เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) พบช่องทางทำกินเป็นงานอิสระ ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร ปลูกผักแบบไฮโดโปรนิกส์ ส่งขายห้างค้าส่งหรือโมเดิร์นเทรดชื่อดัง ร้านสลัด และร้านอาหารในจังหวัดพะเยา สร้างงานทำเงินได้ดี
คุณชินวัฒน์ ตาไคร้ หนุ่มวัย 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 278 บ้านแม่จว้า ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จบการศึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาพืชสวน หลังจากจบการศึกษาได้ทำงานเป็นนักวิจัยกับมูลนิธิชัยพัฒนา และออกมาปลูกผักแต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงไปสมัครงานกับห้างค้าส่งยักษ์ใหญ่ เมื่อเรียนรู้ระบบแล้ว จึงลาออกมาปลูกผักเพื่อส่งให้กับห้างอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จ โดยผลิตแบบไฮโดรโปนิกส์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งการปลูกบนดินไปเสียทีเดียว มีปลูกบ้างเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าบางกลุ่ม โดยโรงเรือนที่ปลูกพืชผัก เป็นการจ้างช่างฝีมือมาทำ เหมาค่าแรงกันไปเลย โดยคุณชินวัฒน์จะเป็นผู้ซื้อวัสดุมาให้ โรงเรือนมีหลายขนาด แล้วแต่พื้นที่ มีขนาดกว้างยาว 6×13, 6×15, 6×18 แต่ละโรงเรือนลงทุนสร้างหลักหลายหมื่นบาททีเดียว โดยผักที่ปลูกเป็นผักสลัดเรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค เรดครอส กรีนครอส ฟินเลย์ บัตเตอร์เฮด และขึ้นฉ่าย ส่วนผักที่ปลูกลงดินจะเป็นผักกาด กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผลผลิตออกสู่ตลาดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 250 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70 บาท ต่อกิโลกรัม มีแรงงานประจำ 1 คน และช่วงที่ต้องเก็บผลผลิตมากๆ อีก 3 คน
งานปลูกผักสลัดจะเพาะเมล็ดก่อน ใช้เวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นย้ายไปแปลงอนุบาล 2 สัปดาห์ แล้วย้ายขึ้นโต๊ะปลูกใช้เวลาอีก 3 สัปดาห์ 1 โต๊ะ จะใช้เวลาเก็บ 1 สัปดาห์ ส่วนขึ้นฉ่ายจะใช้เวลาเพาะกล้า 1 เดือน ย้ายขึ้นโต๊ะปลูก 1 เดือน ในช่วงฤดูหนาวจะมีปัญหาผักล้นตลาด เนื่องจากมีการปลูกผักกันมาก แก้ปัญหาด้วยบริการส่งถึงหน้าบ้าน สำหรับในเมืองพะเยา แม่ใจ ส่งทุกวัน ดอกคำใต้ส่งทุกวันพุธ ทำให้ยอดขายสูงขึ้นเดือนละ 300 กิโลกรัม
ลูกค้าผู้บริโภคมั่นใจเรื่องความปลอดภัยจากสารพิษได้ เนื่องจากทางห้างค้าส่งจะสุ่มตรวจสารพิษตกค้าง ตลาดหากตรวจพบจะงดรับซื้อและผู้ผลิตจะถูกปรับในอัตราที่สูง จึงจะต้องทำคุณภาพให้ได้มาตรฐาน
ข้อมูลทางวิชาการพบว่า กว่า 150 ปีมาแล้ว ที่มนุษย์เรารู้จักการปลูกพืชแบบไม่อาศัยดิน โดยในเริ่มแรกนั้น มีจุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการศึกษาว่า แร่ธาตุชนิดใดบ้าง ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช จนเมื่อปี ค.ศ.1925 ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาต่างเริ่มหาทางเลือกใหม่สำหรับการปลูกพืชในโรงเรือน เพราะการเพาะปลูกแบบอาศัยดินนั้น สร้างปัญหาให้มากมาย นอกจากนี้ ในวงการวิจัยเองก็มีการตื่นตัวทำการทดลองเกี่ยวกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน เพื่อเป็นการค้าขึ้น มากระทั่งปี ค.