ในปัจจุบัน สิทธิของผู้หญิงในสังคมได้มีเพิ่มมากขึ้น จนสามารถมีอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในอดีต ผู้หญิงกลับถูกกดขี่เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้ชีวิต หรือการที่ต้องอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งก็สามารถเห็นได้จากหนังหรือละครย้อนยุค
และในช่วงยุคกลาง เป็นช่วงที่ผู้หญิงถูกเข่นฆ่าและทำร้ายจนบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์สุดโหดร้ายที่เรียกกันว่า “การล่าแม่มด”
การล่าแม่มดในครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุการณ์เป็นยังไง และจะจบลงแบบไหน เรื่องราวนี้ให้ข้อคิดอะไรกับเราบ้าง เราไปอ่านพร้อม ๆ กันได้เลย!
ความเชื่อของคนยุคกลาง
ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวการล่าแม่มดแบบเต็มรูปแบบ เราคงจะเริ่มต้นพูดถึงความเชื่อของคนยุคกลางกันก่อน โดยยุคกลาง คือช่วง ค.ศ.1480-1750 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนมีความเชื่อว่าเวทมนต์คาถามีอยู่จริง จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลมพายุ หรือแม้กระทั่งโรคระบาด โรคภัยไข้เจ็บ อะไรก็ตามที่หาคำตอบไม่ได้ ผู้คนก็จะตีว่าเกิดจากเวทมนต์ทั้งหมด
และผู้คนยังเชื่ออีกว่า เมื่อมีเวทมนต์แล้ว ก็ต้องมีผู้ที่นำเวทมนต์ไปใช้ในทางที่ไม่ดี อย่างเช่น เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น ไม่ว่าจากสาเหตุอะไรก็ตาม ผู้คนจะเชื่อว่าเกิดจากการถูกเวทมนต์สาป เป็นต้น
นั่นจึงทำให้ผู้คนมีความเกรงกลัวต่อเวทมนต์เป็นอย่างมาก ทั้งยังระแวงว่าภายในหมู่บ้านจะมีแม่มด หรือผู้ใช้เวทมนต์อาศัยอยู่ และอาจจะทำร้ายพวกเขาได้ทุกเมื่อ ซึ่งนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงอย่าง “การล่าแม่มด”
การล่าแม่มดครั้งใหญ่ในยุโรป
การล่าแม่มดในยุคกลางเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งมีการล่าแม่มดทั้งในประเทศ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ ตลอดจนเบลเยียม
แต่หนึ่งในเหตุการณ์ที่รุนแรงและเป็นที่จดจำที่สุด นั่นคือเหตุการณ์ “การไต่สวนคดีแม่มดแห่งซาเลม”เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 300 ปีที่แล้ว หรือช่วงปี 1692-1693 ณ เมืองซาเลม รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเมืองซาเลมก่อตั้งโดยกลุ่มผู้อพยพชาวพิวริแตนอังกฤษ พวกเขาปกครองกันเอง โดยมีโบสถ์เป็นศูนย์กลาง และดำเนินชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อเวทมนต์
เหตุการณ์ความโหดร้ายเริ่มขึ้นเมื่อ เบตตี แพร์ริส เด็กสาวในหมู่บ้านเริ่มมีอาการชัก ส่งเสียงกรีดร้อง โวยวายว่าถูกเข็มแทง และเจ็บตามร่างกาย ตามมาด้วย อาบิเกล วิลเลียมส์ และแอน พัตแนม เด็กสาวอีกสองคน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บาทหลวง และหมอต่างพากันวิตกกังวล และด้วยความที่ผู้คนในสมัยนั้นยังมีความรู้ความเข้าใจด้านชีววิทยา การแพทย์ และจิตวิทยาไม่เพียงพอ จึงสรุปว่าเด็กทั้ง 3 นั้นโดนคำสาปของ "แม่มด"
ปฏิบัติการล่าแม่มดจึงเริ่มต้นขึ้น โดยให้เด็กทั้งสามชี้ตัวผู้ต้องสงสัย อีกทั้งบาทหลวงยังบีบบังคับให้กล่าวหาผู้หญิงที่เข้ากับคนสังคมไม่ค่อยได้ เริ่มจาก "ซาราห์ กู้ด" ขอทานหญิงเร่ร่อน "ซาราห์ ออสเบิร์น" หญิงชราที่ป่วยจนไม่ค่อยไปโบสถ์ และ "ทิทูบา" ทาสหญิงผิวดำจากบาร์เบโดส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าสอนวิชาแม่มด และใช้มนตร์ดำ
