โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิดความลับ “นาจา” เทพดังจีน แท้จริงเป็นเทพอินเดีย?!

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 10 มี.ค. เวลา 11.29 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. เวลา 08.30 น.
Cover photo
ภาพยนตร์แอนิเมชัน นาจา 2 (ภาพจาก weibo@电影哪吒之魔童闹海)
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไขความลับ “เทพนาจา” จากแอนิเมชัน นาจา 2 เทพจีนชื่อดังก้องโลก แท้จริง (อาจ) มีต้นฉบับจากตำนานอินเดีย

นาจา 2 (Ne Zha 2)เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสัญชาติจีน จากค่าย Coloroom Animation Studio สร้างสรรค์จากเรื่องราวของ “นาจา” วีรบุรุษศักดิ์สิทธิ์แห่งตำนานจีนโบราณ ซึ่งภาคนี้ได้นำเสนอเรื่องราวที่เข้มข้นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น การกลับมาของนาจา ภาค 2 ได้รับความนิยมล้นหลาม ถึงขั้นครองยอดรายได้ทั่วโลกสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ล้มแชมป์ภาพยนตร์แอนิเมชันจากฮอลลีวูด มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2 (Inside Out 2) ที่เคยทำเงินทั่วโลกอยู่ที่ 1,698 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เลยทีเดียว!!!

แม้นาจาจะได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษศักดิ์สิทธิ์แห่งตำนานจีนโบราณ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วนาจา (อาจ) มีต้นกำเนิดจากเทพอินเดีย ?!

ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผู้ล่วงลับ กล่าวไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2567 เบื้องลึก ‘นาจา : ‘เทพอินเดีย’ ที่กลายเป็นเทพจีนยอดนิยมว่า “…ชาวจีนรับเทพจากแขกอินเดียมาหลายองค์ ซึ่งโดยมากมาจากพุทธศาสนา หรือถ้ารับของพราหมณ์มาก็จะผ่านพุทธอีกที แต่ไม่ว่าจะมาจากทางไหนก็ต้องเข้ากระบวนการ “จีนานุวัตร” (Sinicization) หรือทำให้เป็นจีนเสียก่อน…

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก “เทพนาจา” ในแบบฉบับจีนโบราณกันก่อน

เทพนาจา หรือ หน่าจา (จีน 哪吒 พินอิน Nézhā หรือ Núozhā) หนึ่งในเทพที่มีความโดดเด่นและมีตำนานมหัศจรรย์ในวัฒนธรรมจีนโบราณ ที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของจีน พุทธศาสนา และลัทธิเต๋า

นาจาเป็นตัวละครที่มีความสำคัญในวรรณกรรมจีนหลายเรื่อง เช่น“ไซอิ๋ว”หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก”(จีน 西游记 พินอิน Xī yóu jì) เขียนราว ค.ศ. 1592 และเรื่อง “ห้องสิน”(จีน 封神 พินอิน Fēngshén) เขียนราว ค.ศ. 1620 อีกทั้งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรื่องราวของนาจาได้กลายเป็นมุขปาฐะที่ชาวบ้านเล่าต่อ ๆ กัน ทำให้ตำนานของนาจาแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น

ตามตำนานในวรรณกรรมเรื่อง “ห้องสิน” นาจาเป็นบุตรคนที่สามของแม่ทัพหลี่จิ้ง ขุนพลใหญ่ในราชสำนักของกษัตริย์ เมื่อนาจาถือกำเนิด เขาไม่ได้เป็นแค่ทารกธรรมดา แต่เป็นลูกแก้ววิเศษ (บ้างก็ว่าเป็นก้อนเนื้อกลม) ด้วยความโกรธและสับสน แม่ทัพหลี่จิ้งเชื่อว่าเป็นลางร้าย จึงใช้ดาบฟันลูกแก้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ทันใดลูกแก้วก็แตกออก เผยให้เห็นเด็กน้อยที่มีรัศมีเปล่งประกาย สวมสร้อยคอทองคำ และผ้าแพรสีแดง ทั้งยังมีพละกำลังมหาศาล สามารถพูดและเดินได้ทันที

