โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วันมงคลหรือวันเหลวไหล - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 18 มี.ค. 2562 เวลา 03.24 น. • วินทร์ เลียววาริณ

วันเกิดของโลกเป็นวันอะไร จันทร์? อังคาร? พุธ? ศุกร์? อาทิตย์? เราไม่รู้ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนั้นมีกี่ชั่วโมง เรารู้ว่าตลอดชีวิตของโลก มีหลายช่วงที่มันมีจำนวนชั่วโมงและจำนวนวันในหนึ่งปีไม่เท่ากับโลกในตอนนี้ เพราะวงโคจรรอบตัวเองของโลกเปลี่ยนไปเป็นระยะ แกนโลกก็ขยับแกว่งไม่เหมือนเดิมเป็นระยะ ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ก็ต่างกันตลอดเวลา

ความยาวของหนึ่งวันเปลี่ยนมาตลอดตั้งแต่วันแรกของโลก ในระยะเวลาสี่พันหกร้อยล้านปี มันไม่เหมือนกัน มันยาวขึ้นเรื่อยๆ

เหตุผลหนึ่งเพราะดวงจันทร์ จากการคำนวณนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตอนที่โลกยังเป็นทารก โลกหมุนรอบตัวเองเร็วกว่านี้มาก ราวๆ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนตอนที่ดวงจันทร์เพิ่งกำเนิด มันอยู่ใกล้โลกกว่านี้มาก มัน โคจรรอบโลกเวลาแค่ห้าชั่วโมง

แรงดึงดูดระหว่างสองโลกนี้ทำให้ดวงจันทร์ถอยห่างออกไปทีละนิด และโลกหมุนช้าลง วันยาวขึ้น

แผ่นดินไหวก็มีส่วนทำให้โลกหมุนช้าลง แม้ว่าจะเล็กน้อยมาก

ในยุคดีโวเนียน (Devonian Period) ประมาณสี่ร้อยกว่าล้านปีก่อน แต่ละวันยาวเพียง 22 ชั่วโมง จำนวนชั่วโมงต่อวันน้อยก็เพราะโลกหมุนเร็วกว่าตอนนี้ หมุน 22 ชั่วโมงก็ครบวันแล้ว นั่นคือยุคที่โลกหนึ่งปีมี 400 วัน

หลักฐานต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous Period) ประมาณ 350 ล้านปีก่อน หนึ่งปีโลกเท่ากับ 385 วัน เนื่องจากแต่ละวันยาวเพียง 23 ชั่วโมง

ย่อมมีคนถามว่ามั่วหรือเปล่า? เรารู้ได้อย่างไร?

ข้อดีของวิทยาศาสตร์คือมันว่าด้วยหลักฐาน เราพบหลักฐานความยาวของวันจากธรรมชาติโดยตรง วิธีหนึ่งคือวัดจากฟอสซิลปะการัง ซึ่งมีคุณลักษณะคล้ายเส้นวงปีของต้นไม้ เรายังวัดได้จากชั้นหินที่คราบน้ำขึ้นน้ำลงจารึกบนชั้นหินเป็นหลักฐาน

จากการคำนวณ เรารู้ว่าวันในปัจจุบันยาวกว่าวันในอดีตเมื่อสามพันปีก่อนประมาณ 0.047 วินาที เรารู้ว่าเมื่อ 62 ล้านปีก่อน หนึ่งวันยาว 21.9 ชั่วโมง

นั่นแปลว่าจำนวนวัน เดือน ปี ในอดีตไกลโพ้นต่างจากตอนนี้ หากมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ประจำวันจริง ก็คงทำงานต่างจากวันนี้มาก!

