โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

มากกว่าความเป็นหนึ่ง : ค้นหาความหมายภายใต้เข็มขัดสีทองของกีฬามวยปล้ำ

Main Stand

อัพเดต 27 ม.ค. 2563 เวลา 12.43 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

เข็มขัดแชมป์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของกีฬาต่อสู้ทุกชนิด เพราะมันคือสัญลักษณ์ของสุดยอดนักสู้ และสิ่งของที่จะบอกว่าคุณคือหมายเลขหนึ่งของวงการในขณะนั้น

 

กีฬามวยปล้ำก็เช่นกัน พวกเขามีเข็มขัดแชมป์โลก หมายถึงความเป็นเบอร์หนึ่งของสมาคมผู้จัด แต่ที่แตกต่างจากกีฬาต่อสู้ชนิดอื่น มวยปล้ำไม่ได้มีเข็มขัดแชมป์หนึ่งเส้นต่อหนึ่งรุ่นน้ำหนัก พวกเขามีเข็มขัดชื่อแปลกประหลาดมากมาย ที่มีความหมายแตกต่างกันไป

Main Stand จะพาคุณไปรู้จักความหมายที่ซ่อนอยู่หลังเข็มขัดสีทองของวงการมวยปล้ำ ตั้งแต่แชมป์โลก ผ่านแชมป์ชื่อยาวเหยียดอย่าง อินเตอร์คอนติเนนทัล สู่แชมป์ชื่อชวนฮาอย่าง แชมป์ทีวี

เข็มขัดแชมป์เหล่านี้มีความหมายอะไร? แชมป์ไหนยิ่งใหญ่กว่าแชมป์ไหน? แล้วเข็มขัดแต่ละเส้นกำลังบอกเล่าเรื่องราวอะไรกับเราอยู่? ติดตามตามเรื่องราวทั้งหมดนี้ไปพร้อมกัน

 

ความศักดิ์สิทธิ์ของแชมป์โลก

ย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การนำเสนอภาพของกีฬามวยปล้ำ ยังไม่ได้อยู่ในรูปแบบของกีฬาเพื่อความบันเทิงอย่างเต็มตัว 

Photo : themovielist.net

มวยปล้ำอาชีพวางตัวไม่ต่างจากกีฬาต่อสู้รูปแบบอื่น เช่น มวยสากล เข็มขัดแชมป์ของมวยปล้ำในเวลานั้น จึงต้องการความศักดิ์สิทธิ์ และความน่าเชื่อถือ แม้ผลการแข่งขันจะถูกล็อกไว้ล่วงหน้าก็ตาม

ปี 1948 NWA หรือ National Wrestling Alliance (เนชันแนล เรสลิง อัลไลแอนซ์) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น พวกเขาคือคือสมาคมมวยปล้ำที่ทำหน้าที่คล้ายกับ WBA หรือ WBC ของกีฬามวยสากล ในฐานะสภากลางของวงการมวยปล้ำแห่งชาติ NWA มีสิทธิที่จะรับรองเข็มขัดที่พวกเขาสร้างขึ้น ให้เป็นเข็มขัดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

NWA จึงทำการสร้างเข็มขัดแชมป์โลกขึ้นมากมาย ตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งสมาคม เฉกเช่นกับกีฬามวยสากล NWA สร้างเข็มขัดขึ้นมาครอบคลุมทุกรุ่นน้ำหนัก ตั้งแต่ เวลเตอร์เวต ไปจนถึง จูเนียร์ เฮฟวีเวต แต่รุ่นน้ำหนักทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากภาพจำของมวยปล้ำในยุคนั้น คือการต่อสู้ของผู้ชายที่มีร่างกายใหญ่โตมากกว่าคนปกติทั่วไป

NWA Worlds Heavyweight Championship หรือ แชมป์โลกเฮฟวีเวต NWA จึงเป็นเข็มขัดเส้นแรกที่ได้รับการยอมรับให้เป็นเข็มขัดที่อยู่ในสถานะ “แชมป์โลก” ทั้งจากความน่าเชื่อถือของ NWA และชื่อเสียงของนักมวยปล้ำที่อยู่ในระดับสูงของวงการ

Photo : www.f4wonline.com

นอกจากรุ่นน้ำหนัก และชื่อเข็มขัดที่สื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมาว่า แชมป์โลก การออกแบบรูปลักษณ์ของเข็มขัด ยังต้องสื่อความหมายและมีนัยยะสำคัญ ถึงความเป็นเลิศของนักมวยปล้ำเพื่อถือครอง เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ และความน่าเชื่อถือ ของเข็มขัดเส้นดังกล่าวเอาไว้