นาจาเติบโตอย่างรวดเร็ว เขาฝึกฝนวิชาจากอาจารย์ไท่อี้เจินเหรินเทพเซียนในลัทธิเต๋า นาจาเรียนรู้วิชาอาคมและได้รับอาวุธวิเศษ 3 ชิ้น คือ หอกอิงเทียน ห่วงสรรพวุธ และวงล้อเพลิง

ตำนานที่มีชื่อเสียงที่สุดเกี่ยวกับนาจา คือ เรื่องราวที่เขาฆ่าลูกชายของราชามังกรแห่งทะเลตะวันออก เรื่องเล่าว่าวันหนึ่งอากาศร้อนจัด นาจาไปอาบน้ำที่แม่น้ำเจียงและใช้ผ้าแพรวิเศษคนน้ำ ทำให้วังของราชามังกรสั่นสะเทือน

มังกรอ่าวปิงลูกชายของราชามังกรแห่งทะเลตะวันออก ได้ออกมาสำรวจ เมื่อพบนาจา อ่าวปิงขู่ว่าจะฟ้องพ่อ ด้วยความหุนหันพลันแล่นและดื้อรั้นของนาจา จึงฆ่ามังกรและเอาเส้นเอ็นมาทำเป็นเข็มขัด

เมื่อราชามังกรทราบเรื่องก็ไปฟ้องเทพหยกจักรพรรดิ เรียกร้องความยุติธรรม แม่ทัพหลี่จิ้งจึงตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ทั้งราชามังกรและราชสำนักต่างพากันกดดันเขา ด้วยความรู้สึกผิด นาจาตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อไถ่บาปให้พ่อและครอบครัว โดยการตัดเนื้อและกระดูกของตัวเองคืนแก่พ่อและแม่ผู้ให้กำเนิด แล้วจึงสละชีวิตตัวเอง

แม้จะสละชีวิต แต่วิญญาณยังคงอยู่ ไท่อี้เจินเหรินใช้พลังเวทมนตร์ช่วยสร้างร่างใหม่ให้นาจาจากดอกบัวและใบบัว (บางตำนานกล่าวว่าสร้างจากทรายและดอกไม้) ร่างใหม่นี้มีพลังมากกว่าเดิม มี 3 หน้า 6 แขน และยืนอยู่บนวงล้อเพลิงและลมหมุน

หลังจากกลับมามีชีวิตใหม่ นาจาต้องการแก้แค้นพ่อของตนที่ไม่ปกป้องเขา จึงพยายามฆ่าแม่ทัพหลี่จิ้งหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เพราะแม่ทัพมีเทพคุ้มครอง ในที่สุดเทพหยกจักรพรรดิ และพระโพธิสัตว์กวนอิม ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยและให้นาจาสร้างศาลเจ้าให้พ่อ เพื่อเป็นการขอขมาและรักษาความสัมพันธ์

เทพนาจาจึงมีชื่อเสียงในฐานะเทพจีนผู้คุ้มครองและให้คุณประโยชน์หลายด้าน ทั้งการปกป้องจากภัยธรรมชาติ การนำโชคลาภ สุขภาพ และความสำเร็จ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัจจุบันยังคงมีศาลเจ้านาจากระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในจีน ไต้หวัน ฮ่องกง แม้กระทั่งไทย และประเทศที่มีชุมชนจีนอาศัยอยู่

กลับมาที่คำถามว่า เทพนาจามีต้นกำเนิดจากอินเดียจริงหรือ?

เมเออร์ ชาฮาร์ (Meir Shahar)นักวิชาการชาวอิสราเอลแห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ได้ศึกษาเปรียบเทียบไว้ในบทความเรื่อง “Indian Mythology and the Chinese Imagination : Nezhe, nalakubara, and Krshna”

ชาฮาร์ศึกษาโดยใช้เรื่อง ปมออดิปุส (Oedipus Complex)ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) อธิบายเรื่องปมของนาจาที่ขัดแย้งกับแม่ทัพหลี่จิ้ง ผู้เป็นบิดา เขาได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับต้นกำเนิด ทั้งสรุปลักษณะสำคัญของตัวนาจาไว้ 4 ประเด็น คือ 1. นาจาเป็นเด็กผู้ชาย 2. มีปมความขัดแย้งกับบิดา 3. เขาสามารถง้างคันธนูอันแสนหนักที่ไม่มีใครสามารถง้างได้ และ 4. เขาเป็นผู้กำราบมังกร

