โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

BITE SIZE : รวบตึงเรื่องสำคัญเกี่ยวกับ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 20 ต.ค. 2566 เวลา 13.44 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2566 เวลา 04.00 น.
ปกเว็บ Prachachat BITE SIZE รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อ 16 ตุลาคม 2566 อนุมัติให้ดำเนินนโยบาย ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยนำร่องที่รถไฟฟ้า 2 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่)

แน่นอนว่า นี่คือหนึ่งในนโยบายที่ผู้คน โดยเฉพาะชาว กทม.-ปริมณฑล ต่างตั้งตารอคอย ไม่ต่างกับการแจกเงินดิจิทัล หรือการลดราคาน้ำมัน

แต่หลาย ๆ คน อาจสงสัยกันว่า มันจะ 20 บาทได้ยังไง ต้องทำยังไงถึงจ่ายแค่ 20 บาทได้

Prachachat BITE SIZE รวบตึงเรื่องสำคัญไว้ในบทความนี้

ปรับค่าโดยสาร จ่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย

นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน โดยตอนนี้ มี 2 สายรถไฟฟ้าเข้าร่วมนโยบายนี้ คือ

  • รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต, สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน)
  • รถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่)

ผู้ที่โดยสารรถไฟฟ้าใน 2 สายนี้ สามารถจ่ายค่าโดยสารได้ในราคาสูงสุด 20 บาทต่อการเดินทาง 1 เที่ยว

หลายคนอาจสงสัยต่อไปว่า ถ้าเดิมเสียไม่เกิน 20 บาท หลังเริ่มนโยบายนี้แล้ว จะต้องจ่ายค่าโดยสาร 20 บาทด้วยหรือไม่ ? ทำความเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

  • หากเดิมเราเสียค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาท เสียค่าโดยสารตามจริง เหมือนเดิม
  • หากเดิมเสียค่าโดยสารเกิน 20 บาท จ่ายแค่ 20 บาทตลอดสาย ต่อ 1 เที่ยว (ไปหรือกลับ เท่านั้น)

สำหรับผู้ที่มีสิทธิลดหย่อนค่าโดยสาร ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ (เด็ก ผู้สูงอายุ และพระภิกษุ รับส่วนลด 50% | นักเรียนและนักศึกษา รับส่วนลด 10%)

หากค่าโดยสารหลังใช้สิทธิไม่เกิน 20 บาท จ่ายตามสิทธิที่ได้รับ แต่หากใช้สิทธิแล้วยังเกิน 20 บาท ก็จ่ายแค่ 20 บาทเท่านั้น ราคาเดียวตลอดสาย

โดยอัตราค่าโดยสารใหม่ ของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย หลังเริ่มนโยบายค่ารฤไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเป็นดังนี้

รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

  • บุคคลทั่วไป 12-20 บาท
  • เด็ก/ผู้สูงอายุ 6-20 บาท
  • นักเรียน/นักศึกษา 11-20 บาท

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

  • บุคคลทั่วไป 14-20 บาท
  • เด็ก/ผู้สูงอายุ 7-20 บาท
  • นักเรียน/นักศึกษา 13-20 บาท

วิธีจ่ายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จ่ายยังไง ?

สำหรับการจ่ายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเนี่ย ถ้าเดินทางในสายเดียวกัน จ่ายได้ทุกรูปแบบ
ทั้งเงินสด บัตรโดยสารแบบเติมเงิน และบัตร EMV Contactless หรือบัตรเดบิต/บัตรเครดิต/บัตรเอทีเอ็มที่เราคุ้นเคย

สำหรับบัตร EMV Contactless นั้น รถไฟฟ้าแต่ละสาย มีการรองรับที่แตกต่างกัน ดังนี้

รถไฟฟ้าสายสีแดง

  • รองรับการแตะบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด
  • รองรับบัตรวีซ่า (Visa), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เจซีบี (JCB) และยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) ทุกธนาคาร
  • ผู้ใช้บัตรโดยสารประเภทบัตรเหมาจ่าย “TRANSIT PASS RED LINE X BMTA” ที่เดินทางด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถโดยสาร ขสมก. จะไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

  • บัตรเครดิต วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ของทุกธนาคารผู้ออกบัตร
  • บัตรเดบิต ซึ่งขณะนี้รองรับเฉพาะบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี (รวมบัตรเดบิต UOB TMRW)
  • บัตรประเภทพรีเพด (Prepaid Card) หรือบัตรทราเวลการ์ด (Travel Card)

สำหรับวิธีสังเกตบัตร EMV Contactless คือ สังเกตบนบัตรธนาคารของคุณว่า มีสัญลักษณ์เป็นรูปคลื่น Wi-Fi แบบนี้หรือไม่ ?

ถ้ามีสัญลักษณ์ดังกล่าว ใช้บัตรใบนั้นแตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าได้ทันที แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการแต่ละราย

แต่หากเป็นเดินทางข้ามสาย ระหว่างสายสีม่วง กับ สายสีแดง ซึ่งจะเชื่อมต่อที่สถานีบางซ่อน ต้องใช้บัตรเดบิต/เครดิตของคุณ แตะเข้า-ออกเท่านั้น และต้องเปลี่ยนสายภายในระยะเวลา 30 นาที หากระยะเวลาเลยจากนั้น ต้องเริ่มเสีย 20 บาทใหม่อีกครั้ง

โดยการเปิดให้เดินทางข้ามสาย จ่าย 20 บาทตลอดสายได้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากต้องปรับระบบซอฟต์แวร์ให้รองรับการคิดค่าโดยสารแบบข้ามสาย

เร่งเจรจาเอกชน ร่วม “20 บาทตลอดสาย”

สำหรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเนี่ย ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้ดำเนินการได้จนถึง 30 พฤศจิกายน 2567 หลายคนสงสัยต่อไปว่า นโยบายนี้ ให้แค่ปีเดียวเองเหรอ ?

สำหรับเรื่องนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี

โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เป็นต้น

เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป และประกาศว่า จะเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป

ส่วนเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ นั้น นายสุริยะระบุว่า หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ให้ครอบคลุมโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในทุกเส้นทาง ตามเป้าหมาย 2 ปีที่ตั้งไว้

เร่งดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม-พ.ร.บ.ขนส่งทางราง

นายสุริยะ ระบุเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน จะเร่งผลักดัน 2 ร่าง พรบ. ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ….. (ร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม) และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….. (ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

โดย 2 ร่างนี้ จะทำให้กระทรวงคมนาคมมีอำนาจเต็มที่ ในการเข้าไปเจรจากับภาคเอกชน และสามารถจัดตั้งกองทุน เพื่อนำรายได้มาจ่ายชดเชยให้เอกชน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ และไม่ต้องใช้กระบวนการในการเจรจาต่อสัญญากับเอกชน

ขณะที่ประโยชน์นั้น เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าแต่ละรายหันมาใช้บัตรโดยสารรูปแบบเดียวกัน ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าหลายครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชนได้ รวมทั้งเพื่อให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาไม่แพงและเป็นธรรมทั้งกับประชาชนและผู้ประกอบการเดินรถ

นายสุริยะ ระบุอีกว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะสามารถเสนอ ครม.ได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะใช้เวลากว่า 1 ปี ในการพิจารณาแล้วเสร็จ

จากนี้ รอดูกันต่อไปว่ารถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ รอนานแค่ไหน ถึงได้ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย และผลตอบรับของนโยบายดังกล่าวนับจากนี้ จะเป็นอย่างไร

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.25 ได้ที่ https://youtu.be/x7up2-4h0XA

youtube
youtube
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น