ดังนั้นเราจึงไม่รู้วันเกิดจริงของโลกที่มี 24 ชั่วโมงต่อวันคือวันไหน เมื่อไร

ถ้าเช่นนั้นวันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ ฯลฯ มาจากไหน? ทำไมเรามีเจ็ดวันต่อสัปดาห์? ทำไมจึงมี 12 เดือนใน 1 ปี? ทำไมเราจัดระเบียบวันเดือนปีตามที่เป็นอยู่นี้? 1 วันมี 24 ชั่วโมง 7 วันเป็น 1 สัปดาห์ 365 วันเป็น 1 ปี

วันจันทร์ อังคาร พุธ… ทั้งเจ็ดวันนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไร ตั้งแต่เกิด บิ๊ก แบง? หรือว่าตั้งแต่เกิดโลก?

เปล่าทั้งนั้น เพราะการแบ่งหนึ่งสัปดาห์เป็นเจ็ดวันไม่ใช่เหตุผลทางดาราศาสตร์หรือธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ และกลางวันกลางคืน มนุษย์เป็นผู้จัดเอง

…………..

การแบ่งวันเป็น 24 ชั่วโมงเป็นผลงานของชาวอียิปต์โบราณ กลางวัน 12 กลางคืน 12 หารจากระยะเวลาช่วงจากอาทิตย์ขึ้นและตก

เดือนมาจากพระจันทร์ ช่วงครบรอบของพระจันทร์คือ 29.5 วัน เศษทศนิยมทำให้ไม่สะดวกเวลาใช้ จึงใช้ตัวเลขกลมๆ ทำให้เรามีทั้ง 28 วัน 29 วัน 30 และ 31 วันในหนึ่งเดือน

เนื่องจากการจัดมีเศษ บางปีมี 52 สัปดาห์ บางปีมี 53 สัปดาห์

เคยสงสัยไหมว่าทำไมจึงแบ่งชั่วโมงและนาทีเป็น 60?

ที่มาของมันไม่ใช่เพราะเหตุผลทางธรรมชาติ เลข 60 เป็นฐานคณิตศาสตร์ที่ชาวสุมาเรียนใช้ เพราะเลข 60 หารด้วยเลขจำนวนมากโดยไม่มีเศษ คือเลข 2, 3, 4, 5, 6, 10, 12, 15, 20, 30

มันเป็นกติกาที่เรากำหนดเอง

ดังนั้นหากเราอยากแบ่งตามใจฉันเป็นหนึ่งปีมีหกเดือนก็ย่อมได้ ใครจะทำไม? คือให้ปี 1 เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ปี 2 กรกฎาคมถึงธันวาคม แล้วเริ่มวงจรใหม่ ก็ไม่ผิดกติกาอย่างไร แรกๆ อาจยุ่งบ้าง แต่ใช้ไปไม่นาน คนก็จำได้เอง เวลาสอนเด็กก็แค่บอกว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลาสอง ‘ปี’

ดังนั้นเราจะจัดระเบียบโดยไม่ใช้เดือนและสัปดาห์ก็ยังได้ เป็นหน่วยเลขวันอย่างเดียว ไล่ไปเรื่อย วันที่ 1 วันที่ 2 ไปถึงวันที่ 365 เราอาจเรียกวันที่ 1 มีนาคมว่าวันที่ 60 วันที่ 2 พฤษภาคมเรียกว่าวันที่ 122 วันที่ 31 ธันวาคมเรียกว่าวันที่ 365 เป็นต้น และเราก็กำหนดฤดูได้ว่า วันที่ 180-270 เป็นฤดูฝน วันที่ 271-365 เป็นฤดูหนาว

ครบ 365 วันครบรอบฤดูกาล ก็เริ่มนับ 1 ใหม่

อาจมีคนบ่นบ้างว่าจำยาก แต่ก็คงยอมรับ เหมือนกับที่เรายอมรับวิธีจัดปีอธิกสุรทิน ต้องจดจำว่า ปีใดกุมภาพันธ์มี 28 วัน ปีใดมี 29 วัน

พูดง่ายๆ คือ จะจัดอย่างไรก็ได้ เพราะเราเป็นผู้ตั้งกฎ

…………..

ทำไมเราแบ่งหนึ่งสัปดาห์เป็นเจ็ดวัน?