จากการชี้นำของบาทหลวง ทำให้เด็ก ๆ เริ่มไล่ชื่อหญิงสาวในเมืองมาทีละคน ทางด้านเจ้าหน้าที่สอบสวนก็จะเริ่มไปเยือนบ้านทีละหลัง ชาวเมืองต่างก็เกิดความหวาดกลัว และระแวงซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างพากันชี้ตัวแม่มดเพื่อให้ตนเองพ้นความผิด
ท้ายที่สุดผู้คนก็ใช้การล่าแม่มดเป็นเครื่องมือในการกล่าวหา และกำจัดคนที่แตกต่างจากพวกตน คนเร่ร่อน ไปจนถึงคนที่เกลียดกันเอง สรุปทั้งสิ้นมีผู้ถูกจับข้อหาเป็นแม่มดทั้งหมดกว่าร้อยคน มีทั้งผู้หญิง และชายที่พวกเขาคิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่ละเว้น
มีการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาไว้สำหรับการไต่สวนในครั้งนี้โดยเฉพาะ โดยนำกฎหมายของอังกฤษที่บังคับใช้ในอาณานิคมนิวอิงแลนด์ บัญญัติให้การเป็นแม่มดเป็นความผิดร้ายแรงถึงประหารด้วยการแขวนคอ
โดยการพิจารณาคดีดำเนินไปในลักษณะที่ใครยอมรับสารภาพ และซัดทอดไปถึงคนอื่นว่าเป็นแม่มด ก็จะได้รับโทษเพียงเล็กน้อย และถูกปล่อยตัวไป ส่วนใครที่ต้องการยืนยันตนว่าบริสุทธิ์ ไม่ซัดทอดคนอื่น แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ตัวเองได้นั้นก็จะถูกทรมานอย่างหนัก
การทรมานมีทั้งการรัดคอเหยื่อ จนกระทั่งเหยื่อเริ่มเลือดออกจากจมูก หรือแม้แต่การจับคนมานอน ก่อนจะวางก้อนหินทับบนอกเรื่อย ๆ หรือที่เป็นภาพจำที่ชัดเจนที่สุดก็คือการ “เผาทั้งเป็น”รวมทั้งหมด 19 คนที่ถูกตัดสินว่าเป็นแม่มด และประหารชีวิตโดยตัวไปแขวนคอที่เนินเขาแกลโลว์สฮิลล์ มีผู้ถูกคุมขัง 5 คน รวมทั้งเด็กทารกหนึ่งคนเสียชีวิตลงในคุก ยังไม่รวมผู้ที่ถูกทรมานจนตายอีกหลายชีวิต
เรื่องราวความโหดร้ายดำเนินไปจนผู้ว่าการรัฐ วิลเลียม ฟิปส์ ทราบข่าว เขาจึงสั่งระงับศาลพิเศษ และตั้งศาลสูงสุดแห่งใหม่ขึ้นมาแทน ทั้งยังห้ามไม่ให้นำหลักฐานที่เรียกว่า หลักฐานความฝันและนิมิตมาใช้ กระทั่งเดือนพฤษภาคม ปี 1693 ผู้ถูกไต่สวนทุกคนได้รับการตัดสินว่าไม่มีความผิด และถูกปล่อยตัวไป จนสิ้นเดือนมีนาคม ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดก็ไม่มีใครถูกคุมขังแล้ว การไต่สวนล่าแม่มดแห่งซาเลมจึงปิดฉากลงในที่สุด
สิทธิที่ถูกจำกัด
จากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้หญิงในอดีต ถูกจำกัดสิทธิต่าง ๆ เพียงเพราะพวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด หากใครที่แตกต่างจากคนอื่นก็จะโดนชี้ทันทีว่าเป็นแม่มดทันที โดยเฉพาะผู้หญิงจะโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เพราะตามความเชื่อผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ และถูกชักจูงได้ง่าย จึงทำให้ผู้หญิงมักจะโดนกล่าวโทษอยู่บ่อยครั้ง
เช่น ผู้หญิงหม้ายที่ไม่มีใครคุ้มครอง คนแก่ คนหน้าตาอัปลักษณ์ หรือแม้กระทั่งผู้หญิงที่สวยเกินไปก็โดน เพราะพวกเขาเชื่อว่าเธอนำดวงวิญญาณไปขายให้ซาตานเพื่อแลกกับรูปร่างอันงดงามนั่นเอง
คดีแม่มดจำนวนมากสะท้อนภาพถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง โดยโจทก์ที่เป็นผู้ชายมักอ้างว่าตนถูกคำสาปชั่วร้ายของแม่มด ทั้งที่อาจเป็นเพียงการพูด ติติง หรือการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของผู้หญิงที่ตกเป็นจำเลยเท่านั้น
ผู้หญิงที่เป็นภรรยาของชาวนาหรือกรรมกรมักได้รับการปรนนิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อพวกเธอเลือกที่จะลุกขึ้นสู้ หรือออกมาเปิดเผยความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นอาจทำให้ผู้เป็นสามีอับอายขายหน้า หนทางในการปิดปากพวกเธอก็คือ การทำให้คนอื่นเห็นว่าคำพูดเหล่านั้นล้วนมาจากปีศาจร้ายนั่นเอง
