้อมช่วยเหลือได้ทั้งตัวเองและคู่ครองในวันที่อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้อีกต่างหาก

 

สำหรับสูตรนี้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากฝั่งตะวันตกหลายสำนักลงความเห็นว่า เป็นสูตรที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการการเงินในบ้าน และสามารถประยุกต์ใช้ได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามีภรรยาทำงานมีรายได้ทั้งคู่ และเป็นวิธีที่อยู่หมัดหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหนี้สินส่วนตัว ก็ไม่ต้องทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนไปด้วยอีกต่างหาก

สิ่งที่ต้องคุยกันก่อนตกลงใช้สูตรนี้ก็คือ

1. ตัดสินใจว่าบิลไหนคือบิลที่เรียกว่าส่วนตัว บิลไหนคือบิลส่วนรวม บิลที่เห็นชัด ๆ เช่นค่าน้ำค่าไฟนั้น ค่าบ้านค่ารถนั้นไม่ยาก แต่พอเป็นเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ค่าใช้จ่ายในการกินข้าวนอกบ้าน เดินทางท่องเที่ยว อาจจะต้องคุยกันให้ดี ว่าจะใช้เงินส่วนตัวหรือเงินกองกลาง

2. ตกลงกันให้ชัดว่าเงินกองกลางที่จำเป็นต้องใช้ ควรจะเป็นเท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าการทำบัญชีรับจ่ายจะช่วยคุณได้อีกเช่นกัน จากนั้นแบ่งสัดส่วนของเงินที่ต่างฝ่ายต้องส่งเข้ากองกลางทุกเดือน เช่น 50/50 หรือจัดสรรปันส่วนไปตามรายได้ของแต่ละฝ่าย

3. หากมีเงินเหลือให้แบ่งอีกกองหนึ่งเพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อครอบครัว ซึ่งทั้งสองรับผลประโยชน์ร่วมกัน หรือให้ลูกเป็นผู้รับผลประโยชน์ เช่น เงินออม เงินเก็บระยะยาว เงินลงทุนในหุ้น พันธบัตร หรือที่ดิน ประกันชีวิต

4. หากอีกฝ่ายหนึ่งมีหนี้สินมาก ซึ่งเป็นหนี้สินส่วนตัว ทำให้ไม่พอจ่ายเข้ากองกลาง อีกฝ่ายอาจให้ยืมก่อน (ทั้งยืมมาจ่ายกองกลางและจ่ายหนี้ส่วนตัว) โดยคิดเป็นเงินยืม และให้ ไม่ใช่ให้เปล่า มิฉะนั้นอาจทำให้อีกฝ่ายไม่ปรับปรุงพฤติกรรมการใช้เงิน อันอาจนำมาซึ่งความแตกร้าวในครอบครัวในที่สุด เพราะอย่าลืมว่าหากคุณแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกัน หากเขาถังแตก คุณก็ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบหนี้นั้นตามกฎหมายอยู่ดี

ทั้งหมดนั้นคือ 4 สูตรคลาสสิค ที่เราได้มาจากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ หากบ้านไหนยังไม่เคยคุยกันจริงจังในเรื่องนี้ให้รีบคุย บ้านไหนคุยแล้วไม่ลงตัว ลองดูแนวทางข้างต้นเป็นตัวอย่าง

ไม่ว่าจะสูตรใดก็ตาม มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่เป็น one-size-fit-all สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับครอบครัวของคุณอย่างไรมากกว่า เพราะคุณคือคนที่รู้จักคู่ของคุณดีที่สุด ไม่งั้นคงไม่ตัดสินใจจะอยู่ร่วมกันไปตลอดชีวิตหรอก จริงไหม?

 

 

 

 

เพิ่มช่องทางการรับข่าวสารและข้อมูลดี ๆ ผ่าน Line Official AZAYfan ที่จะช่วยทำให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ได้ที่

เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน

     

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0