ปี 1959 แชมป์โลก NWA ถูกออกแบบมาให้เป็นรูปมงกุฎ สื่อความหมายว่าผู้ครอบครองเส้นนี้คือราชาแห่งวงการมวยปล้ำ เข็มขัดรุ่นนี้ใช้งานถึงปี 1973 พวกเขาตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบของเข็มขัดอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความโด่งดังของ NWA ที่เริ่มกระจายตัวไปทั่วโลก

Photo : tpwwforums.com

เข็มขัดแชมป์โลก NWA รุ่นที่โด่งดังที่สุดถูกเรียกว่า "Ten Pounds of Gold" เข็มขัดแชมป์โลกที่ถูกสร้างขึ้นจากทองคำหนัก 10 ปอนด์ พร้อมกับประดับธงชาติสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เม็กซิโก, ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น อันเป็นชาติสมาชิกของ NWA ลงไปในเข็มขัด

Photo : tenpoundsofgold.blogspot.com

รูปลักษณ์ของเข็มขัดรุ่น Ten Pounds of Gold บอกเล่าเรื่องราวของวงการมวยปล้ำทั้งหมดในช่วงเวลานั้น เข็มขัดเส้นนี้เดินทางไปทั่วโลก เพื่อให้ยอดนักมวยปล้ำจากหลากหลายประเทศเข้ามาท้าชิง การประดับธงชาติของหลากหลายชาติทั่วโลกลงไว้เข้าด้วยกันการเป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็น “หมายเลขหนึ่ง” ของเข็มขัดแชมป์โลกเส้นนี้

ความศักดิ์สิทธิ์ของแชมป์โลก NWA ยังแตกแยกออกไปยังสมาคมอื่นที่เป็นคู่แข่งของ NWA ไม่ว่าจะเป็น WWWF (WWE ในปัจจุบัน) หรือ WCW ล้วนกล่าวอ้างว่า เข็มขัดแชมป์โลกของพวกเขาคือเข็มขัดที่แยกตัวออกมาจากแชมป์โลก NWA ดังนั้น เข็มขัดแชมป์โลก WWWF และ จึงมีเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่แพ้แชมป์โลก NWA

Photo : Chuckie George

อิทธิพลของ NWA ยังส่งผลข้ามไปถึงวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น เมื่อ New Japan Pro Wrestling (นิว เจแปน โปร เรสลิง) หรือ NJPW ต้องการสร้างเข็มขัดแชมป์โลกของตัวเองขึ้นมาในปี 1987 NJPW ต้องสร้างสภามวยปล้ำจำลองชื่อ IWGP ขึ้นมา เพื่อรองรับเข็มขัดแชมป์โลกที่กำลังจะสร้างขึ้น 

เนื่องจากแชมป์โลกของ NJPW ไม่ได้แยกออกมาจาก NWA และจะไม่ได้รับการยอมรับจากแฟนมวยปล้ำ หากไม่มีสภามวยปล้ำที่น่าเชื่อถือรองรับเข็มขัดเส้นนี้

 

เข็มขัดแชมป์เส้นรอง

 สิ่งสำคัญที่ทำให้เข็มขัดแชมป์ของกีฬามวยปล้ำ แตกต่างออกไปจากกีฬาต่อสู้ชนิดอื่นเช่น มวยสากล หรือ UFC คือ“เข็มขัดแชมป์เส้นรอง” ที่สร้างความน่าเชื่อถือแก่นักมวยปล้ำระดับกลาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเส้นเรื่องใหม่ให้น่าติดตาม ที่แยกออกไปจากเนื้อเรื่องเส้นแชมป์โลก

Photo : www.collectors.com

เข็มขัดแชมป์เส้นรองส่วนใหญ่ มักจะมีชื่อเกี่ยวข้องกับพื้นที่ เรียกว่าเข็มขัดแชมป์ประจำภูมิภาค (Location-specific championship) ยกตัวอย่างเช่น แชมป์อินเตอคอนติเนนทัล (Intercontinental Championship) ของ WWE หรือ แชมป์ยูเอส (United States Championship) ของ WCW