ความเป็นจริง
เมื่อวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้ามากขึ้น และสามารถตอบคำถามให้กับคนยุคนั้นได้ทุกอย่าง สิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อกันว่าสิ่งนี้เกิดจากแม่มด วิทยาศาสตร์จึงเป็นเครื่องยืนยันความบริสุทธิ์ให้กับคนยุคนั้นได้ ประกอบกับศาสนาช่วงนั้นศาสนาคริสต์ก็เริ่มแตกนิกายต่าง ๆ ออกมา ผู้คนเริ่มไม่เชื่อศูนย์กลางอำนาจและเริ่มออกมาปกป้องคนที่โดนกล่าวหาแล้วถามหาหลักฐานต่าง ๆ ในการเป็นแม่มด
ทำให้ผู้คนเริ่มต่อต้านการล่าแม่มดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนการล่าแม่มดนั้นค่อย ๆ ลดลง แล้วหายไปหมดในที่สุด
ต่อมาในปี 1693 ได้มีการรื้อฟื้น และแก้ต่างให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีแม่มดซาเลม จนปี 1706 "แอน พัตแนม" หนึ่งในสามของเด็กหญิงที่กล่าวหาผู้คนมากมายตั้งแต่ต้น ก็ยอมรับสารภาพว่าตนเองโกหก และเป็นพยานเท็จ โดยอ้างว่าทั้งหมดเป็นการล่อลวงจากซาตาน
ปี 1711 รัฐบาลแมสซาชูเซตส์ก็ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม และยกเลิกผลของการดำเนินคดีไต่สวนแม่มดที่เคยเกิดขึ้นในปี 1692 สภานิติบัญญัติจึงผ่านรัฐบัญญัติให้ลบล้างมลทินผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดและได้รับโทษประหาร อีกทั้งจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกหลานของคนเหล่านั้นทั้งหมด
ปัจจุบันนี้ เมืองซาเลมกลับขึ้นมามีชีวิตชีวา เป็นแหล่งศูนย์รวมของผู้ที่ชื่นชอบเรื่องไสยศาสตร์ลี้ลับ เวทมนตร์ต่าง ๆ กลายเป็นว่าเมืองที่เคยล่าแม่มดในอดีตนั้นกลับเฟื่องฟูกลายเป็นเมืองแม่มดจริง ๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะที่สุสานของเมือง ซึ่งมีอนุสรณ์สถานการล่าแม่มดแห่งปี 1692 เป็นลานหญ้าปลูกต้นไม้ 19 ต้น แทนผู้ที่ถูกประหารด้วยการแขวนคออยู่ข้างสุสาน
สรุปส่งท้าย
ในปัจจุบัน แม้ว่าผู้หญิงจะมีสิทธิที่มากขึ้นและไม่ถูกกดขี่อย่างในอดีต แต่ก็ใช่ว่าการล่าแม่มดจะหายไปซะทีเดียว เพียงแต่รูปแบบถูกเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า เพราะในปัจจุบันเมื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ถ้าใครที่แสดงความเห็นแตกต่างจากผู้อื่น ก็จะถูกผู้อื่นรุมว่ารุมด่า หรือที่เรียกกันว่า “ทัวร์ลง” นั่นเอง
แม้ว่าในบางครั้ง ความคิดเห็นดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่แค่มันแตกต่าง ก็จะถูกเหล่าศาลเตี้ยในโลกออนไลน์เข้ามารุม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวแทบจะไม่ต่างจากการล่าแม่มดในอดีตเลย
สิ่งที่จะสื่อคือ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น ตราบใดที่สิ่งนั้นยังอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เราไม่ควรตัดสินผู้อื่น เพราะแม้แต่เหรียญก็ยังมีสองด้าน ในบางครั้ง การมองในมุมที่ต่างกันก็อาจจะทำให้เห็นภาพที่ต่างกันก็ได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
ความเห็น 1
Kamphol
เอาเรื่องการล่า ถลกหนังศีรษะ เอาไปแลกเงิน ของประเทศประชาธิปไตยอย่างอเมริกา ที่ล่าชนพื้นเมืองอเมริกันมาลงด้วยสิครับ ฆ่าแม้แต่ผู้หญิง และเด็ก ประเทศประชาธิปไตย จะทำอะไรก็ไม่ผิด....
06 ส.ค. 2566 เวลา 08.56 น.
ดูทั้งหมด