ชาฮาร์เสนอว่า แท้จริงแล้วชาวจีนได้รับตำนานเรื่องนาจามาจากทางอินเดีย เนื่องจากมีส่วนคล้ายกันกับตัวละครในมหากาพย์สุดยิ่งใหญ่อย่าง มหาภารตะโดยเฉพาะคัมภีร์ภควัทคีตา นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า เทพเด็กองค์นี้ ก็คือ นลกุเวร หรือ นลกุวระ (Nalakubara of Nalakuvara)บุตรของท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ (Kubera or Vaisravana)

ชื่อของนาจายืมมาจากเทพเจ้าฮินดู นลกุวระ ถอดเสียงเป็นภาษาจีนว่า นาหลัวจิ่วผัวหลัว (那羅鳩婆羅)เมื่อเวลาผ่านไป จึงเพี้ยนและย่อลงเหลือเพียงแค่ นาจา (哪吒)ต่อมาเขียนเป็นอักษรโรมันว่า Nezha

สันนิษฐานว่า ท้าวกุเวรอาจเป็น แม่ทัพหลี่จิ้งที่นำกองทัพเข้าพิชิตเอเชียกลางได้ เมื่อเสียชีวิตลง ผู้คนต่างเทิดทูนบูชาเขาราวกับเทพ ชาฮาร์ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นไปได้ที่แม่ทัพท่านนี้จะเลื่อมใสในท้าวเวสสุวรรณมากขณะยังมีชีวิต ชาวจีนจึงบูชาเขาให้เป็นตัวแทนของท้าวเวสสุวรรณ

ตามตำนานนาจาเป็นบุตรชายของแม่ทัพหลี่จิ้ง ซึ่งท้าวกุเวรก็มีบุตร 2 คน คือ มณิครีวะ และนลกุเวร ชาฮาร์เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้นักวิชาการระบุว่า นาจา คือ นลกุเวร คือวีรกรรมของนาจาที่มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ซึ่งเป็นสภาวะของพวกยักษ์พงศ์พันธุ์ของนลกุเวร

ทั้งนี้ สิ่งที่ตำนานจีนมี แต่มหากาพย์อินเดียนั้นขาดหายไปคือ วีรกรรมการสังหารมังกรและการง้างธนูของนาจา ชาฮาร์ต้องหาคำอธิบายเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องราวไปพ้องกับ พระกฤษณะ ในวัย 7 ขวบ ที่ได้ต่อสู้และสังหารพญานาค ทั้งยังมีปมเรื่องบิดาเช่นเดียวกับนาจา นอกจากนี้พระกฤษณะก็สามารถง้างธนูได้เช่นกัน

แต่การระบุว่า แท้จริงแล้ว นาจา คือ นลกุเวร หรือ พระกฤษณะนั้น ยังคงเป็นเรื่องสับสน ชาฮาร์ก็ไม่ได้เชิงเห็นด้วยกับทฤษฎีที่สรุปว่า นาจา คือ นลกุเวร เขาจึงสร้างข้อสรุปว่า ไม่สามารถระบุได้ว่านาจาเป็นใครกันแน่ อาจจะเป็นการผนวกเข้ากันของนลกุเวรและพระกฤษณะก็เป็นได้

แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ เทพนาจาได้รับอิทธิพลและมีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมอินเดีย ที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมศาสนาพุทธ และถูกกลืนให้เป็นจีนในท้ายที่สุด เราจึงมักจะเห็นเทพนาจาในรูปแบบของเทพจีนที่มีผู้นิยมบูชาทั่วเอเชีย ที่มีชาวจีนไปอาศัยอยู่นั่นเอง

ใครสนใจติดตามเรื่องราวของนาจา ในแบบฉบับภาพยนตร์แอนิเมชันจีน สามารถติดตามชม “Nezha 2” ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2568 ในโรงภาพยนตร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

https://mythopedia.com/topics/nezha

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1064184

https://www.matichonweekly.com/column/article_771562

https://www.majorcineplex.com/news/ne-zha-2-2-billions-gross

https://fr.shenyunperformingarts.org/explore/view/article/e/1Puo-xmwOG8/ne-zha-child-deity-of-chinese-mythology.html

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปิดความลับ “นาจา” เทพดังจีน แท้จริงเป็นเทพอินเดีย?!

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com