ชื่อของเข็มขัดแชมป์โลกเส้นรองทั้งหมด จะเป็นชื่อของภูมิภาคที่มีขนาดเล็กกว่าแชมป์โลกเสมอ ดังจะเห็นได้ชัดจากแชมป์อินเตอคอนติเนนทัล ที่มีความหมายแปลว่า “แชมป์ระหว่างทวีป” หรือ แชมป์ยูเอสที่มีความหมายโดยตรงว่าเป็นแชมป์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งโลก

ชื่อของเข็มขัดเส้นรอง จึงเด่นชัดในการจำแนกความสำคัญ ระหว่าง เข็มขัดแชมป์โลก กับ เข็มขัดแชมป์เส้นรอง แต่ระหว่างเข็มขัดแชมป์เส้นรองด้วยกันเอง กลับสร้างความสับสนอยู่ไม่น้อย เช่นคำถามที่ว่า แชมป์อินเตอคอนติเนนทัล กับ แชมป์ยูเอส เข็มขัดเส้นไหนที่คุณค่ามากกว่ากัน?

หากพิจารณาจากชื่อ คำตอบย่อมเป็นแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ที่เป็นตัวแทนของแชมป์ระหว่างทวีป ซึ่งเมื่อดูจากพื้นที่ในชื่อเข็มขัดแชมป์ แชมป์ระหว่างทวีป ย่อมมีความยิ่งใหญ่กว่า แชมป์แห่งสหรัฐอเมริกา ของแชมป์ยูเอสอยู่แล้ว

Photo : www.worthpoint.com

แต่ในความเป็นจริง เข็มขัดทั้งสองเส้น ไม่ได้มีคุณค่าแตกต่างกันแม้แต่น้อย เข็มขัดทั้งสองเส้นทำหน้าที่เป็นเข็มขัด “หมายเลขสอง” ของ WWE และ WCW หน้าที่ของแชมป์อินเตอคอนติเนนทัล และ แชมป์ยูเอส ดำเนินมาในลักษณะนี้ตั้งแต่ช่วงปี 1990’s จนถึงปัจจุบัน ที่เข็มขัดทั้งสองกลายเป็นเข็มขัดเส้นรองของ RAW และ SmackDown

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่าชื่อภูมิภาค ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความหมายของเข็มขัดแชมป์ เท่ากับสถานะที่ค่ายกำหนดให้ คือเข็มขัดแชมป์ยุโรปของ WWE (WWE European Championship) ซึ่งตามความหมาย เช็มชัดเส้นนี้ควรเป็นแชมป์ของนักมวยปล้ำยุโรปทั้งมวล หรืออย่างน้อยก็ควรจะป้องกันแชมป์ในทวีปยุโรปเพียงอย่างเดียว

แชมป์ยุโรปทำหน้าที่แบบนั้นในช่วงเริ่มต้น แชมป์คนแรกของเข็มขัดเส้นนี้คือ British Bulldog (บริติช บูลด็อก) ที่เป็นนักมวยปล้ำชาวอังกฤษ แถมยังปล้ำหาแชมป์คนแรกกันที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน หากมองเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี 1997 เราจะเห็นความน่าเชื่อถือที่ยังคงอัดแน่นในเข็มขัดน้องใหม่เส้นนี้

Photo : www.wwe.com

แต่หลังจากนั้นไม่นาน แชมป์ยุโรปได้กลายสภาพจาก“เข็มขัดหมายเลขหนึ่งของยุโรป” เป็น “เข็มขัดหมายเลขสามของ WWE” มีนักมวยปล้ำยุโรปอีกเพียงแค่รายเดียวที่ถือแชมป์เส้นนี้ต่อจาก British Bulldog และยังเปลี่ยนมือที่ยุโรปอีกแค่ครั้งเดียว หลังจากการปล้ำหาแชมป์คนแรกที่เยอรมัน

แชมป์ยุโรป กลายเป็นแชมป์ของนักมวยปล้ำที่ไม่มีบทในระดับสูง หรือกระทั่งระดับกลาง แต่ค่ายต้องการรักษาความแกร่งของนักมวยปล้ำรายนั้นเอาไว้ แชมป์ยุโรปจึงมีแต่ชื่อของนักมวยปล้ำที่คนไทยไม่คุ้นชื่อ เช่น Mideon (มีเดียน), Perry Saturn (เพอร์รี แซทเทิร์น) หรือ Al Snow (อัล สโนว์) ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ชาวยุโรป