มีหลายทฤษฎี ทฤษฎีหนึ่งว่า หนึ่งสัปดาห์เจ็ดวันมีที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าสร้างโลกในหกวัน วันที่เจ็ดเป็นวันพักผ่อนคือวันซับบาธ (สะบาโต) รวมเจ็ดวัน

ทว่าเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์อารยธรรมโบราณจะพบว่า การแบ่งเจ็ดวันมีมานานก่อนหน้านั้น ดาราศาสตร์ชาวบาบิโลน (ปัจจุบันคืออิรัก) ใช้หนึ่งสัปดาห์เป็นเจ็ดวันมาอย่างน้อยหลายร้อยปีก่อนคริสตกาล

อย่างไรก็ตาม อารยธรรมโบราณต่างๆ ก็ใช้ 7 วันต่อสัปดาห์ รวมไปถึงพวกยิวที่ใช้เจ็ดวันต่อสัปดาห์ตามพวกบาบิโลน ทำให้มีอีกทฤษฎีที่ว่า ตำนานพระเจ้าสร้างโลกของศาสนายิว (สร้างโลก 6 วัน พักผ่อน 1 วัน) วางบนแนวคิด 7 วันของชาวบาบิโลน

ชาวคริสต์ให้วันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อน อิสลามให้วันศุกร์เป็นวันพัก ชาวยิวให้วันเสาร์เป็นวันพักและบูชา เรียกว่าวันซาบบาธ (Sabbath)

การแบ่งเจ็ดวันนี้แพร่ไปทั่วโลก ทั้งอินเดียและจีนก็รับมาใช้ ปรับชื่อบ้าง โดยเรียงลำดับวันเหมือนกัน กลายเป็นมาตรฐานสากลในปัจจุบัน ต่างกันเล็กน้อยในเรื่องวันแรกของสัปดาห์

ในโลกปัจจุบัน มาตรฐาน ISO 8601 กำหนดให้วันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์

สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียให้วันอาทิตย์เป็นวันแรกของสัปดาห์

ถ้างั้นวันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ… มาจากไหน?

…………..

การกำหนดดาวและดาวเคราะห์สำหรับวันทั้งเจ็ดนั้น (อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ…) ไม่ใช่ผลงานของชาวบาบิโลน มันเกิดขึ้นในภายหลัง

ชื่อวันตั้งชื่อตามดาวและดาวเคราะห์ที่ชาวโรมันรู้จักในเวลานั้น และมองเห็นด้วยตาเปล่า คือพระอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัส ดาวศุกร์ ดาวเสาร์

ชื่อวันมาจากเทพในตำนานกรีกกับชื่อดาวเคราะห์ เช่น เทพวีนัส = ศุกร์ เทพมาร์ส = อังคาร เทพจูปีเตอร์ = พฤหัส เป็นต้น

สังเกตว่าลำดับวันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ ไม่ได้เรียงตามลำดับของดาวเคราะห์จากดวงอาทิตย์ คืออาทิตย์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน (แสดงรูปกราฟิก)

แล้วมันเริ่มต้นอย่างไร? ทำไมจึงเริ่มต้นระบบเจ็ดวันในวันนั้น? มันเป็นวันที่อาทิตย์ทรงกลด จันทร์เจิดจรัสเป็นพิเศษ สายรุ้งพาดท้องฟ้า หรือมีนิมิตอัศจรรย์? เปล่าทั้งสิ้น มันเร่ิมต้นในวันธรรมดาวันหนึ่ง ผู้นำโรมันบอกข้าราชการทั้งหลายว่า “ท่านโหรบอกว่าเราน่าจะแบ่งหนึ่งเดือนเป็นหน่วยย่อย คือสี่สัปดาห์ สัปดาห์ละเจ็ดวัน ใครมีความเห็นว่ายังไง?”

ข้าราชการคนหนึ่งว่า “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน”

อีกคนหนึ่งว่า “สุดยอด คิดได้ไง! แต่จะเรียงยังไง?”

“ท่านโหรเสนอว่าใช้ชื่อวันตามชื่อดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร…”

“ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน แล้วจะเริ่มด้วยเทพองค์ไหน?”