ศ. 1930 คำว่า “ไฮโดรโปนิกส์” เริ่มเป็นที่รู้จักขึ้น โดย ดร. เจอร์ริค แห่งมหาวิทยาลัยมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ได้ทำการทดลองปลูกพืชโดยใช้เทคนิควิธีการปลูกพืชในน้ำสารละลายอาหารเป็นผลสำเร็จ และนับจากนั้น การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินก็ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ไฮโดรโปนิกส์ เป็นการปลูกพืชแบบไม่ใช้วัสดุปลูก (nonsubstrate หรือ water cuture) ซึ่งเป็นลักษณะของการปลูกพืชลงบนสารละลายธาตุอาหารพืช โดยให้รากสัมผัสกับสารอาหารโดยตรงนั่นเอง โดยสามารถแบ่งวิธีการปลูกได้เป็น 3 แบบ ได้แก่NFT (Nutrient Film Technique) เป็นวิธีการให้สารละลายธาตุอาหาร มีการไหลหมุนเวียน โดยรากพืชจะได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ ด้วยหลักการทำงานง่ายๆ คือ ให้สารอาหารไหลผ่านรากพืช เป็นลักษณะสายน้ำบางๆ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับรากพืชโดยตรง ระบบน้ำจะหมุนเวียนกลับมาใช้งานได้ต่อเนื่อง
ซึ่งวิธีการนี้เป็นที่นิยมในประเทศไทยขณะนี้ DRF (Dynamic Root Floating Technique) เป็นระบบการให้สารอาหารแก่รากพืชโดยตรง นอกจากนี้ ยังมีการเติมอากาศด้วยการใช้ปั๊มลม ช่วยในการให้ออกซิเจน โดยรากพืชจะจุ่มอยู่ในสารอาหารโดยตรง และสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า “การปลูกพืชแบบลอยน้ำ” วิธีนี้เป็นที่นิยม เพราะใช้พื้นที่น้อย ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถใช้เวลาว่างปลูกเป็นงานอดิเรกได้ DFT (Deep Flow Technique) เป็นระบบปลูกที่ให้สารละลายธาตุอาหาร ไหลผ่านรากพืชอย่างต่อเนื่องและหมุนเวียน เหมือนการปลูกพืชแช่น้ำ ซึ่งระดับน้ำจะไม่สูงนัก ราว 5-10 เซนติเมตร โดยน้ำจะไหลผ่านรากพืชอย่างช้าๆ สม่ำเสมอ
ข้อดีของระบบไฮโดรโปนิกส์ สามารถปลูกพืชได้ทั้งปี เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้สูงขึ้นกว่าแบบเก่า 50-100% และยังสามารถออกแบบให้ประหยัดพื้นที่การปลูกได้ด้วย ดูแลได้ทั่วถึง เนื่องจากเป็นระบบที่ง่ายต่อการควบคุมและป้องกันโรคและแมลง ไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลง 100% และไม่มีปัญหาในการกำจัดวัชพืชในพื้นที่ปลูก ประหยัดน้ำและปุ๋ย เพราะสามารถควบคุมได้ตามที่พืชต้องการ ไม่ต้องไถพรวน สามารถลดการทำลายหรือชะล้างหน้าดิน มีผลผลิตสม่ำเสมอ และอายุเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น เนื่องจากพืชสามารถนำธาตุอาหารไปใช้ได้อย่างสม่ำเสมอ ผลผลิตที่ได้มีความสะอาด สด คุณภาพดี และที่สำคัญคือ ปลอดสารพิษ สามารถพัฒนาการปลูกไปในเชิงพาณิชย์ได้
ข้อเสียของระบบไฮโดรโปนิกส์ เนื่องจากมีการดัดแปลงแก้ไขและปรับปรุงในระบบเรื่อยมา ทำให้ลดข้อเสียต่างๆ ที่เคยพบในอดีตลงไปได้มาก เช่น ข้อเสียในเรื่องของเทคโนโลยีต่างประเทศที่ราคาค่อนข้างสูง ตอนนี้สามารถใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านดัดแปลงได้ ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็ไม่ได้แตกต่างกัน ความหลากหลายของพืชที่ปลูกไร้ดิน ในระยะแรกจะปลูกเฉพาะผักต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันนี้ สามารถปลูกได้ทั้งผักไทย ผักจีน และผักต่างประเทศ
ผู้ปลูกต้องมีความรู้อย่างแท้จริงต่อการปลูกพืชไร้ดิน ซึ่งในปัจจุบันได้มีเอกสารแนะนำ และสามารถขอข้อมูลได้จากสำนักงานเกษตรในทุกพื้นที่ เรื่องของตลาด ในปัจจุบันไม่ถือเป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีต่อเกษตรกรที่สนใจทำธุรกิจการปลูกพืชไร้ดินมากขึ้น
ความเห็น 0