ผลสุดท้าย แชมป์ยุโรปจึงมีอายุเพียงห้าปี ก่อนถูกยุบลงไปในปี 2002 ไม่ใช่เพราะว่า WWE มองข้ามภูมิภาคยุโรป แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องการแชมป์ลำดับที่สามในสมาคมอีกต่อไป 

 

สร้างการแข่งขันผ่านเข็มขัดแชมป์

การอ้างถึงภูมิภาคเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเข็มขัดแชมป์ คือกลยุทธิ์หลักที่ค่ายมวยปล้ำเกือบทั้งโลกนิยม เนื่องจากการถือครองเป็นเจ้าแห่งภูมิภาค เป็นวิธีการที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือแก่เข็มขัดแชมป์ได้มากที่สุด เพราะแม้เข็มขัดจะถูกลดคุณค่า แต่ด้วยชื่อของภูมิภาค เข็มขัดเส้นนั้นจะยังคงรักษาความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง

Photo : Master Blaster

แต่ไม่ใช่เข็มขัดทุกเส้นที่จะดำเนินไปในลักษณะดังกล่าว เช่น แชมป์ทีวี (WCW World Television Championship) ที่ไม่ได้ตีความหมายโดยตรงดั่งที่อธิบายไปก่อนหน้าแบบแชมป์โลก หรือ แชมป์อินเตอคอนติเนนทัล

หากใช้ตรรกะเดียวกันกับแชมป์ประจำภูมิภาค เจ้าของเข็มขัดแชมป์ทีวีย่อมมีความหมายว่า “คุณคือเจ้าแห่งทีวี” มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางคนอาจจะหลุดขำออกมาบ้าง ใครจะอยากเป็นเจ้าแห่งทีวี ถ้าเป็นแบบนี้ จะมาปล้ำมวยปล้ำให้เสียเวลาทำไม! สู้กำเงินสักแสนไปเหมาทีวีจากห้างสรรพสินค้า ยังจะดูเป็น เจ้าแห่งทีวี เสียมากกว่า

แต่ในความจริงแล้ว แชมป์ทีวี คือเข็มขัดเส้นแรกที่มีการนำข้อกำหนด หรือ การวางเงื่อนไข (stipulation) เข้ามาเป็นชื่อเข็มขัดแชมป์มวยปล้ำ โดยแชมป์ทีวี ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1974 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว การรับชมมวยปล้ำผ่านโทรทัศน์เป็นเรื่องยาก ไม่ได้มีรายการทุกสัปดาห์อย่างในปัจจุบัน

เข็มขัดแชมป์ทีวีจึงกลายเป็นเข็มขัดแชมป์ที่มีข้อกำหนดว่า จะมีการปล้ำป้องกันแชมป์เมื่อมีการถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์เท่านั้น และจะยังกำหนดเวลาการปล้ำไว้ไม่เกิน 15 นาที เพื่อการันตีว่าแมตช์ชิงแชมป์ทีวี จะจบลงตามที่เวลาการถ่ายทอดกำหนด

การถือกำเนิดของเข็มขัดแชมป์ทีวี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแชมป์ประเภทที่มีเงื่อนไขหรือรูปแบบตายตัวของแชมป์ (Gimmick/style championship) เข็มขัดแชมป์ในจำพวกนี้ ไม่ต้องการความน่าเชื่อถือ เหมือนกับเข็มขัดแชมป์ประจำภูมิภาค เข็มขัดเหล่านี้มีหน้าที่ชัดเจน ในดิวิชันที่เข็มขัดแชมป์เหล่านี้รับผิดชอบอยู่

เข็มขัดแชมป์มวยปล้ำที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุด คงหนีไม่พ้น แชมป์ฮาร์ดคอร์ (WWE Hardcore Championship) อันเป็นเข็มขัดภายใต้กฎฮาร์ดคอร์ นักมวยปล้ำทุกคนสามารถใช้อาวุธได้ในแมตช์ชิงแชมป์ และยังสามารถเปลี่ยนมือได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำกัดแค่ในเวทีมวยปล้ำเหมือนเคย

ยิ่งไปกว่านั้น รูปลักษณ์ของเข็ดขัดแชมป์ฮาร์ดคอร์ ยังทำมาจากเข็มขัดแชมป์โลกที่ถูกทุบออกให้แตกเป็นเสี่ยง ก่อนแปะเทพกาวที่เขียนคำว่า "Hardcore Champion” ในลักษณะไม่เรียงต่อกันลงไป