ผู้นำโรมันมองซ้ายมองขวาแล้วกล่าวว่า “Saturn ก็แล้วกัน”

เวลานั้นในโลกของโรมัน เสาร์ (Saturn) เป็นเทพแห่งเวลา มีอำนาจมาก เทพเจ้า Saturn เชื่อมกับตำนานเทพโครนัส (Cronus) ของกรีก กลายเป็นเทพแห่งกาล

โครนัสในตำนานกรีกเป็นเทพโหดร้าย แต่โครนัสในตำนานโรมันเป็นเทพดี และผูกตำนานกับเทพเสาร์ เทพ Chronos เป็นสัญลักษณ์ของกาล ฤดูกาล และปฏิทิน

ดาวเคราะห์เสาร์จึงถูกตั้งชื่อตามเทพองค์นี้

นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่เมื่อโรมันเริ่มใช้ระบบวัน ก็เริ่มด้วยวันเสาร์ วันนั้นก็เป็นวันธรรมดา ตะวันขึ้นเหมือนทุกวัน ลมพัด นกร้องปกติ ดาวเสาร์ไม่ได้ฉายแสงแรงกล้า หรือเทพโครนัสก็ไม่ได้ปรากฏตัวต่อหน้าทุกคน

แล้วเราก็นับกันมาเรื่อยๆ จากวันนั้นจนถึงวันนี้

มันไม่มีหลักอะไร เพราะถ้าพวกเขาประชุมเรื่องนี้เร็วขึ้นหรือช้าลงสองสามวัน วันจันทร์ อังคาร พุธ ฯลฯ ของเราตอนนี้ก็ขยับเคลื่อนไปแล้ว

สมมุติว่าในวันประชุม ผู้นำโรมไม่พอใจหน้าของโหร อาจทรงพาลไม่พอใจระบบสัปดาห์ละเจ็ดวัน ก็อาจกำหนดสัปดาห์ละสิบวัน แค่หาชื่อเทพเจ้ามาอีกสามองค์ก็ครบสิบ รวมกันเป็น อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ ยูโรปา ไทตัน เนปจูน

ผู้นำสั่งมา ลูกน้องก็บอกว่า “ได้ครับนาย”

วันเกิดของคุณตอนนี้อาจเปลี่ยนเป็นวันเนปจูนหรือวันยูโรปา ชะตาชีวิตคุณก็เปลี่ยนไปตามกติกาที่หมอดูกำหนด สมมุติว่าคุณเกิดในวันเนปจูน ตามตำนานกรีก เทพประจำเนปจูนคือโพไซดอน ก็ย่อมมีหมอดูโยงนิสัยของคนเกิดวันนี้เข้ากับเทพโพไซดอนจนได้ สีมงคลประจำวันก็คงเป็นสีน้ำเงิน สีทะเลที่เกี่ยวกับเทพโพไซดอน และเป็นสีดาวเคราะห์ด้วย

คนที่เกิดวันเนปจูนก็จะต้องบูชาเทพโพไซดอน สวมเสื้อมงคลสีน้ำทะเล อัญมณีประจำวันเกิดก็คือ aquamarine (aqua แปลว่าน้ำ marine แปลว่าทะเลหรือมหาสมุทร) ตำนานลงตัวพอดี!

ผู้นำโรมเพียงแต่ไม่รู้ว่า ผ่านไปพันสองพันปี ชาวโลกสามารถคิดค้นเรื่องมาเสียบและใช้ทำนายชะตาชีวิต และคนไทยประดิษฐ์อักษรมงคล-กาลกิณีโยงเข้ากับวันอีกชั้นหนึ่ง

การตั้งชื่อวันอิงตามเทพเจ้าก็เพราะมันมีอยู่ ก็ใช้ ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนอะไร

ถ้าคุณเป็นผู้มีอำนาจในยุคนั้น ไม่ชอบตำนานเทพกรีก ก็อาจตั้งชื่อวันตามดอกไม้ เช่น วันกุหลาบ วันแก้ว วันซ่อนกลิ่น วันโมก วันราตรี วันมะลิ วันปีบ หรือใช้ชื่อนก วันอินทรี วันฮูก วันอีแร้ง ฯลฯ

จะเห็นว่าอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่ทำให้โลกหมุนเร็วขึ้นหรือช้าลง และเราสามารถแต่งเรื่องเสียบได้หมด แล้วใช้เรื่ิองนั้นๆ มาเชื่อและบูชา

หมอดูมีงานทำ เรามีเรื่องให้เชื่อ

…………..

แล้วทำไมมี 12 เดือนต่อปี?

ชาวโรมันใช้หลักกรีก เริ่มใช้ปฏิทินสิบเดือนต่อปีในปี 738 ก่อนคริสตกาล เดือนทั้งสิบคือ Martius, Aprilis, Maius, Junius, Quintilis, Sextilis, September, October, November และ December แต่ยังเหลืออีกราวหกสิบวัน ก็เพ่ิมอีกสองเดือนในท้ายปี คือ Januarius กับ Februarius

ต่อมาสมัยจักรพรรดิ จูเลียส ซีซาร์ ทรงเปลี่ยนปฏิทินในปี 46 ก่อนคริสตกาล ใช้สิบสองเดือนต่อปี กุมภาพันธ์เป็นเดือนสุดท้ายมีแค่ 29 วัน ทุกสี่ปีจึงจะได้เพิ่มหนึ่งวัน ต่อมาเปลี่ยนพระทัย ให้มกราคมเป็นเดือนแรก

หลังซีซาร์ทรงถูกฆ่าตาย เพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์ โรมันก็เปลี่ยนชื่อเดือน Quintilis เป็น July (กรกฎาคม) ต่อมาหลังการแย่งชิงอำนาจ หลานชายของซีซาร์ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนาม Augustus ทรงปกครองอาณาจักรโรมันจนเป็นยุคสันติสุข เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ชื่อเดือน Sextilis ก็ถูกเปลี่ยนเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิ Augustus กลายเป็น August (สิงหาคม) และเนื่องจาก Augustus เป็นบุคคลสำคัญ ก็เพ่ิมให้อีกหนึ่งวันให้มีจำนวนวันเท่ากับเดือนของ จูเลียส ซีซาร์ คือ 31 วันเหมือนกัน โดยหักวันมาจากเดือนกุมภาพันธ์

ถ้าจักรพรรดิ Augustus ไม่ทรงความสำคัญในประวัติศาสตร์โรมัน เดือนสิงหาคมก็จะมีแค่ 30 วัน และตอนนี้เราคงเรียกเดือนนี้ว่า สิงหายน

พูดง่ายๆ คือถ้าโรมันไม่เปลี่ยนจากสิบเดือนเป็นสิบสองเดือน ถ้าชาวโรมันไม่นับถือจักรพรรดิ Augustus วันเกิดของทุกคนในโลกตอนนี้ก็ต่างจากที่เป็นอยู่

คนเกิดวันศุกร์ในตอนนี้จริงๆ อาจเกิดวันอังคารหรือพุธ

จะเห็นว่าแค่คนสองคนทำให้ระบบวันและเดือนเปลี่ยนไปหมด!

เหมือนการกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก มันก็ผิดมาตลอด

อำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่กำหนดชีวิตมนุษย์ตามที่โหราศาสตร์อ้างก็เปลี่ยนไป มองมุมนี้จะเห็นว่าถ้าจักรพรรดิ Augustus ทรงมีอำนาจเหนืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องปรับตัวตาม!

วันเกิดของเราจึงเป็นเพียงสิ่งสมมุติ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลทิศทางชะตาของเราที่เกิดในแต่ละวัน ก็เป็นเรื่องสมมุติ

ดังฉะนี้ วันจันทร์ อังคาร พุธ ฯลฯ จะมีผลต่อชีวิตเราได้อย่างไร ในเมื่อมันถูกสมมุติขึ้นมาตั้งแต่แรก?