Photo : wrestlingnews.co

ความแตกต่างแบบสุดขั้วของแชมป์ฮาร์ดคอร์ที่มีต่อแชมป์โลก อันเป็นแชมป์หมายเลขหนึ่งของวงการมวยปล้ำ ไม่ได้ลดความน่าสนใจของเข็มขัดเส้นนี้ลงเลยแม้แต่น้อย เพราะแชมป์ฮาร์ดคอร์ได้สร้างดิวิชันการแข่งขันของตัวเองขึ้นมา

นักมวยปล้ำที่ถือเข็มขัดเส้นนี้จะได้รับการยกย่องเป็น “ราชาแห่งฮาร์ดคอร์” ซึ่งอาจจะดีกว่าถือแชมป์เส้นรองเสียด้วยซ้ำ เพราะเข็มขัดอย่าง แชมป์อินเตอคอนติเนนทัล หรือ แชมป์ยูเอส ยังคงอยู่ในดิวิชันทั่วไป ที่ถึงอย่างไรก็มีศักดิ์ศรีและเกียรติเป็นรองแชมป์โลก

การสร้างดิวิชันผ่านเข็มขัดแชมป์ กลายเป็นกลยุทธิ์หลักที่ได้ผลมากสำหรับค่ายที่มีขนาดใหญ่ และต้องการกระจายบทบาทให้แก่นักมวยปล้ำอย่างทั่วถึง ค่ายหนึ่งที่กำลังใช้กลยุทธิ์นี้อยู่คือ NJPW ที่ใช้เข็มขัดแชมป์หนึ่งเส้นต่อมวยปล้ำหนึ่งรูปแบบ โดยในแต่ละรูปแบบจะมีดิวิชันของตัวเอง และมีเข็มขัดแชมป์เส้นนั้นเป็นเป้าหมายสูงสุด

Photo : shin-kawa.blogspot.com

IWGP United States Heavyweight Championship คือแชมป์สำหรับนักมวยปล้ำต่างชาติ, NEVER Openweight Championship คือแชมป์สำหรับนักมวยปล้ำสายอัดหนัก และ British Heavyweight Championship คือแชมป์ของนักมวยปล้ำสายเทคนิค

เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ได้ยึดติดไว้ในเข็มขัดเหมือนกับแชมป์ฮาร์ดคอร์ แต่เป็นการเพิ่มเข้ามาภายหลังของ NJPW เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานนักมวยปล้ำ ว่านักมวยปล้ำรายใดควรลงไปอยู่ดิวิชันใด และยังง่ายกว่าในการสร้างเนื้อเรื่องระยะยาวตลอดปี อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ NJPW ได้รับรางวัลค่ายมวยปล้ำยอดเยี่ยม 7 ปีติดต่อกัน

 

สะท้อนตัวตนของนักมวยปล้ำ

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เข็มขัดแชมป์มวยปล้ำ แตกต่างจากเข็มขัดแชมป์กีฬาต่อสู้ทั่วไปคือเข็มขัดแชมป์มวยปล้ำ ไม่ได้เป็นภาพแทนของความเป็นหนึ่งเท่านั้น แต่ยังสามารถสะท้อนภาพบางอย่สงแก่นักมวยปล้ำ ผ่านเข็มขัดแชมป์มวยปล้ำ ตามที่สามาคมต้องการได้อีกด้วย

Photo : Brice Flore

เข็มขัดที่มีส่วนในการสร้างภาพลักษณ์นักมวยปล้ำมากที่สุดเส้นหนึ่ง คือเข็มขัดแชมป์ดิวาส์ของ WWE (WWE Divas Championship) ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2008 ช่วงเวลาที่ WWE กำลังเปลี่ยนผ่านจาก “มวยปล้ำ” สู่ “กีฬาเพื่อความบันเทิง” อย่างเต็มรูปแบบ

ในช่วงเวลาดังกล่าว WWE สั่งห้ามไม่ให้เรียกนักกีฬาในค่ายว่า นักมวยปล้ำ แต่ให้ใช้คำว่า “ซูเปอร์สตาร์” เป็นการทดแทน เช่นเดียวกับนักมวยปล้ำหญิงที่ใช่คำว่า “ดิวา” เข้ามาแทนที่ เพื่อลดทอนความเป็นนักกีฬา แล้วขายภาพลักษณ์ความเป็นเซเลบริตีสาวมากขึ้น