ดังนั้นคำทำนายว่าคนเกิดวันจันทร์เป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ คนเกิดวันอังคารเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ จึงไร้สาระโดยสิ้นเชิง

เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำนายชะตาที่อิงวันก็เป็นเรื่องตลกที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน เป็นสิ่งที่เราอุปโลกน์ขึ้นมา แล้วเชื่อเป็นตุเป็นตะ เป็นจริงเป็นจัง

นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่า โหราศาสตร์ที่ยึดมั่นกับวันเดือนนั้นวางบนความไม่แน่นอน เพราะความยาวของวันเดือนปีไม่เคยเท่ากันตลอดอายุของโลกใบนี้

ในอนาคตกาลไกลโพ้น ความยาวของหนึ่งวันจะยาวขึ้นเรื่อยๆ จนเท่าหนึ่งเดือนและจะขยายต่อไปอีก เพราะดวงจันทร์จะถอยออกไปไกลขึ้น

หลายหมื่นล้านปีจากวันนี้ ดวงจันทร์จะกินเวลาโคจรรอบโลก 45 วัน (มาตรฐานวันของปัจจุบัน)

นั่นหมายถึงจำนวนเดือนจะแตกต่างจากวันนี้หน้ามือเป็นหลังมือ

สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะทำงานอย่างไรในสภาวะดังกล่าว? เนื่องจากกฎกติกาทางโหราศาสตร์ทั้งหลายจะพลิกคว่ำหมด

โลกมันไม่รู้หรอกว่าวันนี้วันอะไร มันก็อยู่มาได้สี่พันหกร้อยล้านปีโดยไม่ต้องมีจันทร์ อังคาร พุธ เมื่อมนุษย์ตายจากโลกนี้ไป มันก็เหมือนเดิม

การไปยึดมั่นถือมั่นว่า ‘วันมงคล’ ส่งผลอะไรกับชีวิตจึงเป็นเรื่องเหลวไหลโดยสิ้นเชิง

ทุกวันสามารถเป็นวันมงคล อยู่ที่ว่าเราทำวันนั้นให้ดีหรือไม่ เมื่อทำดีทั้งกาย วาจา และใจ มันก็เป็นวันมงคล

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 19

  • Chanasinak
    ชอบบทความแบบนี้ครับ แบบที่พระพุทธเจ้าก็สอนเอาไว้ คนเราหาเรื่องไปเกี่ยวโยงกับฤกษ์งามยามดี วันเดือนปีเกิด ดูดวงชะตาได้อีก
    16 เม.ย. 2562 เวลา 11.00 น.
  • Be
    เบอร์โทรมงคล , ทะเบียนรถมงคล สีเสื้อมงคล , ฤกษ์มงคล , ไพ่มงคล , หมอดู , โหราจารย์ , หมอเดา , ปี่เซียะ , ปี่พระอภัย , แหวนมงคล , แหวนกอลลัม , กำไลมงคล , กำไรคนขาย ฯลฯ ... สารพัดสิ่งหลอกลวง ที่ใช้ล่อหลอก คนขาดที่พึ่งทางใจ ..... "สติ" ตัวเดียว เอาอยู่เลย
    15 เม.ย. 2562 เวลา 12.24 น.
  • pui soil4
    เป็นบทความที่ดี แต่หลายทฤษฎี ใช้การคาดการณ์ คาดเดาที่มั่วของนักวิทยาศาสตร์
    30 มี.ค. 2562 เวลา 09.01 น.
  • eka
    ถ้าเขาทำไปแล้วมีความสุข ไม่เดือดร้อน เบียดเบียนใคร ก็ทำไปเหอะ
    21 มี.ค. 2562 เวลา 02.00 น.
  • Vijit
    ช่วยไปคุยกับเมียผมหน่อยสิ ทั้งสีเสื้อ ตั้งชื่อลูก ทะเลาะกันมีแต่เรื่องไร้สาระพวกนี้ ผมพูดไม่เคยฟังเลย ฟังแต่คนอื่น
    20 มี.ค. 2562 เวลา 09.46 น.
ดูทั้งหมด