เข็มขัดแชมป์ดิวาส์จึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือของ WWE ที่จะลดทอนความเป็นนักมวยปล้ำหญิงลง รูปลักษณ์ของแชมป์ดิวาส์ จึงคล้ายกับผีเสื้อสีชมพูดูสดใส ทำให้นักมวยปล้ำที่ถือครองแชมป์ดิวาส์แทบทุกคน ไม่ได้ดูแข็งแกร่งเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นภาพที่ WWE ต้องการนำเสนอออกมาในช่วงเวลานั้น

เข็มขัดอีกหนึ่งเส้นที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของนักมวยปล้ำที่ถือครอง คือแชมป์โอเพ่น เดอะ ดรีม เกต (Open the Dream Gate Championship) แชมป์เส้นหลักของค่าย Dragon Gate (ดรากอน เกต) ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นแชมป์โลกเหมือนกับค่ายอื่น เนื่องจากดรากอน เกท เป็นค่ายของนักมวยปล้ำตัวเล็ก จึงไม่สามารถสร้างแชมป์ในรุ่นเฮฟวีเวตขึ้นมาได้

Photo : @BeyondGorilla_

ดรากอน เกต ทดแทนข้อด้อยในจุดนี้ ด้วยการสร้างเข็มขัดแชมป์โอเพ่น เดอะ ดรีม เกต สามารถ “เปิดประตู” ได้จริง โดยประตูบนเข็มขัด จะถูกเปิดออกเพื่อใส่ชื่อเจ้าของแชมป์ลงไปด้านใน ส่วนผู้ท้าชิงทุกคน จะต้องนำกุญแจมาขอท้าชิงแชมป์ คล้ายกับการขอเปิดประตูแห่งความฝัน เพื่อก้าวสู่การเป็นแชมเปียน

ประตูแห่งความฝันบนเข็มขัด โอเพ่น เดอะ ดรีม เกต เป็นสัญญะให้เห็นภาพว่า นักมวยปล้ำผู้ถือครองเข็มขัดเส้นนี้ สามารถเปิดประตูแห่งความฝันของตัวเองได้สำเร็จ ซึ่งจะส่งผลดีกลับไปยังนักมวยปล้ำทุกคนในค่ายว่า ต่อให้พวกเขาไม่ใช่นักมวยปล้ำตัวใหญ่ แต่พวกเขาคือนักมวยปล้ำที่เต็มไปด้วยความฝัน และพร้อมทุ่มเททุกอย่างที่จะทำให้ความฝันเป็นจริง

เข็มขัดแชมป์หนึ่งเส้นในกีฬามวยปล้ำ จึงไม่ได้สะท้อนความหมายว่า “คุณคือแชมเปียน” เพียงอย่างเดียว เพราะเข็มขัดแชมป์มวยปล้ำ บอกเล่าเรื่องราวที่มากกว่ากว่า เข็มขัดแชมป์มวยปล้ำกำลังบอกผู้ชมว่า นักมวยปล้ำคนนี้คือใคร? สมาคมนี้เป็นอย่างไร? คุณกำลังดูมวยปล้ำแบบไหน? หรือติดตามเนื้อเรื่องแบบใด?

เข็มขัดแชมป์มวยปล้ำ จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องสะท้อนถึงความแตกต่างของกีฬามวยปล้ำ กับกีฬาต่อสู้ชนิดอื่นที่นักกีฬาลงแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง นักมวยปล้ำมีหน้าที่เป็นกึ่งนักแสดงที่ต้องเล่นไปตามบทบาทที่ตัวเองได้รับ 

ดังนั้น เข็มขัดทุกเส้น จึงมีบทบาทและความหมายในตัวเอง และหน้าที่ของมันคือเข้าไปจับคู่กับนักมวยปล้ำ พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องราวที่กำลังดำเนินไปในขณะนั้น ให้ออกมาสู่สายตาผู้ชมอย่างดีที่สุด

 

แหล่งอ้างอิง

http://www.legacyofwrestling.com/NWA_History.html
https://www.wwe.com/classics/classic-lists/10-greatest-championship-belts
http://www.wrestling-titles.com/japan/newjapan/iwgp.html
https://bleacherreport.com/articles/932289-abandoned-the-history-of-the-wwe-european-championship-plus-a-bonus-title#slide1
https://en.wikipedia.org/wiki/Open_the_Dream_Gate_Championship
https://sites.google.com/site/chrisharrington/mookieghana-prowrestlingstatistics/wo_awards_history
https://www.cagematch.net/?id=5&nr=904

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0